Community

คืบหน้า “สถานีหลานหลวง” ชาวนางเลิ้งเตรียมรับมือรถไฟฟ้า

“สถานีใต้ดินหลานหลวง” เป็นหนึ่งในสถานีสายสีส้มตะวันตก เมื่อปี 2556 การสร้างสถานีดังกล่าวถูกชาวนางเลิ้งกลุ่มหนึ่งออกมาต่อต้าน ด้วยเหตุผลว่า สถานีอาจทำให้สถานที่ทางวัฒนธรรมหลายแห่งถูกเวนคืน

ปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเริ่มมีความคืบหน้าในฝั่งตะวันออกแล้ว หลังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เริ่มปิดถนนรามคำแหงเพื่อก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า

สำหรับฝั่งตะวันตก ผู้อยู่อาศัยในย่านนี้เผชิญกับการคัดค้านการเวนคืนที่ดินหลายจุดแต่รัฐบาลยืนยันว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจะเดินหน้าต่อไป เนื่องจากผ่านการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

แม้ฝั่งตะวันออกจะคืบหน้า แต่อีกฝั่ง รฟม.กำลังศึกษารูปแบบการลงทุน โดยคาดว่าจะศึกษาเสร็จเมษายนนี้ จากนั้นจะขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ รฟม. ต่อไป ก่อนเปิดประมูลผู้ให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้งเส้นภายในปีนี้

“สถานีใต้ดินหลานหลวง” เป็นหนึ่งในสถานีสายสีส้มตะวันตก เมื่อปี 2556 การสร้างสถานีดังกล่าวถูกชาวนางเลิ้งกลุ่มหนึ่งออกมาต่อต้าน ด้วยเหตุผลว่า ระยะระหว่างสถานีหลานหลวงกับสถานีใกล้เคียง สั้นกว่าระยะห่างของสถานีอื่นๆ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมี ที่สำคัญการสร้างสถานีอาจทำให้สถานที่ทางวัฒนธรรมหลายแห่งของนางเลิ้งอาจถูกเวนคืน

ต้อม (นามสมมติ) พ่อค้าขายของชำย่านหลานหลวง กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนไม่มีความรู้สึกใดๆ ต่อการสร้างสถานีใต้ดินหลานหลวง หากมีการเวนคืนที่ดิน ตนพร้อมที่จะไป เนื่องจากมีที่อยู่อาศัยแห่งอื่นรับรอง แต่ก็อดห่วงชาวบ้านบริเวณใกล้ เคียงไม่ได้ “อย่างน้อยควรแจ้งแบบแผนชัดเจนว่าจะเวนคืนตรงไหนบ้าง เพราะที่ผ่านมายังไม่เห็นแผนที่ชัดเจน ถ้ามีการเวนคืนจริงๆ คนที่โดนก็จะได้เตรียมตัวถูก” ต้อมกล่าว

ขณะที่ สุวัน แววพลอยงาม แกนนำชุมชนวัดแค นางเลิ้งระบุว่า ที่ผ่านมาทางชุมชนพยายามขัดขวางการสร้างสถานีมาตลอด แต่เมื่อไม่สามารถต้านทานกระแสความเจริญได้ จึงพยายามหาทางออกให้ทุกฝ่าย “ตอนนี้เรามีการออกแบบผังเวนคืนของเราเสนอให้ รฟม. คนในชุมชนที่เห็นผังของเรา ก็โอเคหมดนะ”

อย่างไรก็ตามสุวัน แสดงถึงความกังวลเพิ่มเติมของการขอคืนที่ดินเพิ่มเติมในส่วนของสำนักทรัพย์สินฯ เอง “ก็ต้องมองว่าเราอยู่บนที่ดินของสำนักทรัพย์สินฯ ถ้าเขาจะเอาที่คืนจริงๆ ก็ทำได้ เพราะระหว่างที่ดินที่จะสร้างมูลค่าหลายพันล้านกับการเก็บค่าเช่าไม่กี่บาท คิดว่าเขาจะเลือกอย่างไหนกัน ” สุวันกล่าว

ทางด้าน ยุทธนา ป่าไม้ ผู้อำนวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กล่าวว่า เมื่อถึงเวลาดำเนินการก่อสร้างสถานีใต้ดินหลานหลวงจริงการเวนคืนจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่ต้องทำตามระเบียบของ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ที่จะต้องมีการทำประชาพิจารณ์ก่อนการเวนคืน อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นที่ดินของสำนักทรัพย์สินฯ ก็อาจต้องดูอีกครั้งว่า จะต้องทำประชาพิจารณ์หรือไม่

 

%d bloggers like this: