Art & Culture

ตบเท้าเดินเข้าเทศกาลหนัง พื้นที่แห่งความหลากหลายทางภาพยนตร์

เคยไหม เดินเข้าโรงหนังเพื่อหาหนังดูผ่อนคลายใจ แต่กลับพบว่า 5 ใน 10 โรงฉายแต่หนังอเมริกันฟอร์มยักษ์ อีกสี่โรงเป็นหนังไทยเรื่องใหม่ที่เพิ่งเข้า แต่ก่อนที่จะเบือนหน้าหนีโรงหนังกันไป ความจำเจนี้อาจแก้ได้ด้วย “เทศกาลหนัง” ที่ซ่อนอยู่ตามซอกหลืบเล็กๆ รอให้เราค้นพบ

เคยไหม เดินเข้าโรงหนังเพื่อหาหนังดูผ่อนคลายใจ แต่กลับพบว่า 5 ใน 10 โรงฉายแต่หนังอเมริกันฟอร์มยักษ์ อีกสี่โรงเป็นหนังไทยเรื่องใหม่ที่เพิ่งเข้า เหลืออีกหนึ่งโรงก็ฉายแต่หนังที่เราดูไปแล้วเมื่ออาทิตย์ก่อน แต่ก่อนที่จะเบือนหน้าหนีโรงหนังกันไป ความจำเจนี้อาจแก้ได้ด้วย “เทศกาลหนัง” ที่ซ่อนอยู่ตามซอกหลืบเล็กๆ รอให้เราค้นพบ

เทศกาลหนัง เป็นงานที่ผู้จัดรวบรวมภาพยนตร์จำนวนหนึ่งมาจัดฉายตามตารางภายในระยะเวลาหนึ่ง โดยหนังที่นำมาฉายจะขึ้นอยู่กับจุดเน้นของเทศกาลนั้นๆ ในปีหนึ่งๆ บ้านเรามีเทศกาลหนังจำนวนไม่น้อย อย่างเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีเทศกาลหนังถึงห้างานด้วยกัน ที่เด่นๆ เช่น เทศกาลหนังเพื่อส่งเสริมสิทธิความหลากหลายทางเพศ เทศกาลหนังที่จัดฉายหนังจากประเทศใดประเทศหนึ่งเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เชิงวัฒนธรรม ถ้าหากคุณเป็นคอหนังแล้วพลาดเทศกาลเหล่านี้ โอกาสที่จะคุณจะได้พบหนังเหล่านี้ตามโรงหนังกระแสหลักก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว

ปัญหาหนึ่งของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในบ้านเรา คือเกณฑ์การนำเข้ามักจะอิงตามความนิยมของผู้ชมส่วนใหญ่ ทำให้หนังที่เข้าโรงส่วนมากมักเป็นประเภทเดิมๆ แถมมีจำนวนเรื่องน้อยแต่รอบฉายเยอะ ดังนั้น “ความหลากหลาย” จึงเป็นหัวใจสำคัญที่เทศกาลหนังจะมอบให้กับคนดู ยกตัวอย่างเช่น Thai Short Film Festival ที่รวมเอาหนังสั้นมากมายจากคนที่สมัครเข้าประกวดตามโปรแกรมต่างๆ หนังสั้นแต่ละเรื่องจะมีประเด็นแตกต่างกันไป โดยเฉพาะเรื่องที่ไม่ได้ถูกพูดถึงในหนังกระแสหลัก เช่น หนังสั้นที่ได้รับรางวัลช้างเผือกปี พ.ศ.2558 เรื่อง “นกตัวนั้นไปตายไปเองเฉยๆ” ของตุลยวัต สัจจะธีระกูล ที่พูดถึงเรื่องความอยุติธรรมในสังคมไทย เป็นต้น

วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา หัวหน้ากลุ่มฟิล์มไวรัส (Filmvirus) ผู้จัดเทศกาลหนังขนาดย่อม เช่น โปรแกรม “Filmvirus Wildtype 2016 + จดหมายเพลงนักเลงภาพ” กล่าวว่า เทศกาลหนังเป็นพื้นที่กลางในการทดลอง ทั้งในแง่การสำรวจตลาดใหม่ การท้าทายขีดจำกัดของผู้ชมต่องานศิลปะ และยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออกทั้งทางการเมืองและทางวัฒนธรรม “เพราะเรายังอยู่ในประเทศที่ไม่มีพื้นที่มากพอสำหรับหนังทุกประเภท ทั้งด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ การเข้าถึง ทุน หรือวิสัยทัศน์ทางศิลปะของเจ้าของทุน” วิวัฒน์บอก

วิวัฒน์เล่าต่อว่า แรงบันดาลใจของกลุ่มฟิล์มไวรัสเริ่มมาจากการอยากชมหนังบางเรื่อง แต่กลับไม่มีโรงหนังใดนำเข้ามาฉาย จึงมีความคิดที่จะจัดเทศกาลหนังขนาดเล็กขึ้นมาเอง เพื่อนำเสนอหนังใหม่ๆ ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นแนวคิดสำคัญของเทศกาลหนังที่ต้องเปิดพื้นที่แห่งความหลากหลายให้กับทุกคน

“เราอยากให้คนอื่นได้รู้ว่าหนังแบบนี้มันมีอยู่บนโลก มีผู้คนที่ยังคงดิ้นรนที่จะฉายหนัง หรือให้หนังมาฉายเพราะอยากสื่อสาร อยากแสดงออก” วิวัฒน์กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์ก็เห็นความสำคัญของเทศกาลหนังเช่นเดียวกัน ดร.โสภาวรรณ บุญนิมิตร อาจารย์ประจำภาควิชาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ มองว่าความหลากหลายของภาพยนตร์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนางานทางด้านวัฒนธรรม “หนังที่มาฉายในเทศกาลหลายๆ เรื่องไม่สามารถหาดูได้ในประเทศ มันก็เลยเป็นประโยชน์อย่างมากที่นักเรียนจะได้เข้าไปดูหนังตามเทศกาลเหล่านี้ ได้เรียนรู้ถึงแนวโน้มและแนวทางการพัฒนาของภาพยนตร์โลก รวมทั้งเป็นสถานที่ที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เช่น Q&A (การถาม-ตอบ) หลังหนังฉายจบ หรือเสวนาต่างๆ”

อย่างไรก็ตาม การจัดเทศกาลหนังแต่ละครั้งยังประสบกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ มากมาย เช่น ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการเช่าพื้นที่ฉาย โดยเฉพาะเมื่อต้องการฉายในโรงภาพยนตร์ระบบปกติ รวมถึงกลุ่มคนดูที่ยังมีจำกัด ซึ่งหากไม่มีผู้สนับสนุนอื่นๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนก็ยากที่จะคืนทุนได้ ทำให้เทศกาลหนังในภาพรวมยังไม่เติบโตมากเท่าที่ควร

“งานฉายของฟิล์มไวรัสเป็นการฉายแบบเร่ร่อน เราไม่มีพื้นที่ ไม่มีเครื่องฉาย ไม่มีทุน ไม่มี Staff (เจ้าหน้าที่) ทุกคนมาทำงานแบบอาสาสมัคร และมันต้องใช้พลังงานมาก การที่มันต่อเนื่องมาได้นานขนาดนี้ (แปดปี) เราถือว่า Surprise (ประหลาดใจ) มากแล้ว” วิวัฒน์กล่าว

ถึงแม้ว่าจะมีข้อจำกัดและอุปสรรคอีกมากมาย แต่หากคนดูหนังบ้านเรายังอยากดูหนังที่หลากหลาย เทศกาลหนังก็น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจและน่าสนับสนุน เพื่อขยับขยายวัฒนธรรมการดูหนังในสังคมไทยให้กว้างออกไปอีกในอนาคต

%d bloggers like this: