Education Gender

ปลดล็อกข้อบังคับชุดนิสิต แต่สิทธิการตัดสินใจยังไม่เต็มร้อย

จุฬาฯ ไฟเขียวให้นิสิตผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถแต่งชุดนิสิตตามเพศสภาพที่แสดงออกได้โดยไม่ต้องยื่นเอกสารขออนุญาต และนิสิตแต่งกายชุดสุภาพเข้าเรียนได้ แต่กรณีชุดสุภาพยังต้องได้รับอนุญาตจากอาจารย์ผู้สอน

เรื่อง: ธรรมรี นิมิตนนท์ นภาพร แซ่ลิ้ง ธฤตวัณฑ์ ศิริโสภิตกุล และนริศชา จักรพัชรกุล

ภาพ: พชรกฤษณ์​ โตอิ้ม

จุฬาฯ ไฟเขียวให้นิสิตผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถแต่งชุดนิสิตตามเพศสภาพที่แสดงออกได้โดยไม่ต้องยื่นเอกสารขออนุญาต และนิสิตแต่งกายชุดสุภาพเข้าเรียนได้ หลังไม่มีการเปลี่ยนแปลงประกาศเรื่องเครื่องแบบนิสิตมากว่า 9 ปี แต่กรณีชุดสุภาพยังต้องได้รับอนุญาตจากอาจารย์ผู้สอน

แต่งชุดนิสิตตามเพศสภาพได้โดยไม่ต้องขออนุญาต

ประกาศเรื่องการแต่งกายของนิสิต พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 ข้อที่ 4 วรรค 2 เเละข้อที่ 5 วรรค 4 ระบุว่านิสิตอาจเเต่งชุดนิสิตตามเพศสภาพที่แสดงออกได้ โดยไม่ได้กำหนดเรื่องการยื่นเอกสารขออนุญาตกับทางมหาวิทยาลัยตามแนวทางเดิม

ทั้งนี้ การเเต่งเครื่องเเบบตามเพศที่เเสดงออกยังรวมถึงเครื่องเเบบงานพระราชพิธี รัฐพิธี และเครื่องเเบบงานพิธีการด้วย โดยต้องเป็นไปตามรายละเอียดของแต่ละกรณีที่ระบุไว้ในข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยเครื่องเเบบ เครื่องหมาย เเละเครื่องเเต่งกายของนิสิต พ.ศ. 2562

หุ่นจำลองชุดเครื่องแบบนิสิตที่หน้าร้านสหกรณ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศุภกร วัฒนสิน นิสิตข้ามเพศ คณะนิเทศศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 แสดงความคิดเห็นต่อประกาศการแต่งกายนิสิตฉบับใหม่ว่า “ส่วนตัวเราเริ่มแต่งชุดนิสิตตามเพศสภาพโดยไม่ได้ขออนุญาตตั้งแต่ก่อนจุฬาฯ ออกประกาศ แต่พอมีประกาศออกมาก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับเราเลยนะ เพราะอย่างน้อยก็มีคนที่เห็นว่าเราปกติ ทำให้มีอีกเรื่องที่สามารถทำตัวตามปกติได้เลย ไม่มีใครต้องไปทำเรื่องขอแต่งชุดนิสิตตามเพศสภาพ ไม่ต้องพยายามอะไรมากกว่าคนอื่น ช่วยให้เรารู้สึกว่าไม่ต้องต่อสู้กับความคิดแบบเดิมๆ ด้วยตัวคนเดียวอีกต่อไป”

เมื่อปี 2561 สื่อมวลชนได้รายงานกรณีนิสิตข้ามเพศจากคณะครุศาสตร์ถูกอาจารย์ห้ามใส่ชุดนิสิตตามเพศสภาพเข้าชั้นเรียน เมื่อนิสิตขออนุญาตใส่ชุดนิสิตตามเพศที่แสดงออก คณะกรรมการบริหารคณะฯ ก็ไม่อนุญาต ซึ่งนิสิตชี้ว่า การตัดสินดังกล่าวก่อให้เกิดความยากลำบากต่อการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย นำมาซึ่งความอับอายเเละความหวาดกลัวในการเข้าเรียนในคณะ และไม่เป็นธรรม จึงยื่นร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์หรืออุทธรณ์ของนิสิตในระดับมหาวิทยาลัย ภายหลังอธิการบดีได้พิจารณาให้นิสิตแต่งกายด้วยเครื่องแบบปกติหรือชุดสุภาพสำหรับนิสิตหญิงเพื่อเข้าเรียนได้ เพื่อให้เป็นไปตามพรบ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558

ในส่วนเครื่องเเบบในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร รศ.ดร. สีหนาท ประสงค์สุข ประธานฝึกซ้อมบัณฑิตขึ้นรับพระราชทานปริญญาบัตร คณะวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีนโยบายอนุญาตให้นิสิตสามารถเเต่งเครื่องเเบบตามเพศสภาพได้ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมาเป็นระยะเวลาหลายปีเเล้ว แต่ยังจำเป็นต้องยื่นเรื่องขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งมีเกณฑ์ในการพิจารณาและอนุญาตเฉพาะเป็นรายกรณีไป 

 รศ.ดร. สีหนาท กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้ให้อำนาจแก่ประธานฝึกซ้อมบัณฑิตขึ้นรับพระราชทานปริญญาบัตรของแต่ละคณะเป็นผู้พิจารณาว่า นิสิตผู้นั้นมีบุคลิกภาพและรูปลักษณ์ภายนอกเหมาะสมเพียงพอต่อการแต่งเครื่องแบบตามเพศสภาพในงานพิธีการดังกล่าวหรือไม่ กล่าวคือเหล่านิสิตต้องดูกลมกลืนเพื่อไม่ให้โดดเด่นเป็นเป้าสายตา รวมถึงต้องมีเอกสารหลักฐานอย่างใบรับรองแพทย์ที่ระบุผลการทดสอบว่าสภาพจิตใจไม่ตรงกับเพศกำเนิด จึงจะได้รับการอนุญาตให้เเต่งเครื่องเเบบตามเพศสภาพในงานพิธีได้ เนื่องจากนิสิตต้องเข้าเฝ้าพระบรมวงศานุวงศ์ ทำให้ทางมหาวิทยาลัยต้องเข้มงวดกับเรื่องการแต่งเครื่องเเบบมากขึ้นกว่าในวาระปกติ

“สามารถทำตัวตามปกติได้เลย… ไม่ต้องพยายามอะไรมากกว่าคนอื่น ช่วยให้เรารู้สึกว่าไม่ต้องต่อสู้กับความคิดแบบเดิมๆ ด้วยตัวคนเดียวอีกต่อไป”

ศุภกร วัฒนสิน นิสิตคณะนิเทศศาสตร์

ผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการเเต่งกายชุดนิสิตตามเพศสภาพในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจากทั้งนิสิตปัจจุบันเเละศิษย์เก่าจากหลากหลายคณะ อายุระหว่าง 18 ถึง 27 ปี จำนวน 72 คน พบว่า มีผู้เห็นด้วยกับนโยบายการแต่งกายชุดนิสิตตามเพศสภาพถึงร้อยละ 81.9 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า การแต่งกายเป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่บุคคลพึงจะได้รับโดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องเพศ อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า การเเต่งกายนั้นจะต้องมีกาลเทศะ ดำรงอยู่ในความเหมาะสม รวมถึงไม่ขัดต่อกฎระเบียบของสถาบัน 

ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการแต่งกายชุดนิสิตตามเพศสภาพ ร้อยละ 6.9 ให้เหตุผลว่า การเเต่งกายอาจส่งผลถึงภาพลักษณ์ ลดทอนความน่าเชื่อถือ รวมถึงปิดกั้นโอกาสในการทำงานของบางสาขาอาชีพ

ผู้สื่อข่าวสำรวจเเนวปฏิบัติเรื่องการแต่งชุดนิสิตของนิสิตข้ามเพศของมหาวิทยาลัยก่อนการออกประกาศใหม่ พบว่าการตัดสินใจเกี่ยวกับข้อปฏิบัติขึ้นอยู่กับแต่ละคณะ โดยบางคณะผ่อนปรนให้นิสิตข้ามเพศเเต่งชุดนิสิตตามเพศสภาพได้โดยไม่ต้องยื่นเรื่องขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น คณะนิเทศศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ รัฐศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ขณะที่บางคณะไม่อนุญาตให้นิสิตข้ามเพศแต่งชุดนิสิตตามเพศสภาพได้ โดยให้เหตุผลเรื่องความน่าเชื่อถือทางวิชาชีพ

ทั้งนี้ ประกาศ เรื่องการแต่งกายของนิสิตฉบับใหม่ระบุว่า หากนิสิตถูกปฎิเสธไม่ให้เเสดงออกตามเพศสภาพหรือถูกบังคับให้เเต่งชุดนิสิตตามเพศกำเนิด สามารถยื่นเรื่องร้องเรียนได้ที่ฝ่ายกิจการนิสิตในคณะที่ตนเองสังกัด รวมถึงสามารถแจ้งผ่านทางสภานิสิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อส่งรายละเอียดปัญหาและดำเนินตามขั้นตอนต่อไป

ยืดหยุ่นข้อบังคับชุดนิสิต เพิ่มสิทธิในการตัดสินใจและลดภาระ

ในประกาศฉบับเดียวกัน ข้อ 6 (2) (ก) ยังเปิดโอกาสให้นิสิตแต่งกายชุดสุภาพเพื่อเข้าชั้นเรียนได้ หากอาจารย์ผู้สอนกำหนดและมีเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรจากคณบดี เปลี่ยนจากประกาศฉบับ พ.ศ. 2553 ข้อ 8 ที่ระบุว่าการแต่งกายชุดสุภาพเข้าชั้นเรียนจะทำได้ก็ต่อเมื่อคณบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารคณะกำหนด และต้องจัดทำเป็นประกาศคณะ

นอกจากนี้ ข้อ 5 ของประกาศยังยกเลิกข้อห้ามเกี่ยวกับการแต่งกายชุดสุภาพบางประการจากข้อบังคับเดิมในปี 2553 ได้แก่ ยกเลิกข้อห้ามการใส่เสื้อคอปกของนิสิตชาย การใส่ผ้ายีนส์ผ้าลูกฟูกรวมถึงผ้ายืด และยกเลิกข้อห้ามใส่ชุดสุภาพสีฉูดฉาด ทำให้นิสิตสามารถสวมใส่ชุดสุภาพได้หลากหลายรูปแบบยิ่งขึ้น รวมทั้งระบุว่านิสิตชายไม่จำเป็นต้องสวมถุงเท้ากับชุดสุภาพ

อย่างไรก็ตาม ระเบียบใหม่ยังคงห้ามการแต่งกายที่มีความล่อแหลมมากจนเกินไป รวมทั้งยังกำหนดให้แต่งชุดนิสิตในการเข้าสอบ

นิสิตในชุดเครื่องแบบกำลังใช้บริการร้านถ่ายเอกสารที่คณะครุศาสตร์

พิชญาภา พณิชวรพงษา นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าประกาศใหม่แสดงวิสัยทัศน์ของจุฬาฯ ที่เปิดกว้างด้านการแต่งกายมากขึ้น และหากสามารถปฏิบัติได้จริงจะเป็นประโยชน์แก่นิสิตทั้งด้านความสะดวกสบายและเสรีภาพในการแสดงออก

“รู้สึกตื่นเต้นกับประกาศนี้พอสมควรเพราะไม่เคยมีอาจารย์ท่านไหนอนุญาตให้ใส่ชุดสุภาพเข้าเรียนได้มาก่อน ที่จริงแล้วตอนนี้เราก็ยังไม่แน่ใจว่าในภาคการศึกษาหน้าจะมีอาจารย์ที่อนุญาตให้ใส่ชุดสุภาพมาเรียนได้จริงบ้างไหม เพราะว่าก่อนหน้านี้อาจารย์ที่วิศวะส่วนใหญ่ค่อนข้างไม่เห็นด้วยกับการใส่ชุดสุภาพเข้าเรียน แต่ถ้าอนุญาตให้ใส่ได้จริงน่าจะสะดวกกับนิสิตมากขึ้นหลายเท่าตัว” พิชญาภากล่าว

“ในปัจจุบัน มีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นตลอดเวลา แค่เสื้อผ้าไม่สามารถทำให้คนเท่าเทียมกันได้ แล้วเราก็รู้สึกว่านิสิตควรมีเสรีภาพในการแต่งตัว สมัยนี้ไม่ควรมีกรอบมากำหนดแล้ว”

วรัมพร เลาหะประเสิรฐ บัณฑิตอักษรศาสตร์ เจ้าของโครงการส่งต่อชุดนิสิตมือสอง CU Wardrobe​

ด้านพีรศุษม์ สุขสว่าง หัวหน้าชั้นปี 2 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เห็นว่าการออกประกาศใหม่ จะเพิ่มความสะดวกสบายให้นิสิตมากขึ้นเพราะนิสิตสามารถสวมใส่ชุดสุภาพเข้าเรียนได้ นอกจากนี้ยังเห็นว่าการสวมใส่ชุดนิสิตไม่ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในมหาวิทยาลัยได้ 

“ผมมองว่าชุดนิสิตสุดท้ายก็ยังมีความเหลื่อมล้ำ มีช่องว่างอยู่ดี ทั้งยี่ห้อเสื้อ กางเกง หรือรองเท้า ดังนั้นชุดนิสิตจึงไม่ใช่คำตอบของการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การใส่ชุดสุภาพเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผมคิดว่าสะดวกสบาย รวมถึงให้เสรีภาพกับนิสิตมากกว่า ซึ่งประกาศใหม่เองก็สอดคล้องกับแนวทางที่ผมคิด คือมีการเปิดโอกาสให้นิสิตสามารถใส่ชุดสุภาพไปเรียนได้ตามความเหมาะสม” หัวหน้าชั้นปี 2 คณะพาณิชยศาสตร์ฯ กล่าว

ก่อนหน้านี้ มีการเคลื่อนไหวโดยนิสิตเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการบังคับใส่ชุดนิสิต เช่น การรวบรวมรายชื่อนิสิตเพื่อร่วมรณรงค์ยกเลิกการบังคับแต่งชุดนิสิต และรณรงค์ให้มหาวิทยาลัยอนุญาตให้นิสิตสามารถใส่ชุดสุภาพมาเรียนได้ รวมถึงจัดตั้งโครงการส่งต่อชุดนิสิตมือสองให้กับนิสิตที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการซื้อชุดนิสิต

วรัมพร เลาหะประเสริฐ บัณฑิตคณะอักษรศาสตร์ เจ้าของโครงการส่งต่อชุดนิสิตมือสอง CU Wardrobe​ กล่าวว่า “ในสมัย ร.5 ชุดเครื่องแบบมีไว้เพื่อสร้างความเท่าเทียม แต่ในปัจจุบัน มีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นตลอดเวลา แค่เสื้อผ้าไม่สามารถทำให้คนเท่าเทียมกันได้ แล้วเราก็รู้สึกว่านิสิตควรมีเสรีภาพในการแต่งตัว สมัยนี้ไม่ควรมีกรอบมากำหนดแล้ว แถมยังเป็นภาระของนิสิต สร้างความสิ้นเปลืองและทำให้เกิดความเดือดร้อนถึงคนที่เขาไม่มีกำลังพอหาซื้อชุดนิสิตหลายๆ ชุดเพื่อมาเรียน”  

เสื้อนิสิตหญิงที่วางขายในร้านสหกรณ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ด้าน ผศ.ดร.อัครเดช ไชยเพิ่ม อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ กล่าวว่า ประกาศฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการในการยอมรับชุดสุภาพมากขึ้นกว่าฉบับก่อนหน้านี้พอสมควร แสดงให้เห็นถึงการที่จุฬาฯ เริ่มให้อิสระในการแต่งกายแก่นิสิต และในอนาคตแนวโน้มของการแต่งกายของนิสิตน่าจะเป็นไปตามความสมัครใจมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม อาจารย์คณะรัฐศาสตร์เห็นว่า แม้ว่าประกาศใหม่จะแสดงแนวคิดที่เปิดกว้างมากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติได้เท่าที่ควร เนื่องจากอำนาจในการอนุญาตใส่ชุดสุภาพยังคงอยู่ที่อาจารย์ผู้สอน ไม่ใช่นิสิตเป็นผู้เลือกเอง

“ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังคงมีการใช้เครื่องแบบอยู่ แต่การใช้ของเขาเป็นการใช้อย่างจำกัด ใช้ในวาระสำคัญหรือโอกาสจำเป็นเท่านั้น เช่น ตอนรับปริญญาที่ต้องการแสดงถึงความเป็นระเบียบเรียบร้อยพร้อมเพรียงกัน จึงเลือกให้ใส่ชุดเครื่องแบบ แต่ในเวลาอื่น นักศึกษาของประเทศเขาสามารถเลือกได้อย่างอิสระเสรีว่าต้องการจะใส่อะไร” ผศ.ดร.อัครเดชกล่าว

%d bloggers like this: