Social Issue

บันทึกการต่อสู้ชุมชนป้อมมหากาฬ สะท้อนแนวทางใหม่ในการพัฒนา

กรณีความขัดแย้งเกี่ยวกับพื้นที่ป้อมมหากาฬในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงพลังในการเคลื่อนไหวของชุมชน และการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม

กรณีความขัดแย้งเกี่ยวกับพื้นที่ป้อมมหากาฬในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงพลังในการเคลื่อนไหวของชุมชน และการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในชุมชน ที่ส่งผลถึงแนวคิดการพัฒนาเมืองของคนในสังคม

ความขัดแย้งเริ่มต้นในปี 2535 เมื่อกรุงเทพมหานครได้ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินเขตพื้นที่ป้อมมหากาฬ เพื่อจัดสร้างเป็นสวนสาธารณะ โดย พ.ร.ฎ. ฉบับนี้ส่งผลให้เกิดการไล่รื้อบ้านในพื้นที่ จำนวน 12 หลัง เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา ทั้งยังเป็นข้อผูกมัดทางกฎหมายให้ชาวบ้านที่รับเงินชดเชยแล้ว ถือว่าคืนสิทธิ์ให้กับกทม.

อย่างไรก็ดี การรวมตัวกันของชาวบ้าน และการเข้ามามีส่วนร่วมของนักวิชาการและภาคประชาสังคมหลายกลุ่ม ทำให้การไล่รื้อและจัดสร้างสวนสาธารณะยังไม่ลุล่วง ชาวชุมชนป้อมมหากาฬเองก็ตื่นตัวกับการถูกไล่รื้อมาโดยตลอด โดยในปี 2541 ได้มีการร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ยื่นข้อเสนอ 5 ประการ ต่อกทม. ดังนี้
1. ชาวชุมชนจะมีการจัดตั้งเวรยามเพื่อรักษาความปลอดภัย
2. ชาวชุมชนขออาสาดูแลรักษาความสะอาดสวนสาธารณะ
3. ชุมชนป้อมมหากาฬจะพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นตัวอย่างของชุมชนที่สามารถอยู่อาศัย
คู่กับสวนสาธารณะ
4. กรุงเทพมหานครจะมีรายได้จากการจัดเก็บค่าเช่าที่ดินจากชุมชน
5. ชุมชนป้อมมหากาฬจะพัฒนาชุมชนให้เป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานคร
ในปี 2548 ชุมชนชาวป้อมได้ร่วมมือกับ อ.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร ในโครงการวิจัยเพื่อจัดทำแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์ และพัฒนาชุมชนบ้านไม้โบราณ ณ ป้อมมหากาฬ โดยศึกษาลักษณะเรือนไม้และวางแผนบูรณะ จากนั้น สมาคมสถาปนิกสยาม กลุ่มสถาปนิกผังเมืองจิตอาสาและภาควิชาการ ต่างก็เข้ามาร่วมสร้างสรรค์แผนพัฒนา จนเกิดเป็นกลุ่มมหากาฬโมเดล ที่นำเสนอรูปแบบการพัฒนาเพื่อการอยู่ร่วมกันของชุมชน โบราณสถาน และเมือง

ศานนท์ หวังสร้างบุญ จากกลุ่มมหากาฬโมเดล เปิดเผยว่า แนวคิดหลักของกลุ่ม คือ “กระบวนการ Co–Create” หรือ การรวบรวมเอาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ รวมไปถึงฝั่งวิชาการ เช่น สถาปนิกชุมชน นักประวัติศาสตร์ และวิศวกร มาสร้างสรรค์แผนการพัฒนาร่วมกัน โดยคำนึงถึงบริบททางประวัติศาสตร์และชุมชน เพื่อออกแบบวิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมจากทั้งรัฐและชุมชน

“เวลาต่อสู้อะไรมันมีสองข้างเสมอ ข้างชุมชน-ข้างให้ไล่ ซึ่งในกรณีนี้มันไม่ใช่ทั้งสองแบบ” ศานนท์กล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบันว่า อยากให้จบแบบทั้งสองฝ่ายช่วยกันพัฒนาวัดกันด้วยวิสัยทัศน์ และกระบวนการมีส่วนร่วม

กลุ่มมหากาฬโมเดลและชุมชนป้อมฯ ได้ทำงานร่วมกันและมีผลผลิตออกมาเป็น “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต” ที่เปิดตัวสู่สาธารณะเมื่อวันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยชาวบ้านได้ปรับปรุงทำความสะอาดพื้นที่ จัดแสดงภูมิปัญญาต่างๆ อาทิ บ้านช่างทอง การทำเครื่องดนตรีไทย การทำกรงนกเขาชวา ฯลฯ และเปิดให้คนภายนอกได้เข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตของชุมชนด้วยตัวเอง มีการจัดเวรยามดูแล เพื่อความรู้สึกเป็นมิตรแก่ผู้มาเยือน

นอกจากนี้ ชาวชุมชนป้อมฯ ร่วมกับ ผศ. ดร.ปริญญา เทวนฤมิตรกุล และกลุ่มนักศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน Co–Create เพื่อหาทางออกทางกฎหมายเมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยอาจารย์ปริญญาชี้ว่า ที่มาของปัญหาเกิดจาก พ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดิน 2535 แต่กฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องของนโยบาย และนโยบายย่อมเปลี่ยนแปลงได้

กลุ่มนักศึกษานำเสนอสองทางออก ทางแรกคือการออกพ.ร.ฎ. ฉบับใหม่เพื่อยกเลิกกฎหมายฉบับเดิม โดยอาจเป็น “พ.ร.ฎ. เพื่อชุมชนป้อมมหากาฬและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างกทม.กับชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีหน้าที่อนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิม หรืออีกทางหนึ่งคือ การออก “โฉนดชุมชน” เพื่อให้ชาวบ้านสามารถบริหารจัดการพื้นที่ภายในชุมชนได้ด้วยตัวเอง ส่วนกทม. มีหน้าที่กำกับดูแล แนวทางนี้เป็น
การพบกันตรงกลางระหว่างรัฐกับชุมชน ได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ชุมชนสามารถดำเนินวิถีชีวิตได้ตามเดิม พร้อมทำหน้าที่อนุรักษ์พื้นที่และวัฒนธรรม ส่วนกทม.ก็มีรายได้จากการกำหนดค่าเช่า และแบ่งเบาภาระการดูแลโบราณสถานไปด้วย

ปัจจุบัน ชุมชนป้อมมหากาฬยังทำงานร่วมกับกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และอยู่ในกระบวนการจัดตั้งกรรมการพหุภาคีเพื่อเจรจาร่วมกับกทม. รวมทั้งวางแผนจัดกิจกรรมเพื่อสื่อสารกับสังคมภายนอกถึงวิถีชีวิตดั้งเดิม แนวทางใหม่ในการอยู่ร่วมกันของชุมชน เมือง และโบราณสถานที่ซึ่งเป็นแนวทางที่พวกเขาร่วมกันสร้างขึ้นเอง

 

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “นิสิตนักศึกษา” ฉบับที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2559 

%d bloggers like this: