Travel

สวนรูปปั้นหินที่มีชีวิต แห่งเมืองจันดิการ์ ประเทศอินเดีย

สวนสาธารณะแห่งเมืองจันดิการ์ ประดับตกแต่งด้วยรูปปั้นหินจากเศษวัสดุสิ่งก่อสร้างที่ปั้นขึ้นจากมือของเจ้าหน้าที่กรมโยธาตัวเล็กๆ คนเดียว

อินเดีย คือประเทศแห่งความแตกต่างหลากหลาย แต่ทุกอย่างกลับอยู่รวมกันได้อย่างลงตัว ถนนที่แออัดมีทั้งรถยนต์ จักรยาน มอเตอร์ไซค์ และเกวียนเทียมวัว ในย่านที่หรูหราร่ำรวยที่สุดในกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย ก็ยังมีขอทานนั่งอยู่ทุกมุมถนน และในเมืองที่เป็นระเบียบที่สุดในประเทศอย่างจันดิการ์ (Chandigarh) เมืองหลวงของรัฐปัญจาบ เมืองที่ เลอ คอร์บูซิเยร์ (Le Corbusier) สถาปนิกชาวสวิสชื่อดังเป็นผู้วางผังเมืองและออกแบบอาคารสำคัญๆ กลับมีสวนสาธารณะประจำเมืองที่ประดับตกแต่งด้วยรูปปั้นหินจากเศษวัสดุสิ่งก่อสร้างที่ปั้นขึ้นจากมือของเจ้าหน้าที่กรมโยธาตัวเล็กๆ คนเดียว

อาจเป็นโชคร้าย ที่ข้าพเจ้ามาถึงเมืองจันดิการ์ในวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันที่บรรดาหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ และศูนย์ศิลปะงานออกแบบทั่วทั้งเมือง พร้อมใจกันหยุดให้บริการ

ไม่มีทางเลือกมากนัก ข้าพเจ้าพลิกเปิดหนังสือนำเที่ยว Lonely Planet และพบว่าที่หนึ่งที่ยังเปิด คือสวนหินของเน็ก ชานด์ (Nek Chand’s Rock Garden) ทว่า Lonely Planet ก็ไม่ได้บรรยายอะไรไว้มาก นอกจากระบุว่าเป็นสวนหินหน้าตาเหนือจริง ใช้เวลาการสร้างกว่า 20 ปี

“เหมือนกับร่วงลงไปในหลุมกระต่าย เข้าสู่ เขาวงกตภายในจินตนาการของชายคนหนึ่ง”

จากคำบรรยายนี้ยากที่จะคาดเดาได้ว่าสวนนี้หน้าตาเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าจึงเลือกจะไปดูกับตาตัวเอง หลังชำระค่าเข้าสวน 20 รูปี (ประมาณ 10 บาทไทย) ข้าพเจ้าก็ก้มตัวผ่านประตูที่มีลักษณะเป็นช่องแคบเล็กๆ ในกำแพงคอนกรีตสูงเทียมศีรษะ และพบกับสวนหินของเน็ก ชานด์

ยอมรับว่าเมื่อพูดถึงสวนหิน ข้าพเจ้าจินตนาการไว้ถึงสวนหินแบบญี่ปุ่น อันเป็นสวนพืชพรรณไม้ มีหินเป็นส่วนประกอบ แต่สวนหินของเน็ก ชานด์นั้นมีแต่หินจริงๆ ภายในคือกำแพงหินปูนก่อสูง เรียงรายด้วยรูปปั้นทรงคล้ายมนุษย์ในอากัปกิริยาต่างๆ กัน ทุกตัวถูกปั้นขึ้นด้วยเนื้อคอนกรีตสีเทา ภายนอกปกคลุมด้วยวัสดุใช้แล้ว ทั้งกระเบื้อง แก้ว ฝาขวด ลูกแก้ว ปลั๊กไฟ ฯลฯ เรียงรายกันอย่างเป็นระเบียบบ้าง ไม่เป็นระเบียบบ้าง
แต่จำนวนมากมายเกินนับ
รูปปั้นเหล่านี้ดูคล้ายงานศิลปะของเด็ก หรือศิลปะเพื่อรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ข้าพเจ้ากลับรู้สึกได้ว่า มันคืองานศิลปะเพื่อบำบัดจิตใจ ในบรรดารูปปั้นมากมายหลายร้อยตัว ไม่มีสักตัวที่ยิ้มแย้ม อาจเพราะ เน็ก ชานด์ ศิลปินผู้ปั้นรูปปั้นทั้งหมดนี้ มาจากดินแดนแห่งความขัดแย้ง เขาลี้ภัยการแบ่งแยกประเทศปากีสถานมาที่
เมืองจันดิการ์ในช่วงปี 2490 และมาพบกับซากปรักหักพังจากการก่อสร้างเมืองใหม่เข้าพอดี วัสดุที่เขาใช้ปั้นก็รวบรวมมาจากกว่า 50 หมู่บ้านในละแวกที่ถูกทำลายเพื่อการสร้างเมือง

เน็ก ชานด์ปั้นรูปปั้นอยู่คนเดียวอย่างลับๆ กว่า 18 ปี ผลิตผลงานอย่างต่อเนื่องจนรูปปั้นหินทั้งหลายกินพื้นที่กว่า 13 เอเคอร์ (ประมาณ 7 สนามฟุตบอล) นั่นยิ่งทำให้ข้าพเจ้าเชื่อว่า เน็ก ชานด์ อาจจะทุ่มเทเพื่อสะท้อนความรู้สึกบางอย่างภายในจิตใจ ซึ่งบ้างก็ว่าเป็นการรำลึกถึงหมู่บ้านในความทรงจำวัยเด็กของเขา บ้างก็ว่าเป็นการจำลองภาพสวรรค์ตามความเชื่อทางศาสนาของเขา แต่ไม่ว่าอย่างไร ข้าพเจ้าก็สัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณของเมืองที่อยู่ในรูปปั้น ผ่านเศษขยะที่เป็นความทรงจำของเมืองเก่าในงานศิลปะที่เกิดใหม่

ชาวเมืองจันดิการ์ก็น่าจะสัมผัสได้เช่นเดียวกัน เพราะเมื่อรูปปั้นลับๆ ของเขาถูกพบเข้า แทนที่จะถูกทำลาย กลับถูกนำมาจัดแสดงและตกแต่งจนกลายเป็นสวนสาธารณะประจำเมือง ส่วนเน็ก ชานด์ ก็ได้รับตำแหน่งวิศวกรประจำสวน พร้อมด้วยลูกน้องและเงินเดือน ทำหน้าที่พัฒนาสวนอย่างเต็มรูปแบบ

เมื่อข้าพเจ้าเดินต่อไปจนถึงส่วนที่สองและส่วนที่สามของสวน ก็ได้พบกับสถาปัตยกรรมหลากหลายลักษณะ ทั้งลานถ้ำ น้ำตก อัฒจันทร์ วิหาร ร้านขายชา ห้องที่เต็มไปด้วยตู้ปลาและกระจกลวงตา และลานชิงช้า แม้จะมีฝนตกพรำๆ แต่ก็มีเด็กน้อยชาวอินเดียวิ่งเล่นกลางลานชิงช้า โดยมีพ่อแม่นั่งดื่มชาแกล้มขนมซาโมซ่าอยู่ใกล้ๆ สวนหินไม่ได้มีแต่รูปปั้นหินอีกต่อไป แต่ได้กลายเป็นสวนสาธารณะโดยสมบูรณ์แบบ

อีกสิ่งที่ทำให้รู้สึกถึงความเป็นสาธารณะก็คือป้ายที่แปะตลอดทางเดินในสวน เขียนว่า Keep Clean. The City Is Yours. เพียงถ้อยคำ เรียบง่ายในภาษาอังกฤษและฮินดี แต่ก็ทำให้นักท่องเที่ยวที่มีมากมาย โดยเฉพาะชาวอินเดียช่วยกันทำให้สวนหินแห่งนี้ยังสะอาดสวยงามอยู่ได้

ในวันต่อมา เมื่อข้าพเจ้าออกจากเมืองจันดิการ์ จึงเพิ่งสังเกตว่ารูปปั้นหน้าสถานีรถไฟเป็นงานศิลปะสไตล์เน็ก ชานด์ ในตอนนั้นข้าพเจ้าเพียงประทับใจ ที่งานศิลปะเล็กๆ ของคนเพียงคนเดียว สามารถก้าวมาเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของเมืองได้ แต่ข้าพเจ้ายังไม่รู้ว่า ไม่เพียงหน้าสถานีรถไฟเท่านั้น เน็ก ชานด์และงานศิลปะของเขายังก้าวไปปรากฎบนแสตมป์ในช่วงปี 2526 และได้เดินทางข้ามโลกไปจัดแสดงที่ Capital Children’s Museum ในกรุงวอชิงตัน ดีซี และ American Folk Art Museum ในนครนิวยอร์ค และล่าสุดจัดแสดงที่มหาวิหารชิเชสเตอร์ มณฑลเวสต์ซัสเซ็กซ์ ประเทศอังกฤษเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา

ข้าพเจ้ายังไม่รู้ว่า สวนหินแห่งนี้ได้ก่อให้เกิด Nek Chand Foundation มูลนิธิที่ระดมทุนเพื่อการดูแลรักษาสวน ซึ่งมีฐานปฏิบัติงานอยู่ในอินเดียและอังกฤษ ยังไม่รู้ว่ามีคนมากมายทั้งในและต่างประเทศ ที่ทำงานอาสาสมัครกับมูลนิธินี้เพื่อดูแลสวนหินแห่งนี้ และยังไม่รู้ว่า สวนหินแห่งนี้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีผู้เข้าชมต่อปีเยอะที่สุดในอินเดียเป็นอันดับสอง รองจากทัชมาฮาล

ตัวเน็ก ชานด์เองก็คงไม่รู้ว่าจากสองมือของเขาจะกลายเป็นสวนหินที่ยิ่งใหญ่ของคนทั้งเมืองได้ขนาดนี้

 

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “นิสิตนักศึกษา” ฉบับที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2559

%d bloggers like this: