Social Issue

จากเหยื่อของการถูกรังแก…สู่การเป็นผู้ป่วยทางจิต

เมื่ออดีตผู้ป่วยจิตเภทบอกกับเราว่าอาการป่วยหูแว่วได้ยินเสียงคนที่ไม่มีอยู่จริงของเธอเกิดขึ้นจากการถูกบูลลี่จากเพื่อนที่โรงเรียน ปัญหาการรังแกกันอาจไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยอีกต่อไป

“ตอนที่เริ่มเป็นจิตเภทแล้วต้องกลับมาเรียนหนังสือที่โรงเรียน รู้สึกเหมือนตัวเองตกนรกทั้งเป็น กินไม่ได้ นอนไม่หลับอยู่หลายสัปดาห์ จนคืนหนึ่งได้ยินเสียงแว่ว เราตัดสินใจตื่นขึ้นมาแล้วไปนั่งอยู่ในห้องน้ำคนเดียวเพื่อนั่งฟังเสียงพูดเหล่านั้น พอแม่ตื่นมาเห็น แม่ก็ถามเราว่ามานั่งทำไมตรงนี้ เราไม่สามารถตอบอะไรได้เลย เพราะไม่รู้เลยว่าที่เราเป็นอยู่มันคืออะไร ในสมองมันวุ่นวายไปหมด บางครั้งก็เป็นเสียงเพื่อนนินทา บางครั้งก็เป็นเสียงผู้ชายพูด ซึ่งไม่ใช่คนในชีวิตจริงแน่นอน”

ไอมี่ (สงวนนามสกุล) หญิงสาววัย 23 ปี อดีตผู้ป่วยจิตเภทเล่าให้ฟังถึงอาการป่วยของเธอซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อสมัยเรียนเกรดแปดที่ต่างประเทศ (เทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่สองในไทย) เธอพบว่านักเรียนในโรงเรียนมัธยมที่เธอเข้าไปเรียนส่วนหนึ่งไม่ยอมรับคนที่มีลักษณะต่างจากตนเข้ากลุ่ม หรือบ่อยครั้งก็เห็นว่ามีคนแสดงความเกลียดชังผู้อื่นแม้อีกฝ่ายจะคิดว่าไม่ได้ทำอะไรให้กระทบกระเทือนกัน สำหรับไอมี่ แม้เธอจะไม่เคยทำร้ายใคร แต่การอยู่ในสังคมแบบนั้นกลับทำให้เธอตกเป็นเหยื่อของการถูกรังแกเสียเอง เริ่มตั้งแต่การถูกล้อเลียนเพราะเป็นคนเอเชีย ไปจนถึงการถูกแกล้งผลักให้ล้มอย่างไม่มีเหตุผล การกระทำเช่นนี้ทำให้เธอรู้สึกว่าไม่ได้รับการต้อนรับที่ดีจากเพื่อนในโรงเรียน 

 


“ตอนนั้นเรามีปัญหาครอบครัวแตกแยกจนต้องย้ายมาอยู่ต่างประเทศกับแม่สองคน ชีวิตเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ต้องเข้าโรงเรียนใหม่ มีสังคมใหม่ ซึ่งเราโชคร้ายที่คนที่นั่นไม่ชอบเราเยอะทั้งที่เราก็ไม่ได้ทำอะไรให้พวกเขาเลย แต่ถึงแม้เราจะเป็นคนดี ทำดีมากขนาดไหนก็ไม่พ้นถูกรังแกอยู่ดี” ไอมี่กล่าว


 

ความเครียดสะสมจากการถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียนและปัญหาชีวิตด้านอื่นๆ ทำให้เธอตกอยู่ในภาวะที่รุนแรงมากกว่าการรู้สึกแย่กับสิ่งที่ตัวเองพบเจอ การตอบสนองต่อสถานการณ์ตกเป็นเหยื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่าของเธอจึงเป็นอาการของโรคจิตเภทที่เกิดขึ้น เริ่มจากอาการหูแว่ว

“ครั้งหนึ่งที่เราถูกคนนั่งจับกลุ่มนินทา แล้วเพื่อนอีกคนมาเล่าให้ฟัง ตอนที่เรารู้ตัวว่าใครเป็นคนนินทาบ้าง เราก็เครียดจนกระทั่งเริ่มหูแว่วได้ยินเสียงเพื่อนนินทา ต่อมาเริ่มเป็นเสียงผู้ชายมาคุยด้วย บ้างก็มาพูดให้กำลังใจ บ้างก็มาสบถด่าหรือสาปแช่งใส่ เช่น ‘สู้ๆ นะ’ ‘อีดอก!’ หรือ ‘คืนนี้มึงต้องตาย!’ ระหว่างที่เริ่มมีอาการซึ่งตรงกับช่วงเรียน เราได้แต่นั่งร้องไห้อยู่อย่างเดียว หลังจากที่ป่วยนานวันเข้า ทุกคนรู้สึกว่าเราเริ่มเปลี่ยนไป จากที่เมื่อก่อนเป็นคนคุยเก่งก็กลายเป็นคนเงียบและเก็บตัวอยู่คนเดียว เริ่มไม่อยากเป็นจุดสนใจกับใคร” ไอมี่บอก

 


“เราอยากทำตัวปรกติเหมือนคนอื่นทั้งที่ทำไม่ได้ แต่ก็พยายามฝืนทำอยู่ กว่าจะมีชีวิตผ่านไปแต่ละวันยากเสียยิ่งกว่ายาก เรามักได้ยินเสียงของคนที่ไม่มีตัวตนอยู่จริงอยู่เรื่อยๆ อย่างไม่มีทีท่าว่าจะหายไป จนเราทนไม่ไหวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เริ่มรับไม่ได้ที่ต้องมามีเสียงในหัวอะไรอย่างนี้ แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่ได้คิดจะไปรักษาอยู่ดี เพราะกลัวคนอื่นรู้เข้า แล้วการใช้ชีวิตของเราในสังคมซึ่งยากอยู่แล้วจะยิ่งยากและแย่ไปกว่าเดิม และเรายังไม่พร้อมจะถูกตีตราบาปตอนนี้” ไอมี่กล่าว


 

งานวิจัยเรื่อง การรับรู้ตราบาปของผู้ป่วยจิตเวชในวารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย ปีที่ 23 ฉบับที่หนึ่ง ปี 2558 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข โดย ชูศรี เกิดพงษ์บุญโชติ ระบุว่า การตีตราผู้ป่วยจิตเวชมี 2 ลักษณะ

อย่างแรก คือตราบาปทางสังคมเป็นผลจากความเข้าใจผิด หรือความไม่รู้ของคนในสังคม ทำให้เกิดอคติและการมองแบบเหมารวมทางลบเกี่ยวกับความผิดปรกติทางจิต แสดงการไม่ยอมรับ มีท่าทีรังเกียจ กีดกัน หวาดกลัว ไม่กล้าพูดคุยกับผู้ป่วยจิตเวช

อย่างที่สอง คือตราบาปภายในใจ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยรับรู้และยอมรับปฏิกิริยาของสังคมแล้วหันเหความรู้สึกเหล่านั้นเข้าสู่ตนเอง เช่น การมีประสบการณ์กีดกันจากการมีภาวะเจ็บป่วยทางจิต ทำให้เกิดปัญหาในด้านการหางาน การเรียนในสถานศึกษา การหาบ้านพัก และการไม่เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม สำหรับไอมี่ การถูกตีตราบาปเริ่มต้นเมื่อเธอกลายเป็นผู้ป่วยจิตเภทเต็มตัว

“อาการยังคงอยู่เรื่อยมาจนได้ประมาณห้าปี ตอนนั้นเราอายุ 19 ปี จะต้องเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งแม่ตัดสินใจไว้ว่าจะให้เรากลับมาเรียนที่เมืองไทย เมื่อรู้อย่างนั้นเริ่มรู้สึกมีความหวังมากว่าจะได้มาเจอกับสังคมใหม่ ชีวิตใหม่ ฝันร้ายที่เมืองนอกที่หลอกหลอนเรามานานคงจบลงสักที อาการจิตเภทที่เป็นอยู่ก็เช่นกัน คงจะหายไปได้เองเพราะเราจะได้หนีหายจากคน สังคมและสิ่งรอบข้างที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เราต้องเป็นโรคแบบนั้น แต่เรื่องก็ไม่ได้จบลงง่ายขนาดนั้น เพราะเมื่อเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่นี่ เราก็ถูกรังแกเหมือนอย่างเคย ไม่ต่างกับตอนที่อยู่เมืองนอก อาจจะไม่มีการทำร้ายร่างกายหรือล้อเลียนเหมือนตอนมัธยม แต่เรื่องการถูกกีดกันไม่ให้เข้ากลุ่มและไม่มีใครต้อนรับ เรายังคงประสบปัญหานี้เหมือนเดิม” ไอมี่บอก

อาการจิตเภทของไอมี่ที่เป็นผลมาจากการถูกกลั่นแกล้ง สอดคล้องกับงานวิจัยที่ศึกษาถึงผลกระทบทางด้านจิตใจของเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งจากเพื่อนๆ ในโรงเรียนโดย ดร.อังเดร ซอแรนเดอร์ หัวหน้าโครงการวิจัยจากมหาวิทยาลัยเตอร์กู ประเทศฟินแลนด์ เมื่อปี 2552 รายงานดังกล่าวระบุว่าเด็กที่เป็นเหยื่อการกลั่นแกล้งมีโอกาสที่จะเกิดโรคซึมเศร้าหรือมีอาการผิดปกติทางจิตได้เมื่อเข้าสู่อายุ 20 ปีขึ้นไป และมีเด็กส่วนหนึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการบำบัดอาการผิดปรกติเหล่านั้น

งานวิจัยชิ้นนี้ได้ติดตามพฤติกรรมเด็ก 5,038 รายในฟินแลนด์ ทั้งชายและหญิง ตั้งแต่อายุ 8 ปีไปจนถึง 24 ปี และพบว่าเด็กทั้งหมดที่อยู่ในวังวนของการกลั่นแกล้ง ไม่ว่าจะเป็นคนถูกแกล้งหรือเป็นหัวโจกคอยแกล้งคนอื่นก็ล้วนมีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปรกติทางจิตด้วยกันทั้งนั้น

ช่วงเวลาเลวร้ายเริ่มคลี่คลายลง เมื่อแม่ของไอมี่ซึ่งสังเกตเห็นว่าพฤติกรรมของลูกสาวเธอไม่ปรกติมาสักระยะหนึ่งตัดสินใจพาเธอไปเข้ารับการรักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทันทีที่กลับมาเมืองไทย ไอมี่เล่าว่าเธอต้องกินยารักษาโรคจิตเภทอย่างต่อเนื่องทุกวันจนกว่าอาการจะหายไป ซึ่งใช้เวลาหลายปีกว่าจะหายเป็นปรกติและไม่ต้องพึ่งยาอีก

ปัจจุบันเธอเรียนจบในระดับมหาวิทยาลัยอย่างที่เธอตั้งใจและมีหน้าที่การงานที่ดี แต่สถานะผู้ป่วยจิตเภทยังคงเป็นฝันร้ายที่เธอไม่เคยลืม แม้เรื่องราวจะผ่านมานานหลายปีแต่เธอก็ยังเลือกที่จะปกปิดเรื่องอาการป่วยเป็นความลับตลอดกาลเพราะหากบอกใครว่าเป็น ก็จะกลายเป็นการตีตราบาปให้ตัวเองเพิ่มขึ้นไปอีก

“โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ความเข้าใจเรื่องโรคทางจิตเวชมีน้อย สวนทางกับจำนวนเหยื่อผู้ถูกกลั่นแกล้งในสังคมที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการมาเปิดใจพูดในวันนี้ก็หวังเพื่อว่าจะช่วยให้ไม่ต้องพบเจอใครที่ต้องเป็นเหมือนกัน” ไอมี่กล่าว

           

แล้วคุณล่ะ…เคยเป็นหนึ่งในเหตุ

ที่ทำให้ใครคนหนึ่งเป็นผู้ป่วยทางจิตหรือไม่?

 

IMG_5477

FYI

  • จิตเภท (Schizophrenia) คือ โรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมักมองโลกผิดไปจากความจริง มีอาการวิตกกังวล รู้สึกสับสน อาจจะดูเหินห่าง แยกตัวจากสังคม อาจมีอาการประสาทหลอนร่วมด้วย เช่น หูแว่ว เห็นภาพหลอน อีกทั้งยังไม่สามารถคิดแบบมีเหตุมีผลได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อคนอื่นคุยกับผู้ป่วยไม่ค่อยเข้าใจก็มักจะไม่ค่อยคุยด้วย ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยถูกแยกให้อยู่คนเดียวในที่สุด หากไม่ได้รับการรักษาอย่างรีบด่วนก็จะนำมาซึ่งการฆ่าตัวตาย

สถาบันจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา
http://www.somdet.go.th/Knowledge_(saranarue)/2.php

  • จิตเภทเป็นอาการทางจิตที่พบมากที่สุดในโรงพยาบาลจิตเวชของไทย โดยพบมากในกลุ่มผู้มีอายุ 15-44 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่บุคคลต้องเผชิญปัญหาการปรับตัวกับเหตุการณ์และความตึงเครียดของชีวิตหลายด้าน เช่น ปัญหาการศึกษา อาชีพ การสมรส การสร้างฐานะและครอบครัว เป็นต้น

คู่มือจิตเวชศาสตร์ สำหรับประชาชน ปี 2556 หน้า 157-160

  • การรังแก (Bullying) คือ การกระทำที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเหนือกว่าอีกฝ่าย โดยที่อีกฝ่ายไม่สามารถตอบโต้ได้ และเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นซ้ำๆ กระทำต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จึงจะเรียกว่าเป็นการรังแก หรือในบางกรณีการกระทำครั้งเดียวแต่มีผลกระทบกับผู้ถูกกระทำ ก็ถือว่าเป็นการรังแก โดยปัญหานี้อาจยังคงอยู่จนถึงวัยผู้ใหญ่

มูลนิธิ path2health foundation สนับสนุนโดย dtac
 http://stopbullying.lovecarestation.com/การรังแกกัน-คืออะไร

 

%d bloggers like this: