Gender

โลกยุคใหม่ที่ผู้ชายกลายเป็นวัตถุ

เราเชื่อว่าประชากรไทยจำนวนไม่น้อยเติบโตมากับภาพผู้หญิงที่เป็นรองผู้ชายอยู่เสมอ ทั้งในเรื่องนอกบ้านอย่างตำแหน่งการงาน เรื่องในบ้านที่ต้องดูแลความเป็นอยู่ของครอบครัว ไปจนถึงเรื่อง “บนเตียง” ที่เพศชายสามารถพูดถึงได้ แต่กลับเป็นเรื่องต้องห้ามของกุลสตรีไปเสียอย่างนั้น

เราเชื่อว่าประชากรไทยจำนวนไม่น้อยเติบโตมากับภาพผู้หญิงที่เป็นรองผู้ชายอยู่เสมอ ทั้งในเรื่องนอกบ้านอย่างตำแหน่งการงาน เรื่องในบ้านที่ต้องดูแลความเป็นอยู่ของครอบครัว ไปจนถึงเรื่อง “บนเตียง” ที่เพศชายสามารถพูดถึงได้ แต่กลับเป็นเรื่องต้องห้ามของกุลสตรีไปเสียอย่างนั้น

แต่ภาพหญิงสาวที่เขินอายจนหน้าแดงยามได้ยินเรื่องทะลึ่งตึงตังอาจเป็นเรื่องเก่าไปแล้ว เมื่อในยุคนี้ ดาราชายหรือนายแบบคนไหนที่กำลังอยู่ในกระแสจนกลายเป็น “สามีแห่งชาติ” ต่างก็ต้องเจอความเห็นชวนหวิวจากผู้หญิงบนโลกออนไลน์ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการการเปรียบเปรยด้วยอาการ “เห็นแล้วน้ำเดิน” การบรรยายกิจกรรม “จะเลียตั้งแต่ลูกบิดประตูไปจนถึงเตียงนอน” หรือการท้าทาย “บอกมาคืนนี้อยากได้กี่ที” และอื่นๆ ที่ต้องเซนเซอร์อีกมากมาย ไม่ก็แท็กเพื่อนมาร่วมดูรูป “สามี” กันอย่างเปิดเผย

“โอ๊ย ในเฟซบุ๊คเวลาเราไลฟ์ (ถ่ายทอดสด) นะบ่อยจะตาย เคยเจอเป็นอารมณ์ว่า มา XXX หนูที เจอคำอะไรพวกนี้ เออมันก็โหดอยู่นะ” เบสต์ — ณัฐสิทธิ์ โกฏิมนัสวนิชย์ นักแสดงที่กำลังตกเป็นเป้าของความเห็นแทะโลมต่างๆ เล่าพร้อมเสียงหัวเราะ ก่อนบอกว่าความเห็นในเชิงแทะโลม (และโลมเลีย) ประมาณนี้เริ่มก่อตัวตั้งแต่ช่วงที่เริ่มถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กของตัวเองแล้ว

“แรกๆ ก็เริ่มมีแล้ว แต่หลังๆ มันเริ่มเยอะขึ้น เราก็รู้สึกว่าทำไมคอมเมนต์ (แสดงความเห็น) กันโหดจังเลยวะ แต่เราก็เฉยๆ แหละ เราไม่ค่อยใส่ใจอ่านอะไรพวกนี้ หมายถึงว่าเวลาเราไลฟ์ (ถ่ายทอดสด) อยู่ เราเห็นเราก็จะข้ามคอมเมนต์พวกนี้ทิ้งไป” เบสต์กล่าวอย่างอารมณ์ดี อาจเพราะไม่ใช่แค่เขาไม่ใส่ใจคำพูดเหล่านี้ แต่คนรอบตัวทั้งเพื่อนและแฟนต่างก็ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนใจเหมือนกัน

เช่นเดียวกับ อัพ — ภูมิพัฒน์ เอี่ยมสำอาง นายแบบผู้เคยเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับไอศกรีมยี่ห้อหนึ่ง จนเป็นเหตุให้โดนถล่มด้วยความเห็นอย่าง “เดี๋ยวจะเลียให้ล้ม” หรือ “อยากให้ลองมาเลียหนูแทนไอติมจังเลย” ที่รู้สึกเฉยๆ กับแฟนคลับที่มากรี๊ดในช่องแสดงความคิดเห็น แม้ว่าความเห็นเหล่านั้นจะเต็มไปด้วยข้อความที่ส่อถึงเรื่องเพศก็ตาม

“ความจริงก็ไม่ได้รู้สึกอะไรเพราะว่าเราก็ไม่ได้จะตอบเขาอยู่แล้ว  คือเห็นก็แค่เห็น ก็แค่ปล่อยผ่านไม่ได้คิดอะไร เพราะเดี๋ยวนี้โซเชียล (สื่อสังคมออนไลน์) มันก็เร็วเนอะ คนจะพูด จะคิด จะทำอะไร มันก็เร็วไปหมด ก็เหมือนคำพูดของคน บางทีเขาก็เหมือนพูดก่อน ไม่ได้คิด” อัพเล่าด้วยท่าทางสบายๆ สมกับที่บอกว่า “ชิน” กับเรื่องพวกนี้ไปแล้ว

คนยุคเก่าอาจตกใจกับปรากฏการณ์ “สามีแห่งชาติ” ของหญิงไทยอยู่พอตัว แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ปรากฏการณ์ที่ผู้หญิงยุคใหม่ลุกขึ้นมากรี๊ดผู้ชาย หรือพูดให้ชัดคือกรี๊ดในหน้าตาและเรือนร่างอันเย้ายวนของผู้ชายอย่างออกนอกหน้านั้นไม่ได้เกิดแค่บนโลกออนไลน์ของไทยเพียงที่เดียว หากแต่กำลังเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างหยุดยั้งไม่อยู่เช่นกัน

การที่หญิงสาวนับพันจะร่วมแบ่งปัน “สามี” กันเช่นนี้เป็นเรื่องใหญ่ขนาดที่หนังสือพิมพ์ The Telegraph ของอังกฤษตีพิมพ์บทความเรื่อง Men Are Now Objectified More Than Women ซึ่งกล่าวว่าผู้ชายสมัยนี้ถูกทำให้กลายเป็น ‘วัตถุทางเพศ’ (Objectified) เช่นเดียวกับที่เพศหญิงต้องเผชิญมาตลอด สังเกตได้จากสื่อที่ใช้เรือนร่างของบุรุษเพศมาเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดแฟนคลับสาว เช่น ภาพยนตร์เรื่อง Magic Mike ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวของนักเต้นเปลื้องผ้าชาย นำแสดงโดยดาราชายหุ่นล่ำบึ้ก หรือนิยายอย่าง Fifty Shades of Grey ที่ขายพระเอกผู้มีรูปร่างหน้าตากระชากใจ ฐานะมั่งคั่ง แถมยังช่ำชองเรื่องอย่างว่าจนหญิงสาวหลายคนถึงกับประกาศหามิสเตอร์เกรย์ในชีวิตจริงของตัวเองบ้างเลยทีเดียว

แน่นอนว่าถ้าเป้าหมายของข้อความแทะโลมเปลี่ยนจากเบสต์หรืออัพเป็นดาราหญิงสักคน เราคงมองว่ามันคือการคุกคามทางเพศไปแล้วแน่นอน แต่เมื่อเป้าหมายเป็นผู้ชายกลับไม่ค่อยมีใครรู้สึกถึงการคุกคาม ไม่ว่าจะเป็นตัวนักกรี๊ดเองหรือเป้าหมายที่ถูกโลมเลียก็ตาม

คำถามคือ ทำไมเราถึงไม่ค่อยรู้สึกเดือดร้อนกับปรากฏการณ์นี้เท่าใดนัก?

แชนนอน ริดจ์เวย์ (Shannon Ridgeway) นักเขียนสายสตรีนิยมพูดถึงเรื่องนี้ไว้ในบทความ Can Men Be Objectified by Women? บนเว็บไซต์ everydayfeminism.com ว่าสังคมมักมองการแทะโลมเพศหญิงเป็น “การเหยียดเพศ” (Sexism) เพราะตั้งแต่ไหนแต่ไรมาเพศชายก็มีสถานะในสังคมเหนือกว่าเพศหญิงอยู่แล้ว การที่เพศหญิงถูกโลมเลียผ่านข้อความจึงเป็นความรุนแรงเพราะเหมือนเป็นการไปกดทับและตอกย้ำสถานะที่ต่ำกว่าตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์จนกระทั่งปัจจุบันให้มากยิ่งขึ้นไปอีก และผลที่ตามมาคือคนในสังคมจะเลือกปฏิบัติกับเพศหญิงต่างไปจากเพศชาย

ในทางกลับกัน การที่เพศหญิง “หื่น” ใส่ผู้ชายผ่านตัวอักษรนั้น ริดจ์เวย์มองว่าไม่ใช่การเหยียดเพศในมุมกลับ (Reverse Sexism) เพราะการที่เพศชายถูกแทะโลมนั้นเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว เรากรี๊ดหน้าท้องของคนนั้น สันกรามของคนนี้ ยกให้ผู้ชายสักคนเป็น “สามีแห่งชาติ” เป็นปรากฏการณ์แต่มันก็จะผ่านไป คงเหลือไว้เพียงสถานะทางสังคมที่เหนือกว่าของเพศชาย เพศชายจึงถือว่าไม่ได้รับแรงกดทับจากข้อความหื่นๆ แต่อย่างใด

อีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องวัตถุทางเพศคือ “การมองเพศหญิงผ่านสื่อด้วยสายตาของเพศชาย” (Male Gaze) ซึ่งอเล็กเซีย ลาฟาตา (Alexia LaFata) เขียนอธิบายไว้ในบทความ Why It’s Completely Okay To Objectify Men… No Really, It Is ว่าสื่อมักทำให้เพศหญิงเป็นวัตถุทางเพศด้วยการนำเสนอเพศหญิงผ่านสายตาที่เพศชายใช้มอง เราจึงจะเห็นภาพเรือนร่างของเพศหญิงที่เป็นที่ดึงดูดใจจนเพศชายเกิด “อารมณ์” อย่างนางแบบรูปร่างอวบอั๋นในโฆษณาสินค้าต่างๆ หรือตัวละครหญิงที่แต่งตัวด้วยชุดที่รัดรูปแม้จะกำลังสวมบทบาทวิชาชีพที่จริงจังอย่างหมอหรือทนายความก็ตาม

การที่สื่อนำเสนอภาพของผู้หญิงที่กระตุ้นอารมณ์ของเพศชายยิ่งสนับสนุนความคิดในสังคมที่เห็นเพศหญิงเป็นวัตถุทางเพศ ดังนั้นการพูดจาโลมเลียหรือแม้กระทั่งแทะโลมร่างกายของเพศหญิงจึงยิ่งตอกย้ำว่าคุณค่าของเธอถูกจำกัดอยู่แค่รูปร่างหน้าตาเท่านั้น ในขณะที่การวิจารณ์รูปร่างของเพศชายไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะนอกจากรูปร่างหน้าตา เพศชายยังมีคุณค่าอื่นๆ เช่น ความฉลาดหรือความสามารถด้านการงานให้ใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินอีกด้วย ลาฟาตาจึงสรุปว่าการกรี๊ดรูปร่างของผู้ชายนั้นเป็นเรื่องที่ “โอเค”

อย่างไรก็ตาม แม้แนวคิดปัจจุบันจะโน้มเอียงไปในทางที่สนับสนุนให้ผู้หญิงกรี๊ดร่างกายของผู้ชายได้อย่างเปิดเผย แต่ระดับความรุนแรงของภาษาที่ใช้กรี๊ดนั้นมีตั้งแต่การพูดหยอกเล่นไปจนถึงการพูดจาลามกอย่างโจ๋งครึ่มแบบที่เบสต์เคยเผชิญ ดังนั้นสิ่งที่น่าตั้งคำถามต่อไปคือเส้นแบ่งของการ “หยอก” กับการ “คุกคาม” นั้นอยู่ตรงไหน เพื่อให้มั่นใจว่าการกรี๊ดนั้นจะไม่ไปล่วงละเมิดใคร

และเพื่อไม่ให้ “สามีแห่งชาติ” คนไหนต้องสะดุ้งตกใจเมื่อเห็นข้อความชวน XXX ในช่องแสดงความคิดเห็นอีกนั่นเอง

%d bloggers like this: