เคยถูกอาจารย์บังคับเรื่องทรงผมไหม ?
เชื่อว่าหลายคนคงเคยเจออาจารย์ที่มาจ้ำจี้จ้ำไชว่าทรงผมต้องเป็นแบบไหน เช่น ต้องผมสั้นเท่าติ่งหู รองทรงสูง หรือรวบผมผูกโบว์ให้เรียบร้อย กฎเกณฑ์เหล่านี้ถูกกำหนดโดยกระทรวงศึกษาธิการ และแต่ละโรงเรียนต้องนำมาปรับใช้
ไม่เพียงแต่ระเบียบทรงผม แต่แทบทุกอณูของระบบการศึกษามีกฎเกณฑ์หรือนโยบายต่างๆ ที่ถูกกำหนดมาโดยภาครัฐเพื่อให้ผู้เรียนปฏิบัติตามทั้งสิ้น ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างเครื่องแต่งกาย ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างกำหนดเปิด-ปิดภาคการศึกษา หรือการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งการกำหนดกฎเกณฑ์หรือนโยบายใดๆ ล้วนส่งผลกระทบต่อผู้เรียนเสมอ
ภู – ภูวน ชมภูผล นักเรียนชั้น ม.ห้า โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของภาครัฐ ภูเล่าว่าเขาอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ขึ้นม.สี่ แต่กลับต้องเป็นรุ่นแรกที่ถูกเปลี่ยนระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2561
“ขอแบบเก่าคืนได้ไหม (หัวเราะ) ยังไม่พร้อมสำหรับของใหม่ เพราะตอนนี้ตะลุยทำ GAT กับ PAT เตรียมสอบแบบระบบเก่าลูกเดียว ยังไม่รู้ว่าระบบใหม่จะเพิ่มอะไรเข้าไปอีก”
ภู ยังบอกอีกว่า เขาต้องยอมรับในการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะไม่เคยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงก็ตาม และคงจะดีกว่านี้ถ้าการศึกษาให้โอกาสกับทุกคนได้มีส่วนร่วมและออกความเห็นในทุกๆ เรื่อง
ด้าน กระติ๊บ – วริษา สุขกำเนิด นักเรียนชั้น ม.ห้า และเลขาธิการกลุ่ม “การศึกษาเพื่อความเป็นไท” เล่าถึงผลกระทบที่ผู้เรียนเจอเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย โดยยกตัวอย่างนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ที่ทำให้ผู้เรียนต้องใช้เวลาอยู่ในโรงเรียนเพิ่ม และเสียเวลาที่จะได้ออกไปทำสิ่งที่ตนอยากเรียนรู้นอกโรงเรียน รวมไปถึงเนื้อหาวิชาหน้าที่พลเมือง ที่สร้างภาระให้ผู้เรียนต้องนั่งท่องค่านิยมตามที่รัฐกำหนด ซึ่งไม่ทำให้เกิดความคิดเชิงวิพากษ์หรือความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล
แม้ว่ากระติ๊บจะสนใจปัญหาด้านการศึกษามาตั้งแต่ ม.ต้น แต่รัฐแทบไม่มีช่องทางให้เธอได้แสดงความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย เธอจึงตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท กลุ่มนักเรียนที่มารวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวในประเด็นด้านการศึกษา เช่น การขอเปลี่ยนระเบียบทรงผม หรือการเรียกร้องให้รัฐบรรจุสวัสดิการเรียนฟรีชั้น ม.ปลายไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
“เราเข้าเครือข่ายการศึกษาที่เป็นการจัดตั้งขึ้นมาเอง ทำในภาคส่วนของการเคลื่อนไหว มากกว่าที่รัฐบาลจะมาเปิดให้เราได้แสดงความคิดเห็น” กระติ๊บกล่าว
ทำไมต้องฟัง?
จากสถิติ “จำนวนสถานศึกษา ครู/อาจารย์ และนักเรียน นิสิต นักศึกษาในระบบโรงเรียน ปีการศึกษา 2535-2558” ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่าในปีการศึกษา 2558 มีนักเรียน นิสิต และนักศึกษา จำนวนกว่า 13 ล้านคน ในขณะที่มีครูอาจารย์เพียงหกแสนกว่าคน ผู้เรียนจึงเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดในระบบการศึกษา แม้แต่รัฐธรรมนูญของประเทศที่กระทบต่อประชาชนทุกคนก็ยังต้องผ่านความเห็นชอบจากประชาชนก่อนประกาศใช้ แล้วกฎเกณฑ์หรือนโยบายของระบบการศึกษาเล่า? สมควรจะต้องผ่านความเห็นชอบหรือการมีส่วนร่วมของผู้เรียนหรือไม่?
ในความเห็นของกระติ๊บ เธอมองว่าผู้เรียนควรเข้ามามีส่วนร่วม เพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการศึกษา และรู้ว่าการศึกษาแบบไหนที่เหมาะกับพวกเขา
“ผู้เรียนได้รับทั้งผลดีและผลกระทบจากการศึกษาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเขาควรมีสิทธิที่จะเรียกร้องการศึกษาที่ทำให้เขาได้ประโยชน์และเป็นการศึกษาที่ไม่ทำร้ายเขา ผู้เรียนควรจะมีโอกาสได้รับรู้เหตุผลว่าทำไมถึงได้สร้างสิ่งนี้ขึ้นมา และเขาก็มีสิทธิที่จะแสดงเหตุผลว่าทำไมเขาถึงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้”
เช่นเดียวกับ ปกรณ์ ปัญโญ นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในกลุ่ม “พลเรียน” ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิด้านการศึกษา มองว่าผู้เรียนต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมาก เพราะการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน และผู้เรียนก็เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากที่สุด
“การศึกษามันไม่ได้เป็นเรื่องของรัฐ ของครู หรือของโรงเรียนอย่างเดียว การศึกษามันเป็นเรื่องของผู้เรียนด้วย เวลาที่เราจะจัดการศึกษา เราควรจะสร้างให้มันมีส่วนร่วมกันทุกคน โดยเฉพาะนักเรียนก็เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เราก็ควรจะให้ผู้เรียนมีบทบาทมากขึ้น ว่าต้องการจะเรียนรู้ในเรื่องไหน หรือต้องการจะให้การศึกษาไทยเป็นในทิศทางใด”
ส่วน ครูโอ – ปราศรัย เจตสันติ์ อาจารย์จากโรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม มองว่าการให้ผู้เรียนเข้ามามีส่วนร่วมจะทำให้พวกเขาตระหนักรู้ในสิทธิของตน และรู้ว่าตนมีศักยภาพในการทำอะไรได้บ้าง ซึ่งถือเป็นการสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพให้กับประเทศ
“เขา (ผู้เรียน) จะรู้สึกว่าเสียงของเขามีความหมายเวลาที่พูดออกมาแล้วมีคนรับฟัง เพราะฉะนั้นการมีส่วนร่วมมันเป็นการสร้างให้เด็กเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ เข้าใจว่าอะไรที่เขาต้องทำ และเขาจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขได้อย่างไร ถ้าเราให้เด็กมีบทบาทหรือมีส่วนร่วมมากๆ เด็กก็จะรู้ถึงพลังว่าเขาทำอะไรได้”
หลายวิธีฟังเสียงผู้เรียน
หากอยากฟังความคิดเห็นของคนอื่น คุณจะเลือกวิธีไหน? ระหว่างถามเขาโดยตรงว่าคิดเห็นอย่างไร หรือบอกความคิดของคุณไปและรอเขาตอบกลับมา
ไม่ว่าคุณจะเลือกวิธีใด กระทรวงศึกษาธิการเลือกอย่างหลัง
รศ.นพ.กำจร ตติยกวี อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พูดถึงการเปลี่ยนระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2561 ว่าไม่ได้เปิดประชาพิจารณ์หรือรับฟังเสียงของผู้เรียนโดยตรง แต่เน้นการ “ฟังเสียงสะท้อน” ผ่านสื่อสังคมออนไลน์
“ทั่วไปทุกครั้งก็จะมีสื่อสาธารณะเป็นเสียงสะท้อนครับ ครั้งนี้ก็มีสื่อออนไลน์ซึ่งเข้ามามีบทบาท อย่างเฟซบุ๊กหรือในสื่อสังคมออนไลน์ที่เขาแชร์กัน ท่านรัฐมนตรีก็ได้ติดตามทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเฟซบุ๊กไหนหรือส่วนใดที่เสนอ ก็เห็นด้วย 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ สิบรายมีเก้ารายที่เห็นด้วย”
เขายังบอกอีกว่า ผู้เรียนควรจะมีส่วนร่วมแบบผลสะท้อนกลับ (Feedback) มีสิทธิที่จะเสนอหรือเรียกร้องหากเห็นสิ่งใดไม่ชอบมาพากล แต่ต้องไม่ใช่การเรียกร้องเพื่อประโยชน์ของตนเอง
ทว่าการฟังเสียงของผู้เรียนก็ยังมีอีกหลากหลายวิธี ขณะที่กระทรวงศึกษาใช้วิธีการฟังเสียงสะท้อน แต่นักศึกษาอย่างปกรณ์ กลับมองว่าต้องเปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนได้เข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรง ถึงแม้ว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมในเชิงนโยบายอาจจะยังเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ควรเริ่มจากในโรงเรียนหรือห้องเรียนก่อน เพื่อเป็นการฝึกให้ผู้เรียนได้ทดลองมีส่วนร่วมในเบื้องต้น
“อาจให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในพื้นที่เล็กๆ ก่อน เช่น พื้นที่ในห้องเรียนของเขา มาออกแบบกฎการเรียนรู้ร่วมกัน ออกแบบกฎกติการ่วมกัน อยากให้ครูสอนแบบไหน เรามาถกเถียงกันดีกว่าว่าอยากให้ครูสอนแบบนี้เพราะอะไร”
ด้าน ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เห็นตรงกันว่าการมีส่วนเริ่มอาจเริ่มง่ายๆ จากในห้องเรียน โดยยกตัวอย่างประเทศฝรั่งเศส ที่แม้แต่การตัดเกรดประจำปี แต่ละห้องยังต้องส่งตัวแทนผู้เรียนชาย-หญิงมามีส่วนร่วมพูดคุยกับอาจารย์ นอกจากนั้นเขายังบอกว่า การเปิดวงสนทนาหลายๆ ที่ ให้เด็กทุกกลุ่มเข้ามาแสดงความเห็นก่อนจะออกนโยบาย ก็ยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่เป็นไปได้
“ในเชิงนโยบายทุกเรื่องต้องมีวงคุยมากขึ้น แล้ววงคุยเหล่านี้ต้องยอมให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเข้ามาอยู่ในวงคุยด้วย ไม่ใช่แค่คนทำงานคิดและตัดสินใจกันเอง”
นอกเหนือจากวิธีการข้างต้น อีกหนึ่งวิธีที่คงจะขาดไปไม่ได้ในสังคมประชาธิปไตยก็คือ “ระบบตัวแทน”
ครูโอ เล่าถึงระบบตัวแทนในโรงเรียนบางปะกอกวิทยาคมว่า ทางโรงเรียนได้จัดตั้ง “สภานักเรียน” แยกออกมาจากคณะกรรมการนักเรียน โดยทำหน้าที่เป็นตัวแทนของนักเรียนทุกคน และถึงแม้สภานักเรียนจะจัดตั้งได้เพียงแค่ 3 เดือน แต่ก็มีผลงานหลายชิ้นออกมาอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การจัดงานเสวนาร่วมกันระหว่างนักเรียนและครู หรือการออกแบบ “ธรรมนูญสภานักเรียน” ซึ่งเป็นกฎข้อบังคับที่นำมาใช้ควบคุมคณะกรรมการนักเรียนและสภาฯ โดยผ่านประชามติจากนักเรียนทั้งโรงเรียน
ยิ่งไปกว่านั้น สภานักเรียนฯ ยังเคยรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียนเพื่อรวบรวมข้อเสนอเกี่ยวกับการปรับหลักสูตรระดับชั้นมัธยมปลาย ก่อนจะยื่นหนังสือแถลงการณ์และเข้าพูดคุยกับผู้บริหาร จนท้ายที่สุด ผู้บริหารและฝ่ายวิชาการก็ตกลงปรับเปลี่ยนตามข้อเสนอของสภาฯ
ครูโอบอกว่า เหตุที่สภานักเรียนโรงเรียนบางปะกอกมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง มาจากสี่ปัจจัย หนึ่งคือกระบวนการฝึกผู้เรียนให้คิด โดยให้แนวคิดว่าสภาฯ ต้องเป็นตัวแทนและทำเพื่อเสียงของผู้เรียน สองคือแกนนำของสภาฯ ที่มีความเข้มแข็ง สามคืออาจารย์ผู้ดูแลสภาฯ ที่คอยผลักดันและสนับสนุนแนวคิดของสภาฯ และสุดท้ายคือผู้บริหารที่เปิดใจรับฟังเสียงผู้เรียน
ถึงแม้ว่าการฟังเสียงผู้เรียนจะเป็นเรื่องจำเป็น แต่ครูโอก็มองว่าความคิดเห็นของผู้เรียนไม่จำเป็นต้องถูกต้องเสมอไป เพราะฉะนั้นรูปแบบของการมีส่วนร่วมจึงต้องเป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ ที่สามารถแสดงความเห็นกันได้อย่างเท่าเทียมกัน
“เราฝึกเด็กขึ้นมาในกรณีนี้มันไม่ได้แปลว่าให้เด็กเป็นคนตัดสินใจทุกอย่างในโรงเรียน และปล่อยให้ผู้ใหญ่เป็นคนนั่งฟังความเห็นเด็ก เพราะว่าสิ่งที่เด็กมีคือกรอบของเด็ก มุมมองของเด็ก ซึ่งจะขาดมุมมองของผู้ใหญ่ และขาดมุมมองที่เป็นตามหลักวิชาการ ทีนี้วิธีการที่เราทำให้เด็กขึ้นมามีเสียงมากขึ้น มันเป็นการทำให้เขาขึ้นมาเท่าเทียม มีความเห็นที่พูดได้พร้อมๆ กัน นั่งโต๊ะระดับเดียวกันกับผู้ใหญ่” ครูโอกล่าว
“สังคมย่อส่วน” โลกภายนอกเป็นเช่นไร โลกภายในเป็นเช่นนั้น
“อาบน้ำร้อนมาก่อน”
ปกรณ์ ยกสำนวนนี้มาพูดย้ำหลายต่อหลายรอบ เขาบอกว่าสำนวนก็คือภาพสะท้อนที่ชัดเจนว่าสังคมไทยยังยึดติดกับชนชั้นและระบบอาวุโส ที่คนอายุมากกว่าแปลว่าเก่งมากกว่า เข้าใจโลกมากกว่า ฉะนั้นหากระบบการศึกษาหรือสังคมไทยยังคงมีความคิดความเชื่อแบบนี้ ผู้ใหญ่จึงไม่จำเป็นต้องฟังเสียงของผู้ที่เด็กกว่า
“จริงอยู่ว่าผู้ใหญ่อาจจะอายุเยอะกว่า หรืออาบน้ำร้อนมาก่อน แต่ความจริงแล้วบริบทที่ผู้ใหญ่เคยเป็นเด็ก กับบริบทเด็กในปัจจุบันมันไม่เหมือนกัน เวลาที่เราจะเปรียบเทียบประสบการณ์หรือชุดความรู้ อาจไม่สามารถเปรียบเทียบได้ เพราะบริบทมันเปลี่ยนแปลงไปมาก เขาจึงควรต้องฟังเสียงของพวกเราบ้าง”
เช่นเดียวกับกระติ๊บ ที่มองว่าแนวคิดอาวุโสทำให้ผู้ใหญ่มีอำนาจเหนือกว่า และใช้อำนาจห้ามไม่ให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นหรือโต้เถียง เพราะอาจคิดว่าผู้เรียนใช้เหตุผลไม่เป็นและไม่มีวุฒิภาวะ
“ก่อนที่จะกำหนดนโยบายอะไรขึ้นมาก็อยากให้รับฟังเสียงของเด็กให้มากขึ้น เพราะเด็กก็มีเหตุผลเหมือนกัน และเด็กเป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากการศึกษาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเขารู้ว่าสิ่งไหนเหมาะสมกับตัวเขา เป็นสิ่งที่เขาได้ใช้ประโยชน์ หรือสิ่งไหนมีโทษกับเขา”
ด้าน ผศ.อรรถพล โยงไปถึงวัฒนธรรมข้าราชการที่คอยแต่รับคำสั่งจากเบื้องบน เขาบอกว่าโรงเรียนก็คือหน่วยงานราชการที่ไม่ได้มีอิสระเต็มร้อย แม้แต่ครูหรือผู้ปกครองก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้ตัดสินใจไม่ต่างจากผู้เรียน
“จริงๆ ไม่ใช่แค่เด็ก ขนาดผู้ปกครองยังไม่มีสิทธิส่งเสียงเลย อย่างเรื่องจะมีเรียนฟรี 15 ปีหรือเปล่า มันกระทบผู้ปกครองเด็ก เมื่อคนที่จ่ายตังค์คือพ่อแม่เด็ก คุณจะตัดสินใจแทนได้อย่างไร ขนาดเราเป็นประชาชน เป็นผู้ใหญ่เรายังไม่มีสิทธิส่งเสียงเลย แล้วนับประสาอะไรกับเด็ก”
นอกจากนั้นเขายังกล่าวว่า สังคมไทยก็ยังเป็นสังคม “อำนาจนิยม” มีชนชั้น มีผู้ใหญ่-ผู้น้อย และระบบการศึกษาก็คือภาพสะท้อนของภาพใหญ่ ดังนั้น สังคมภายนอกเป็นเช่นไร ระบบการศึกษาก็เป็นเช่นนั้น
“โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยมันก็คือ ‘สังคมย่อส่วน’ มันไม่ใช่ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน มันมาด้วยกัน เพราะฉะนั้นเมื่อสังคมนอกโรงเรียนยังเป็นสังคมที่เน้นอำนาจนิยม โรงเรียนก็สะท้อนภาพนั้นอยู่ดี”
อย่างไรก็ตาม ผศ.อรรถพล ยังเชื่อว่าสังคมอำนาจนิยมจะเปลี่ยนเป็นสังคมประชาธิปไตยที่เปิดพื้นที่และรับฟังเสียงของทุกคนได้ แต่ต้องใช้ระยะเวลา ต้องอาศัยการเรียนรู้ รวมถึงต้องอาศัยพลังของคนรุ่นใหม่ที่ตระหนักในบทบาทของพลเมือง และบทบาทของผู้มีส่วนร่วมให้มากยิ่งขึ้น
“การเปลี่ยนสังคมที่เป็นสังคมโครงสร้างอำนาจนิยมชัดๆ ให้มันกลายเป็นสังคมประชาธิปไตย มันไม่ได้เปลี่ยนกันในเวลาอันรวดเร็วหรอก มันต้องอาศัยการเรียนรู้ แล้วค่อยๆ เติบโตไปด้วยกัน และต้องอาศัยพลังคนรุ่นใหม่ที่ตระหนักในบทบาทของตนเองในการเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม” ผศ.อรรถพลกล่าวปิดท้าย
Like this:
Like Loading...
เคยถูกอาจารย์บังคับเรื่องทรงผมไหม ?
เชื่อว่าหลายคนคงเคยเจออาจารย์ที่มาจ้ำจี้จ้ำไชว่าทรงผมต้องเป็นแบบไหน เช่น ต้องผมสั้นเท่าติ่งหู รองทรงสูง หรือรวบผมผูกโบว์ให้เรียบร้อย กฎเกณฑ์เหล่านี้ถูกกำหนดโดยกระทรวงศึกษาธิการ และแต่ละโรงเรียนต้องนำมาปรับใช้
ไม่เพียงแต่ระเบียบทรงผม แต่แทบทุกอณูของระบบการศึกษามีกฎเกณฑ์หรือนโยบายต่างๆ ที่ถูกกำหนดมาโดยภาครัฐเพื่อให้ผู้เรียนปฏิบัติตามทั้งสิ้น ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างเครื่องแต่งกาย ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างกำหนดเปิด-ปิดภาคการศึกษา หรือการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งการกำหนดกฎเกณฑ์หรือนโยบายใดๆ ล้วนส่งผลกระทบต่อผู้เรียนเสมอ
ภู – ภูวน ชมภูผล นักเรียนชั้น ม.ห้า โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของภาครัฐ ภูเล่าว่าเขาอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ขึ้นม.สี่ แต่กลับต้องเป็นรุ่นแรกที่ถูกเปลี่ยนระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2561
“ขอแบบเก่าคืนได้ไหม (หัวเราะ) ยังไม่พร้อมสำหรับของใหม่ เพราะตอนนี้ตะลุยทำ GAT กับ PAT เตรียมสอบแบบระบบเก่าลูกเดียว ยังไม่รู้ว่าระบบใหม่จะเพิ่มอะไรเข้าไปอีก”
ภู ยังบอกอีกว่า เขาต้องยอมรับในการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะไม่เคยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงก็ตาม และคงจะดีกว่านี้ถ้าการศึกษาให้โอกาสกับทุกคนได้มีส่วนร่วมและออกความเห็นในทุกๆ เรื่อง
ด้าน กระติ๊บ – วริษา สุขกำเนิด นักเรียนชั้น ม.ห้า และเลขาธิการกลุ่ม “การศึกษาเพื่อความเป็นไท” เล่าถึงผลกระทบที่ผู้เรียนเจอเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย โดยยกตัวอย่างนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ที่ทำให้ผู้เรียนต้องใช้เวลาอยู่ในโรงเรียนเพิ่ม และเสียเวลาที่จะได้ออกไปทำสิ่งที่ตนอยากเรียนรู้นอกโรงเรียน รวมไปถึงเนื้อหาวิชาหน้าที่พลเมือง ที่สร้างภาระให้ผู้เรียนต้องนั่งท่องค่านิยมตามที่รัฐกำหนด ซึ่งไม่ทำให้เกิดความคิดเชิงวิพากษ์หรือความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล
แม้ว่ากระติ๊บจะสนใจปัญหาด้านการศึกษามาตั้งแต่ ม.ต้น แต่รัฐแทบไม่มีช่องทางให้เธอได้แสดงความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย เธอจึงตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท กลุ่มนักเรียนที่มารวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวในประเด็นด้านการศึกษา เช่น การขอเปลี่ยนระเบียบทรงผม หรือการเรียกร้องให้รัฐบรรจุสวัสดิการเรียนฟรีชั้น ม.ปลายไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
“เราเข้าเครือข่ายการศึกษาที่เป็นการจัดตั้งขึ้นมาเอง ทำในภาคส่วนของการเคลื่อนไหว มากกว่าที่รัฐบาลจะมาเปิดให้เราได้แสดงความคิดเห็น” กระติ๊บกล่าว
ทำไมต้องฟัง?
จากสถิติ “จำนวนสถานศึกษา ครู/อาจารย์ และนักเรียน นิสิต นักศึกษาในระบบโรงเรียน ปีการศึกษา 2535-2558” ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่าในปีการศึกษา 2558 มีนักเรียน นิสิต และนักศึกษา จำนวนกว่า 13 ล้านคน ในขณะที่มีครูอาจารย์เพียงหกแสนกว่าคน ผู้เรียนจึงเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดในระบบการศึกษา แม้แต่รัฐธรรมนูญของประเทศที่กระทบต่อประชาชนทุกคนก็ยังต้องผ่านความเห็นชอบจากประชาชนก่อนประกาศใช้ แล้วกฎเกณฑ์หรือนโยบายของระบบการศึกษาเล่า? สมควรจะต้องผ่านความเห็นชอบหรือการมีส่วนร่วมของผู้เรียนหรือไม่?
ในความเห็นของกระติ๊บ เธอมองว่าผู้เรียนควรเข้ามามีส่วนร่วม เพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการศึกษา และรู้ว่าการศึกษาแบบไหนที่เหมาะกับพวกเขา
“ผู้เรียนได้รับทั้งผลดีและผลกระทบจากการศึกษาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเขาควรมีสิทธิที่จะเรียกร้องการศึกษาที่ทำให้เขาได้ประโยชน์และเป็นการศึกษาที่ไม่ทำร้ายเขา ผู้เรียนควรจะมีโอกาสได้รับรู้เหตุผลว่าทำไมถึงได้สร้างสิ่งนี้ขึ้นมา และเขาก็มีสิทธิที่จะแสดงเหตุผลว่าทำไมเขาถึงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้”
เช่นเดียวกับ ปกรณ์ ปัญโญ นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในกลุ่ม “พลเรียน” ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิด้านการศึกษา มองว่าผู้เรียนต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมาก เพราะการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน และผู้เรียนก็เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากที่สุด
“การศึกษามันไม่ได้เป็นเรื่องของรัฐ ของครู หรือของโรงเรียนอย่างเดียว การศึกษามันเป็นเรื่องของผู้เรียนด้วย เวลาที่เราจะจัดการศึกษา เราควรจะสร้างให้มันมีส่วนร่วมกันทุกคน โดยเฉพาะนักเรียนก็เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เราก็ควรจะให้ผู้เรียนมีบทบาทมากขึ้น ว่าต้องการจะเรียนรู้ในเรื่องไหน หรือต้องการจะให้การศึกษาไทยเป็นในทิศทางใด”
ส่วน ครูโอ – ปราศรัย เจตสันติ์ อาจารย์จากโรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม มองว่าการให้ผู้เรียนเข้ามามีส่วนร่วมจะทำให้พวกเขาตระหนักรู้ในสิทธิของตน และรู้ว่าตนมีศักยภาพในการทำอะไรได้บ้าง ซึ่งถือเป็นการสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพให้กับประเทศ
“เขา (ผู้เรียน) จะรู้สึกว่าเสียงของเขามีความหมายเวลาที่พูดออกมาแล้วมีคนรับฟัง เพราะฉะนั้นการมีส่วนร่วมมันเป็นการสร้างให้เด็กเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ เข้าใจว่าอะไรที่เขาต้องทำ และเขาจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขได้อย่างไร ถ้าเราให้เด็กมีบทบาทหรือมีส่วนร่วมมากๆ เด็กก็จะรู้ถึงพลังว่าเขาทำอะไรได้”
หลายวิธีฟังเสียงผู้เรียน
หากอยากฟังความคิดเห็นของคนอื่น คุณจะเลือกวิธีไหน? ระหว่างถามเขาโดยตรงว่าคิดเห็นอย่างไร หรือบอกความคิดของคุณไปและรอเขาตอบกลับมา
ไม่ว่าคุณจะเลือกวิธีใด กระทรวงศึกษาธิการเลือกอย่างหลัง
รศ.นพ.กำจร ตติยกวี อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พูดถึงการเปลี่ยนระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2561 ว่าไม่ได้เปิดประชาพิจารณ์หรือรับฟังเสียงของผู้เรียนโดยตรง แต่เน้นการ “ฟังเสียงสะท้อน” ผ่านสื่อสังคมออนไลน์
“ทั่วไปทุกครั้งก็จะมีสื่อสาธารณะเป็นเสียงสะท้อนครับ ครั้งนี้ก็มีสื่อออนไลน์ซึ่งเข้ามามีบทบาท อย่างเฟซบุ๊กหรือในสื่อสังคมออนไลน์ที่เขาแชร์กัน ท่านรัฐมนตรีก็ได้ติดตามทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเฟซบุ๊กไหนหรือส่วนใดที่เสนอ ก็เห็นด้วย 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ สิบรายมีเก้ารายที่เห็นด้วย”
เขายังบอกอีกว่า ผู้เรียนควรจะมีส่วนร่วมแบบผลสะท้อนกลับ (Feedback) มีสิทธิที่จะเสนอหรือเรียกร้องหากเห็นสิ่งใดไม่ชอบมาพากล แต่ต้องไม่ใช่การเรียกร้องเพื่อประโยชน์ของตนเอง
ทว่าการฟังเสียงของผู้เรียนก็ยังมีอีกหลากหลายวิธี ขณะที่กระทรวงศึกษาใช้วิธีการฟังเสียงสะท้อน แต่นักศึกษาอย่างปกรณ์ กลับมองว่าต้องเปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนได้เข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรง ถึงแม้ว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมในเชิงนโยบายอาจจะยังเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ควรเริ่มจากในโรงเรียนหรือห้องเรียนก่อน เพื่อเป็นการฝึกให้ผู้เรียนได้ทดลองมีส่วนร่วมในเบื้องต้น
“อาจให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในพื้นที่เล็กๆ ก่อน เช่น พื้นที่ในห้องเรียนของเขา มาออกแบบกฎการเรียนรู้ร่วมกัน ออกแบบกฎกติการ่วมกัน อยากให้ครูสอนแบบไหน เรามาถกเถียงกันดีกว่าว่าอยากให้ครูสอนแบบนี้เพราะอะไร”
ด้าน ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เห็นตรงกันว่าการมีส่วนเริ่มอาจเริ่มง่ายๆ จากในห้องเรียน โดยยกตัวอย่างประเทศฝรั่งเศส ที่แม้แต่การตัดเกรดประจำปี แต่ละห้องยังต้องส่งตัวแทนผู้เรียนชาย-หญิงมามีส่วนร่วมพูดคุยกับอาจารย์ นอกจากนั้นเขายังบอกว่า การเปิดวงสนทนาหลายๆ ที่ ให้เด็กทุกกลุ่มเข้ามาแสดงความเห็นก่อนจะออกนโยบาย ก็ยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่เป็นไปได้
“ในเชิงนโยบายทุกเรื่องต้องมีวงคุยมากขึ้น แล้ววงคุยเหล่านี้ต้องยอมให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเข้ามาอยู่ในวงคุยด้วย ไม่ใช่แค่คนทำงานคิดและตัดสินใจกันเอง”
นอกเหนือจากวิธีการข้างต้น อีกหนึ่งวิธีที่คงจะขาดไปไม่ได้ในสังคมประชาธิปไตยก็คือ “ระบบตัวแทน”
ครูโอ เล่าถึงระบบตัวแทนในโรงเรียนบางปะกอกวิทยาคมว่า ทางโรงเรียนได้จัดตั้ง “สภานักเรียน” แยกออกมาจากคณะกรรมการนักเรียน โดยทำหน้าที่เป็นตัวแทนของนักเรียนทุกคน และถึงแม้สภานักเรียนจะจัดตั้งได้เพียงแค่ 3 เดือน แต่ก็มีผลงานหลายชิ้นออกมาอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การจัดงานเสวนาร่วมกันระหว่างนักเรียนและครู หรือการออกแบบ “ธรรมนูญสภานักเรียน” ซึ่งเป็นกฎข้อบังคับที่นำมาใช้ควบคุมคณะกรรมการนักเรียนและสภาฯ โดยผ่านประชามติจากนักเรียนทั้งโรงเรียน
ยิ่งไปกว่านั้น สภานักเรียนฯ ยังเคยรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียนเพื่อรวบรวมข้อเสนอเกี่ยวกับการปรับหลักสูตรระดับชั้นมัธยมปลาย ก่อนจะยื่นหนังสือแถลงการณ์และเข้าพูดคุยกับผู้บริหาร จนท้ายที่สุด ผู้บริหารและฝ่ายวิชาการก็ตกลงปรับเปลี่ยนตามข้อเสนอของสภาฯ
ครูโอบอกว่า เหตุที่สภานักเรียนโรงเรียนบางปะกอกมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง มาจากสี่ปัจจัย หนึ่งคือกระบวนการฝึกผู้เรียนให้คิด โดยให้แนวคิดว่าสภาฯ ต้องเป็นตัวแทนและทำเพื่อเสียงของผู้เรียน สองคือแกนนำของสภาฯ ที่มีความเข้มแข็ง สามคืออาจารย์ผู้ดูแลสภาฯ ที่คอยผลักดันและสนับสนุนแนวคิดของสภาฯ และสุดท้ายคือผู้บริหารที่เปิดใจรับฟังเสียงผู้เรียน
ถึงแม้ว่าการฟังเสียงผู้เรียนจะเป็นเรื่องจำเป็น แต่ครูโอก็มองว่าความคิดเห็นของผู้เรียนไม่จำเป็นต้องถูกต้องเสมอไป เพราะฉะนั้นรูปแบบของการมีส่วนร่วมจึงต้องเป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ ที่สามารถแสดงความเห็นกันได้อย่างเท่าเทียมกัน
“เราฝึกเด็กขึ้นมาในกรณีนี้มันไม่ได้แปลว่าให้เด็กเป็นคนตัดสินใจทุกอย่างในโรงเรียน และปล่อยให้ผู้ใหญ่เป็นคนนั่งฟังความเห็นเด็ก เพราะว่าสิ่งที่เด็กมีคือกรอบของเด็ก มุมมองของเด็ก ซึ่งจะขาดมุมมองของผู้ใหญ่ และขาดมุมมองที่เป็นตามหลักวิชาการ ทีนี้วิธีการที่เราทำให้เด็กขึ้นมามีเสียงมากขึ้น มันเป็นการทำให้เขาขึ้นมาเท่าเทียม มีความเห็นที่พูดได้พร้อมๆ กัน นั่งโต๊ะระดับเดียวกันกับผู้ใหญ่” ครูโอกล่าว
“สังคมย่อส่วน” โลกภายนอกเป็นเช่นไร โลกภายในเป็นเช่นนั้น
“อาบน้ำร้อนมาก่อน”
ปกรณ์ ยกสำนวนนี้มาพูดย้ำหลายต่อหลายรอบ เขาบอกว่าสำนวนก็คือภาพสะท้อนที่ชัดเจนว่าสังคมไทยยังยึดติดกับชนชั้นและระบบอาวุโส ที่คนอายุมากกว่าแปลว่าเก่งมากกว่า เข้าใจโลกมากกว่า ฉะนั้นหากระบบการศึกษาหรือสังคมไทยยังคงมีความคิดความเชื่อแบบนี้ ผู้ใหญ่จึงไม่จำเป็นต้องฟังเสียงของผู้ที่เด็กกว่า
“จริงอยู่ว่าผู้ใหญ่อาจจะอายุเยอะกว่า หรืออาบน้ำร้อนมาก่อน แต่ความจริงแล้วบริบทที่ผู้ใหญ่เคยเป็นเด็ก กับบริบทเด็กในปัจจุบันมันไม่เหมือนกัน เวลาที่เราจะเปรียบเทียบประสบการณ์หรือชุดความรู้ อาจไม่สามารถเปรียบเทียบได้ เพราะบริบทมันเปลี่ยนแปลงไปมาก เขาจึงควรต้องฟังเสียงของพวกเราบ้าง”
เช่นเดียวกับกระติ๊บ ที่มองว่าแนวคิดอาวุโสทำให้ผู้ใหญ่มีอำนาจเหนือกว่า และใช้อำนาจห้ามไม่ให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นหรือโต้เถียง เพราะอาจคิดว่าผู้เรียนใช้เหตุผลไม่เป็นและไม่มีวุฒิภาวะ
“ก่อนที่จะกำหนดนโยบายอะไรขึ้นมาก็อยากให้รับฟังเสียงของเด็กให้มากขึ้น เพราะเด็กก็มีเหตุผลเหมือนกัน และเด็กเป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากการศึกษาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเขารู้ว่าสิ่งไหนเหมาะสมกับตัวเขา เป็นสิ่งที่เขาได้ใช้ประโยชน์ หรือสิ่งไหนมีโทษกับเขา”
ด้าน ผศ.อรรถพล โยงไปถึงวัฒนธรรมข้าราชการที่คอยแต่รับคำสั่งจากเบื้องบน เขาบอกว่าโรงเรียนก็คือหน่วยงานราชการที่ไม่ได้มีอิสระเต็มร้อย แม้แต่ครูหรือผู้ปกครองก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้ตัดสินใจไม่ต่างจากผู้เรียน
“จริงๆ ไม่ใช่แค่เด็ก ขนาดผู้ปกครองยังไม่มีสิทธิส่งเสียงเลย อย่างเรื่องจะมีเรียนฟรี 15 ปีหรือเปล่า มันกระทบผู้ปกครองเด็ก เมื่อคนที่จ่ายตังค์คือพ่อแม่เด็ก คุณจะตัดสินใจแทนได้อย่างไร ขนาดเราเป็นประชาชน เป็นผู้ใหญ่เรายังไม่มีสิทธิส่งเสียงเลย แล้วนับประสาอะไรกับเด็ก”
นอกจากนั้นเขายังกล่าวว่า สังคมไทยก็ยังเป็นสังคม “อำนาจนิยม” มีชนชั้น มีผู้ใหญ่-ผู้น้อย และระบบการศึกษาก็คือภาพสะท้อนของภาพใหญ่ ดังนั้น สังคมภายนอกเป็นเช่นไร ระบบการศึกษาก็เป็นเช่นนั้น
“โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยมันก็คือ ‘สังคมย่อส่วน’ มันไม่ใช่ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน มันมาด้วยกัน เพราะฉะนั้นเมื่อสังคมนอกโรงเรียนยังเป็นสังคมที่เน้นอำนาจนิยม โรงเรียนก็สะท้อนภาพนั้นอยู่ดี”
อย่างไรก็ตาม ผศ.อรรถพล ยังเชื่อว่าสังคมอำนาจนิยมจะเปลี่ยนเป็นสังคมประชาธิปไตยที่เปิดพื้นที่และรับฟังเสียงของทุกคนได้ แต่ต้องใช้ระยะเวลา ต้องอาศัยการเรียนรู้ รวมถึงต้องอาศัยพลังของคนรุ่นใหม่ที่ตระหนักในบทบาทของพลเมือง และบทบาทของผู้มีส่วนร่วมให้มากยิ่งขึ้น
“การเปลี่ยนสังคมที่เป็นสังคมโครงสร้างอำนาจนิยมชัดๆ ให้มันกลายเป็นสังคมประชาธิปไตย มันไม่ได้เปลี่ยนกันในเวลาอันรวดเร็วหรอก มันต้องอาศัยการเรียนรู้ แล้วค่อยๆ เติบโตไปด้วยกัน และต้องอาศัยพลังคนรุ่นใหม่ที่ตระหนักในบทบาทของตนเองในการเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม” ผศ.อรรถพลกล่าวปิดท้าย
Share this:
Like this: