Lifestyle

180 ปี คลองแสนแสบ : ความทรงจำและการเปลี่ยนผ่านของชีวิตริมสองฝั่งคลอง

ความทรงจำและการเปลี่ยนผ่านของชีวิตริมคลองแสนแสบ

หากพูดถึงคลองแสนแสบ คนกรุงเทพฯ คงนึกถึงภาพเรือโดยสารสัญจรไปมาบนสายน้ำสีดำที่มีขยะมูลฝอยจากครัวเรือนลอยอยู่เต็มไปหมด มีกลิ่นเน่าเหม็นคละคลุ้ง ซึ่งอาจเป็นภาพจำที่หลายคนติดตามากว่า 30 ปี แต่ในปีนี้ที่คลองแสบแสบกำลังจะมีอายุครบ 180 ปี ในวันที่ 30 ธ.ค. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในชุมชนบริเวณคลองแสนแสบเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น ทั้งในเชิงคุณภาพน้ำและสภาพแวดล้อมริมสองฝั่งคลอง

เริ่มที่ชุมชนท่าเรือสะพานเจริญผล  หทัยรัตน์ เลขะสมาน แม่ค้าขายข้าวแกงวัย 70 ปี เล่าว่า เธออาศัยอยู่บริเวณนี้มากว่า 40 ปีแล้ว ด้วยคิดว่าอยู่ที่นี่แล้วสบายใจที่มีคลองไหลผ่านหน้าบ้าน เธอคิดว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือมีขยะในคลองน้อยลง แต่เรื่องกลิ่นไม่ได้ดีกว่าแต่ก่อนสักเท่าไร

“ที่พัฒนาคือขยะน้อยลง แต่ก็ยังพอมีลอยอยู่นะ มีคนมาทิ้ง เมื่อก่อนขยะเต็มไปหมดเลย เช้าขึ้นมาก็ลอย ส่วนเรื่องกลิ่นก็ยังมีอยู่ ตอนน้ำเยอะก็ไม่เป็นไรหรอก แต่พอน้อยมันก็เหม็น ช่วงนี้ฝนตกน้ำเลยไหลเวียน ถ้าฝนไม่ตกน้ำน้อยมันก็จะเหม็นเน่าเหมือนเดิม” หทัยรัตน์กล่าว

นอกจากเรื่องกลิ่นของน้ำแล้ว อีกสิ่งที่เธอต้องการให้ปรับปรุงคือ ไฟริมทางเดินริมคลองเพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้คนในท้องถิ่นมากขึ้น

“มีไฟริมทางก็ดี ให้คนเดิน ชุมชนแถวนี้ไม่มีไฟ มีแต่ไฟจากบ้านคน  ถ้าบ้านไหนไม่เปิดไฟมันก็มืด ถ้าเขาทำให้ก็ดีจะได้สบายขึ้น ถ้ามีแสงสว่างมันคงสว่างดี ทางเดินจะได้ไม่สว่างบ้างมืดบ้างแบบนี้” หทัยรัตน์เสนอแนะ

ด้าน พวงเพ็ญ จันทร์เปล่ง อายุ 60 ปี ประกอบอาชีพขายอาหารแผงลอยบริเวณชุมชนท่าเรือหัวช้าง เขตราชเทวี เห็นว่า น้ำเสียน้อยลง สังเกตได้จากสีของน้ำที่ไม่ดำเท่าแต่ก่อน และกลิ่นของน้ำที่ลดความเหม็นลง เพราะเดี๋ยวนี้มีการระบายน้ำ เอาน้ำใหม่เข้ามาแทน ระบายน้ำเสียออก แต่ที่ยังแก้ไม่หายคือ เรื่องการปล่อยน้ำเสียลงคลอง

“เดี๋ยวนี้คนไม่ค่อยทิ้งขยะเพราะมีการรณรงค์ แต่ก็มีน้ำเสียปล่อยมาจากห้างหรือโรงแรม น้ำเสียมาทิ้งลงคลองทั้งนั้นเลย มันเลยเหม็นไปหมด โดนรบกวนเยอะมากจนเป็นไซนัสกันหมดแล้ว พอน้ำเน่าก็มาโทษว่าบ้านเรือนแถวนี้ทิ้งขยะ แต่ความจริงมันมาจากท่อใหญ่ๆ ทั้งนั้น” พวงเพ็ญแสดงความเห็น

 


“เดี๋ยวนี้ปลาสะอาด ไม่เหม็น เมื่อก่อนกินไม่ได้เลย เหม็นน้ำมันเรือ เดี๋ยวนี้สะอาดขึ้นเยอะ” สำลี ยอดเกิด


 

สำลี ยอดเกิด อายุ 67 ปี ชาวชุมชนโรงเจมักกะสัน เขตราชเทวี ซึ่งเป็นชุมชนแออัดที่อยู่ติดคลองแสนแสบ เธออาศัยอยู่ในชุมชนนี้มากว่า 40 ปี และมีความเห็นว่าคุณภาพน้ำในคลองดีขึ้นมากจากเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เพราะปัจจุบันคนในชุมชนเห็นความสำคัญของคลองมากขึ้น จึงไม่ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในคลองเหมือนแต่ก่อน

“เห็นได้ชัดว่าน้ำเหม็นน้อยลงจากสองปีก่อน ขยะก็ไม่ค่อยมีลอยแล้ว มีปลาเยอะแยะ ตกปลาได้ประจำเลย ลูกชายป้าตกทุกคืน เดี๋ยวนี้ปลาสะอาด ไม่เหม็น เมื่อก่อนกินไม่ได้เลย เหม็นน้ำมันเรือ เดี๋ยวนี้สะอาดขึ้นเยอะ” สำลีกล่าว

เมื่อสอบถามถึงสิ่งที่อยากให้พัฒนา สำลีคิดว่า ต้องเพิ่มไฟริมทาง เธอบอกว่าบริเวณนี้มีคนเดินตกน้ำอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะคนต่างถิ่น เพราะเวลากลางคืนทางเดินจะมืดสนิท มองไม่เห็นจุดสิ้นสุดของทางเท้า

“ถ้าต่างชาติมาเดินเขาก็จะตกน้ำกัน มีคนญี่ปุ่นเคยตกไปแล้ว แต่ดีที่มันแคบ เขาเลยปีนขึ้นมาได้ เมื่อก่อนหลานชอบเอาสเปรย์ไปฉีดลูกศรไว้ แต่พอน้ำขึ้น ก็มองไม่เห็นแล้ว” สำลีเล่า

ส่วน เกษม แดงเมน อายุ 56 ปี  จากชุมชนมุสลิมหัวหมากคิดว่า คุณภาพน้ำในคลองไม่ได้ดีไปกว่าเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วสักเท่าไร ตอนนี้คลองแสนแสบเหมือนเป็นเพียงคลองระบายน้ำ ทำให้ปัญหาน้ำเสียยังคงอยู่

“ทุกวันนี้มันเหมือนคลองระบายน้ำ คิดว่ามีการปล่อยน้ำเสียออกมาจากท่อ ช่วงหน้าฝนน้ำก็จะดีขึ้นหน่อย แต่ช่วงอื่นน้ำก็จะขุ่นดำ ทางโรงเรียนใน กทม. ก็เอาน้ำชีวภาพมาให้นักเรียนเทอยู่บ่อยๆ แต่ก็รู้สึกว่า มันไม่ช่วยอะไรเลย” เกษมกล่าว

เกษมเล่าถึงความทรงจำวัยเด็กของเขากับคลองแสนแสบว่า เขาใช้ชีวิตอยู่กับคลองและสามารถใช้ประโยชน์จากน้ำได้ แต่ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมานี้ ชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำในคลองเพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือนได้อีกแล้ว

“สมัยลุงวัยรุ่นมันใช้ประโยชน์ได้ทุกอย่าง ทั้งซักผ้าหุงข้าว แล้วก็จะมียอยกชายคลองสองฝั่งเพราะว่าไม่มีเรือวิ่ง แต่เดี๋ยวนี้ก็ทำไม่ได้แล้ว ใครจะกินปลาก็ต้องไปหากินที่ตลาด ตกขึ้นมาก็กินไม่ค่อยได้เพราะมันไม่สะอาด” เกษมเล่า

เมื่อสอบถามถึงการพัฒนาคุณภาพน้ำ เกษมไม่คิดว่าจะพัฒนาให้กลับมาสามารถใช้อุปโภคบริโภคได้เหมือนเดิมอีก เขามองว่าความเจริญกำลังเข้ามาสู่ชุมชนหัวหมาก และต่อไปคลองแสนแสบในความทรงจำของคนบริเวณนี้อาจไม่มีเหลืออีกแล้ว

“ใจผมคิดว่า ต่อไปคลองแสนแสบคงมีถนนมอเตอร์เวย์ด้านบน ข้างล่างเป็นเรือวิ่ง มันมีโอกาสเป็นไปได้ในอีก 40-50 ปีข้างหน้า แต่ถนนข้างล่างทำยาก เพราะมันต้องใช้งบประมาณเยอะ คงจะเป็นถนนด้านบนมากกว่า แต่ผมคงไม่ทันได้เห็นหรอก” เกษมกล่าว

ถึงแม้การสร้างถนนหรือเส้นทางสัญจรทางบกขึ้นมาทดแทนคลองแสนแสบจะมีด้านดีอยู่บ้าง แต่ในมุมมองของคนที่ใช้ชีวิตอยู่กับคลองแสนแสบมาตั้งแต่เกิดอย่างเกษม กลับไม่ต้องการความเจริญที่ว่านั้น ถึงแม้จะเห็นว่าคุณภาพน้ำไม่สามารถปรับปรุงได้อีกแล้ว แต่เขาเพียงต้องการให้คลองแสนแสบกลับไปเหมือนเมื่อ 20 กว่าปีก่อน กลับคืนสู่ความเป็นชนบทในกรุงเทพฯ อีกครั้ง

%d bloggers like this: