การถ่ายภาพแนวสตรีท (Street Photography) คือการถ่ายภาพในพื้นที่สาธารณะ โดยไม่มีการจัดฉาก ความโดดเด่นของภาพสตรีท คือการถ่ายทอดมุมมองของช่างภาพที่มีต่อสภาพแวดล้อมที่ดูธรรมดาให้ไม่ธรรมดา
ภาพถ่ายแนวสตรีทส่วนใหญ่จะเล่าเรื่องผ่านเครื่องแต่งกาย สีหน้าอารมณ์ หรือกิริยาท่าทางของบุคคลในภาพซึ่งเป็นคนที่ช่างภาพพบเห็นตามสถานที่สาธารณะ แต่คำถามที่ตามมา คือการถ่ายภาพแบบนี้ละเมิดสิทธิของบุคคลที่เป็นส่วนหนึ่งในภาพหรือไม่
“ผมมองว่ามันเป็นสิทธิ์ของทั้งสองฝ่าย ช่างภาพมีสิทธิ์ที่จะถ่าย และคนที่ถูกถ่ายก็สามารถเข้ามาถาม เข้ามาเรียกร้องสิทธิของเขาได้เช่นกัน” ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์ ช่างภาพแนวสตรีทอันดับต้นๆ ของประเทศไทยที่ไปคว้ารางวัลระดับสากลมาจากหลายเวที เสริมว่า สำหรับตน หากผู้ที่ถูกถ่ายเดินมาขอให้ลบ เขามักจะอธิบายให้คนฟังก่อน ว่าสิ่งที่เขาทำอยู่คืออะไร แต่ถ้าผู้ที่ถูกถ่ายไม่พอใจ เขาก็จะลบทันทีตามหลักจรรยาบรรณของช่างภาพ
เช่นเดียวกับ จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต ช่างภาพสตรีทดาวรุ่งผู้เขียนบทความให้กับเว็บไซต์ siamstreetnerds.com กล่าวว่า “เราไม่อยากไปถ่ายใครตอนกำลังแต่งหน้าแล้วอ้าปากน่าเกลียด เพราะถ้าเราโดนถ่ายตอนนั้นเราก็ไม่ชอบเหมือนกัน” วิธีคิดนี้ทำให้ภาพถ่ายของเธอมักจะมีเงามาบดบังใบหน้าของผู้คนในพื้นที่สาธารณะ จนพัฒนาเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในผลงานของเธอ
“สังคมปัจจุบันบันเอื้อให้เราถูกถ่ายได้ทุกเมื่อ ทั้งจากกล้องวงจรปิด กูเกิลแมป หรือจากภาพข่าว แต่มันจะละเมิดผู้อื่นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับตัวช่างภาพว่ามีวิจารณญาณขนาดไหนมากกว่า” อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล ช่างภาพและผู้เขียนพ็อกเกตบุ๊กแนวท่องเที่ยว พาราณสี มนุษย์ สตรีท แสดงความคิดเห็น
ในทางกฎหมาย การถ่ายภาพสตรีทไม่นับว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลใคร เพราะเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ “ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับเรื่องการละเมิดสิทธิในพื้นที่สาธารณะของคนทั่วไป แต่ช่างภาพก็ควรมีจรรยาบรรณในการถ่าย รวมถึงการเผยแพร่ด้วยเช่นกัน” อ. ดร. ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ อธิบาย
นักวิชาการด้านกฎหมายยังกล่าวว่า หากภาพถ่ายละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และสร้างความเสียหายแก่บุคคลในรูปให้เสื่อมเสียด้านภาพลักษณ์ หรือชื่อเสียง ศาลสามารถตัดสินให้ช่างภาพลบรูป และจ่ายค่าสินไหมแก่ผู้เสียหายได้ แต่ถ้าบุคคลในรูปเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จะถือว่าทำความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก มาตรา 27 ที่ระบุว่า ห้ามเผยแพร่สื่อสารสนเทศทุกประเภทที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง และสิทธิประโยชน์ของเด็ก และช่างภาพจะถูกดำเนินการทางกฎหมายทันที
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “นิสิตนักศึกษา” ฉบับที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2559
Like this:
Like Loading...
การถ่ายภาพแนวสตรีท (Street Photography) คือการถ่ายภาพในพื้นที่สาธารณะ โดยไม่มีการจัดฉาก ความโดดเด่นของภาพสตรีท คือการถ่ายทอดมุมมองของช่างภาพที่มีต่อสภาพแวดล้อมที่ดูธรรมดาให้ไม่ธรรมดา
ภาพถ่ายแนวสตรีทส่วนใหญ่จะเล่าเรื่องผ่านเครื่องแต่งกาย สีหน้าอารมณ์ หรือกิริยาท่าทางของบุคคลในภาพซึ่งเป็นคนที่ช่างภาพพบเห็นตามสถานที่สาธารณะ แต่คำถามที่ตามมา คือการถ่ายภาพแบบนี้ละเมิดสิทธิของบุคคลที่เป็นส่วนหนึ่งในภาพหรือไม่
“ผมมองว่ามันเป็นสิทธิ์ของทั้งสองฝ่าย ช่างภาพมีสิทธิ์ที่จะถ่าย และคนที่ถูกถ่ายก็สามารถเข้ามาถาม เข้ามาเรียกร้องสิทธิของเขาได้เช่นกัน” ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์ ช่างภาพแนวสตรีทอันดับต้นๆ ของประเทศไทยที่ไปคว้ารางวัลระดับสากลมาจากหลายเวที เสริมว่า สำหรับตน หากผู้ที่ถูกถ่ายเดินมาขอให้ลบ เขามักจะอธิบายให้คนฟังก่อน ว่าสิ่งที่เขาทำอยู่คืออะไร แต่ถ้าผู้ที่ถูกถ่ายไม่พอใจ เขาก็จะลบทันทีตามหลักจรรยาบรรณของช่างภาพ
เช่นเดียวกับ จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต ช่างภาพสตรีทดาวรุ่งผู้เขียนบทความให้กับเว็บไซต์ siamstreetnerds.com กล่าวว่า “เราไม่อยากไปถ่ายใครตอนกำลังแต่งหน้าแล้วอ้าปากน่าเกลียด เพราะถ้าเราโดนถ่ายตอนนั้นเราก็ไม่ชอบเหมือนกัน” วิธีคิดนี้ทำให้ภาพถ่ายของเธอมักจะมีเงามาบดบังใบหน้าของผู้คนในพื้นที่สาธารณะ จนพัฒนาเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในผลงานของเธอ
“สังคมปัจจุบันบันเอื้อให้เราถูกถ่ายได้ทุกเมื่อ ทั้งจากกล้องวงจรปิด กูเกิลแมป หรือจากภาพข่าว แต่มันจะละเมิดผู้อื่นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับตัวช่างภาพว่ามีวิจารณญาณขนาดไหนมากกว่า” อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล ช่างภาพและผู้เขียนพ็อกเกตบุ๊กแนวท่องเที่ยว พาราณสี มนุษย์ สตรีท แสดงความคิดเห็น
ในทางกฎหมาย การถ่ายภาพสตรีทไม่นับว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลใคร เพราะเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ “ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับเรื่องการละเมิดสิทธิในพื้นที่สาธารณะของคนทั่วไป แต่ช่างภาพก็ควรมีจรรยาบรรณในการถ่าย รวมถึงการเผยแพร่ด้วยเช่นกัน” อ. ดร. ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ อธิบาย
นักวิชาการด้านกฎหมายยังกล่าวว่า หากภาพถ่ายละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และสร้างความเสียหายแก่บุคคลในรูปให้เสื่อมเสียด้านภาพลักษณ์ หรือชื่อเสียง ศาลสามารถตัดสินให้ช่างภาพลบรูป และจ่ายค่าสินไหมแก่ผู้เสียหายได้ แต่ถ้าบุคคลในรูปเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จะถือว่าทำความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก มาตรา 27 ที่ระบุว่า ห้ามเผยแพร่สื่อสารสนเทศทุกประเภทที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง และสิทธิประโยชน์ของเด็ก และช่างภาพจะถูกดำเนินการทางกฎหมายทันที
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “นิสิตนักศึกษา” ฉบับที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2559
Share this:
Like this: