Education Top Stories

เด็ก JR เขาเรียนอะไรกัน? มุมมองรุ่นพี่วารสารสนเทศต่อชีวิตนิสิตและวิถีคนทำสื่อ

"นิสิตนักศึกษา” ชวนศิษย์เก่า JR มาเล่าประสบการณ์จากการเรียนสาขาวารสารสนเทศ ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และถ่ายทอดทัศนะต่อการทำงานสื่อ

สัมภาษณ์: ชยพล มาลานิยม วโรดม เตชศรีสุธี ธัชชัย พัฒนาประทีป มณิสร วรรณศิริกุล ศุภกานต์ ผดุงใจ ตระการตา วิวัฒนะอมรชัย

“นิสิตนักศึกษา” ชวนศิษย์เก่า JR มาเล่าประสบการณ์โหด มัน (ไม่) ฮา จากการเรียนสาขาวารสารสนเทศ ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และถ่ายทอดทัศนะต่อความท้าทายในการทำงานสื่อ

อรอุษา พรมอ๊อด ผู้สื่อข่าวออนไลน์ Workpoint News

พอมาเรียน JR ได้เจอ ได้อ่าน ได้ทำอะไรหลายๆ อย่าง ทำให้เราเปิดโลกมากขึ้น วิธีคิดก็เปลี่ยน เริ่มใช้เหตุใช้ผลในการมองทุกเรื่อง เช่น อาจจะเคยมองคน ๆ หนึ่งว่าทำไมคนนี้นิสัยไม่ดี ทำตัวแย่ แต่พอมาเรียน JR ก็ได้เกิดการวิเคราะห์ ได้เกิดการพูดคุยกันในชั้นเรียนบ่อยๆ

มันเริ่มทำให้เรารู้สึกว่า ที่เขาทำตัวแบบนี้ เขามีเหตุผล มีพื้นฐานชีวิต เขามีอะไรที่มันมากระตุ้นให้เขาต้องทำแบบนั้นหรือเปล่า พอเรารู้สึกว่าการกระทำของทุกคนมันมีเหตุผล มีที่มาที่ไป มันก็เริ่มคิดอะไรด้วยเหตุด้วยผลมากขึ้น ทำให้เรียบเรียงความคิดได้ แต่ก่อนอาจจะพูดไม่เป็นเรื่องเป็นราว ก็เริ่มมีลำดับความคิด เริ่มมีแผนผังในสมอง

อรอุษา พรมอ๊อด

รูปแบบการเรียนมันก็ทำให้พี่อยากเป็นนักข่าว มันปลุกความเป็นนักข่าวในตัวพี่ ความอยากเป็นนักข่าวมันก็มาจากสิ่งที่เราได้เรียนทั้งนั้น มาจากการที่ครูให้ลงพื้นที่… มันทำให้เราเปิดโลก ตอนแรกเราอาจจะเจอแต่ในหนังสือ ในมหาวิทยาลัย พอบางทีเราต้องเขียนเรื่องสักเรื่อง (สำหรับวิชาการเขียนเชิงวารสารศาสตร์) เราอาจจะต้องก้าวออกมาจากจุดที่เราอยู่ เพื่อที่จะมาเข้าถึงมัน

อีกวิชาที่พี่เหมือนทำตัวเป็นนักข่าวจริงๆ เลย คือวิชารายงานข่าวเชิงลึก ซึ่งวิชานี้ต้องทำคลิปข่าวที่เป็นเหมือนรายงานข่าวทางทีวีจริง พี่ทำเรื่องการเวนคืนที่รถไฟฟ้าสายสีส้มตรงราชปรารภ ในช่วงนั้นมันก็ยังมีปัญหา ชาวบ้านติดป้ายเรียกร้อง คือพี่ทำงานเสี่ยงคุกมากเลย ไปถ่าย ไปตระเวนหาข้อมูล ไปหาแผนผัง พื้นที่ ไปสัมภาษณ์ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไปสัมภาษณ์คุณชัชชาติ สิทธิพันธ์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมตอนนั้น

คือมันเป็นอะไรที่แบบ ‘เฮ้ย เด็กมหาลัยปี 4 ทำได้’ ทำให้เรามีผลงาน และเริ่มมีความกล้ามากขึ้น กล้าออกจากกรอบว่า ฉันจะต้องตั้งโจทย์ตัวเองให้ยากเข้าไว้ วิชานี้พี่ตั้งโจทย์ตัวเองให้ยากมาก คือเริ่มคิดแล้วว่า ปี 4 แล้ว ฉันต้องเอาพวกนี้ไปเป็นผลงานนำเสนอ ก็เลยเริ่มตั้งโจทย์ตัวเองให้ยากขึ้น แล้วพอมันทำสำเร็จ มันก็โอเค

“รูปแบบการเรียนมันก็ทำให้พี่อยากเป็นนักข่าว มันปลุกความเป็นนักข่าวในตัวพี่”

อย่างเราเป็นนักศึกษาอยู่ ณ ตอนนี้ เราต้องสร้างความสามารถ สร้างตัวเอง และรู้จุดเด่นของตัวเอง แต่เด่นอย่างเดียวมันอาจจะไม่พอ เราอาจจะต้องทำแบบนั้นก็ได้ แบบนี้ก็ได้ ศึกษาด้านอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย มันจะทำให้เราเป็นคนคุณภาพ ที่ทำงานได้ไปแล้วไม่เสียของแน่นอน

สร้างตัวเองตั้งแต่ตอนนี้ ยิ่งเวลาไปฝึกงาน ต้องยิ่งพยายามสร้างผลงาน พยายามเสนอ เขาให้ทำอะไรทำ ขยันเข้าไว้

อยากย้ำนิดนึงว่า ตอนนี้เรายังมีเวลา สำหรับคนที่ตั้งใจจะทำข่าวจริง ๆ ก็อยากจะบอกไว้ว่า เราต้องรู้ตัวว่าเรามีความสามารถอะไรที่ชัดเจนก่อน แล้วเราชอบมัน อยู่กับมันได้ แต่ก็ไม่ควรจะลืมว่าต้องทำอย่างอื่นให้เป็นด้วย แล้วก็ถ้ามีโอกาสนะ สร้างเพจเอง หรือทำผลงานเองได้ตั้งแต่ตอนนี้ ก็จะดีมาก เพราะว่าคนที่จะรับเด็กจบใหม่มาทำงาน เขาก็ต้องดูก่อนว่าคุณทำอะไรได้บ้าง

แล้วต้องอย่าลืมว่าเราจะต้องไม่ปิดกั้นความสามารถตัวเอง พร้อมที่จะเรียนรู้ ฝึกได้

นริศรา สื่อไพศาล หัวหน้าฝ่ายผลิตคอนเทนต์ PLANKTON LAB

พอปี 3 ปี 4 เราเริ่มเรียนกับครูหลายคน เรารู้สึกว่าคนเป็นนักข่าวเท่นะ รู้สึกว่าคนที่เราตั้งเป้าจะเป็นตอนนั้นน่าจะเป็นคุณวรพจน์ พันธุ์พงศ์ เขาเคยเป็นนักข่าวแล้วมาทำแม็กกาซีนตอนหลัง เขาเป็นคนที่ลงลึกกับเรื่องราวต่างๆ ซึ่งเรามองว่าเป็นสิ่งที่เท่ ทำไมเขาถึงเขียนเรื่องราวออกมาเป็นพ็อกเก็ตบุ๊กแต่สามารถสะท้อนประโยชน์ให้สังคมได้มากขนาดนี้นะ

เราเริ่มอ่านอะไรที่มันยากมากขึ้น เริ่มอยากเป็นนักข่าวในตอนนั้น มันเท่ดี นักข่าวการเมืองในสมัยนั้นมันไม่ค่อยมีผู้หญิงที่มีชื่อเสียง หรือถ้ามี เขาก็หลุดไปแล้ว ไม่น่านับถือแล้ว เราก็รู้สึกว่าอยากจะมี byline เป็นของตัวเอง เราน่าจะมีอีโก้ในตัวของตัวเอง อยากทำอะไรที่ยากและท้าทาย ถ้าทำได้มันก็ไม่ใช่แค่คนอื่นมองว่าเราเท่ แต่เราได้เรียนรู้ว่าเรามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร

“เราก็รู้สึกว่าการคิดคอนเทนต์อย่างลึกซึ้ง มันต้องนำไปสู่อะไร สร้างผลกระทบต่อสังคมอย่างไร คนจะได้อะไร”

เด็ก JR ได้เรียนแนวคิดเยอะ อย่างน้อยการทำงานหนักของครูทั้งหลายก็ได้ปูพื้นฐานของเรา ทำให้เราคิดทุกอย่างจากตรรกะที่สมเหตุสมผล อย่างทุกวันนี้จากการเปลี่ยนงานจากสายข่าวมาสายคอนเทนต์ เราก็รู้สึกว่าการคิดคอนเทนต์อย่างลึกซึ้ง มันต้องนำไปสู่อะไร สร้างผลกระทบต่อสังคมอย่างไร คนจะได้อะไร มันเป็นเรื่องที่ JR สอน

วิธีคิดแบบ JR ทำให้เราก้าวไปข้างหน้าได้เร็วกว่าคนที่ไม่ได้เรียนมา อย่างทุกวันนี้เราย้ายไปทำงานบริษัทกึ่งๆ เอเจนซี่โปรดักชั่น คือออกแบบคอนเทนต์และผลิตผลงาน… เราต้องบรีฟคนที่ช่วยเราถ่ายคอนเทนต์เยอะมากเพื่อจะทำให้เขาเห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้น เช่น AI มันส่งผลกระทบต่ออะไรบ้าง อย่างน้อยก็ส่งผลกระทบถึงแรงงานใช่ไหม เวลาเด็ก JR มอง เราจะเห็นเหมือนลูกบอลที่เด้งสะท้อนไปมากับกำแพง การเรียน JR มันให้วิธีคิดและแนวคิด แต่เราก็ไปลงเรียนของอักษรด้วย ก็จะได้แนวคิดมานุษยวิทยามาคู่กัน

นริศรา สื่อไพศาล

จากประสบการณ์ของเรา และจากการคุยกับบ.ก.บริหารนะ เขาบอกว่ามันต้องบาลานซ์ทั้งคอนเทนต์และเงินทุน บางทีต้องทำข่าวตามเทรนด์เพื่อให้ข่าวคุณภาพยังอยู่รอด ทำในสิ่งที่ไม่อยากทำเพื่อให้สิ่งที่อยากจะทำมีชีวิตอยู่รอดไปได้ (แต่การนำเสนอ) ต้องไม่กะโหลกกะลามากไป

เงินก็เป็นตัวแปรหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ทุกวันนี้เราเครียดด้วยเรื่องเนื้องานว่าเราอยากทำให้มันดี เมื่อเราเลือกที่จะทำงานแล้ว สุดท้ายเราก็ต้องมีความสุขกับงานที่เราทำด้วย เรายังเชื่ออยู่ว่าการทำงานให้มีความสุขและอยู่กับความคิดที่เราเชื่ออย่างแท้จริง

การทำงานสื่อคือการที่คุณมีอุดมการณ์ ครึ่งหนึ่งคุณอยู่ได้ด้วยอุดมการณ์ อีกครึ่งหนึ่งคุณอยู่ได้ด้วยเงินที่คุณหามา นักข่าวอยู่ได้ด้วยความภูมิใจในตัวเองเพราะเรามีอุดมการณ์

สุทธิโชค จรรยาอังกูร และปณัสย์ พุ่มริ้ว นักเขียนอิสระและ content creator

(สุทธิโชค) คอนเทนต์ที่ดีคือคอนเทนต์ที่สามารถต่อยอดได้ เป็นการสร้างเนื้อหาครบวงจรที่ทำให้คนอื่นสามารถนำไปใช้ต่อได้มากที่สุด การที่เราเห็นประเด็นๆ หนึ่ง เราต้องคิดต่อว่า เราจะเล่ามันอย่างไร เราจะจับตรงไหนมาเล่า ทำอย่างไรให้มันน่าสนใจ แล้วสื่อสารกับสิ่งที่เราต้องการจะบอกออกไป นี่คือหน้าที่ของเรา

งานคอนเทนต์ไม่จำเจเพราะจะต้องคิดเสมอว่าจะทำยังไงให้มันดี จะทำยังไงให้มันตอบโจทย์ แล้วเราก็จะใส่ใจในตัวงานมากขึ้นเองจากความตั้งใจทั้งหลายของเรา

ข้อมูลชุดหนึ่งจะมีคุณค่าได้ก็ต่อเมื่อมีการนำไปต่อยอดได้ ทำให้คนได้คิดตาม หรือสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้คนถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น

สุทธิโชค จรรยาอังกูร (ซ้าย) และปณัสย์ พุ่มริ้ว (ขวา)

(ปณัสย์) ความแตกต่างของข้อมูลไม่ได้หมายถึงว่าเราต้องทำเนื้อหาที่แตกต่างจากคนอื่น ต้องทำเนื้อหาที่ไม่ซ้ำใคร แต่เราจะต้องทำเนื้อหาที่มีความโดดเด่นแม้ว่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน เราสามารถที่จะทำเรื่องเดียวกับเรื่องที่เคยมีคนทำอยู่แล้วได้ แต่หน้าที่ของเราคือจะนำเสนออย่างไรให้เนื้อหาเดิมไม่เหมือนเดิม เราต้องเลือกนำเสนอในมุมมองที่แตกต่าง หาประเด็นใหม่จากเนื้อหาเดิม เชื่อมโยงให้เข้ากับผู้คน แล้วเราจะทำให้คนสนใจในงานของเราได้

“ข้อมูลชุดหนึ่งจะมีคุณค่าได้ก็ต่อเมื่อมีการนำไปต่อยอดได้ ทำให้คนได้คิดตาม หรือสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้คนถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น”

(สุทธิโชค) ในยุคนี้ที่มีข้อมูลมากมายถูกเผยแพร่ออกมา คนที่ทำหน้าที่ผลิตเนื้อหาจะใส่ใจแค่ความสนใจของเนื้อหาที่ตนเผยแพร่ไม่ได้ แต่ควรจะสร้างข้อมูลที่มีคุณค่าต่อสังคมหรือตัวบุคคลในเรื่องราว และที่สำคัญที่สุดคือจะต้องรับผิดชอบในเนื้อหาที่ตนผลิตออกมา ปัจจุบันในโลกโซเชียลมีเดีย มีคนแสดงความคิดเห็นอย่างไม่มีสติเยอะมากจนทำให้หลายครั้งแหล่งข้อมูลถูกว่าเสียๆ หายๆ มันเป็นหน้าที่ของคนผลิตเนื้อหาที่จะต้องปกป้องเขา

(ปณัสย์) สมมติข้อมูลมันอยู่ใน Google มันก็จะอยู่ตลอดไป ถ้าเราทำไม่ดีหรือทำผิดพลาด ทำให้ใครเสียหาย มันก็จะอยู่กับเขานานด้วย มันเป็นจรรยาบรรณของเราที่ต้องรักษาไว้ในการปกป้องแหล่งข้อมูลของเรา เพราะว่าคอนเทนต์ออนไลน์มันไปไกล มันไปแรง แล้วผลกระทบของมันหลายๆ อันน่ากลัว เพราะฉะนั้นการที่เราเป็นสื่อ เราจะต้องระมัดระวังให้กับแหล่งข่าวด้วย ไม่เช่นนั้นเขาก็จะเสียหาย

พงศ์พล บ้างวิจิตร ผู้ช่วยผู้สื่อข่าวและช่างภาพ Tokyo Broadcasting System (TBS)

เรามองว่าการเรียนในภาคมันหนักกว่าในเรื่องของเนื้อหา เรากล้าพูดเลยว่าถ้าจบภาคนี้ทุกคนทำงานได้แน่ๆ แต่สิ่งมันต้องคำนึงต่อไปคือเรื่องของ Soft skills (ทักษะทางสังคม) ที่ต้องพัฒนา คือคุณต้องรับรู้ว่าต้องทำตรงไหน ต้องแก้ตรงไหน ต้องทำอะไรต่อไป

(ตำแหน่งผู้ช่วยผู้สื่อข่าวและช่างภาพ) เป็นตำแหน่งที่แปลกดี เพราะว่าทั่วไปแล้วสำนักข่าวญี่ปุ่นเขาจะค่อนข้างแบ่งคนตามหน้าที่ เขาจะไม่มอบหมายให้คนหนึ่งทำหลายหน้าที่ คนหนึ่งเป็นผู้สื่อข่าว คนหนึ่งเป็นผู้ช่วย อีกคนเป็นช่างภาพไปเลย ตำแหน่งเราดูจะเป็นคนแรกๆ ในบริษัทที่มีหน้าที่ประมาณนี้ หมายถึงที่ทำทั้งสองหน้าที่

พงศ์พล บ้างวิจิตร

ลงสนามครั้งแรกเราถ่ายมั่วเลย ถ่ายแบบที่เคยรู้มา เราเคยฝึกงานที่ (สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง) จำได้ว่าพี่เขาทำอะไร ถ่ายแบบไหน เราก็ทำตาม เอามาให้หัวหน้าดูวันแรก หัวหน้าเปิดปุ๊บ ส่ายหัว (ถาม) ทีละชิ้นว่าอันนี้มันเล่าเรื่องยังไง อันนี้จะถ่ายอะไร อันนี้คืออะไร เราหน้ามืดเลยอ่ะ ไอ้ความมั่นใจที่ว่าเราจบจุฬาฯมา ใช้คำว่า “พังทลาย”

กว่าจะรู้สึกว่ามีคนเริ่มชมว่าเราทำงานได้ก็เกือบปี กว่าที่จะเริ่มเข้าใจเขา ไม่ต้องรอให้เขาสั่ง คิดไปก่อนว่าเขาต้องการอะไร อย่างเช่นข่าวนี้ต้องหาอะไรบ้าง ต้องไปถ่ายภาพอะไรมาบ้าง ก็หามาให้เขา พอเราทำตรงนี้ได้ ก็จะกลายเป็นว่าญี่ปุ่นจะทำงานในรูปแบบคล้ายๆ เดิม มันก็จะเริ่มง่ายขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่เราสื่อสารกันไม่เข้าใจ กลายเป็นว่าเราไม่ต้องพูดอะไรก็เข้าใจกันแล้ว

“การที่คุณทำงานข่าวแล้วมีเรื่องที่ไม่มั่นใจ แปลว่าคุณมีเรื่องที่ยังไม่รู้ …เป็นเรื่องที่คุณต้องโฟกัสกับมันเพื่อให้มั่นใจ”

ทุกวันนี้มีงานแค่ชิ้นเดียวเองที่เรารู้สึกว่าเราได้ออกไอเดียทำด้วยตัวเองเต็มที่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 เราถ่ายเอง ให้หัวหน้าเขียน แต่ข้อมูลก็เป็นคนหาให้เขา สัมภาษณ์ก็ไป แล้วก็คิดเองว่าจะถามอะไรๆ หาข้อมูล หาประเด็น ไปถ่ายว่าจะเล่าเรื่องอะไรออกมา กลายเป็นว่าพอมันได้ลองคิดว่าจะทำอะไรต่อ อยากออกไอเดียอะไร เฮ้ย มันสนุกนะ เราพบว่าตัวเองสนุกกับการได้ออกไอเดีย

ทุกวันนี้ตอนไปทำข่าวก็ยังไม่เคยมั่นใจเลยสักครั้ง ต่อให้หัวหน้าถามว่ามั่นใจหรือเปล่า เราก็จะตอบว่าไม่มั่นใจ ซึ่งเขาก็บอกว่ามันเป็นเรื่องดีนะ การที่คุณทำงานข่าวแล้วมีเรื่องที่ไม่มั่นใจ แปลว่าคุณมีเรื่องที่ยังไม่รู้ แล้วมันเป็นเรื่องที่คุณต้องโฟกัสกับมันเพื่อให้มั่นใจ ถ้าคุณไปแบบที่มั่นใจแล้ว มันไม่มีทางทำงานที่ดีออกมาได้อะไรอย่างนั้น

น้ำปาย ไชยฤทธิ์ บรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม นิตยสาร a day

วารสารศาสตร์ดีตรงที่มีวิชาคิดๆ เยอะ วิชาที่ให้วิเคราะห์สังคม ซึ่งเรารู้สึกว่าพวกนั้นมันจะติดตัวมากกว่า แล้วก็ใช้กับการเอามาทำงานเขียน มันช่วยให้เรามองโลกแบบ อ่อ โอเค มันมีเลเยอร์นะ มันมีวิธีคิดอยู่ข้างหลัง หรือมันมีทฤษฎีทางสังคม

มันก็อาจจะช่วยในแง่ media literacy ทำให้เรารู้จัก fact check รู้จักเลือกแหล่งข่าว ตรวจสอบแหล่งข่าว ไม่เอียงไปด้านใดด้านนึง มันก็เป็นสิ่งที่ไม่ว่าจะทำสื่ออะไรก็ควรจะมี แต่เราก็ไม่สามารถพูดได้ขนาดนั้นว่าเราเอาอะไรจาก JR มาปรับใช้บ้าง มันก็แบบนัวๆ

“เป้าหมายหนึ่งของการทำสื่อของเรา หรือว่าอาจจะเป็นเป้าหมายของหลายๆ คน คือได้สร้างหรือได้เปลี่ยน ได้มี impact อะไรบางอย่าง”

น้ำปาย ไชยฤทธิ์

เป้าหมายหนึ่งของการทำสื่อของเรา หรือว่าอาจจะเป็นเป้าหมายของหลายๆ คน คือได้สร้างหรือได้เปลี่ยน ได้มี impact อะไรบางอย่าง แต่มันไม่ต้องอยู่ในระดับที่แบบหอศิลป์จะคงอยู่หรือไม่คงอยู่เสมอไป เช่น เราเขียนเรื่องคนที่ทำให้เมืองนึงเป็นเมือง zero waste ในญี่ปุ่นแล้วแค่คนแชร์ไปแล้วบอกว่าแบบ โห มีแรงอยากจะแยกขยะเลย หรือได้รู้อะไรเยอะมาก คือเราก็โอเคแล้วนะ คือมันก็เปลี่ยนหรือเพิ่ม หรือสร้างอะไรบางอย่าง

สิรารมย์ เตชะศรีอมรรัตน์ ผู้สื่อข่าวโต๊ะท่องเที่ยว หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

เราคือคนที่เข้ามหาวิทยาลัยในยุคที่มันไม่มีประชาธิปไตย แล้วก็จบออกไปโดยที่ยังไม่ได้ประชาธิปไตยคืน ไม่ได้เลือกตั้งเลย เป็นการเรียนในเงาแห่งความกลัว ทุกคนเวลาพูดเรื่องการเมืองก็จะพูดแล้วหยุด พูดแล้วหยุด ครูเราก็จะคอยบอกว่าอย่ากลัวที่จะพูด

ข่าวที่ทำสมัยเรียนมันสามารถสะท้อนมุมมองต่างๆ ของคนในวัยที่ยังเป็นนิสิตอยู่ สะท้อนให้เห็นกรอบของสังคมในยุคนั้นว่าคนในสังคมไทยกำลังให้ค่ากับอะไร… แต่คำตอบที่พบเจอคืออย่างเดียวกันทั้งตอนนั้นและตอนนี้ ว่าคนไทยกำลังให้ค่ากับสิทธิเสรีภาพ ให้ค่ากับการโหยหายเสรีในยุคที่ไร้เสรี

สิรารมย์ เตชะศรีอมรรัตน์

ในวันที่คุณทำอะไรไม่ได้แล้วจริงๆ แล้วคุณก็อาจจะไม่ได้มีชีวิตที่พร้อมกับการเอาไปเสี่ยง ชีวิตทุกคนไม่ได้จะพร้อมทำอะไรแบบนั้น ในขณะเดียวกันคุณก็ไม่พร้อมที่จะไปทำงานเพื่อสิทธิเสรีภาพ แต่อย่างน้อยสิ่งเดียวที่คุณพอจะทำได้ก็คือ “พูด” ใช้ชีวิตให้ถูกต้องตามครรลองของคุณที่มันจะไม่ไปเบียดเบียนสิทธิ์ของตัวเองและไม่เบียดเบียนสิทธิ์ของผู้อื่น

“ทุกคนเวลาพูดเรื่องการเมืองก็จะพูดแล้วหยุด พูดแล้วหยุด ครูเราก็จะคอยบอกว่าอย่ากลัวที่จะพูด”

การที่กล้าที่จะพูดในพื้นที่สาธารณะเล็ก ๆ ของเรา อาจจะเป็นหนึ่งเสียงที่ทำให้หลายคนที่ยังไม่รู้ตื่น พอมาอ่านแล้วได้ฉุดคิดขึ้นมาบ้าง

ถ้าสื่อไม่สามารถเสนอข่าวสารที่ทำให้คนเข้าใจคำว่าสิทธิและเสรีภาพได้ แล้วใครจะมาอ่านสื่อเหล่านั้นอีก

%d bloggers like this: