Education

ชีวิตบนความเสี่ยงของนิสิต กับเกมที่ไม่มีใครเต็มใจเล่น

คุณรู้กันไหมว่านิสิตของมหาวิทยาลัยชื่อดังอย่างจุฬาลงกรณ์ ก็เหมือนเล่นเกมรัสเซียนรูเล็ตกันอยู่ทุกเทอม เพียงแต่ไม่ใช่การเสี่ยงดวงกับลูกกระสุน แต่เป็นการเสี่ยงดวงกับอาจารย์ที่สอนบกพร่อง...

คุณรู้จัก รัสเซียนรูเล็ต ไหม?

รัสเซียนรูเล็ต (Russian Roulette) เป็นเกมยอดฮิตของผู้รักความท้าทาย โดยมีอุปกรณ์ในการเล่นคือปืนที่มีกระสุนเพียงนัดเดียว หลังจากทำการหมุนลูกโม่แล้ว ผู้เล่นจะผลัดกันเสี่ยงดวงเอาปืนมายิงหัวตัวเอง หากใครโชคดีก็รอด หากใครโชคร้ายก็ถูกกระสุนเจาะสมองจนตาย

แต่คุณรู้กันไหมว่านิสิตของมหาวิทยาลัยชื่อดังอย่างจุฬาลงกรณ์ ก็เหมือนเล่นเกมรัสเซียนรูเล็ตกันอยู่ทุกเทอม เพียงแต่ไม่ใช่การเสี่ยงดวงกับลูกกระสุน แต่เป็นการเสี่ยงดวงกับอาจารย์ที่สอนบกพร่อง

“อาจารย์เขาไม่โอเคตั้งแต่คาบแรก เราจำได้ว่าคาบแรกนิสิตมารอเรียนกันอยู่เต็มห้องแต่เขาก็ไม่มาสอน และก็ไม่มาสอนแบบนี้อีกหลายครั้ง อ้างว่าไม่ว่างบ้าง ป่วยบ้าง แต่กว่าจะบอกก็ให้นิสิตมารอกันแล้ว”

แนท (นามสมมติ) นิสิตจุฬาฯ ชั้นปีที่ 2 เล่าถึงความอัดอั้นที่อุตส่าห์ตั้งใจสอบเข้าจุฬาฯ เพื่อหวังว่าจะได้เจอสังคมที่ดี อาจารย์ที่ดี แต่พอมาเจอกับความจริงก็ฝันสลาย เธอได้เรียนกับอาจารย์ที่บกพร่องในการสอนตั้งแต่เทอมแรกของการเรียน และนอกจากการไม่เข้าสอนแนทยังเล่าต่อไปถึงวิธีการให้คะแนนที่ไม่มีสัดส่วนชัดเจนของอาจารย์ อีกทั้งยังปรับเปลี่ยนงานและคะแนนตามใจชอบโดยไม่อิงกับประมวลรายวิชา

ในขณะที่ พีท (นามสมมติ) นิสิตชาย ชั้นปีที่ 4 ก็เล่าว่าเคยเรียนกับอาจารย์ที่บกพร่องในหน้าที่การสอนไม่ต่างจากแนท แต่ในกรณีของพีทนอกจากจะเจอกับการให้คะแนนตามใจชอบของอาจารย์แล้ว เขายังถูกอาจารย์ไม่ชอบด้วยทัศนคติทางการเมืองอีกด้วย

“อาจารย์ตอนนั้นเขาเป็น กปปส. ตอนแรกเขาก็ชอบพี่นะ ซึ่งพี่ก็ไม่เคยแสดงทัศนคติทางการเมืองในคณะ แต่มีวันนึงอาจารย์พูดถึงการเมืองในคาบ เพื่อนก็เลยชี้มาทางเราบอกว่าเราเป็นเสื้อแดง ตั้งแต่นั้นมาเขาก็ไม่ชอบพี่ มีการพูดเสียดสีในคาบ และเกรดก็ออกมาไม่ดีทั้งที่เรามั่นใจว่าทำได้”

ไม่ว่าพีท หรือ แนท ทั้งสองต่างก็ไม่กล้าที่จะร้องทุกข์เพราะกลัวจะไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงได้แต่ประเมินการสอนออนไลน์ผ่านระบบ CU-CAS แต่ก็ไม่เห็นว่ามีผลต่อตัวอาจารย์แต่อย่างใด

“ประเมินกันแทบตายก็ไม่เห็นทำอะไรอาจารย์ได้ บางทีเราก็สงสัยว่าให้ประเมินไปทำไม ถ้ามันไม่ได้มีผลอะไรกับตัวอาจารย์”

เสียงเล็ก ๆ ของแนทเปล่งดังออกมาอย่างหัวเสีย เหมือนเธอจะลืมตัวว่าเรายังนั่งคุยกันอยู่ในจุฬาฯ มหาวิทยาลัยที่เธอกำลังพาดพิงถึง

นอกจากนั้น แนทยังกล่าวอีกว่า อยากให้การประเมินของนิสิตมีผลที่เป็นรูปธรรมต่ออาจารย์ “อยากรู้ว่าอาจารย์ได้อ่านหรือเปล่า และก็อยากให้การประเมินของเรามีผลโดยตรงต่ออาจารย์ เช่น มีผลต่อเงินเดือน หรือว่ามีผลในการต่อสัญญาไปเลย”

 

เราไม่ได้เล่นเกมกันเพียงลำพัง

นอกเหนือจากการคุยกับแนทและพีท ฉันต้องการจะรู้ว่ามีนิสิตมากน้อยแค่ไหนที่เคยแพ้ในการเล่นเกม และโชคร้ายต้องเรียนกับอาจารย์ที่บกพร่องในหน้าที่การสอน ฉันจึงสร้างแบบสอบถามออนไลน์ขึ้นมาเพื่อตอบสนองความอยากรู้นั้น แต่ทว่าคำตอบที่ได้กลับทำให้ฉันต้องตกใจ เพราะหลังสร้างแบบสอบถามได้ไม่กี่นาที ก็เกิดการแชร์ไปอย่างกว้างขวาง และมีนิสิตจุฬาฯ ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันแห่แหนกันเข้ามาตอบถึง 700 กว่าคนภายในเวลาเพียง 3 วัน โดยพบนิสิตที่เคยเรียนกับอาจารย์ที่บกพร่องในหน้าที่การสอนมากกว่า 90%

นอกเหนือจากการเข้าร่วมตอบแบบสอบถาม นิสิตหลายคนยังร่วมกันแสดงความคิดเห็นและแชร์ประสบการณ์ผ่านแบบสอบถามที่ฉันจัดทำขึ้นอีกด้วย

“มีอาจารย์บางท่านได้รับคำติมากมายจากนิสิตทุก ๆ ปีแต่ก็ยังไม่ได้มีการปรับปรุงตัวใด ๆ อยากจะทราบว่าถ้าประเมินไปแล้วไม่เกิดการพัฒนาจะให้ประเมินไปทำไม”

“ควรให้การประเมินหรือเสียงของนิสิตมีผลจริง ๆ กับอาจารย์ที่บกพร่องในหน้าที่การสอน เพราะนั่นคือการขาดความรับผิดชอบในหน้าที่ครูและส่งผลเสียต่อนิสิตอย่างมาก”

“สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือการทำเรื่อง (รวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นต่อภาควิชา) แล้วเรื่องก็เงียบไป ในปีถัดไป รุ่นน้องมาเรียนกับอาจารย์คนเดิม ทุกอย่างก็ยังคงเหมือนเดิมอยู่”

นี่เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนหนึ่งที่มาจากนิสิตหลากหลายคณะ ซึ่งทำให้ฉันรู้ได้ว่าไม่ใช่แค่แนทหรือพีทที่เล่นเกมกันอยู่เพียงสองคน แต่เราเล่นเกมเสี่ยงดวงนี้กันอยู่แทบทุกคน แทบทุกคณะ

หากปัญหาอาจารย์ที่บกพร่องในการสอนปรากฏอยู่ในแทบทุกคณะ ทำไมปัญหานี้ถึงยังอยู่ ทั้งที่เหล่านิสิตก็ประเมินการสอนกันทุกเทอม  หากเป็นเช่นนี้ ที่นิสิตประเมินการสอนมีผลกับอาจารย์จริงหรือไม่ ?

 

ผลประเมินการสอนบางคณะก็ใช้….แต่บางคณะก็ไม่

คำถามจะต้องได้รับคำตอบ… ฉันเริ่มส่งจดหมายขอสัมภาษณ์ไปยังอาจารย์ ฝ่ายวิชาการคณะ คณบดี และผู้เกี่ยวข้องหลายคน หลังจากนั้นก็ได้รับการตอบกลับบ้าง ไม่มีการตอบกลับบ้าง ข้อมูลที่ฉันตามหาก็เริ่มประกอบกันอย่างเป็นรูปเป็นร่าง

อาจารย์คนแรกที่ฉันสัมภาษณ์ คืออาจารย์ วศิน บุญพัฒนาภรณ์ จากคณะอักษรศาสตร์  เขาให้สัมภาษณ์ว่า การประเมินการสอนของนิสิตมีผลต่อการประเมินประจำปีของอาจารย์จริง แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นเพราะอาจารย์ก็ไม่ได้มีเพียงภาระการสอน “การสอนเป็นส่วนหนึ่งที่ถูกประเมิน และการประเมินการสอนส่วนหนึ่งก็เอามาจาก CU-CAS เพราะฉะนั้นหากนิสิตเจออาจารย์ที่สอนไม่ดีและจะประเมินให้ออกไปเลย ทางปฏิบัติผมว่าทำไม่ได้”

อาจารย์วศินเล่าให้ฟังต่ออีกว่าสำหรับเขา ผลการประเมินจากนิสิตมีประโยชน์อย่างมาก เขายืนยันว่าตนอ่านการประเมินของนิสิตทุกคนอย่างตั้งใจ เพราะมันทำให้รู้ว่าต้องปรับปรุงการสอนอย่างไร แต่ทว่าก็มีอาจารย์หลายคนที่มองว่าการประเมินการสอนอาจจะไม่เที่ยงตรงและเป็นธรรม  โดยมองว่านิสิตจะประเมินอาจารย์จากเกรดที่ได้รับ ถ้าได้เกรดที่ดีก็จะประเมินอาจารย์ดีไปด้วย ดังนั้นอาจารย์วศินจึงแนะนำให้นิสิตประเมินตามจริงโดยไม่เกี่ยวข้องกับเกรด เพื่อให้เสียงของนิสิตมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

ขณะที่อาจารย์พิจิตรา สึคาโมโต้ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ แสดงความเห็นว่าการจะนำผลประเมินการสอนจากนิสิตมาใช้ต้องให้ความเป็นธรรมแก่อาจารย์ “การเอาผลการประเมินการสอนจากนิสิตมาใช้คือเรื่องดี แต่ไม่ใช่เอามาให้น้ำหนักในการตัดสินอาจารย์ ไม่งั้นระบบการศึกษาจะมีปัญหาเพราะอาจารย์จะสปอยล์นิสิตเพื่อไม่ให้นิสิตเกลียด”

ด้านมุมมองของผู้บริหาร คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ อาจารย์ดวงกมล ชาติประเสริฐ ได้แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า “คะแนนประเมินการสอนจากนิสิต ควรเป็นข้อมูลประกอบการพัฒนามากกว่า แต่หากจะให้เป็นข้อมูลเพื่อให้โทษโดยดูจากคะแนนคงไม่ได้ เพราะคะแนนสูงต่ำมันมีหลายปัจจัยที่นอกจากการสอนดีหรือสอนไม่ดี”

อาจารย์ดวงกมลยังบอกอีกว่า ผลการประเมินการสอนของนิสิตไม่ได้มีการใช้อย่างเป็นรูปธรรมในการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีของอาจารย์ในคณะนิเทศฯ แต่เป็นการให้ข้อมูลเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหามากกว่า ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้บริหารจะนำข้อมูลไปใช้อย่างไร

จากข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับ จะเห็นได้ว่ามีทั้งคณะที่นำผลประเมินการสอนจากนิสิตไปใช้ในการประเมินประจำปีของอาจารย์จริง แต่ทว่าบางคณะก็ไม่ได้มีการใช้อย่างเป็นรูปธรรม

ฉันจึงนำข้อมูลทั้งหมดไปถามกับผู้รับผิดชอบระบบประเมินผลการเรียนการสอนออนไลน์ คุณเนาวรัตน์ จงสืบสุข ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาวิชาการ สำนักงานบริหารวิชาการ ก็ได้รับคำตอบว่า คณะหรือภาควิชาจะนำผลประเมินการสอนไปใช้ในการประเมินหลักสูตร ส่วนอาจารย์ใช้ในการขอตำแหน่งทางวิชาการ แต่หากอาจารย์ไม่ได้ขอตำแหน่งทางวิชาการ ก็คาดหวังให้นำผลที่ได้รับไปพัฒนาการสอนในเทอมถัดไป

“เราก็คาดหวังว่าหลักสูตรหรืออาจารย์ผู้สอนจะเอาผลการประเมิน ความเห็นของนิสิตไปปรับปรุง เพื่อพัฒนาหลักสูตรของตนเอง” คุณเนาวรัตน์กล่าว

แต่ทว่า ฉันก็ได้พบกับข้อมูลบนเว็บไซต์ของสำนักบริหารวิชาการ จุฬาฯ เป็นเอกสารรายงานการประชุมคณบดี ครั้งที่ 19/2555 ซึ่งมีข้อความหนึ่งระบุว่าสามารถใช้วิธีการอื่น นอกเหนือจากผลการประเมินในระบบ    CU-CAS ในการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการและการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาได้

 

“การร้องทุกข์” อีกหนึ่งทางเลือกในการจบเกม

ถึงแม้จากการสัมภาษณ์และข้อมูลเอกสารจะทำให้รู้ว่า บางคณะมีการนำผลประเมินการสอนจากนิสิตไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมจริง แต่บางคณะก็ไม่ได้มีการนำไปใช้…..แต่หากผลประเมินจากนิสิตไม่ได้มีการนำไปใช้จริง นิสิตก็ยังมีอีกช่องทางในการบอกว่ามีอาจารย์ที่บกพร่องในหน้าที่การสอน และช่องทางนั้นคือ “การร้องทุกข์”

“ใครจะไปกล้าร้องทุกข์ พี่คนนึงอะไม่กล้า มีอะไรมารับรองได้บ้างว่าเราจะได้รับความเป็นธรรม” กร (นามสมมติ) นิสิตชั้นปีที่ 4 พูดขึ้นมาเสียงดัง ท่ามกลางเสียงจอแจของคนที่เดินผ่านไปมา และกรยังเล่าให้ฟังอีกว่าเขาเคยเรียนกับอาจารย์ที่บกพร่องในการสอนมาหลายคน ทั้งสอนไม่ดี พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ทั้งที่สอนภาคอินเตอร์ หรือการมีอคติต่อนิสิตบางคน แต่เขาเองก็ได้พยายามประเมินการสอนไปหลายครั้งแต่ก็ไม่เห็นผลการเปลี่ยนแปลง จึงเคยคิดจะร้องทุกข์แต่ทว่าก็เลิกล้มความตั้งใจไป

“เราไปปรึกษาอาจารย์หลายคน เขาก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าทำไปก็ไม่มีประโยชน์ ไม่คุ้มหรอก สุดท้ายก็เลยไม่ได้ร้องทุกข์ ไม่ได้ทำอะไร เพื่อจะลดปัญหากับอาจารย์คนนั้นลง เพราะก็ยังมีวิชาที่ต้องเรียนกับอาจารย์อีก”กรกล่าว

ด้าน มาย (นามสมมติ) นิสิตชั้นปีที่ 4 ที่เคยเรียนกับอาจารย์ที่บกพร่องในหน้าที่การสอนก็แสดงความเห็นเช่นเดียวกับกร ว่าที่ไม่ร้องทุกข์เพราะไม่กล้ากลัวจะไม่ได้รับความเป็นธรรม อีกทั้งไม่รู้ว่าต้องทำขั้นตอนใดบ้าง จึงยอมทนเรียนกับอาจารย์ที่บกพร่องในการสอนต่อไปจนจบเทอม

“ก็ทนให้จบเทอมไป แล้วก็เตือนตัวเองไว้ว่าอย่ามาเรียนกับอาจารย์คนนี้อีก”

 

การร้องทุกข์มุ่งแก้ไขไม่เน้นลงโทษ

เหรียญมีสองด้านฉันใด ความคิดเห็นก็มีสองด้านฉันนั้น และฉันก็ไม่ควรฟังความใครข้างเดียว

ฉันจึงนำประเด็นการร้องทุกข์จากนิสิตมาถามอาจารย์อมร วาณิชวิวัฒน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ เขาแสดงความเห็นว่าช่องทางร้องทุกข์ของนิสิตเป็นสิทธิที่ต้องมีตามวิถีทางประชาธิปไตย และยังกล่าวอีกว่าตนมั่นใจว่าได้ใช้ศักยภาพและความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ในการสอน ฉะนั้นข้อวิจารณ์ต่างๆ จึงไม่มีผลในการเปลี่ยนแปลงการสอนมากนัก

ด้านอาจารย์ตะวัน ปภาพจน์ อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ เล่าว่าเคยเห็นอาจารย์ถูกร้องทุกข์บ่อยครั้ง แต่ก็ไม่ได้มีผลกับอาจารย์ท่านนั้น เพราะหลายครั้งอาจารย์ไม่ผิดหรือนิสิตไม่มีหลักฐานเพียงพอ และเมื่อพูดถึงทัศนคติที่มีต่อนิสิตที่ร้องทุกข์ อาจารย์ตะวันให้ความเห็นว่าถ้านิสิตมีเหตุผลที่ร้องทุกข์ก็ยินดีรับฟัง เนื่องจากหากอาจารย์ผิดก็ควรมีช่องทางสำหรับนิสิต อีกทั้งยังแสดงความเป็นห่วงในกรณีความเป็นธรรมของนิสิตเนื่องจากระบบของคณะวิศวฯ ไม่มีคนกลางที่เป็นคนนอกมาตัดสิน แต่อย่างไรก็ตามเขามั่นใจว่าอาจารย์ในจุฬาจะมีความเป็นธรรมต่อนิสิต เนื่องจากอาจารย์เป็นอาชีพที่ได้เงินไม่มาก การจะเป็นอาจารย์ต้องเกิดจากใจรัก

“หายากคนที่จะมากลั่นแกล้งเด็ก เพราะคนมาเป็นอาจารย์ต้องใจรักจริง ๆ” อาจารย์ตะวันกล่าว

เมื่อไปถามอาจารย์ดวงกมล คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ ถึงการจัดการเรื่องร้องทุกข์ เธอกล่าวว่า หากเป็นความผิดครั้งแรกก็จะเรียกมาพูดคุยหรือตักเตือน โดยมุ่งเน้นแก้ไขอย่างสร้างสรรค์  “ไม่ได้คิดจะจบที่ไกล่เกลี่ยประนีประนอม แต่เป็นการดำเนินการแก้ปัญหาในเชิงพัฒนาสร้างสรรค์มากกว่าเพราะเป็นการแก้ไขพัฒนาที่เกิดประโยชน์”

ส่วนประเด็นมาตรการปกป้องผู้ร้องทุกข์ อาจารย์ดวงกมลกล่าวว่า ตนมีความพยายามที่จะระวังให้ เช่น หากเป็นการร้องทุกข์อาจารย์ในภาพรวมก็จะไม่เปิดเผยชื่อนิสิตผู้ร้องทุกข์ หรือ การไม่นำผู้ร้องทุกข์และผู้ถูกร้องทุกข์มาเผชิญหน้ากัน เป็นต้น

นอกเหนือจากการร้องทุกข์ไปยังคณบดีแล้ว ฉันยังพบว่า จุฬาฯ มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์หรืออุทธรณ์ของนิสิต ที่คอยจัดการเรื่องร้องทุกข์ หากนิสิตไม่ได้รับการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ใน 15 วันหลังส่งเรื่องถึงคณบดี หรือนิสิตไม่พอใจผลการตัดสินของคณบดี

คุณยิ่งลักษณ์ แสงอร่าม เลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์หรืออุทธรณ์ของนิสิต ได้ระบุถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการฯ โดยยืนยันหนักแน่นว่าเป็นแนวทางที่มีความเป็นธรรม เพราะดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับทุกประการ อีกทั้งยังเป็นแนวทางที่ต้องการเยียวยามากกว่ามุ่งเน้นลงโทษอีกด้วย

“แนวทางการไกล่เกลี่ยประนีประนอมเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพราะว่าต้องการให้คุยกัน เพื่อให้นิสิตได้รับการเยียวยาความเดือดร้อนเสียหาย ไม่ใช่เน้นให้ใครผิด” คุณยิ่งลักษณ์ยืนยันถึงแนวทางการแก้ไข

 

อยากจบเกมเสี่ยงดวงนี้ไหม?   

คุณประทีป ฉัตรสุภางค์  อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล และผู้ศึกษาวิจัยเรื่องจริยธรรมในวิชาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่าปัญหาอาจารย์ที่บกพร่องในหน้าที่การสอนเกิดได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุหนึ่งเกิดจากอาจารย์มีภาระงานมีหลายด้านและมากเกินไปทำให้อาจารย์ไม่สามารถจัดการเวลาได้ และไม่สามารถจัดลำดับได้ว่าสิ่งไหนควรมีความสำคัญก่อนหลัง สองคือเกิดจากธรรมชาติของอาจารย์บางท่านที่มีข้อบกพร่องอยู่แล้ว อีกทั้งอาจเกิดจากตัวผู้เรียนที่เลือกสถาบันหรือวิชาเรียนจากชื่อเสียง ไม่ได้เลือกเรียนจากคุณภาพการสอน ทำให้อาจารย์ที่บกพร่องกลับยังมีนิสิตมาเรียนด้วยตลอด อาจารย์จึงไม่มีการพัฒนาการสอนของตนเอง

คุณประทีป เสนอแนะว่ามหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานควรกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนและแจ้งให้อาจารย์ทราบ มีความเข้มงวดเอาจริงเอาจังในการกำกับดูแลอาจารย์ สุดท้ายคือควรมีช่องทางการประเมินจากนิสิตที่ชัดเจนและเห็นผล

“ถ้ามหาวิทยาลัยเข้มงวด เอาข้อเสนอของเด็กไปตัดสินในเรื่องของการให้คุณให้โทษ อาจารย์จะอาจจะร้อนเนื้อร้อนตัวนิดหน่อย แต่ถ้าถามว่ามันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับความเอาจริงเอาจังของมหาวิทยาลัย”

ไม่รู้ว่าคำตอบที่ฉันได้รับพอจะบอกได้หรือยังว่าเกมเสี่ยงดวงนี้มันเกิดจากอะไร บางทีอาจเกิดจากระบบการจัดการที่หละหลวมไม่จริงจัง บางทีอาจเกิดจากอาจารย์ที่ละเลยหน้าที่ของตนเอง หรือ บางทีอาจเกิดจากตัวนิสิตเองที่คาดหวังและเรียกร้องจากอาจารย์มากเกินไป

แต่ไม่ว่าเกมเสี่ยงดวงนี้จะเกิดจากอะไร หากเรายังปล่อยให้ทุกสิ่งมันเป็นไปตามวิถีเดิม หากมันยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข คนที่ต้องอยู่กับปัญหา ต้องได้รับผลกระทบ ต้องยอมทนเล่นเกมทั้งที่ไม่เต็มใจ ก็คือตัวนิสิตเอง

 “ไม่มีใครอยากเจอคนสอนไม่ดีทั้งนั้น แต่ถ้าเจอแล้วก็ต้องยอมทนกันไป คิดซะว่าเล่นเกมเสี่ยงดวงเอาแล้วกัน โชคดีหน่อยก็เจออาจารย์ดี โชคร้ายก็เจออาจารย์แย่ แต่ก็อยากให้พวกเขาคิดบ้างนะ ว่าผู้เรียนตัวเล็ก ๆ อย่างเรานี่แหละ ที่จะจบไปพัฒนาประเทศ” มายทิ้งท้ายการสนทนาด้วยน้ำเสียงที่หมดหวัง

สุดท้ายนี้ เกมรัสเซียนรูเล็ตที่บรรจุกระสุนอาจารย์บกพร่องฯ ยังจะถูกส่งให้นิสิตจุฬาฯ ได้เสี่ยงดวงกันต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น และหากคุณยังไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร

สักวันหนึ่งคนดวงซวยที่ได้รับลูกกระสุนนั้นอาจเป็นคุณ หรือ ลูกหลานของคุณเอง   

 

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาการเขียนเชิงวารสารศาสตร์ ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2558

%d bloggers like this: