ว่ากันว่า คนเราจะมองเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ ก็เมื่อไม่มีมันอยู่อีกต่อไป
ฉันเกิดและเติบโตในย่านกะดีจีน ย่านที่ใครหลายๆ คนยกย่องว่า เป็นย่านเมืองเก่าที่มีคุณค่าคู่ควรแก่การอนุรักษ์ แต่ฉันกลับไม่เคยรู้สึกเช่นนั้นเลย อาจเพราะความเคยชินกระมัง จึงไม่เห็นว่าสถานที่แห่งนี้จะพิเศษกว่าที่อื่นอย่างไร จนเมื่อวันหนึ่งที่ฉันตื่นขึ้นมา แล้วพบว่าสิ่งที่คุ้นเคยอยู่ทุกวันได้เปลี่ยนแปลงไป ความรู้สึก “ใจหาย” ก็พุ่งขึ้นมาจุกอยู่ที่อก
ตึกแถวขนาดห้าคูหาที่เคยมองทุกเช้า บัดนี้เหลือเพียงเศษหินก้อนน้อยเป็นเสมือนของดูต่างหน้า ไม่รู้ว่ามันหายไปตั้งแต่เมื่อไร แต่รู้ตัวอีกทีก็หายไปเสียแล้ว เช่นเดียวกับตึกแถวไม้ที่อยู่ถัดไปอีกซอยหนึ่ง แม้ไม่ได้ถูกทุบทิ้ง ทว่าสิ่งที่ปรากฏตรงหน้าก็ทำให้ฉันแปลกใจอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เพราะบานประตูไม้แสนคลาสสิกที่อยู่คู่ตลาดโบราณมาเนิ่นนาน บัดนี้ถูกทาทับด้วยสีขาว และปรากฏภาพแม่วัวตัวใหญ่เข้ามาแทนที่ มองอย่างไรก็ไม่เข้ากันเอาเสียเลย และดูเหมือนว่าแม่วัวตัวนั้นจะทำให้ความเก่า ที่เป็นเสน่ห์ของย่านนี้ลดลงไปไม่น้อย
ไม่ต่างกันนัก จิตสุภา เจริญพิเชษฐ์ หรือ หนูดี เด็กสาววัย 19 ปี ที่อาศัยอยู่ในชุมชนนี้มาตั้งแต่เกิด ก็คิดว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้ “เสน่ห์ของความเก่า” หายไปเช่นกัน
หนูดีเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนเธอไม่เคยรู้สึกว่าชุมชนที่เธออาศัยอยู่พิเศษกว่าชุมชนอื่นเลย จนกระทั่งโรงเรียนจัดให้มาทัศนศึกษาที่นี่ เธอจึงได้รู้จักชุมชนของตนเองมากขึ้น
“ตอนที่ครูพามาก็แปลกใจนะ ที่อยู่ของเรา เรามองมันก็แค่ตึกแถวเก่าๆ แต่พอมีคนมาเที่ยวมากขึ้น ก็ทำให้รู้สึกว่า ถึงบ้านเราไม่ได้อยู่ในย่านธุรกิจ ย่านแสงสี แต่ไอ้ความเก่านี่มันก็เป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยว และไอ้ความเก่านี่แหละที่ทำให้ชุมชนของเราเป็นสถานที่ที่สำคัญ”
หญิงสาวหยุดพูดครู่หนึ่ง ก่อนจะยกถุงกาแฟโบราณขึ้นดื่ม ภาพของเด็กสาวกับถุงกาแฟโบราณในมือ ทำให้ฉันเผลอยิ้มออกมา ด้วยไม่คิดว่าจะได้เห็นภาพที่ดูไม่เข้ากัน แต่กลับลงตัวอย่างประหลาด
เด็กสาวมองภาพแม่วัวบนประตูไม้อีกครั้ง ก่อนจะเอ่ยเสียงเบา “จริงๆ มันก็สวยนะ แต่เราอยากให้การปรับปรุงเป็นแค่การซ่อมแซม มากกว่าการเปลี่ยนรูปแบบให้ทันสมัยขึ้น คนสมัยใหม่ไม่จำเป็นต้องสนใจอะไรที่ใหม่ทุกอย่าง ความเก่าต่างหากที่เป็นแรงดึงดูดอย่างดี ถ้าเราปรับปรุงให้มันทันสมัยแล้วความเก่าที่เป็นเอกลักษณ์หายไป ชุมชนนี้ก็แทบจะไม่ต่างไปจากสถานที่ท่องเที่ยวอื่นเลย ถ้าหมดรุ่นเราแล้วใครจะรู้ว่ากะดีจีนคืออะไร ได้ยินแค่ชื่อ หาข้อมูลแค่ในเน็ตเหรอ ไม่อยากให้เป็นแบบนั้นเลย”

ก่อนจากกัน ฉันมองภาพแม่วัวบนบานประตูไม้ และลวดลายต่างๆ บนประตูของตึกแถวหลายหลังในย่านนี้อีกครั้ง ได้ยินว่าภาพเหล่านี้เป็นฝีมือกลุ่มนักศึกษาในโครงการฟื้นฟูย่านกะดีจีนที่ร่วมมือกับคนในชุมชนเพื่อปรับปรุงบริเวณชุมชนให้สวยงาม บางทีฉันอาจจะคิดตรงข้ามกับพวกเขาที่พยายามให้ความสำคัญกับการฟื้นฟู และปรับปรุงให้เข้ากับสมัยนิยมมากขึ้น แต่ฉันมองว่าเสน่ห์ของย่านนี้อยู่ที่ความเก่าเสียมากกว่า คงจะจริงอย่างที่หนูดีว่า คนสมัยใหมไม่จำเป็นต้องสนใจอะไรที่ใหม่ทุกอย่าง และคนสมัยเก่าก็ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับการอนุรักษ์เสมอไป
จากชุมชนใกล้บ้าน ฉันเดินออกมาไกลขึ้น ใจก็นึกภาวนาขอให้การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นแค่ในละแวกนี้เถอะ อย่าได้ลดเสน่ห์ความเป็นชุมชนเก่าลงไปมากกว่านี้เลย แต่ดูเหมือนคำขอของฉันจะไม่เป็นผล เมื่อทางเดินไม้ริมน้ำที่อยู่คู่ชุมชนมาหลายชั่วอายุคนได้พังทลายลงไป สิ่งที่เหลืออยู่ตรงนั้น คือทางเดินปูนที่ยืนหยัดต้านลมฝนอย่างทรนง ราวเหล็กที่กางกั้นไว้ช่างดูหนักแน่น มั่นคง หากแต่ฉันกลับหวนคิดถึงราวกั้นไม้แบบเก่า ที่ดูเหมือนคุณตาผู้อ่อนโยนเสียมากกว่า ไม่มีเสียงฝีเท้ากระทบไม้ดัง ตุ้บ! ตุ้บ! มีแต่เสียงเครื่องยนต์ของรถจักรยานยนต์ที่แล่นสวนกันไปมา ช่างเป็นทางเดินที่อึกทึกครึกโครม…แต่ไร้ซึ่งชีวิตชีวา
เมื่อก้าวเท้าออกจากทางเดินริมน้ำ เบื้องหน้าของฉัน คือโบสถ์ซางตาครู้ส โบสถ์ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน และที่นั่น ฉันได้พบกับใครบางคนที่แสนคุ้นเคย พรรณรายณ์ สรกุล หรือแพรว หญิงสาวชาวคริสต์ วัย 21 ปี เพื่อนสนิทในวัยเด็กของฉัน
โบสถ์ซางตาครู้สในวันนี้แตกต่างจากที่ฉันเคยเห็นเมื่อก่อนมาก แพรวเล่าว่าการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดจากบาทหลวงที่เวียนมาประจำอยู่ที่โบสถ์ทุกๆ สี่ปี ซึ่งจะมีความสำคัญมากในฐานะผู้นำชุมชน
“แต่ก่อนในโบสถ์จะใช้แผ่นไม้ธรรมดากั้นระหว่างเรากับคุณพ่อเวลาสารภาพบาป แต่ตอนนี้ท่านปรับปรุงใหม่ ทำเป็นห้องติดแอร์ จริงๆ เราว่าแบบเดิมก็โอเคแล้วนะ แอร์ไม่จำเป็นเท่าไร คุณพ่อก็คงอยากอำนวยความสะดวกให้คนที่มาโบสถ์ให้มากที่สุดแหละ แต่อาจจะไม่ได้ถามคนในชุมชนเลยว่าเขาต้องการมากขนาดนี้หรือเปล่า เพราะบางคนก็ไม่ได้ต้องการทำให้มันมากไป อย่างเราก็อยากให้เป็นชุมชนเดิมๆ ตัวโบสถ์แบบเดิม เล็กๆ อยู่ด้วยกันแล้วอบอุ่นดี”
ไวเท่าความคิด ฉันเอ่ยปากถามหนึ่งคำถามที่ดังขึ้นในใจ “อะไรคือสิ่งที่แกให้คุณค่ามากที่สุด
ในชุมชน” แพรวนิ่งคิดสักพัก ก่อนจะเอ่ยออกมาพร้อมรอยยิ้ม
“พวกวิถีชีวิตคนเก่าๆ และที่ขาดไม่ได้เลย คือคนในชุมชน คนแก่ๆ เขาก็เสียไปจะหมดแล้ว ถ้าไม่มีคนมาสานต่อ ก็คงไม่เป็นชุมชน อาจจะเป็นแค่สถานที่ท่องเที่ยวธรรมดาๆ เราอยากให้มีคนสานต่อสิ่งเก่าๆ พวกนี้ ทั้งขนม ชุมชน หรือโบสถ์ มันจะได้ไม่สูญหายไป”
ค่ำคืนนั้น ฉันหลับตาลง แต่ยังเห็นภาพในความคิดชัดเจน ภาพแม่วัวตัวใหญ่บนบานประตูไม้ ภาพสะพานไม้ที่แปรเปลี่ยนเป็นสะพานปูน ภาพโบสถ์สีครีมแดงที่ดูคุ้นตา แต่กลับไม่คุ้นเคย และสุดท้าย ภาพตึกแถวห้าคูหา ที่แม้จะไม่มีเศษซากหลงเหลืออยู่แล้ว แต่ภาพของมันยังคงชัดเจนในมโนทัศน์
ใจหาย…เมื่อได้ยินว่าบริเวณนี้จะทำเป็นที่จอดรถแทน แต่ฉันก็คงจะเรียกร้องขอให้ตึกเหล่านั้นกลับมาไม่ได้ ฉันทำได้เพียงยอมรับว่า มุมมองของเราที่มีต่อการให้คุณค่าของสิ่งต่างๆ ในชุมชนนั้น ช่างแตกต่างกันเหลือเกิน…
Like this:
Like Loading...
ว่ากันว่า คนเราจะมองเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ ก็เมื่อไม่มีมันอยู่อีกต่อไป
ฉันเกิดและเติบโตในย่านกะดีจีน ย่านที่ใครหลายๆ คนยกย่องว่า เป็นย่านเมืองเก่าที่มีคุณค่าคู่ควรแก่การอนุรักษ์ แต่ฉันกลับไม่เคยรู้สึกเช่นนั้นเลย อาจเพราะความเคยชินกระมัง จึงไม่เห็นว่าสถานที่แห่งนี้จะพิเศษกว่าที่อื่นอย่างไร จนเมื่อวันหนึ่งที่ฉันตื่นขึ้นมา แล้วพบว่าสิ่งที่คุ้นเคยอยู่ทุกวันได้เปลี่ยนแปลงไป ความรู้สึก “ใจหาย” ก็พุ่งขึ้นมาจุกอยู่ที่อก
ตึกแถวขนาดห้าคูหาที่เคยมองทุกเช้า บัดนี้เหลือเพียงเศษหินก้อนน้อยเป็นเสมือนของดูต่างหน้า ไม่รู้ว่ามันหายไปตั้งแต่เมื่อไร แต่รู้ตัวอีกทีก็หายไปเสียแล้ว เช่นเดียวกับตึกแถวไม้ที่อยู่ถัดไปอีกซอยหนึ่ง แม้ไม่ได้ถูกทุบทิ้ง ทว่าสิ่งที่ปรากฏตรงหน้าก็ทำให้ฉันแปลกใจอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เพราะบานประตูไม้แสนคลาสสิกที่อยู่คู่ตลาดโบราณมาเนิ่นนาน บัดนี้ถูกทาทับด้วยสีขาว และปรากฏภาพแม่วัวตัวใหญ่เข้ามาแทนที่ มองอย่างไรก็ไม่เข้ากันเอาเสียเลย และดูเหมือนว่าแม่วัวตัวนั้นจะทำให้ความเก่า ที่เป็นเสน่ห์ของย่านนี้ลดลงไปไม่น้อย
ไม่ต่างกันนัก จิตสุภา เจริญพิเชษฐ์ หรือ หนูดี เด็กสาววัย 19 ปี ที่อาศัยอยู่ในชุมชนนี้มาตั้งแต่เกิด ก็คิดว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้ “เสน่ห์ของความเก่า” หายไปเช่นกัน
หนูดีเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนเธอไม่เคยรู้สึกว่าชุมชนที่เธออาศัยอยู่พิเศษกว่าชุมชนอื่นเลย จนกระทั่งโรงเรียนจัดให้มาทัศนศึกษาที่นี่ เธอจึงได้รู้จักชุมชนของตนเองมากขึ้น
“ตอนที่ครูพามาก็แปลกใจนะ ที่อยู่ของเรา เรามองมันก็แค่ตึกแถวเก่าๆ แต่พอมีคนมาเที่ยวมากขึ้น ก็ทำให้รู้สึกว่า ถึงบ้านเราไม่ได้อยู่ในย่านธุรกิจ ย่านแสงสี แต่ไอ้ความเก่านี่มันก็เป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยว และไอ้ความเก่านี่แหละที่ทำให้ชุมชนของเราเป็นสถานที่ที่สำคัญ”
หญิงสาวหยุดพูดครู่หนึ่ง ก่อนจะยกถุงกาแฟโบราณขึ้นดื่ม ภาพของเด็กสาวกับถุงกาแฟโบราณในมือ ทำให้ฉันเผลอยิ้มออกมา ด้วยไม่คิดว่าจะได้เห็นภาพที่ดูไม่เข้ากัน แต่กลับลงตัวอย่างประหลาด
เด็กสาวมองภาพแม่วัวบนประตูไม้อีกครั้ง ก่อนจะเอ่ยเสียงเบา “จริงๆ มันก็สวยนะ แต่เราอยากให้การปรับปรุงเป็นแค่การซ่อมแซม มากกว่าการเปลี่ยนรูปแบบให้ทันสมัยขึ้น คนสมัยใหม่ไม่จำเป็นต้องสนใจอะไรที่ใหม่ทุกอย่าง ความเก่าต่างหากที่เป็นแรงดึงดูดอย่างดี ถ้าเราปรับปรุงให้มันทันสมัยแล้วความเก่าที่เป็นเอกลักษณ์หายไป ชุมชนนี้ก็แทบจะไม่ต่างไปจากสถานที่ท่องเที่ยวอื่นเลย ถ้าหมดรุ่นเราแล้วใครจะรู้ว่ากะดีจีนคืออะไร ได้ยินแค่ชื่อ หาข้อมูลแค่ในเน็ตเหรอ ไม่อยากให้เป็นแบบนั้นเลย”
ก่อนจากกัน ฉันมองภาพแม่วัวบนบานประตูไม้ และลวดลายต่างๆ บนประตูของตึกแถวหลายหลังในย่านนี้อีกครั้ง ได้ยินว่าภาพเหล่านี้เป็นฝีมือกลุ่มนักศึกษาในโครงการฟื้นฟูย่านกะดีจีนที่ร่วมมือกับคนในชุมชนเพื่อปรับปรุงบริเวณชุมชนให้สวยงาม บางทีฉันอาจจะคิดตรงข้ามกับพวกเขาที่พยายามให้ความสำคัญกับการฟื้นฟู และปรับปรุงให้เข้ากับสมัยนิยมมากขึ้น แต่ฉันมองว่าเสน่ห์ของย่านนี้อยู่ที่ความเก่าเสียมากกว่า คงจะจริงอย่างที่หนูดีว่า คนสมัยใหมไม่จำเป็นต้องสนใจอะไรที่ใหม่ทุกอย่าง และคนสมัยเก่าก็ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับการอนุรักษ์เสมอไป
จากชุมชนใกล้บ้าน ฉันเดินออกมาไกลขึ้น ใจก็นึกภาวนาขอให้การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นแค่ในละแวกนี้เถอะ อย่าได้ลดเสน่ห์ความเป็นชุมชนเก่าลงไปมากกว่านี้เลย แต่ดูเหมือนคำขอของฉันจะไม่เป็นผล เมื่อทางเดินไม้ริมน้ำที่อยู่คู่ชุมชนมาหลายชั่วอายุคนได้พังทลายลงไป สิ่งที่เหลืออยู่ตรงนั้น คือทางเดินปูนที่ยืนหยัดต้านลมฝนอย่างทรนง ราวเหล็กที่กางกั้นไว้ช่างดูหนักแน่น มั่นคง หากแต่ฉันกลับหวนคิดถึงราวกั้นไม้แบบเก่า ที่ดูเหมือนคุณตาผู้อ่อนโยนเสียมากกว่า ไม่มีเสียงฝีเท้ากระทบไม้ดัง ตุ้บ! ตุ้บ! มีแต่เสียงเครื่องยนต์ของรถจักรยานยนต์ที่แล่นสวนกันไปมา ช่างเป็นทางเดินที่อึกทึกครึกโครม…แต่ไร้ซึ่งชีวิตชีวา
เมื่อก้าวเท้าออกจากทางเดินริมน้ำ เบื้องหน้าของฉัน คือโบสถ์ซางตาครู้ส โบสถ์ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน และที่นั่น ฉันได้พบกับใครบางคนที่แสนคุ้นเคย พรรณรายณ์ สรกุล หรือแพรว หญิงสาวชาวคริสต์ วัย 21 ปี เพื่อนสนิทในวัยเด็กของฉัน
โบสถ์ซางตาครู้สในวันนี้แตกต่างจากที่ฉันเคยเห็นเมื่อก่อนมาก แพรวเล่าว่าการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดจากบาทหลวงที่เวียนมาประจำอยู่ที่โบสถ์ทุกๆ สี่ปี ซึ่งจะมีความสำคัญมากในฐานะผู้นำชุมชน
“แต่ก่อนในโบสถ์จะใช้แผ่นไม้ธรรมดากั้นระหว่างเรากับคุณพ่อเวลาสารภาพบาป แต่ตอนนี้ท่านปรับปรุงใหม่ ทำเป็นห้องติดแอร์ จริงๆ เราว่าแบบเดิมก็โอเคแล้วนะ แอร์ไม่จำเป็นเท่าไร คุณพ่อก็คงอยากอำนวยความสะดวกให้คนที่มาโบสถ์ให้มากที่สุดแหละ แต่อาจจะไม่ได้ถามคนในชุมชนเลยว่าเขาต้องการมากขนาดนี้หรือเปล่า เพราะบางคนก็ไม่ได้ต้องการทำให้มันมากไป อย่างเราก็อยากให้เป็นชุมชนเดิมๆ ตัวโบสถ์แบบเดิม เล็กๆ อยู่ด้วยกันแล้วอบอุ่นดี”
ไวเท่าความคิด ฉันเอ่ยปากถามหนึ่งคำถามที่ดังขึ้นในใจ “อะไรคือสิ่งที่แกให้คุณค่ามากที่สุด
ในชุมชน” แพรวนิ่งคิดสักพัก ก่อนจะเอ่ยออกมาพร้อมรอยยิ้ม
“พวกวิถีชีวิตคนเก่าๆ และที่ขาดไม่ได้เลย คือคนในชุมชน คนแก่ๆ เขาก็เสียไปจะหมดแล้ว ถ้าไม่มีคนมาสานต่อ ก็คงไม่เป็นชุมชน อาจจะเป็นแค่สถานที่ท่องเที่ยวธรรมดาๆ เราอยากให้มีคนสานต่อสิ่งเก่าๆ พวกนี้ ทั้งขนม ชุมชน หรือโบสถ์ มันจะได้ไม่สูญหายไป”
ค่ำคืนนั้น ฉันหลับตาลง แต่ยังเห็นภาพในความคิดชัดเจน ภาพแม่วัวตัวใหญ่บนบานประตูไม้ ภาพสะพานไม้ที่แปรเปลี่ยนเป็นสะพานปูน ภาพโบสถ์สีครีมแดงที่ดูคุ้นตา แต่กลับไม่คุ้นเคย และสุดท้าย ภาพตึกแถวห้าคูหา ที่แม้จะไม่มีเศษซากหลงเหลืออยู่แล้ว แต่ภาพของมันยังคงชัดเจนในมโนทัศน์
ใจหาย…เมื่อได้ยินว่าบริเวณนี้จะทำเป็นที่จอดรถแทน แต่ฉันก็คงจะเรียกร้องขอให้ตึกเหล่านั้นกลับมาไม่ได้ ฉันทำได้เพียงยอมรับว่า มุมมองของเราที่มีต่อการให้คุณค่าของสิ่งต่างๆ ในชุมชนนั้น ช่างแตกต่างกันเหลือเกิน…
Share this:
Like this: