Innovation

แค่อร่อยอาจไม่พอ – ทิศทางร้านอาหารเมืองไทยในยุค 4.0

เมื่อคนเราจะกินอาหาร แล้วไม่ได้คำนึงถึงความอร่อยเพียงอย่างเดียว

เมื่อพูดถึงคำว่า ‘ร้านอาหารที่ดี’ คุณอาจนึกถึง ร้านที่สะอาด สวยงาม เป็นระเบียบ ที่สำคัญคืออาหารอร่อย ราคาคุ้มค่ากับสินค้าและบริการ แต่เมื่อเวลาผ่านไป โลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล พร้อมๆ กับนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งส่งเสริมการขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยี ร้านอาหารที่อยากอยู่รอดต้องรีบหันมาปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาดโดยใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคนี้ที่บางครั้ง อยากกิน แต่ ขี้เกียจ

ผลสำรวจเมื่อสองปีที่แล้วของ Butterball.com ผู้ผลิตอาหารจากเนื้อไก่งวงรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา พบว่า ชาวอเมริกันเสียเงินไปกับการสั่งอาหารทางออนไลน์ เฉลี่ยปีละ 1,100 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 36,000 บาท) หลายคนสั่งเกือบทุกวัน บ้างก็สั่งอาทิตย์ละครั้ง ด้วยเหตุผลว่า อยากกินและขี้เกียจทำอาหารหรือออกไปซื้อเอง คุณก็เคยรู้สึกแบบนี้เหมือนกันใช่ไหม

แน่นอนว่าบ้านเราก็ไม่ต่างกันเท่าไร เห็นได้จากความนิยมในการสั่งซื้ออาหารทางอินเทอร์เน็ตที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า จากอันดับ 9 ของสินค้าที่มีการสั่งซื้อทางอินเทอร์เน็ตสูงสุดในปี 2554 อาหารและเครื่องดื่มกลายเป็นสินค้าอันดับ 2 ที่มีผู้ซื้อทางออนไลน์ในปี 2559 เป็นรองเพียงแค่เครื่องแต่งกาย

ไม่ใช่เพียงสถิติอย่างเดียวที่ช่วยยืนยันว่าการสั่งอาหารออนไลน์นั้นมาแรง แต่ทิศทางการปรับตัวของร้านอาหารในเมืองไทยก็เป็นสิ่งที่ชี้ว่ากระแสดังกล่าวกำลังเป็นที่นิยมจริงๆ

ขายแต่หน้าร้าน โตได้แค่หน้าร้าน

แม้รัฐบาลจะบอกว่าเศรษฐกิจยุคนี้ค่อยๆ ฟื้นตัว แต่บริษัท นีลเส็น ซึ่งสำรวจพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภค พบว่ากำลังซื้อชะลอตัวลง จากตัวเลขการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่ติดลบ ส่งผลให้ร้านอาหารยอดขายตก สมาคมภัตตาคารไทยเปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2560 ว่า ยอดขายของร้านอาหารทุกขนาดลดลงเพราะคนไม่ค่อยทานอาหารนอกบ้านเท่าแต่ก่อน แต่กลับหันไปสั่งซื้อทางออนไลน์แทน

การแข่งขันของร้านอาหารจึงรุนแรงมากขึ้น รวมถึงร้านบรรดาร้านอาหารเปิดใหม่จากเหล่านักลงทุน ข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่า มีการจดทะเบียนธุรกิจภัตตาคารหรือร้านอาหาร ถึง 430 ราย เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ร้านอาหารแบบดั้งเดิมจึงตกอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วงถ้าไม่รีบปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย การบริการที่หน้าร้านเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ หลายร้านดังเริ่มให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์ ทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน เช่น แมคโดนัลด์ เคเอฟซี เดอะ พิซซ่า คอมปะนี และ พิซซ่าฮัท โดยการออกโปรโมชั่นหากสั่งทางออนไลน์ หรือ ส่วนลดในรูปแบบ E-coupon

ร้านที่มีระบบจัด-ส่งอยู่แล้วจึงไม่มีปัญหา เลยกลายเป็นความท้าทายของร้านที่ยังไม่มีบริการนี้ หลายเจ้าเลือกจับมือกับบริษัทฟู้ดเดลิเวอรี่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แข่งกับร้านอาหารชื่อดังได้ หรือจะเลือกกอบโกยลูกค้าให้ได้มากที่สุดโดยใช้สองวิธี ทั้งช่องทางของร้านเองและตัวกลางรับส่งอาหาร

ดร.วัชรพงศ์ รติสุขพิมล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำว่าประเด็นที่ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงหากต้องการเปิดช่องทางรับส่งสินค้าออนไลน์ คือความรู้ความเข้าใจในระบบการสั่งอาหารออนไลน์ของทั้งตัวผู้ประกอบการเองและผู้บริโภค เพราะถึงเทคโนโลยีนี้จะเข้ามาช่วยเจาะกลุ่มลูกค้าหน้าใหม่และลดการจ้างงานของแรงงานที่ไม่จำเป็น แต่ก็ยังมีข้อเสีย เช่น ต้นทุนในการติดตั้งที่อาจสูงเกินไป กลุ่มคนที่ยังยึดติดกับการสั่งอาหารแบบดั้งเดิม รวมถึงปัญหาทางระบบต่างๆ

“ถ้าระบบการสั่งอาหารแบบออนไลน์เกิดปัญหา การประกอบการร้านอาหารอาจสะดุด ไม่สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นประเด็นที่น่ากังวลมากที่สุด” ดร.วัชรพงศ์ กล่าว

ฟู้ดแมสเซนเจอร์ อาชีพใหม่ยอดฮิต

การสั่งอาหารทางออนไลน์ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทำให้ปัจจุบันมีบริการฟู้ดเดลิเวอรี่กว่า 10 รายในเมืองไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่าปีนี้บริการดังกล่าวจะมีมูลค่าราว 26,000-27,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากปีที่แล้วร้อยละ 11-15 แต่ถึงจะมีผู้ให้บริการจำนวนมาก เจ้าที่ได้รับความนิยมกลับมีเพียงไม่กี่ราย เพราะการสั่งอาหารออนไลน์ยังมีข้อจำกัดและไม่สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้อย่างทั่วถึง เช่น ราคา ความเชื่อมั่น คุณภาพ พื้นที่ให้บริการ ระบบเครือข่าย เป็นต้น

yunew2

การเติบโตของธุรกิจเหล่านี้ยังสร้างงานเพิ่มขึ้นให้เป็นอีกทางเลือกในการหารายได้ คือ ตำแหน่งพนักงานส่งอาหาร หรือฟู้ดแมสเซนเจอร์ (food messenger) เช่น ไลน์แมน กระจายอยู่ในตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อคอยรับออเดอร์จากลูกค้าผ่านแอปพลิเคชัน ก่อนไปสั่งอาหารตามร้านและนำไปส่งถึงที่

OLYMPUS DIGITAL CAMERAรถมอเตอร์ไซค์ขนส่งของบริษัทเดลิเวอรี่ถูกจอดไว้ริมถนนขณะที่คนขับกำลังไปซื้อสินค้าตามออเดอร์

OLYMPUS DIGITAL CAMERAOLYMPUS DIGITAL CAMERAร้านขนมปังเจ้าอร่อยเด็ดเยาวราช ซึ่งมีคนมารอซื้อมากจนต้องแจกบัตรคิว ร้านจึงจัดโซนพิเศษไว้สำหรับพนักงานไลน์แมนโดยเฉพาะ 

สตรีทฟู้ดเมืองไทย รอดได้ด้วยสื่อโซเชียล

อีกด้านหนึ่ง ร้านอาหารท้องถิ่นโดยเฉพาะสตรีทฟู้ดตามริมทาง แม้จะไม่มีพื้นที่เป็นของตนเอง แต่กลับกลายเป็นเอกลักษณ์ของกรุงเทพฯ และจุดสนใจของนักท่องเที่ยว ร้านอาหารเล็กๆ เหล่านี้ต้องเผชิญกับการปรับตัวไม่ต่างจากร้านขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง แต่อุปสรรคที่เพิ่มเข้ามาต่อการทำธุรกิจ คือนโยบายจัดระเบียบร้านอาหารริมทาง ซึ่งนอกจากสกัดกั้นการเจริญเติบโตของร้านแล้วยังขัดแย้งกับการผลักดันการท่องเที่ยวเชิงอาหารที่รัฐบาลส่งเสริมด้วย

OLYMPUS DIGITAL CAMERAถนนเยาวราช หนึ่งในถนนที่ถูกจัดระเบียบสำหรับนโยบายสตรีทฟู้ด

OLYMPUS DIGITAL CAMERAนอกจากเป็นที่ชื่นชอบของคนไทยแล้ว นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติก็ให้ความสนใจและหลงใหลในสตรีทฟู้ดไม่แพ้กัน

ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ถ้าสตรีทฟู้ดไม่ปรับตัว ก็จะอยู่รอดยากในยุคดิจิทัล เธอแนะว่า สำหรับร้านอาหารริมทางในย่านที่มีคนพลุกพล่านและต้องการลูกค้าใหม่ๆ การใช้สื่อสังคมออนไลน์ทำการตลาดจะช่วยให้ร้านเป็นที่รู้จักยิ่งขึ้น

“โซเชียลมีเดียนั้นจำเป็นในการโปรโมทร้าน และถ้าต้องการขยายธุรกิจ การร่วมมือกับบริการฟู้ดเดลิเวอรี่จะยิ่งขยายโอกาสได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องระวังผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่หันมาขายอาหารแบบไม่มีหน้าร้านซึ่งถนัดใช้สื่อออนไลน์” ดร.กฤตินี กล่าว

อยากขายอาหาร ไม่ต้องมีหน้าร้านก็ได้

ในยุค 4.0 สถานที่ตั้งร้านอาจไม่จำเป็นเสมอไป เมื่อเราขายทุกอย่างบนโลกออนไลน์ได้ ชนิสรา จุนประทีปทอง หรือแพร บัณฑิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของร้านขนมออนไลน์ ‘The Pastry & Co’ ซึ่งมียอดผู้ติดตามในอินสตาแกรมกว่า 50,000 คน และมียอดขายปีละกว่า 7 ล้านบาท เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างผู้ที่ประสบความสำเร็จกับกิจการร้านที่ไม่มีหน้าร้าน

kanom.jpg

Instagram: The Pastry & Co

“อินสตาแกรมคือจุดหลักที่ทำให้ร้านดังขึ้นมาได้” แพรบอกอย่างมั่นใจ เธอยังเล่าว่ากลยุทธ์ที่ทำให้ร้านสามารถสู้กับคู่แข่ง ทั้งที่มีหน้าร้าน และไม่มีหน้าร้านได้ คือ ‘ราคา’ เนื่องจากการไม่มีหน้าร้านจะช่วยลดต้นทุนเรื่องสถานที่ลงไปมาก ทำให้สามารถนำต้นทุนตรงนี้ไปใส่ใจกับวัตถุดิบในการทำได้มากกว่า

นอกจากลูกค้าบนสื่อออนไลน์แล้ว การไปออกบูธขายสินค้าตามงานเฟสติวัลต่างๆ ยังเป็นอีกวิธีที่ช่วยขยายฐานลูกค้าที่ผ่านไปมา ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าเหล่านั้นก็จะมักจะมาซื้อของต่อทางออนไลน์

อีกหนึ่งจุดเด่นของร้าน คือ การให้ลูกค้าได้มีส่วนในการออกแบบขนมเค้กได้ด้วยตนเอง หรือบางครั้งร้านก็จะทำเค้กตัวการ์ตูนที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในช่วงนั้น ซึ่งช่วยเพิ่มยอดขายเป็นอย่างมาก แต่ด้วยข้อจำกัดของการไม่มีหน้าร้าน การสร้างความเชื่อมั่นของลูกค้าจึงเป็นสิ่งสำคัญ

บรรดาเค้กและคุกกี้รูปตัวการ์ตูนเหล่านี้คือจุดมัดใจให้ลูกค้าสนใจขนมของร้าน The Pastry & Co

“ยอดผู้ติดตามและเสียงตอบรับจากลูกค้า ในอินสตาแกรมมีผลต่อการตัดสินใจซื้อมาก เพราะเดี๋ยวนี้คนเราดูรีวิวลูกค้าเป็นหลัก ไม่ใช่ดูแต่โฆษณาเหมือนแต่ก่อน” แพรกล่าว

แพรมองว่าในอนาคต ถ้าเป็นไปได้ก็อยากมีหน้าร้าน เพราะจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้า และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่มั่นใจในช่องทางการขายออนไลน์ แต่ขณะเดียวกันก็ยังพัฒนากลยุทธ์ใหม่ๆ เช่น ทำเค้กตามวันสำคัญและเทศกาล ร่วมมือกับร้านดอกไม้ของเพื่อนเพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้า แพรเชื่อว่าถ้าบริหารจัดสรรต้นทุนและกำไรได้อย่างลงตัว และสร้างจุดเด่นขึ้นมา จะประสบความสำเร็จไม่แพ้ร้านที่มีหน้าร้าน

คุกกี้ที่ออกแบบพิเศษตามเทศกาล ช่วยเพิ่มยอดจำหน่ายเป็นอย่างมาก

หากธุรกิจอาหารจะอยู่ให้สบายในยุคดิจิทัล ต้องคำนึงว่า ความอร่อยไม่ใช่สิ่งเดียวที่ผู้บริโภคใช้เป็นปัจจัยในการตัดสินใจอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องไม่ละเลยเรื่องคุณภาพและสุขอนามัยที่ดี ช่องทางออนไลน์ที่สะดวกเป็นเพียงปัจจัยเสริมตัวสินค้าให้น่าซื้อขึ้นเท่านั้น

ถ้าอาหารไม่อร่อย คงไม่มีใครอยากกินหรอก จริงไหม…

 

%d bloggers like this: