Interview

Q&A เนติวิทย์ Live in 2017

ปี 2017 นี้ พักประเด็นร้อนทางการเมือง แล้วมาทำความรู้จักกับ “เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล” ผ่านแนวคิดและอุดมการณ์ของเขา ในฐานะ “นิสิตนักศึกษา” คนหนึ่งกันดีกว่า

ปี 2017 นี้ พักประเด็นร้อนทางการเมือง แล้วมาทำความรู้จักกับ “เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล” ผ่านแนวคิดและอุดมการณ์ของเขา ในฐานะ “นิสิตนักศึกษา” คนหนึ่งกันดีกว่า

netiwit3.jpg

  1. Current&Future Issue: ตอนนี้เนติวิทย์เป็นใคร

เนติวิทย์เป็นคนน่าสงสารครับ เพิ่งถูกปลดออกจากตำแหน่งประธานสภานิสิต ซึ่งมีความตั้งใจมากที่จะอยู่ในตำแหน่งนี้แล้วทำงาน ตอนนี้เนติวิทย์จึงเป็นคนน่าสงสารคนหนึ่งที่ถูกสังคมภายนอกและภายในบีบคั้น

มองเห็นเนติวิทย์ในอีก 10 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร

ถ้ายังมีชีวิตอยู่ตอนนั้น ก็อยากทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสถาบันการศึกษาสักแห่งหนึ่ง ทำในสิ่งที่ฝันไว้เกี่ยวกับโมเดลต่างๆ ว่าโรงเรียนที่ดี ระบบการศึกษาที่ดี หรือระบบครูอาจารย์ที่ดีควรจะเป็นอย่างไร ไม่ได้อยากทำอะไรมากกว่านี้ อยากทำให้คนอื่นได้ออกไปโลกภายนอกแล้วใช้ชีวิตอย่างมีวิจารณญาณ เพราะถ้าตอนนั้นยังอยู่ไทย คงไม่สามารถทนเห็นสิ่งอยุติธรรมที่ขัดหูขัดตาได้

แต่ก็ไม่แน่ หากตอนนั้นเนติวิทย์ไม่สามารถอยู่ประเทศไทยได้ ก็คงไปอยู่ประเทศอื่นอย่างแฮปปี้ คิดว่าอยากไปขายไอติมอยู่เหมือนกัน ไม่ก็ไปเป็นชาวนาชาวไร่ ได้มีเวลาอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ หรือไปทำอย่างอื่นเพื่อพัฒนาตัวเอง ถ้าสังคมไทยไม่ต้อนรับแล้วก็เป็นโอกาสดีเหมือนกัน

 


อยากทำประโยชน์ต่อสถาบันการศึกษาสักแห่ง.. แต่หากตอนนั้นไม่สามารถอยู่ประเทศไทยได้ ก็คงไปอยู่ประเทศอื่นอย่างแฮปปี้ คิดว่าอยากไปขายไอติมอยู่เหมือนกัน ไม่ก็ไปเป็นชาวนาชาวไร่ ได้มีเวลาอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ หรือไปทำอย่างอื่นเพื่อพัฒนาตัวเอง


 

  1. Social Issue: สังคมในอุดมคติของเนติวิทย์เป็นอย่างไร

เป็นสังคมที่คนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข มีสันติภาพทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เข้าใจกัน คือไม่จำเป็นว่าต้องเห็นพ้องกันเสมอไป แต่เข้าใจคนอื่นว่าทำไมเขาคิดแบบนั้น ทำไมเขาคิดต่าง หรือถ้าเขาเลือกทำในสิ่งที่แตกต่างไป อีกฝ่ายก็มีความอดทนอดกลั้นเพียงพอ ซึ่งสังคมที่เห็นมันเปลี่ยนไปมาก คนรุ่นเราเองในอนาคตพออายุมากขึ้น คนที่ตามหลังเรามาก็คงคิดแตกต่างจากเรา

ดังนั้นเราก็ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนผู้ใหญ่ตอนนี้เสมอไปทุกเรื่อง แต่ผู้ใหญ่ตอนนี้เขาคิดแทนเด็ก ซึ่งเราไม่ควรต้องคิดแทนคนที่ตามหลังเรามา ต้องให้พื้นที่สำหรับใช้จินตนาการเคารพซึ่งกันและกันระหว่างผู้มีอาวุโสกับผู้น้อย อยู่ด้วยกันอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่กดขี่กัน เห็นใจเวลาผู้อื่นเดือดร้อน

  1. Economics: มีความคิดเห็นอย่างไรกับเศรษฐกิจของประเทศในยุคก่อนและหลัง คสช.

คิดว่ามีปัญหาอยู่ หากเทียบเป็นตัวเลข จะเห็นว่า GDP ของประเทศไทยเติบโตช้ามากตั้งแต่ คสช. ขึ้นมามีอำนาจ ช่วงก่อนหน้าหรือเมื่อสมัยคุณยิ่งลักษณ์ GDP เติบโตปีละ 5-6 เปอร์เซ็นต์ แต่พอ คสช. ขึ้นมาก็ลดลงเป็นปีละ 1-2 เปอร์เซ็นต์ ปีนี้กระเตื้องขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ นั่นคือสิ่งที่สามารถบอกได้คร่าวๆ

อีกอย่างคือเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวมีโอกาสแข่งขันกับประเทศอื่นค่อนข้างยากมาก ไม่ว่าจะมีธุรกิจสตาร์ทอัพที่กำลังประชาสัมพันธ์เปิดตัวมากมาย แต่เนื่องจากพื้นฐานสาธารณูปโภคของเราไม่ได้ดีพอ แม้กระทั่งแนวคิด 4.0 ที่บอกว่าต้องการพัฒนาเศรษฐกิจ ก็ยังไม่ได้มีแผนการที่เป็นรูปธรรมพอ รัฐยังมองประชาชนเป็นคนขี้เกียจ ต้องได้รับการอบรมก่อน

แต่ผมมองว่าการที่เศรษฐกิจของเราจะเจริญได้นั้นต้องให้คนมีความคิดเสรีเหมือนอย่างที่อเมริกาหรือประเทศอื่นในยุโรปเจริญขึ้นมา ส่วนหนึ่งคือเขามีสถาบันทางการเมืองที่เปิดกว้าง ทำให้สถาบันเศรษฐกิจเปิดกว้างขึ้นมาด้วย แต่สิ่งที่เห็นตอนนี้คือรัฐทำตัวเหมือนรู้ทุกอย่างฝ่ายเดียว คอยบอกประชาชนว่าต้องทำแบบนี้แบบนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่สามารถนำไปสู่การต่อยอดได้จริง

  1. Education: ถ้ามีลูก จะให้ลูกเรียนโรงเรียนไทย หรือนานาชาติ เพราะอะไร

แน่นอนว่าทุกคนรักลูก ผมก็คงรักลูกตัวเองเช่นกัน และผมไม่อยากให้ลูกต้องมีชีวิตลำบากในโรงเรียนไทย ยอมรับว่าตัวเองมีประสบการณ์ในโรงเรียนไทยที่ไม่ค่อยดี หลายๆ คนที่ผมเคยพูดคุยด้วยก็รู้สึกไปในทางเดียวกัน ถ้านึกถึงอนาคตลูกจริงๆ สมัยนี้ไม่ใช่เรื่องยากในการเข้าโรงเรียนนานาชาติ หรือแม้แต่การเรียนด้วยตนเอง ซึ่งสมัยนี้เราสามารถเข้าถึงความรู้ได้ง่ายขึ้นมาก

หากลูกผมได้มีโอกาสเรียนเองที่บ้าน เขาอาจจะเจริญเติบโตไปได้ทำในสิ่งที่ เขาอยากทำจริงๆ มีอิสรภาพ มีความสุข แต่ในอีกมุมหนึ่งก็คิดเหมือนกันว่า อยากให้ลูกได้รับรู้ถึงปัญหาระบบการศึกษาไทย เผื่อเขาจะมีไฟในการทำอะไรบางอย่าง และโรงเรียนไทยก็ไม่ได้มีแต่ข้อเสียอย่างเดียว มีข้อดีในแง่ว่าได้เรียนรู้และสัมผัสการใช้ชีวิตทางสังคมจริง แต่ก็อาจทำให้กลายเป็นคนตามระบบไปเลย เป็นเด็กที่เอาแต่เชียร์ สรรเสริญครูเพื่อที่จะได้คะแนนดีๆ หากระบบการศึกษายังไม่เปลี่ยนจริงๆ ก็คงให้ลูกเรียนนานาชาติ

คิดจะสอนเองมั้ย

ก็ได้นะ แต่ตอนนี้มีคนวิจารณ์เยอะ (หัวเราะ) จริงๆ ก่อนหน้านี้ผมก็เคยสอนหนังสือเหมือนกัน สมัยเรียนตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยม เคยทำกลุ่มสอนหนังสือขึ้นมา สอนพิเศษเด็กยากจนแถวบ้านฟรีมาตลอด แต่นิสัยผมอาจจะไม่ค่อยดี คือผมมีความเป็นเผด็จการอยู่ เวลาสอนรู้สึกว่า “เห้ย ทำไมไม่ตั้งใจเรียน” ทนไม่ได้ มีอารมณ์ขึ้นตลอด  อาจไม่เหมาะกับสอนเอง บางทีก็สอนเกินเนื้อหา ถ้าจะสอนลูกจริงคงต้องไปเรียนทักษะการสอนเพิ่ม


หากลูกผมได้มีโอกาสเรียนเองที่บ้าน เขาอาจเติบโตไปได้ทำในสิ่งที่อยากทำจริงๆ มีอิสรภาพ มีความสุข แต่ในอีกมุมหนึ่งก็คิดว่า อยากให้ลูกได้รับรู้ถึงปัญหาระบบการศึกษาไทย เผื่อเขาจะมีไฟในการทำอะไรบางอย่าง


 

  1. Life style: ในอนาคตมีแนวทางบริหารจัดการสมดุลระหว่างหน้าที่ในฐานะ Working Man กับ Family Man อย่างไร

เป็นเรื่องอนาคตที่ตอบยาก เท่าที่คิดไว้คือ ถ้าทำงานที่สามารถทำทั้งสองอย่างนี้พร้อมกันได้ก็จะดีมาก อย่างที่บอก หากในอนาคตได้เปิดสถาบันเกี่ยวกับการพัฒนาคน ก็อาจให้ลูกและครอบครัวได้มาเป็นส่วนหนึ่ง มองว่าชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานไม่ได้แยกออกจากกันเลย ไม่รู้แบบนี้ดีหรือเปล่า อาจจะดูว่าไม่มีชีวิตส่วนตัวเลย แต่จริงๆ ไม่ได้บ้างานขนาดนั้น มองว่าการทำงานก็คือการมีชีวิต สองอย่างไปพร้อมกัน

  1. Entertainment: ระหว่าง Iron Man กับ Captain America อยากเป็นใครมากกว่ากัน

จริงๆ ชอบ Captain America เป็นคนหัวเก่าๆ หน่อย ผมก็ไม่ได้เป็นคนหัวใหม่อะไรมากในหลายๆ แง่ แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นความคิด และผมคิดว่า Captain America ค่อนข้างมีตรงนี้เหมือนกัน คือไม่ได้เป็นคนทันสมัยเสียทุกอย่าง แต่ก็เข้าใจในสิ่งที่เป็นไป ผมว่าเวลาดีลกับผู้คนเขาทำได้ดีกว่า Iron Man เลยรู้สึกประทับใจ โดยเฉพาะในความรักชาติของเขา

สมัยนี้หาคนรักชาติยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าการรักชาติเป็นเรื่องดีเสมอไป บางทีก็ไม่ใช่เรื่องดี แต่การรักชาติที่อยู่บนเหตุผลและการตัดสินใจว่าอะไรจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ประกอบกับการรับฟังความคิดเห็น และการทำงานเป็นทีม ผมว่าตัว Captain America ตอบโจทย์มากกว่า

สิ่งที่นับเป็นความบันเทิงในชีวิตคืออะไร อะไรทำให้รู้สึกผ่อนคลายและมีความสุข

ดูหนังแอคชั่นที่ไม่ต้องคิดเยอะ ดูไปเรื่อยๆ ชอบพวกอนิเมะอย่างที่ดูแล้วไม่เครียดอย่างเรื่อง โจโจ้ ที่กำลังจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ จริงๆ สิ่งที่ชอบที่สุดและเวลาดูก็รู้สึกผ่อนคลาย คือพวกสารคดี  จริงๆ เป็นคนชอบผ่อนคลายแบบเครียดๆ ไง (หัวเราะ) อย่างช่วงนี้ไม่ค่อยมีเวลาดูอะไรเลย ชีวิตก็จะเครียดๆ หน่อย

ฟังเพลงบ้างไหม

ฟังเพลงครับ เป็นคนฟังเพลงเก่ามาก ยุค 1940-1950 มีศิลปินที่ชอบอย่าง Bob Dylan ชอบเพลงช้าๆ มีเนื้อหาที่บรรยายเกี่ยวกับชีวิต ไม่ใช่ความรู้สึกส่วนตัวหรือความรักอะไรเป็นพิเศษ นอกจากนี้ก็ชอบฟังบทกวีครับ ยิ่งบทกวีที่ฟังแล้วรู้สึกหัวใจสลาย อย่างบทกวีของ Emily Dickinson อันนี้ชอบมาก มีอิทธิพลต่อชีวิตมาก


ชอบ Captain America  เป็นคนหัวเก่าๆ หน่อย ผมก็ไม่ได้เป็นคนหัวใหม่อะไรมากในหลายๆ แง่ แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นความคิด และรู้สึกประทับใจ โดยเฉพาะในความรักชาติของเขา


 

  1. Travel: สถานที่ที่เคยไปแล้วประทับใจมากที่สุด เพราะอะไร

ลาดัค ประเทศอินเดียครับ ที่จริงในตัวเมืองไม่น่าประทับใจเท่าไหร่ ค่อนข้างสกปรก ไม่มีระเบียบ เพราะนักท่องเที่ยวไปกันเยอะมาก แต่พอออกมานอกเมืองแล้วสวยงามมาก ใช้เวลาขณะเดินทางไปสองสามวัน อันตรายมาก อาจพลัดตกเหวตายได้ด้วยทางเดินรถที่แคบมาก ผมไปมาคนเดียวเมื่อปี 2014 เพื่อศึกษาดูงาน อยู่ที่นั่นเกือบ 20 วัน ประทับใจดินแดนสวย บริสุทธิ์ อากาศดีมาก

อีกอย่างที่ประทับใจมากคือโรงเรียนที่นั่นแห่งหนึ่ง เป็นโรงเรียนที่คัดเลือกแต่นักเรียนที่เรียนไม่เก่งของเมืองนั้นมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ซึ่งเด็กพวกนั้นสามารถบริหารจัดการชีวิตตัวเองได้ทั้งหมดในสถาบัน เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยจะมีครูต่างชาติเข้ามาสอนเรื่องต่างๆ อย่างเรื่องโลกาภิวัตน์ ตลอดจนเรื่องเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ล้ำสมัย โดยรวมแล้วผู้คนน่ารัก มนุษย์สัมพันธ์ดีมาก มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน ยิ้มแย้มแจ่มใส

สถานที่ที่อยากไปแต่ยังไม่ได้ไป

อยากไปคิวบาตั้งแต่ปี 2014 แล้ว ตอนนั้น Fidel Castro ยังไม่ตายเลย อยากไปดูชีวิตของเขา ชีวิตของคนที่นั่นว่าเป็นอย่างไร ชีวิตที่ต้องมายืนต่อคิวเพราะเป็นสังคมนิยมเหมือนที่เคยเห็นในหนัง แล้วเราก็เห็นว่าการแพทย์ที่นั่นมีความเจริญก้าวหน้ามาก จึงอยากไปดูชีวิตของพวกเขาภายใต้ระบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งเหลือน้อยที่แล้วในโลก

อีกที่ที่อยากไป คือรัฐทางใต้ของอินเดียอย่างรัฐเกรละ เป็นรัฐคอมมิวนิสต์ที่คนรู้หนังสือดีที่สุด รวมถึงเป็นรัฐที่ส่งเสริมศิลปินต่างๆ อยากไปดูว่าเป็นอย่างไร และอยากรับประทานอาหารอินเดียใต้ด้วย

  1. Culture: ภูมิใจในวัฒนธรรมไทยมั้ย ประทับใจในวัฒนธรรมไหนบ้าง

ภูมิใจในวัฒนธรรมไทยทุกอย่างเลยครับ แต่ไม่เคยภูมิใจในการหยุดนิ่งของวัฒนธรรม จริงๆ วัฒนธรรมไทย ค่อนข้างมีความผสมผสานอะไรมากมายตั้งแต่ในอดีต และเรารู้สึกภูมิใจตรงนั้น แต่ช่วงหลังมารู้สึกว่าวัฒนธรรมไทยถูกแช่แข็งเยอะ อย่างเวลาเห็นการแสดงรำในงานวันพ่อที่โรงเรียน ก็คิดว่าทำไมต้องรำเหมือนกันทุกปี ผมดูแล้วไม่ค่อยเข้าใจและไม่เห็นว่าเกิดประโยชน์ใดๆ รู้สึกว่าหากเกิดการปรับเปลี่ยนบ้าง ก็สามารถเกิดความงดงามอีกรูปแบบ เหมือนอย่างที่ คุณพิเชษฐ์ กลั่นชื่น ได้นำโขนมาประยุกต์ ผมรู้สึกว่านั่นแหละ คือการรักษาวัฒนธรรมไทย

ซึ่งวัฒนธรรมของเรามีรายละเอียดยิบย่อยมาก อย่างเรื่องเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆ ที่มีความละเอียดอ่อน แม้กระทั่งวัฒนธรรมของชาวบ้านเอง เทศกาลต่างๆ ก็มีอะไรน่าสนใจเยอะ แต่การที่เราหยุดนิ่งมันไว้ ไม่ปรับเปลี่ยน อยู่แค่ในตำรา ทำให้มันหมดเสน่ห์ในตัวลง ซึ่งผมรักและอยากจะอนุรักษ์ไว้ แต่ไม่ใช่วัฒนธรรมไทยในปัจจุบัน

จริงๆ วัฒนธรรมก็คือวิถีชีวิตของมนุษย์ ผมประทับใจในการประสานประโยชน์ นำข้อดีต่างๆ มารวมกันไว้ อย่างอาหารอินเดียที่รสรุนแรงจัด แต่ไทยก็นำมาปรับ เช่น พวกแกงกะหรี่ ก็นำมาทำให้รสชาตินุ่มขึ้น เปลี่ยนรสชาติจากอินเดียไปเลย เป็นเรื่องดีในแง่ของการหยิบยืมอะไรบางอย่างมาใช้ แล้วสามารถทำให้ดี นับเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่หากได้รับการส่งเสริมในปัจจุบัน จะทำให้เราได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นเกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น


ภูมิใจในวัฒนธรรมไทยทุกอย่าง แต่ไม่เคยภูมิใจในการหยุดนิ่งของวัฒนธรรม รู้สึกว่าหากเกิดการปรับเปลี่ยนบ้าง ก็สามารถเกิดความงดงามอีกรูปแบบ ผมรู้สึกว่านั่นแหละ คือการรักษาวัฒนธรรมไทย


 

  1. Interview: ถ้าต้องทำสารคดีบุคคลหรือบทสัมภาษณ์ หากเลือกได้ อยากสัมภาษณ์ชีวิตของใคร

อยากสัมภาษณ์ Noam Chomsky เป็นนักอักษรศาสตร์ชื่อดัง เขาเพิ่งอีเมลมาให้กำลังใจผมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ แล้วผมรู้สึกว่าเกิดคอนเนคชั่นบางอย่างขึ้นต่อกัน ท่านเป็นผู้ปฏิวัติวงการภาษาศาสตร์ และเป็นอาจารย์สอนที่ MIT สถาบันทางการศึกษาชั้นนำของโลก ได้รับเงินเดือนเยอะมาก มีชีวิตที่ดีและสบายอยู่แล้ว แต่เขาก็เลือกที่จะออกไปเดินขบวน ทำสิ่งต่างๆ เพื่อเรียกร้องสันติภาพ อย่างตอนสงครามเวียดนามที่ออกไปแต่สุดท้ายถูกจับด้วย ผมว่าชีวิตเขาน่าสนใจมาก

%d bloggers like this: