Social Issue

Deadlock: (ไม่อยาก) หยุดเวลาไว้กลางสี่แยก

ไขปัญหารถติดเมืองกรุงฯ รู้จักกับ "เดดล็อก" ตัวการเจ้าปัญหา พร้อมร่วมหาทางออกกับผู้เชี่ยวชาญ

เคยมั้ย? เหน็ดเหนื่อยจากการเรียน ทนกับเจ้านายสุดโหดมาทั้งวัน อยากกลับบ้านใจจะขาด แต่กลับต้องมาติดหนึบกลางสี่แยก กลับรถก็ไม่ได้ ให้ขับต่อไปก็ไปไม่ถึง! เหมือนมีอะไรฉุดดึง ให้รถคุณอยู่นิ่งๆ

หากคุณตกอยู่ในสถานการณ์ที่ว่าแล้วล่ะก็…ขอให้สันนิษฐานไว้เลยว่า สิ่งที่คุณกำลังเผชิญอยู่นั้นคือ  “เดดล็อก”  


FYI: ทำความรู้จักกับ “เดดล็อก” ผู้หยุดเวลาของคุณ

 Deadlock (เดดล็อก) คือ สภาวะที่การจราจรติดขัดจนไม่สามารถขยับเขยื้อนได้เลย


 

DLS2

ภาพจำลองการเกิดเดดล็อก ซึ่งรถติดขัดต่อเนื่องกันจนครบทางร่วมทางแยกทั้งสี่มุม

เหยียบเบรคชาตินี้ เหยียบคันเร่งชาติหน้า

นั่งรถผ่านแยกนี้ทีไรเป็นต้องได้ร่วมเช็คอิน “แยกนรก เหยียบเบรคชาตินี้ เหยียบคันเร่งชาติหน้า” ทุกที จะเบี่ยงหนีออกขวาก็ไม่ได้ จะเลี่ยงไปเลนซ้ายก็ติดแหง็กอยู่ดี แล้วข้างหน้ามันเกิดอะไรขึ้นเนี่ย?

พ.ต.ท.ณรงค์วิช สุดกังวาล  รอง ผกก.จร.สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน รับผิดชอบพื้นที่รถติดท็อปเท็นอย่างสยามและสามย่านเล่าว่า แยกปทุมวันเป็นหนึ่งใน 4 มุมของเดดล็อกใจกลางเมืองที่สำคัญ นอกเหนือจากแยกราชประสงค์ แยกประตูน้ำ และแยกราชเทวี วงจรเดดล็อกนี้เกิดประจำทุก 2-3 ครั้งในรอบหนึ่งเดือน

พ.ต.ท.ณรงค์วิช อธิบายว่า เดดล็อกเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนรถบนท้องถนนที่มีปริมาณมาก ช่วงเวลาเร่งด่วนที่รถแล่นบนท้องถนนพร้อมๆ กัน การเกิดอุบัติเหตุมีผลกระทบต่อการจราจรโดยรอบ กิจกรรมพิเศษตามสถานที่ต่างๆ เช่น งานรับปริญญา งานคอนเสิร์ต หรือแม้แต่ฝนตกที่อาจมีผลให้น้ำท่วม ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงทำให้รถเคลื่อนตัวได้ช้า…ช้าลง…และติดจนครบทั้งสี่มุมของเดดล็อกในที่สุด

“การแก้เดดล็อกไม่สามารถระบุได้ว่าจะแก้ไขได้ในกี่นาที ต้องค่อยๆ เปลี่ยนสัญญาณไฟ แชร์กันบ่อยๆ เปิดการระบายรถออกให้ค่อยๆ คลี่คลาย เพราะเดดล็อกไม่สามารถแก้ทีเดียวให้หายได้ หากรีบแก้โดยกั๊กปิดด้านหนึ่งเพื่อให้อีกด้านหนึ่งระบายไปเลยจะทำให้ถนนอีกด้านเกิดการสะสม ส่งผลให้เดดล็อกไปอยู่ที่จุดอื่นแทน ที่ผ่านมาเคยปล่อยรถติดกลางแยกนานที่สุดหนึ่งชั่วโมงครึ่ง เพราะเดดล็อกนี่แหละ” พ.ต.ท.ณรงค์วิช ระบุ

หลักการและความเป็นจริงบนถนนเดียวกัน

รู้ๆ กันอยู่ว่าท้องถนนนั้นเอาแน่เอานอนไม่ได้! เดี๋ยวฝนก็ตก เดี๋ยวรถคันหน้าก็เสยท้ายรถอีกคัน จะเลี้ยวไปอีกทางถนนก็ปิดซะงั้น แต่เอาเข้าจริงแล้ว…บนถนนแห่งความเสี่ยงที่เราต้องเผชิญในแต่ละวันก็ยังมีหลักการบริหารจัดการจราจรตามหลักวิชาการอยู่นะ!

วิทยานิพนธ์เรื่อง การควบคุมสัญญาณไฟจราจรโดยวิธีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ โดย ปัญญา หันตุลา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นครราชสีมา เมื่อปี 2555 เสนอหลักการควบคุมสัญญาณไฟจราจรที่เหมาะสมว่า เวลาการเปิด-ปิดสัญญาณไฟจราจรแต่ละรอบในแยกหนึ่งต้องไม่นานเกินสี่นาทีโดยประมาณ และเวลาเปิดไฟเขียวแต่ละด้านไม่ควรเกินกว่า 1 นาที หรือต่ำกว่า 20 วินาที

“หากกำหนดจังหวะไฟเขียวสั้นเกินไปจะทำให้เสียช่วงเวลาในการออกตัว และหากกำหนดจังหวะไฟเขียวยาวเกินไป จะทำให้สูญเสียเวลาในช่วงที่ไม่มียานพาหนะผ่านเลย นอกจากอาจก่อให้เกิดรถติดในทิศทางอื่นได้ เนื่องจากได้สัญญาณไฟแดงที่นานเกินไป” งานวิจัยระบุ

ด้านทศพล สุภารี หัวหน้ากลุ่มงานสัญญาณไฟจราจร สำนักการจราจรและขนส่ง ผู้รับผิดชอบการกำหนดระยะเวลาปล่อยสัญญาณไฟจราจร อธิบายว่า ก่อนการตั้งระยะเวลาสัญญาณไฟต้องเก็บสถิติจำนวนรถและประเภทรถในแต่ละทิศทางของแต่ละทางร่วมทางแยก เพื่อนำมาวิเคราะห์ วางแผนตั้งสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับรูปแบบการเดินทางในแต่ละช่วงเวลา แล้วจึงประสานงานกับตำรวจ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการและอำนวยการจราจรให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน  เพื่อหาความเหมาะสมร่วมกัน

น่าคิดว่าแม้จะมี “กฎ 4 นาที” แล้ว แต่ทำไมชาวกรุงเทพฯ กลับยังต้องติดไฟแดงนานเป็นชั่วโมง?

 


FYI: ทำความรู้จัก “เซ็นเซอร์” ผู้ช่วยแก้ไขปัญหารถติด

  • ขดลวดเหนี่ยวนำ: เครื่องมือวัดปริมาณรถบนท้องถนน โดยการฝังขดลวดเหนี่ยวนำใต้ผิวถนนบริเวณทางเข้าแยกต่างๆ เมื่อมีรถแล่นผ่าน ขดลวดจะเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสไฟฟ้า และส่งสัญญาณไปที่ตัวรับสัญญาณ เพื่อให้ระบบประมวลผลว่ามีรถผ่านมากี่คัน
  • กล้อง CCTV: เครื่องมือบันทึกภาพแบบเรียลไทม์ เพื่อช่วยเป็นหูเป็นตาให้ตำรวจใช้ในการอำนวยการจราจร
  • Human sensor: การกระจายตำรวจจราจรตลอดแนวถนน เพื่อคาดคะเนปริมาณรถด้วยสายตา และประสานงานผ่านวิทยุในการเร่งระบายรถติด โดยเฉพาะเมื่อเกิดเดดล็อก ทดแทนการขาดแคลนเซ็นเซอร์ประเภทขดลวดและกล้อง CCTV

 

cencor.jpg

3 เซ็นเซอร์ช่วยจับตามองและแก้ไขเมื่อเกิดสภาวะรถติดในกรุงเทพฯ

CCTV ตาที่สามของตำรวจ

รองผกก.จร.สถานีตำรวจนครบาลปทุมวันเล่าถึงวิธีการแก้เดดล็อกในปัจจุบันว่า “เมื่อเกิดเดดล็อก ต้องรีบกระจายกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสน.ไปประจำทางร่วมทางแยกเพื่อคอยดูว่าข้างหน้าไปได้หรือไม่ ถ้าไปไม่ได้จะมีการประสานงานทางวิทยุ แจ้งให้แยกต่อเนื่องข้างหน้ารับทราบว่า “รถติด ไปไม่ได้ หรือท้ายสะสมแยกแล้ว” โดยจะแจ้งวิทยุกันต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนถึงปลายสุดที่รถไปได้

การกระจายกำลังพลของตำรวจจราจรตามเส้นทางรถติดทำหน้าที่ไม่ต่างจากเซนเซอร์ตัวหนึ่งที่คอยดูความหนาแน่นของการจราจรบนท้องถนน (Human Sensor) แต่จะดีกว่าไหมถ้า “CCTV” เข้ามาเป็นตาที่สาม ตำรวจก็ไม่ต้องเปลี่ยนกะ ไม่ต้องกระพริบตาตลอดการทำหน้าที่ 24 ชั่วโมงเพื่อตรวจจับผู้ฝ่าฝืนกฎจราจร CCTV จึง นับเป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญในการกระบวนการแก้ปัญหาเดดล็อก การช่วยแบ่งเบาภาระทำให้ตำรวจจราจรสามารถใช้หนึ่งสมอง สองตาและสองมือบัญชาการจัดการจราจรได้เต็มศักยภาพ

แม้ถนนบางสายจะมีเซ็นเซอร์ “ขดลวดเหนี่ยวนำ” ฝังอยู่ใต้คอนกรีต ช่วยให้ตำรวจทราบปริมาณรถเหนือผิวจราจรนั้นๆ การติดตั้งขดลวดมักฝังเฉพาะบริเวณหัวถนนขาเข้าแยก ทำให้วัดปริมาณรถได้เพียงบางจุด นอกจากนี้สิ่งที่ตำรวจต้องการเพื่อแก้เดดล็อกคือการเห็นตำแหน่งและความยาวของแถวรถ ดังนั้นเมื่อเทียบกับกล้องที่มีฟังก์ชันการมองเห็น จึงนับว่าขดลวดเหนี่ยวนำไม่คุ้มค่าลงทุนเท่า

พ.ต.ท.ณรงค์วิช และ ทศพล สุภารี หัวหน้ากลุ่มงานสัญญาณไฟจราจร สำนักงานวิศวกรรมจราจร ผู้จัดหาและติดตั้งอุปกรณ์ประกอบถนนในพื้นที่ กทม. ไม่ว่าจะเป็นป้ายเครื่องหมาย สัญญาณไฟจราจร เซ็นเซอร์ต่างๆ เห็นตรงกันว่า กล้อง CCTV เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ แต่ด้วยงบประมาณจำกัด จึงไม่สามารถจัดหา และติดตั้งได้อย่างครอบคลุม

ไม่รู้ว่าอีกไกลแค่ไหนคือใกล้ ที่ทั่วกรุงเทพฯ จะมีเทคโนโลยีเซ็นเซอร์มาเป็นตาที่สามให้กับตำรวจ เพราะเมื่อไร้งบ ก็ไร้เทคโนโลยี อย่างไรก็ดี หากคุณเคยได้รับใบสั่งพร้อมรูปถ่ายป้ายทะเบียนเนื่องจากขับรถฝ่าไฟแดง เราก็ขอแสดงความยินดีด้วย! เพราะนั่นหมายความว่าแยกนั้นมีกล้อง CCTV ติดอยู่จริง!

ถอดบทเรียนแก้เดดล็อก

ลองคิดดูว่า หากมีตำรวจแก้ปมเดดล็อกเก่งกาจหนึ่งนายจะทำให้ถนนโล่งสบายสักหนึ่งเส้น แต่เอาเข้าจริงในกรุงเทพฯ มีถนนมากกว่านั้น จะให้ตำรวจแยกร่างก็ไม่ได้ จะให้โคลนนิ่งก็ยังไงอยู่… แล้วถ้าสร้างคัมภีร์เลยล่ะ จะเป็นไง!?

รศ.ดร.เชาวน์ดิศ อัศวกุล นักวิชาการด้านวิศวกรรมจราจร คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนถอดบทเรียนการแก้ปัญหาเดดล็อกในกรุงเทพฯ ว่า ตำรวจที่ได้เผชิญหน้าและรับมือกับปัญหาเดดล็อกในกรุงเทพฯ อย่างสม่ำเสมอจนเกิดเป็นความเชี่ยวชาญ จะเป็นต้นแบบที่ดีสำหรับการถ่ายถอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการจราจรในสภาวะติดตายให้แก่ตำรวจจราจรรุ่นใหม่ๆ ได้

“ขอยกตัวอย่างแยกยานนาวาที่เกิดเดดล็อกประจำ ที่นั่นมีตำรวจผู้เชี่ยวชาญการแก้เดดล็อก แต่มีไม่กี่คน หากตำรวจคนนั้นย้ายไปแล้วใครจะแก้ไขได้ ดังนั้นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนเท่าที่ทำได้ตอนนี้คือ การถอดองค์ความรู้จากตำรวจจราจรที่เก่งด้านการแก้ปมเดดล็อก แล้วจัดทำเป็นเล่มคู่มือฮาวทู เพื่อเป็นแนวทางการแก้ปัญหาให้แก่ตำรวจจราจรคนอื่นๆ” รศ.ดร.เชาวน์ดิศ กล่าว

นอกจากนี้อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มองว่า ปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถแก้ปัญหาระบบจราจรกรุงเทพได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ในอนาคตจะมีความเป็นไปได้ของการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ร่วมกับการจัดการจราจรในกรุงเทพฯ แต่ยังไม่ใช่ในเร็ววันนี้ ก้าวแรกในการเตรียมความพร้อมสำหรับ AI ซึ่งเป็นเพียงโปรแกรม ต้องอาศัยการป้อนข้อมูลจากมนุษย์ และต้องได้รับการวางสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการพัฒนา

ดังนั้นแล้วนอกเหนือจากการถอดองค์ความรู้การแก้ปมเดดล็อกจากตำรวจสู่ตำรวจแล้ว ยังสามารถดึงองค์ความรู้เหล่านั้นมาเผยแพร่ให้แก่ AI ได้อีกด้วย

 


FYI: ทำความรู้จัก “Sumo” โปรแกรมจำลองรถบนถนนแบบเรียลไทม์

  • ปัจจุบันมีโครงการนำร่องทดลองวางกลยุทธ์แก้ไขสภาวะการจราจรติดขัดแยกยานนาวา โดยใช้ข้อมูลจากเซ็นเซอร์วัดปริมาณรถบนท้องถนนแบบเรียลไทม์ และส่งข้อมูลไปยังโปรแกรม Computer simulation หรือ Sumo (Simulation of Urban Mobility) เพื่อช่วยจำลองปริมาณรถบนท้องถนนตามสภาพจริง รวมถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นบนท้องถนน เช่น รถเสีย อุบัติเหตุรถชน ซ่อมถนนชั่วคราว
  • โปรแกรมสามารถทดลองกำหนดช่วงสัญญาณไฟจราจรในรูปแบบหลากหลาย เพื่อพัฒนากลยุทธ์รับมือเมื่อเกิดเหตุการณ์จริง
  • ในปัจจุบันคิดค้นกลยุทธ์ที่ตำรวจนำไปใช้จริงแล้วกว่า 16 กลยุทธ์ช่วยการไหลของรถ (Travel time) ได้ผลถึงร้อยละ 4-7

 

#เดินหน้าประเทศไทย

#ขอความสุขในช่วงรถติดจงคืนกลับมา

%d bloggers like this: