Travel

นั่งรถไฟสายประวัติศาสตร์ ตะลุยชายแดนสองเกาหลี

เดินทางออกนอกกรุงโซล ตามรอยเส้นทางรถไฟแห่งประวัติศาสตร์ บนชายแดนที่มีความตึงเครียดทางทหารสูงที่สุดในโลก แต่เปี่ยมไปด้วยความหวังแห่งการกลับมารวมชาติกันอีกครั้ง

ในยุคที่การเดินทางโดยเครื่องบินสะดวกสบายและมีราคาถูก “เกาหลีใต้” ก็เป็นจุดหมายปลายทางหนึ่งของเหล่าคนไทยที่ได้มุ่งมั่นเก็บหอมรอมริบ เพื่อเดินทางไปสัมผัสวิถีแห่งวัฒนธรรม ที่เข้ามาบุกรุกและตราตรึงใจคนไทยผ่านละครและเพลงในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เมืองหลวงของเกาหลีใต้อย่างกรุงโซลจึงกลายเป็นหมุดหมายแห่งการช้อปปิ้งและตามรอยนักแสดงเกาหลีของคนไทยอย่างเสมอมา

แต่การเดินทางไปเกาหลีใต้ในครั้งนี้ไม่ได้เน้นการช้อปปิ้งหรือความหรูหราในเมืองหลวง หากเป็นการเดินทางออกนอกตัวเมืองตามรอยเส้นทางรถไฟแห่งประวัติศาสตร์ มุ่งตรงขึ้นทิศเหนือไปกว่า 50 กิโลเมตรสู่ชายแดนสองเกาหลี เพื่อซึมซับบรรยากาศและย้อนรอยสถานที่ประวัติศาสตร์อันเกี่ยวพันกับการแบ่งแยกประเทศ สู่ความบอบช้ำของผู้คนสองฝั่งที่ผ่านสงครามอันโหดร้าย บนชายแดนที่มีความตึงเครียดทางทหารสูงที่สุดในโลก แต่เปี่ยมไปด้วยความหวังแห่งการกลับมารวมชาติกันอีกครั้ง

การเดินทางเริ่มขึ้นในยามเช้าที่สถานีรถไฟใจกลางกรุงโซล เพื่อขึ้นรถไฟ DMZ (DMZ-Train) ซึ่งเป็นขบวนพิเศษนำเที่ยวที่มีต้นทางจากสถานีโซล (Seoul) มุ่งตรงสู่จุดหมายปลายทางที่สถานีโดราซาน (Dorasan) สุดชายแดนเกาหลีเหนือ-ใต้ รัฐบาลเกาหลีใต้ริเริ่มรถไฟขบวนพิเศษนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 เป็นต้นมา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและย้ำเตือนให้ชาวโลกรู้จักสงครามเกาหลีอย่างลึกซึ้งมากขึ้น โดยจะออกวิ่งทุกวันอังคาร-อาทิตย์ วันละหนึ่งเที่ยว จากต้นทางสถานีโซลในช่วงเช้า และวิ่งกลับมาในช่วงเย็น ด้วยราคารวม 17,800 วอน (ประมาณ 530 บาท)

Korea'15_Day2 (73)

ลักษณะภายนอกเป็นรถไฟสีขาวจำนวนสามตู้ ประดับตกแต่งด้วยตัวการ์ตูนชุดฮันบกสไตล์เกาหลี พร้อมแต่งแต้มด้วยดอกไม้สีชมพูหวานแหววไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ อีกทั้งยังเป็นรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยพลังน้ำมันดีเซล ย้อนยุคกลับไปเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน เพราะในปัจจุบันรถไฟเกาหลีใต้ทั่วประเทศปรับเปลี่ยนไปใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าทั้งหมด ความรู้สึกสวยงามหวานแววและโบราณย้อนยุคจึงคละเคล้าไปในคราวเดียวกัน

เดินเข้ามาในตัวรถไฟ ก็จะพบกับที่นั่งแบบหันหน้าชนกัน แบ่งออกเป็นสองฝั่งโดยมีทางเดินเล็กๆ กั้นกลาง ภายนอกหวานแววแค่ไหน ภายในตัวรถไฟหวานแววจี๊ดจ๊าดมากกว่าเป็นสองเท่า ด้วยการตกแต่งสีสัน ทั้งสีเขียว-แดง-เหลือง-ชมพู สลับกันไปมาอย่างฉูดฉาดบนที่นั่ง คล้ายกับรถไฟในสวนสนุก นำไปสู่บรรยากาศแห่งความเพลิดเพลินสนุกสนานของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่ร่วมเดินทาง บนผนังสีขาวของตัวรถถูกเติมเต็มด้วยตัวอักษรหลายภาษา ที่ล้วนแล้วแต่แปลความว่า “ความสงบสุข ความรัก ความสามัคคี” (Peace Love Harmony) แทนความรู้สึกของชาวเกาหลีใต้ที่ส่งไปถึงชาวเกาหลีเหนือ ผ่านขบวนรถไฟที่มุ่งทิศตรงไปสู่พวกเขา

นั่งลงบนเบาะสีสันฉูดฉาดได้ไม่นาน ก็ถึงเวลาที่รถไฟจะเคลื่อนตัวออกจากสถานีโซล มุ่งหน้าขึ้นไปทางทิศเหนือของเมือง ขบวนรถแล่นช้ากว่ารถไฟปกติ เพื่อให้ผู้ร่วมทางกว่า 30 ชีวิตจะได้ซึมซาบบรรยากาศข้างทางอย่างเต็มที่ ม้าเหล็กค่อยๆ คืบคลาน แล่นผ่านใจกลางเมืองหลวงอันคับคั่งไปด้วยรถยนต์และอาคารสูง มีถนนและทางด่วนพาดผ่านไปมาอย่างขวักไขว่ จนกระทั่งบรรยากาศโดยรอบเริ่มแปรเปลี่ยนกลายเป็นความสงบแบบชนบท เรียงรายด้วยบ้านเรือนเล็กๆ ริมภูเขา มีชาวบ้านกำลังปลูกผักและมันสำปะหลังอยู่ในไร่ มีเด็กๆ กำลังปั่นจักรยานบนถนนสายเล็กๆ ที่วิ่งเลียบทางรถไฟ ให้ความรู้สึกตื่นเต้น เหมือนเข้าใกล้ชายแดนเข้าไปทุกขณะ

เวลาผ่านไปกว่าชั่วโมงครึ่ง ระยะทางกว่า 40 กิโลเมตรจากกรุงโซล รถไฟ DMZ ได้แล่นเข้ามาจอดที่สถานีอิมจินกัง (Imjingang) นักเดินทางทุกคนต้องลงจากขบวนรถ เพื่อเรียงแถวตรวจเอกสารยืนยันตัวตนในอาคารสถานีอย่างเข้มงวด ทั้งการตรวจบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทาง และกรอกแบบฟอร์มขออนุญาตเดินทางเข้าเขตชายแดน เพราะต่อจากนี้ไป รถไฟขบวนนี้จะแล่นเข้าไปในเขต “DMZ” ริมชายแดน ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมเข้มงวดมากที่สุดของประเทศนี้

“DMZ” ย่อมาจาก Demilitarized Zone หรือ “เขตปลอดทหาร” เป็นพื้นที่กันชนความกว้าง 4 กิโลเมตรบริเวณชายแดนสองเกาหลี และยาวจากฝั่งตะวันตกไปสุดขอบตะวันออกของคาบสมุทรเกาหลี ถูกกำหนดขึ้นหลังการสู้รบอย่างหนักหน่วงของสองเกาหลีระหว่างปี พ.ศ.2493-2496 เกิดเป็นสนธิสัญญาหยุดยิง ที่ประกาศห้ามทั้งสองประเทศเคลื่อนไหวกองทัพหรือสะสมกำลังพลภายในพื้นที่ DMZ เป็นอันขาด และแม้ว่าการสู้รบอย่างรุนแรงจะยุติไปกว่า 60 ปีแล้ว แต่สงครามเกาหลีก็ยังไม่ถือว่าสิ้นสุด เป็นเพียงการหยุดยิง “ชั่วคราว” เท่านั้น การปะทะกันทางทหารเล็กๆ น้อยๆ รวมถึงการเปิดลำโพงโฆษณาชวนเชื่อจากทั้งสองฝั่ง ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน DMZ จึงถือเป็นพื้นที่อ่อนไหวที่อาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นได้ทุกเมื่อ!! การตรวจนักเดินทางกว่า 30 ชีวิตที่จะบุกฝ่าเข้าไปในเขตปลอดทหารอย่างเข้มงวด จึงเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลเกาหลีใต้จะติดตามทุกคนได้อย่างใกล้ชิด พร้อมให้หลักประกันว่า “เราจะทำอย่างดีที่สุด” เพื่อให้ทุกคนกลับออกมาอย่างปลอดภัย…

korea15_day2-16.jpg

เมื่อการตรวจเอกสารอย่างขึงขังและจริงจังได้ผ่านพ้นไป ผู้ร่วมชะตากรรมทุกคนก็กลับขึ้นม้าเหล็ก มุ่งสู่ดินแดนสุดพิศวงที่อยู่เบื้องหน้า รถไฟแล่นผ่านสถานีอิมจินกังเข้ามาภายในพื้นที่ DMZ บรรยากาศโดยรอบเงียบสงบจนวังเวง ไร่มันสำปะหลังริมทางที่เห็นก่อนหน้านี้ กลายเป็นทุ่งหญ้าแห้งเตียนสีเหลือง มีรั้วลวดหนามกั้นเป็นระยะๆ ก่อนจะข้ามผ่านแม่น้ำสายเล็กๆ ที่มองเห็นตอม่อของสะพานเก่าอยู่ทางขวามือ สะพานแห่งนี้ถูกทหารเกาหลีเหนือทำลายในช่วงสงครามเกาหลี เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวเกาหลีเหนือหนีข้ามมายังฝั่งใต้ได้ กลายเป็นหลักตอแห่งประวัติศาสตร์ ที่คอยย้ำเตือนให้ชาวโลกมองเห็นความเลวร้ายของสงครามได้อย่างไม่รู้ลืม

ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที รถไฟก็เดินทางมาถึงจุดหมายปลายทางที่สถานีโดราซาน ซึ่งเป็นสถานีรถไฟสุดท้ายของเกาหลีใต้ ก่อนที่ทางรถไฟจะแล่นเข้าสู่เกาหลีเหนือ ในอดีตก่อนการแบ่งแยกประเทศ ทางรถไฟสายนี้เป็นเส้นทางหลักที่สำคัญของประเทศ เพราะเชื่อมเมืองหลวงอย่างกรุงโซล และเมืองใหญ่อันดับสองอย่างเปียงยางเข้าด้วยกัน (ปัจจุบันเปียงยางกลายเป็นเมืองหลวงของเกาหลีเหนือ) และแม้ว่าการแบ่งแยกประเทศจะทำให้ทางรถไฟสายนี้กลายเป็นแค่ภาพในความทรงจำ แต่รัฐบาลเกาหลีใต้ก็ยังคงบำรุงรักษาไว้อย่างทะนุถนอม ด้วยความหวังที่จะใช้เส้นทางนี้เชื่อมสองเมืองใหญ่เข้าด้วยกันอีกครั้งในอนาคต

หลังจากชื่นชมความโอ่อ่าของสถานีโดราซานอย่างเต็มอิ่ม ก็ถึงเวลาที่จะออกสำรวจพื้นที่ DMZ แห่งนี้ แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่ควบคุมเข้มงวดของรัฐบาล การเดินทางภายในเขต DMZ จึงต้องใช้บริการของบริษัททัวร์ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ซึ่งมีให้เลือกหลายโปรแกรม ตั้งแต่ราคา 8,000 จนถึง 15,000 วอน (ประมาณ 250-450 บาท) แบ่งตามลำดับการเดินทางไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ รวมถึงระดับความหรูหราของรถบัสและอาหารกลางวัน ตามสภาพเงินในกระเป๋าจะเอื้ออำนวย

Korea'15_Day2 (27)

รถบัสของบริษัททัวร์พร้อมพนักงานขับรถที่ยิ้มแย้มแจ่มใส จะพาเหล่านักเดินทางวิ่งตะลอนไปโดยรอบ เขต DMZ ซึ่งมีสามหมุดหมายที่ห้ามพลาดเมื่อเดินทางเข้ามาในดินแดนพิศวงแห่งนี้ จุดหมายปลายทางแรกคือ หอสังเกตการณ์แห่งเทือกเขาโดราซาน (Dorasan Observatory) เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมที่ถูกทาด้วยสีเขียวลายพรางทหาร เดินขึ้นบันไดมาไม่กี่ก้าวก็จะพบกับลานกว้างที่มีกล้องส่องทางไกลให้บริการ แน่นอนว่าสิ่งที่ทุกคนพยายามส่องและค้นหาคงไม่ใช่สิ่งอื่นใด นอกจากเกาหลีเหนือ! ดินแดนอันลึกลับที่ใครๆ ก็อยากเข้าไปค้นหา

ชายแดนสองเกาหลีห่างจากหอสังเกตการณ์ไม่เกิน 500 เมตร เบื้องหน้าจะมองเห็นกลุ่มอาคารสีขาวขนาดเตี้ยและสูงสลับกันไป ที่แห่งนั้นคือเมืองแกซ็อง (Kaesong) เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมแกซ็อง ซึ่งรัฐบาลเกาหลีเหนือและใต้ได้ร่วมกันก่อตั้งเมื่อสิบกว่าปีก่อน ในยุคที่ความตึงเครียดของสองเกาหลีผ่อนคลายและมีความร่วมมือต่อกันในหลากหลายด้าน แม้ว่าในปัจจุบันจะดูเงียบเหงาและไร้ผู้คนเพราะความสัมพันธ์เริ่มกลับมาสั่นคลอน แต่นิคมอุตสาหกรรมแกซ็องก็ได้กลายเป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งของสันติภาพที่บังเกิดขึ้นระหว่างคนสองฝั่ง และเฝ้าคอยวันเวลาที่จะได้มิตรภาพอันดีกลับคืนมาอีกครั้ง

Korea'15_Day2 (38).JPG

หลังจากตื่นตาตื่นใจกับการส่องเกาหลีเหนือแบบใกล้ชิดติดขอบจอ จุดหมายยอดนิยมต่อมาที่จะพลาดไปไม่ได้คือ อุโมงค์การรุกรานแห่งที่สาม (3rd Tunnel of Aggression) เป็นอุโมงค์ที่เกาหลีเหนือขุดขึ้นอย่างลับๆ เพื่อนำทหารลักลอบเข้าโจมตีกรุงโซลในช่วงสงครามเกาหลี ภายหลังสงคราม รัฐบาลเกาหลีใต้ขุดค้นพบอุโมงค์ลักษณะนี้จำนวนสี่อุโมงค์ตลอดแนวพื้นที่ DMZ แต่อุโมงค์แห่งที่สามนี้มีชื่อเสียงและอยู่ใกล้กับกรุงโซลมากที่สุด รัฐบาลจึงจัดสร้างรถไฟโมโนเรลคันเล็กๆ จากพื้นดินลงสู่ชั้นล่างของอุโมงค์ไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างสะดวกสบาย

DSC_1616

ภายในอุโมงค์เป็นทางเดินแคบๆ บรรยากาศมืดดำและอับชื้น มีน้ำหยดลงมาจากเพดานเป็นระยะๆ เมื่อเดินถลำลึกเข้าไปได้ประมาณ 150 เมตร ก็จะพบกับกำแพงเหล็กขนาดใหญ่กั้นขวาง ที่มีตัวอักษรเขียนว่า “DO NOT ENTER” เพราะหลังกำแพงสีดำทมึนนี้ คือดินแดนเกาหลีเหนือ!! นี่คือจุดที่เข้าใกล้เขตแดนเกาหลีเหนือมากที่สุดในพื้นที่ DMZ ฝั่งเกาหลีใต้ ส่งความลึกลับพิศวงลอดผ่านกำแพงออกมาอย่างเนืองๆ อุโมงค์แห่งประวัติศาสตร์นี้คงจะคึกคักขึ้นอีกมาก หากกำแพงหนาทึบที่อยู่ตรงหน้าถูกทำลายลงในวันหนึ่ง และเชื่อมทั้งสองฝั่งเข้าหากันอีกครั้ง

รถบัสแล่นมาจอดยังจุดหมายสุดท้าย ณ สวนสันติภาพแห่งโดราซาน (Dorasan Peace Park) ซึ่งอยู่เยื้องกับสถานีรถไฟโดราซาน เป็นนิทรรศการย่อมๆ ที่รวบรวมรูปภาพ สิ่งของ และสัญลักษณ์แห่งความทรงจำสองเกาหลี ตั้งแต่ยุคก่อนการแยกประเทศ มาสู่ยุคแห่งความโหดร้ายของสงคราม จนถึงยุคของความบอบช้ำหลังแยกแผ่นดิน ด้านข้างของสวนมีผนังกระเบื้องสีขาวทอดยาวอยู่ และถูกเติมเต็มด้วยข้อความหลากภาษาที่ร่วมอวยพรแด่สองเกาหลี ให้กลับมารวมเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้งในเร็ววัน ภายใต้เสาธงสูงตระหง่านใจกลางสวน ที่ผูก “ธงร่วมเกาหลี” ซึ่งเป็นรูปคาบสมุทรเกาหลีสีน้ำเงินคราม บนผืนธงสีขาวอย่างสง่างาม แสงอาทิตย์นวลๆ สาดส่องจนกลายเป็นผืนธงสีทองแห่งความเจริญรุ่งเรือง สะท้อนถึงความหวังอันแรงกล้าของการรวมชาติ ที่ทำให้เหล่านักเดินทางขนลุกได้ไม่ยาก

ตะวันคล้อยบ่ายแก่ๆ สาดแสงสีส้มไปทั่วท้องฟ้า เป็นสัญญาณเวลาที่จะต้องกลับกรุงโซล รถบัสสีสันต่างๆ ได้วิ่งวนกลับมาจอดที่สถานีโดราซานอย่างกระฉับกระเฉง รถไฟ DMZ หันหัวกลับ และจอดรอเหล่านักเดินทางกว่า 30 ชีวิตมาได้สักพักหนึ่ง พร้อมที่จะกลับสู่ต้นทางด้วยเส้นทางเดิมดั่งย้อนเวลา

ม้าเหล็กมุ่งลงสู่ทิศใต้ เคลื่อนตัวออกห่างไปเรื่อยๆ ๆ ๆ จาก “เส้นสมมติ” ที่ผู้มีอำนาจสองฝ่ายจากเชื้อชาติเดียวกัน เพียงแต่ต่างอุดมการณ์ได้ขีดแบ่งไว้ ความรู้สึกสนุก ตื่นเต้น และประทับใจของเหล่านักเดินทางยังคงไม่จางหายไปไหน สักวันหนึ่งเราคงได้พบกันใหม่ ด้วยความหวังอันแรงกล้าที่จะได้ใช้เส้นทางรถไฟสายนี้ มุ่งตรงขึ้นเหนือ ฝ่าแนวเส้นสมมติ และจอดเทียบชานชาลากรุงเปียงยางได้โดยสวัสดิภาพ

สักวันหนึ่ง.. หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น…

หมายเหตุ : ผลงานสารคดีท่องเที่ยว วิชาการเขียนเชิงวารสารศาสตร์ ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2558

%d bloggers like this: