Social Issue

จ่ายเท่าไหร่ถึงจะได้ติดปีก

ปัจจุบันปฎิเสธไม่ได้ว่าอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยอัตราการเปิดรับสมัครในตำแหน่งต่อจำนวนผู้สมัครพุ่งสูงถึงสัดส่วน 1:100 แน่นอนว่าสาวๆ ทั้งหลายก็ต้องแลกมาด้วยการลงทุนตั้งแต่หลักพัน ไปจนถึงหลักแสนกว่าจะได้มาซึ่งปีกนางฟ้า

 


“เขาบอกว่าคอร์สเรียนราคาห้าหมื่น เท่ากับเงินเดือนเดือนเดียวเองนะ เพื่อนเราเอาไปบอกที่บ้านแบบนี้ สุดท้ายผู้ปกครองก็ยอมจ่าย”


หนึ่งในคำบอกเล่าจากผู้ที่มีความฝันอยากเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน แน่นอนว่าค่าคอร์สเรียนกับทางสถาบันไม่ใช่สิ่งเดียวที่เธอคนนี้ยอมจ่าย แต่ยังรวมไปถึงการลงทุนเตรียมความพร้อมในอีกหลายด้าน ที่คนมีฝันคิดว่ายังไงก็คุ้มค่ากับผลลัพธ์ที่จะตามมา

 

ธุรกิจการบินเติบโต แต่อัตราการจ้างงานลูกเรือยังไม่เพียงพอ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ธุรกิจสายการบินของไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 288,700 ล้านบาท ในปี 2561 หากสามารถแก้ไขการติดธงแดงจากองค์กรพลเรือนการบินระหว่างประเทศ (ICAO) และสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (FAA) ได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 60 ICAO ประกาศผ่านเว็บไซต์ว่า ได้ปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทยแล้ว ซึ่งจะทำให้สายการบินของไทยสามารถขอขยายจุดบิน หรือ เปิดเส้นทางบินใหม่ๆ ในต่างประเทศได้ตามปกติ ด้วยเหตุนี้หลายๆ สายการบินจึงเพิ่มอัตราการจ้างงานในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน หรือลูกเรือเพื่อให้เพียงพอกับเส้นทางบินที่จะเปิดใหม่

สายการบินแห่งชาติอย่าง การบินไทย (Thai Airways) เปิดรับสมัครจำนวนลูกเรือมากถึง 214 อัตรา ในปี 2560 นี้ และล่าสุดมีผู้สมัครถึง 2,003 คน เท่ากับว่า อัตราการแข่งขันเพื่อติดปีกกับสายการบินนี้ อยู่ที่ 1: 100 คน เลยทีเดียว ตรงกับข้อมูลของเว็บไซต์ Crew Pang เว็บรวบรวมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเปิดรับสมัครพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินในไทย ซึ่งก่อตั้งโดยกนกวรรณ กรรณิกา หรือ แป้ง อดีตพนักงานต้อนรับสายการบิน ที่ระบุว่า จำนวนผู้สมัครมักอยู่ที่ 2,000-3,000 คนต่อการสมัครในหนึ่งรอบเสมอ แต่สายการบินจะเปิดรับสมัครตำแหน่งลูกเรือรอบละไม่เกิน 30 คนโดยประมาณ

 

เมื่อความฝันและขั้นตอนการเตรียมตัวต้องมาพร้อม “เงิน”

พัชราภา ฤกษ์ฉวี หรือ ปูเปรี้ยว พนักงานต้อนรับสายการบิน Qatar Airways บอกว่าเมื่อคิดมูลค่าของการลงทุนก่อนจะติดปีกนั้น นับว่าสูงถึง 50,000 บาทเลยทีเดียว โดยเป็นค่าใช้จ่ายในขั้นตอนการพัฒนาบุคลิกภาพ หรือกรูมมิ่ง (Grooming) มากที่สุด ประมาณ 8,000 บาท ซึ่งเป็นค่าตัดชุดสูท เนื่องจากผู้สมัครต้องมีมากกว่าหนึ่งชุดเสมอเพื่อให้ตรงกับโทนสีของแต่ละสายการบิน

“แต่ว่าทำงานแค่เดือนเดียวก็ได้ห้าหมื่นแล้ว สำหรับคนที่อยากมาทำอาชีพนี้เลยไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นการลงทุนเยอะ เพราะแค่ไม่นานก็คืนทุนแล้ว” ปูเปรี้ยวกล่าว

22424196_1997592290459730_4643432008018576587_o

ค่าใช้จ่ายในการสมัครเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนแรกคือการกรอกใบสมัคร ผู้สมัครจะต้องมีผลคะแนนวัดระดับภาษาอังกฤษ (TOEIC) ซึ่งมีค่าสอบหนึ่งครั้งอยู่ที่ 1,500 บาท ต่อมาคือรูปถ่าย ซึ่งมีราคาตั้งแต่ 1,500 บาท ไปจนถึง 3,000 บาทสำหรับผู้ที่ต้องการได้รูปภาพในหลากหลายอิริยาบถ พร้อมการแต่งหน้าและทำผมจากสตูดิโอแบบครบวงจร

การพัฒนาบุคลิกภาพก็นับว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ผู้สมัครหลายคนจึงมักหมดค่าใช้จ่ายไปกับการปรับโฉมรูปลักษณ์ภายนอก ไล่ตั้งแต่การกำจดขน ไปจนถึงการดัดฟัน เช่น ค่าเลเซอร์และรักษารอยสิวบนใบหน้า ค่าเลเซอร์ขนแขนและขา เริ่มต้นที่ 5,000 บาท การดัดฟันและฟอกสีฟันขาวที่มีราคาตั้งแต่ 20,000 บาท

อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่หลายคนนิยมจ่าย คือค่าคอร์สเรียนเตรียมความพร้อมการเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เริ่มต้นที่ 20,000 บาท และคอร์สเรียนภาษาอังกฤษ เริ่มต้นที่ 5,000 บาท บางสถาบันจึงหัวใสรวมสองหลักสูตรนี้เข้าด้วยกัน ทำให้ราคาค่าเรียนพุ่งสูงถึงเกือบ 50,000 บาทต่อหนึ่งคอร์สเลยก็มี ถ้าใครที่ต้องการลงเรียนแบบครบถ้วน ทั้งคอร์สหลักสูตรติวสอบสัมภาษณ์แบบเข้มข้น คอร์สเตรียมความพร้อมเฉพาะแต่ละสายการบิน และคอร์สติวภาษาอังกฤษ ก็เตรียมเงินล่วงหน้าไว้เลยอย่างน้อย 80,000 บาท

นอกเหนือจากที่กล่าวมา ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น บางสายการบินมีการทดสอบว่ายน้ำ ดังนั้นถ้าใครว่ายน้ำไม่เป็นก็ต้องเตรียมเงินค่าคอร์สเรียนว่ายน้ำอย่างน้อย 2,000 บาท หรือถ้าอยากเพิ่มทักษะภาษาที่สามเพื่อใช้สมัครสายการบินต่างชาติก็มีค่าเล่าเรียนเริ่มต้นอยู่ที่ 8,000 บาท รวมไปถึงค่าคอร์สออกกำลังกายในกรณีที่ผู้สมัครต้องการฟิตร่างกายให้สวยทันวันสัมภาษณ์อีกกว่า 10,000 บาท สุดท้ายในกรณีที่ต้องการไปสมัครสอบนอกภูมิลำเนา เพราะบางสายการบินไม่มาเปิดรับสมัครลูกเรือที่ประเทศไทย ก็จะมีค่าใช้จ่ายสำหรับค่าที่พักและตั๋วเครื่องบินประมาณ 8,000 บาทขึ้นไป

 

การลงทุนด้านการศึกษาก็จำเป็น

คุณสมบัติที่จำเป็นของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินคือ ต้องสื่อสารภาษาอังกฤษได้ บุคคลิกภาพดี มีไหวพริบ และจิตใจรักงานบริการ นั่นคือแนวคิดของ ณัฐรินทร์ กิตติธวีพันธ์ หรือ ครูนก ผู้ก่อตั้งสถาบันพัฒนาบุคลิกภาพ Ready to Fly ครูนกกล่าวเพิ่มว่าผู้สมัครสามารถเลือกเส้นทางฝึกฝนด้วยตัวเองก็ได้ แต่การเรียนกับสถาบันก็จะช่วยให้มีความมั่นใจมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคนที่มีประสบการณ์ในชีวิตน้อย

“ส่วนใหญ่คนที่มาเรียนจะชั่วโมงบินน้อย เป็นเด็กจบใหม่ไม่ค่อยได้ทำกิจกรรม ไม่รู้ว่าจะต้องตอบคำถามหรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร สถาบันก็จะช่วยแนะนำ รวมไปถึงผู้เรียนยังได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ ที่มีความฝันเหมือนกัน” ครูนกบอก

ด้าน ปรีดาภรณ์ ชื่นกลาง หรือ ปุ๊กปิ๊ก นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ใช้เวลาร่วมปีในการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันเตรียมความพร้อมว่าที่ไหนจะคุ้มค่าต่อราคาคอร์สเรียนมากที่สุด ทั้งสืบค้นออนไลน์และสอบถามจากคนรู้จัก ค้นพบว่าสถาบันส่วนใหญ่มีจุดเด่นโดยการอ้างอิงจากประสบการณ์ของอดีตลูกเรือเพื่อดึงดูดผู้เรียน แต่สุดท้ายปุ๊กปิ๊กก็ตัดสินใจไม่สมัครเรียนกับสถาบันใดๆ เลย โดยให้เหตุผลว่าจากการที่มีคนรู้จักทำงานเป็นลูกเรือ ทำให้ได้เรียนรู้เทคนิคที่คนนอกอาจจะไม่รู้ ซึ่งเทคนิคดังกล่าวคล้ายคลึงกับที่สถาบันสอน

ด้านสถาบันอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยก็เปิดหลักสูตรเพื่อรองความต้องการผู้อยากไปประกอบอาชีพนี้หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจรายงานเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 59 ว่า ในปี 2559 มีจำนวนนักศึกษาหลักสูตรธุรกิจการบินกว่า 20,000 คนทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีเพียง 5,000 คน โดยเฉลี่ยค่าเล่าเรียนอยู่ที่ภาคการศึกษาละ 30,000-40,000 บาท

อาจารย์ธนกร นรงค์วาณิช หัวหน้าผู้ฝึกสอนหลักสูตรธุรกิจการบิน วิทยาลัยการท่องเที่ยวและการจัดการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม อธิบายว่าหลักสูตรจัดการเรียนการสอนอย่างครอบคลุม ไม่ได้เน้นเพียงอาชีพลูกเรือ แต่ยังรวมถึงอาชีพที่เกี่ยวข้องในวงการธุรกิจการบิน ทำให้เมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษาไปแล้ว สามารถต่อยอดทำอาชีพอื่นๆ ได้อีกกว่า 20 แขนง

“มีหลายคนที่สมัครเข้าเรียนมาด้วยความฝัน อยากเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินโดยตรง เราเลยต้องสอนพวกเขาด้วยประสบการณ์จริง พยายามทำให้เห็นว่าธุรกิจการบินไม่ได้มีเพียงแค่อาชีพเดียวคือลูกเรือ” อาจารย์ธนกรกล่าว

กว่าร้อยละ 30-40 ของนักศึกษาที่จบการศึกษาไปแล้วทำงานอยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมการบิน แต่มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่สานต่อความฝันได้เป็นลูกเรือ

สำหรับคนที่ต้องเริ่มจากศูนย์ ตั้งแต่สมัครสอบ TOEIC ไปจนถึงลงเรียนกับสถาบันเตรียมความพร้อมต่างๆ รวมทั้งปรับโฉมรูปลักษณ์ภายนอกและภายในตามที่กล่าวมานั้น คิดเป็นค่าใช้จ่ายสูงถึงกว่า 86,000 บาท และมูลค่าที่สูงขนาดนี้ก็ยังไม่การันตีว่าจะได้ติดปีกเสมอไป อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการลงทุนจะมีราคาเรือนหมื่นหรือแสน แต่ความนิยมของอาชีพนี้มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น เพราะโอกาสและกำไรที่ได้มา มีมูลค่าไม่น้อย

 

%d bloggers like this: