Education

ทำไมนะค่ะ?

เคยสงสัยกันบ้างไหม ว่าทำไมคนจำนวนหนึ่งถึงยังใช้ คะ/ค่ะ ไม่ตรงกับลักษณะประโยค แล้วจะมีวิธีแก้ไขได้อย่างไรบ้าง?

จงเลือกข้อที่ถูกต้อง

ก)   ความจริงแล้วเราเป็นคนนอกนะคะ อย่าไปยุ่งเรื่องส่วนตัวเขาเลยคะ

ข)   ความจริงแล้วเราเป็นคนนอกนะคะ อย่าไปยุ่งเรื่องส่วนตัวเขาเลยค่ะ

ค)   ความจริงแล้วเราเป็นคนนอกนะค่ะ อย่าไปยุ่งเรื่องส่วนตัวเขาเลยค่ะ

ถ้าคุณตอบข้อ ข) คุณคือร้อยละ 93 ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามการใช้ คะ/ค่ะ ของ “‘นิสิตนักศึกษา”’ และคุณผันวรรณยุกต์ได้ถูกแล้ว

ถ้าคุณตอบข้อ ก) หรือ ค) คุณคือร้อยละ 7 ที่อาจยังสับสนกับการผันวรรณยุกต์อยู่

แต่ไม่ว่าคุณจะตอบข้อไหน อยากขอให้ลองอ่านต่อสักนิด

นางสาวเอ (นามสมมติ) มีความเห็นว่าการสะกด คะ/ค่ะ ผิดไม่ใช่ปัญหาในการสื่อสาร เพราะเชื่อว่าผู้ที่สื่อสารด้วยเข้าใจสิ่งที่ตนต้องการสื่อสารอยู่แล้ว ส่วนสาเหตุที่สับสนในการเลือกใช้ คะ/ค่ะ เอก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร

เคยสงสัยกันบ้างไหม ว่าทำไมคนจำนวนหนึ่งถึงยังใช้ คะ/ค่ะ ไม่ตรงกับลักษณะประโยค แล้วจะมีวิธีแก้ไขได้อย่างไรบ้าง?

ผศ.ดร.พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ อาจารย์ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า การใช้ คะ/ค่ะ ไม่ตรงกับลักษณะประโยค อาจเกิดจากการไม่สามารถเชื่อมโยงการสะกดกับเสียงของคำได้

“ขอตั้งสมมติฐานว่า คะ/ค่ะ ไม่เหมือนคำอื่นๆ ในภาษาไทย คำอื่นไปปรากฏอยู่ที่ไหนก็หน้าตาเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน เช่น ปิ้ง อยู่ที่ไหนก็เป็นปิ้ง แต่ คะ/ค่ะ การออกเสียงจะเป็นไปตามบริบทของประโยคที่ต่างกัน แต่คนสะกดไม่ได้คำนึงถึงเสียง ดูแค่รูป หรือถ้าพยายามจะใช้ให้ถูกอาจใช้วิธีการจำ ซึ่งพอจำก็เลือกใช้ไม่ถูกเพราะไม่ได้ฟังว่าพูดแล้วใช้เสียงอะไร”

ด้าน ผศ.ซ่อนกลิ่น วิรัตน์โยสินทร์ ครูสอนภาษาไทยระดับชั้นประถมศึกษา โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม กล่าวว่า สาเหตุของการสะกดผิดเป็นเรื่องของระบบการเรียนการสอน โดยปัญหาคือหลายๆ โรงเรียนจะสอนอ่านจับใจความควบคู่ไปกับหลักภาษา ทำให้การเน้นเรื่องสระ พยัญชนะ เบื้องต้นต่างๆ ไม่แน่น เด็กไม่เข้าใจพื้นฐานโครงสร้างของคำ

“จริงๆ ต้องเริ่มจากการสอนไตรยางศ์ (อักษรสามหมู่ ประกอบด้วยอักษรสูง อักษรกลาง และอักษรต่ำ) ก่อน เพื่อให้เด็กผันวรรณยุกต์ได้ถูกต้อง พอผันวรรณยุกต์ได้แล้วก็สอนให้จับเสียงให้ได้” ผศ. ซ่อนกลิ่นอธิบายถึงวิธีการสอนการเขียน คะ/ค่ะ ให้ถูกต้อง

ขณะที่ อ.ประไพพรรณ พึ่งฉิม อาจารย์ภาคภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า สาเหตุของการสะกด คะ/ค่ะ ผิดส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการสอนเรื่องการผันวรรณยุกต์ที่ไม่มีประสิทธิภาพในระบบการศึกษา แต่ก็เป็นไปได้ว่าผู้สะกดผิดไม่ใส่ใจ เพราะมักมองว่าสามารถสื่อสารได้เหมือนกัน

นอกจากนี้ สาเหตุของการสะกด คะ/ค่ะ ไม่ถูกต้องอาจเกิดได้จากทั้งการอ่านและการเขียน โดย อ.ประไพพรรณเสริมว่า อาจเป็นเพราะคนอ่านหนังสือน้อยลง ทำให้ไม่เห็นว่าสิ่งที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ส่วน ผศ.ดร.พิทยาวัฒน์เชื่อว่าการที่คนเขียนน้อยลงก็มีส่วนเช่นกัน

“ไม่ใช่ว่าคนไม่สนใจการสะกดผิดถูก ปัญหาคือคนสะกดผิดส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้เขียน อย่าลืมว่าทุกวันนี้คนเขียนน้อยมาก เขียนแค่สเตตัสเฟซบุ๊ก ซึ่งไม่มีผลกระทบอะไรกับชีวิตมากมาย”

แต่ใช่ว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาการสะกด คะ/ค่ะ นี้จะไม่มี ผศ. ซ่อนกลิ่นมีความเห็นว่า ต้องเริ่มแก้ที่ครู ควรสอนหลักภาษาแยกกับการจับใจความ และปูพื้นฐานเรื่องไตรยางศ์กับการผันวรรณยุกต์ให้แม่นยำ หากเด็กสะกดผิด ครูและผู้ปกครองควรแก้ไขให้ถูกต้อง รวมถึงส่งเสริมการรักการอ่าน

ด้าน ผศ.ดร. พิทยาวัฒน์ เสนอแนะว่า ในระยะสั้น อาจมีการชี้แจงและให้ความรู้ในวงกว้าง ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว โรงเรียนต้องปรับวิธีการสอนให้สอดคล้องกับระบบการเขียนและธรรมชาติการเรียนรู้ของคนด้วย


“ทุกวันนี้คนเขียนผิดไม่มีใครให้ความรู้ กลับถูกต่อว่า หรือถึงจะมีการให้ความรู้ ก็มักบอกเพียงว่าประโยคคำถามใช้คะ ส่วนประโยคบอกเล่าใช้ค่ะ ซึ่งคนก็ต้องจำอยู่ดี แต่ปัญหาจริงๆ คือคนไม่ฟังว่าตัวเองพูดอะไร”


media-feed2

คะ/ค่ะ สะท้อนอะไรในสังคมไทย

         ผศ.ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าการที่บางคนรำคาญการใช้ คะ/ค่ะ ที่ไม่ตรงตามบริบท เป็นเพราะสังคมไทยเคยชินกับการที่คนบางกลุ่มกำหนดมาตรฐานภาษาที่ถูกต้อง จึงนำมาตรฐานนั้นไปครอบงำการใช้ภาษาปากและภาษาถิ่นอื่นๆ ซึ่งผศ.ดร. ยุกติเห็นว่า นี่เป็นสำนึกอำนาจนิยมในการใช้ภาษา

นอกจากนี้ การแยกคำว่า “คะ” กับ “ค่ะ” เป็นภาระของผู้หญิงมากเกินไป “ผมว่ามันเป็นภาระของผู้หญิงที่จะต้องทำเสียงให้แตกต่างออกไป ส่วนผู้ชายสบายกว่า ไม่ว่าจะออกเสียงอย่างไร ก็เขียนแบบเดียว นี่เป็นอุดมการณ์เพศที่แบ่งแยกหญิง-ชายในภาษา แยกเพศแบบมีแค่คู่หญิง-ชายเท่านั้นยังไม่พอ ยังไปคาดคั้นให้ผู้หญิงมีความลำบากในการใช้ภาษามากกว่าอีก” ผศ.ดร. ยุกติกล่าว

 

%d bloggers like this: