Education

เมื่อการศึกษาไทย ต้องอยู่ภายใต้เกมการเมือง

10 ปี มีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯมาแล้ว 9 คน จะส่งผลอะไรต่อระบบการศึกษไทยบ้าง และอะไรตือปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งอยู่บ่อยครั้ง

สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เผยคะแนนสอบโอเน็ตของนักเรียนปี 2555 – 2560 ผลปรากฏว่า คะแนนเฉลี่ยห้าวิชาหลักคือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาตร์และสังคมศึกษา ล้วนไม่ถึงร้อยละ 50 ของคะแนนทั้งหมด  

ขณะที่การวัดผล PISA (Programme for International Student Assessment – โครงการประเมินผลการศึกษาของประเทศสมาชิก) ปี 2560 เด็กไทยอยู่ในลำดับที่ 55 จาก 70 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งไม่ได้ตามหลังแค่สิงคโปร์ที่อยู่ในอับดับหนึ่งของอาเซียนเท่านั้น แต่ยังตามหลังเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามอีกด้วย

นอกจากนี้คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลสำรวจจากโครงการ “Education Watch” ซึ่งวิเคราะห์ระบบการศึกษาไทยในช่วงสาม  ปีที่ผ่านมา พบว่า 1. ด้านพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน/นักศึกษา ด้อยลงร้อยละ 66 2. ความสามารถด้านวิชาการของนักเรียน/นักศึกษา ด้อยลงร้อยละ 46 3. การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารกระทรวง ด้อยลงร้อยละ 47 และ 4. ผลงานการปฏิรูปการศึกษาโดยรวม ด้อยลงร้อยละ 44

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเปลี่ยนรัฐบาลไปแล้วสามชุด เปลี่ยนรัฐมนตรีไปแล้วเก้าคน และเกือบทุกครั้งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายการศึกษาต้องหยุดชะงัก และผลการศึกษาของเด็กไทยก็ไม่ได้ดีขึ้นเท่าไรจากสถิติที่ผ่านมา เป็นที่น่าสงสัย หรือเพราะการศึกษาไทยต้องอยู่ภายใต้เกมการเมือง ?

ผศ.ดร.ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์  อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงใหญ่ มีงบประมาณมาก การเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีบ่อยครั้งเพราะมีผู้ต้องการจะเป็นรัฐมนตรีจำนวนมากและพยายามเข้ามาชิงตำแหน่ง รวมทั้งกระทรวง ศธ. มีความหลากหลายทั้งในแง่ของโครงสร้างและความคิด ส่งผลให้รัฐมนตรีเพียงคนเดียวอาจไม่สามารถรับผิดชอบหรือแก้ไขปัญหาความแตกต่างเหล่านี้ได้มากนัก นอกจากนี้ รวมถึงรัฐมนตรี ศธ. แต่ละคนก็ มีแนวทางที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดความขัดแย้งในกระทรวงและความขัดแย้งของในแนวคิดการปฏิรูปการศึกษา รวมไปถึงทำให้การดำเนินนโยบายและการปฏิรูปการศึกษาไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้

ผศ.ดร.ธนพันธ์ ยังเห็นว่า ปัจจัยทางการเมืองส่งผลอย่างมากต่อระบบการศึกษาไทย โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดนโยบาย ทั้งนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพของบุคลากรทางการศึกษา รวมไปถึงกระบวนการคัดเลือกผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากผู้ที่เป็นแกนนำของพรรคการเมือง และอาจจะไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการศึกษา

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ระบุปัจจัยที่มีผลต่อนโยบายด้านการศึกษาสามประการ ได้แก่

1. การเมืองบ้านในประเทศไทยไม่มีเสถียรภาพ มีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย อีกทั้งวัฒนธรรมทางการเมืองไทยเมื่อรัฐบาลใหม่ขึ้นมามักจะไม่ยอมรับนโยบายของรัฐบาลชุดเดิมหรือเรียกว่าล้มกระดาน ทำให้การกำหนดนโยบายในระยะยาวไม่สามารถเกิดขึ้นได้ส่งผลให้ข้าราชการประจำซึ่งต้องนำนโยบายไปปฏิบัติ เกิดความสับสน และสงสัยว่านโยบายจะมีทิศทางอย่างไรต่อไป

2. การเมืองในประเทศไทยเป็นการเมืองเอื้อผลประโยชน์ที่จับต้องได้ คือ โครงการถูกคิดขึ้นเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงกลายเป็นว่า นโยบายเหล่านั้นไม่ก่อประโยชน์ทางการศึกษา ไม่ได้นำไปพัฒนาบุคลากร หรือเนื้อหาในด้านการเรียนการสอน

3. การจัดสรรงบประมาณ จะถูกใช้ไปกับเงินเดือนและโครงการก่อสร้างเสียส่วนใหญ่ แต่งบฯ ที่นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพมี เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น แม้เงินเดือนและการก่อสร้างจะจำเป็น แต่ถ้าไม่มีการพัฒนาคุณภาพในเนื้อหาสาระ สิ่งก่อสร้างเหล่านั้นก็จะไม่มีประโยชน์

ด้าน ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์สาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า ที่ผ่านมา เมื่อพูดถึงการศึกษาของประเทศ ภาครัฐมักเน้นหรือให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการโรงเรียนเพียงอย่างเดียวไม่ได้สนใจนโยบายหรือกระบวนการต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาการทำงานของนักการเมือง รัฐมนตรี หรือข้าราชการที่เข้ามาดำเนินนโยบายในระยะสั้น และก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา กล่าวคือ นโยบายจากภาครัฐส่งถึงแค่โรงเรียนแกนนำ แต่กระจายออกไปสู่โรงเรียนรอบนอกน้อย


“นโยบายแต่เดิมเป็นนโยบายระยะสั้นมาก รัฐมนตรี ศธ. ต่างเข้ามาพร้อมกับมุมมองทางการเมืองของแต่ละคน ระยะเวลาสั้นๆ หก เดือนหรือหนึ่ง ปี  และแต่ละคนก็มีธงของตัวเอง เพราะฉะนั้นนโยบายก็ต้องเร่งเห็นผล ปัญหาบ้านเราคือนโยบายพวกนี้ไม่ค่อยกระจายตัว ไม่เคยไปถึงโรงเรียนที่เป็นส่วนใหญ่ของประเทศ  มักไปถึงแค่โรงเรียนศักยภาพ โรงเรียนแกนนำ โรงเรียนขับเคลื่อน น้อยมากเลยที่จะทดลองนวัตกรรมแล้วแจกจ่ายไปทั้งประเทศ” ผศ.อรรถพล กล่าว


 

หากเปรียบเทียบกับประเทศที่มีระบบการศึกษาที่อยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก เช่น ฟินแลนด์ กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์ บรรณาธิการหนังสือเล่ม สำนักพิมพ์ Open World และจบการศึกษาปริญญาโทจากฟินแลนด์ ให้ข้อมูลว่า ปัจจัยทางการเมืองก็ผลต่อการกำหนดนโยบายและการดำเนินงานด้านการศึกษาเช่นกัน แต่ ต่างจากไทยตรงที่เป็นผลเชิงบวก

“ในประเทศฟินแลนด์ รัฐมนตรีกระทรวง ศธ. เปลี่ยนไม่บ่อยนัก เพราะการเมืองมีเสถียรภาพสูงมาก ทำให้มีการจัดทำนโยบายระยะยาวเสียส่วนใหญ่ และมีการส่งต่อนโยบายกันระหว่างผลัดเปลี่ยนรัฐบาล ยิ่งไปกว่านั้นการศึกษาของฟินแลนด์ คือ การเตรียมคนให้ไปมีส่วนร่วมในการสร้างสังคม พลเมืองช่วยเหลือกัน  เป็นสังคมไม่ทอดทิ้งกัน  และเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองหรือหน่วยงานอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมได้อีกด้วย”  กัญญ์ชลา กล่าว

ผศ.อรรถพล เสนอแนะว่า ในการดำเนินนโยบายด้านการศึกษา ควรเปิดโอกาสให้หลายภาคส่วนเข้ามามีบทบาทและต้องเกิดการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมทั้งการเข้าไปรับรู้ถึงปัญหาที่แท้จริงของแต่ละโรงเรียน เพราะแต่ละที่มีปัญหาไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ควรหาวิธีการว่าทำอย่างไรจะกระจายอำนาจสั่งการไปยังระดับภูมิภาคได้บ้าง  

เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย นักวิชาการด้านครุศาสตร์ชี้ว่า หากภาครัฐยังคงมองโรงเรียนเป็นเพียงทางผ่านเช่นนี้ต่อไป การปฏิรูปการศึกษาก็จะไม่ประสบความสำเร็จและยังคงย่ำอยู่ที่เดิม

“การนำไปสู่การศึกษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะต้องไม่ใช่คนเดียวที่จะแก้ปัญหา ต้องมีการวางแผน พัฒนาด้านการศึกษาร่วมกันให้ยั่งยืน และ สื่อทั้งหลายต้องไม่รายงานข่าวการศึกษาที่ผลิตซ้ำแต่ความหมดหวัง มองให้เห็นว่าปัญหาลึกๆ คืออะไร

เราดูประเทศอื่นเป็นแรงบันดาลใจได้ แต่อย่าไปเอามาเป็นโมเดล เพราะไม่มีประเทศไหนเหมือนกัน แต่สิ่งที่ต้องถอดออกมาให้ได้คือ เขาทำสำเร็จได้ด้วยภายใต้เงื่อนไขอะไร เช่น เขาสร้างวิสัยทัศน์เรื่องการศึกาษาร่วมกันได้ และมองว่า นี่คือปัญหาร่วมกัน” ผศ.อรรถพล กล่าว

 

%d bloggers like this: