“อันตัวเรานั่นคือทศกัณฐ์
พระราชาแห่งกรุงลงกา
เอิงเงิงเงยไม่เก่งภาษา
เจรจา ให้ไพเราะ เท่าไรนัก
ข้าไม่เคยจะร้องเพลงแร็พหรือรู้จัก
ข้าไม่เคยจะร้องเพลงร็อคถ้าจะรัก
ร้องเป็นเพียงก็แต่จะเอิงเงิงเงย
ที่เธออาจมองดูว่ามันเชย”
ส่วนหนึ่งจากเพลง “หัวใจทศกัณฐ์” โดย เก่ง ธชย ft.ทศกัณฐ์
จากเนื้อเพลงข้างต้นอาจเห็นได้ว่าผู้แต่งเปรียบเทียบทศกัณฐ์เป็นตัวแทนของความเก่า ความเชย ความยึดติดกับอะไรเดิมๆ ส่งผลให้ “เธอ” เฉยเมยไม่เหลียวแล
และถ้าลองนำมาตีความต่อ อาจจะพบว่า “เธอ” ในบทเพลง สอดคล้องกับบริบทของ “เหล่าคนรุ่นใหม่” ที่ชื่นชอบความทันสมัยการร้องเอื้อนแบบไทยเดิมจึงไม่สามารถดึงดูดใจของพวกเขาได้อีกต่อไป ถ้าทศกัณฐ์ไม่ปรับตัว ดึงดันที่จะร้องเอื้อนแบบดั้งเดิมก็ดูจะไม่มีวันมัดหัวใจของพวกเขาได้ ชะตากรรมของทศกัณฐ์ก็ดูจะต้องประสบกับความเจ็บปวดเหมือนดั่งเนื้อหาในบทเพลงอยู่ร่ำไป
แต่บางที สาเหตุที่ทศกัณฐ์ต้องรู้สึกเศร้าใจ อาจไม่ได้เป็นเพราะทศกัณฐ์ไม่ยอมปรับตัว แต่เป็นเพราะทศกัณฐ์ไม่ได้รับอนุญาตให้ก้าวลงจากหิ้งเพื่อมาสื่อสารทักทายกับคนรุ่นใหม่ตั้งแต่แรกแล้วหรือเปล่า
เมื่อปีที่แล้ว เที่ยวไทยมีเฮ มิวสิควิดีโอโปรโมทการท่องเที่ยวประเทศไทย ถูกผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า ผู้จัดทำนำเสนอตัวละครทศกัณฐ์ ซึ่งถือเป็นตัวละครในวรรณคดีที่มีความสง่างาม น่าเกรงขาม อีกทั้งเป็นราชาแห่งยักษ์ทั้งปวงออกมาได้ไม่เหมาะสม เช่น การนำพญายักษ์มาหยอดขนมครก ขับโกคาร์ท ถ่ายเซลฟี่ หรือขี่บั้งไฟ
ทศกัณฐ์สูงส่งเกินกว่าจะมาหยอดขนมครก ขับโกคาร์ท ถ่ายเซลฟี่?
ส่วนกลางปีที่ผ่านมานี้ อาจารย์สรพล ถีระวงษ์ กรรมการกลุ่มมรดกสยาม ก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เครื่องแต่งกายของศิลปินมือรางวัล เก่ง ธชย ประทุมวรรณ และกลุ่มนักดนตรี ที่ใส่ไปโชว์ในงาน Asia Music Festival 2017 ที่เมืองฮามามัตสึ ประเทศญี่ปุ่นว่า “ผิดรูปแบบ” โดยมองว่าการแต่งตัวของเก่ง ธชย มีลวดลายที่แสดงความเป็นไทยไม่ชัดเจน ส่วนการแต่งกายของกลุ่มนักดนตรีนั้น เขามองว่ามันดูผิดแบบและเป็นการนำเอาแนวความคิดการแต่งกายของชาติอื่นมาทำให้เด่นเกินกว่าไทย
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนำไปสู่คำถามที่ว่า อะไรคือมาตรวัดความเป็นไทยที่ถูกต้องเหมาะสม คนธรรมดาอย่างเราๆ สามารถเอาวัฒนธรรมลงมาจากหิ้งได้มากน้อยแค่ไหนกันแน่
สิทธิชัย จูอี้ นักเขียนอิสระที่ศึกษาเรื่องตำนานปรัมปราและวรรณคดีของไทย เห็นว่า แท้จริงแล้วการนำเอาวัฒนธรรมลงมาจากหิ้งนั้นเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ไม่ได้ผิดหลักการใดๆ เพราะ “นาฏยศาสตร์” ซึ่งเป็นรากฐานของ “นาฏศิลป์” มีจุดเริ่มต้นมาจากการแหวกขนบธรรมเนียมดั้งเดิมและดัดแปลงต่อยอด เพื่อให้องค์ความรู้ประการต่างๆ เข้าถึงผู้คนมาตั้งแต่แรกแล้ว

“ในหนังสือ นาฏยเวท ที่เขียนโดย พ่อแก่ (ภรตมุนี) ครูอาจารย์ที่เป็นที่นับถือสูงสุดของวงการนาฎศิลป์ได้เขียนบอกไว้ว่า พระพรหมรู้สึกว่าหลักคำสอนในพระเวทนั้น คนวรรณะศูทรไม่สามารถเข้าถึงได้ ท่านจึงได้ดัดแปลงและผสมผสานพระเวท 4 เล่มแรกให้ออกมาเป็น ‘นาฎย’ วิชาที่จะสามารถเข้าถึงคได้ทุกชนชั้น แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงมนุษย์ได้ พระพรหมจึงต้องนำ ‘นาฎย’ หรือ พระเวทฉบับดัดแปลงนี้ให้พ่อแก่แก้ไขปรับปรุงอีกทอดหนึ่ง จึงจะสามารถเข้าถึงผู้คนได้” สิทธิชัยอธิบาย
นักเขียนอิสระ กล่าวต่อว่า เจตจำนงหลักของเทพเจ้านั้น ต้องการให้ “นาฏศิลป์” เป็นสิ่งที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้ในทุกชนชั้นดังนั้นนาฏศิลป์จึงไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ หรือต้องเทิดทูนบูชาเอาไว้บนหิ้งเท่านั้น
การอุ้มชูส่งเสริมให้วัฒนธรรมอยู่แต่บนหิ้งนั้นนอกจากจะสร้างผลกระทบต่อผู้คนที่ทำงานในวงการดนตรีและมิวสิควิดีโอแล้ว ยังมีผลกระทบต่อผู้ที่ทำงานในวงการภาพยนตร์อีกด้วย
อธิษฐาน อินทเคหะ ผู้อำนวยการสร้างโครงการภาพยนตร์เรื่อง Teen ยักษ์ ที่นำความเป็นยักษ์แบบไทยๆ มาตีความใหม่โดยเล่าเรื่องราวผ่านเด็กวัยรุ่น ผู้มีสายเลือดเป็นลูกครึ่งยักษ์ที่มีพฤติกรรมคล้ายเด็กวัยรุ่นทั่วไป คือชอบใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์ เล่นเกมคอมพิวเตอร์ และขี่มอเตอร์ไซค์ ตัวอย่างภาพยนตร์ฉบับทดลองที่ออกอากาศทางสื่อสังคมออนไลน์ในปีที่ผ่านมา มียอดชมในเพจเฟซบุ๊กมากถึง 812,582 ครั้ง และมียอดแชร์สูงถึง 10,441 ครั้ง แต่ถึงกระนั้นโครงการนี้ก็ยังไม่มีสตูดิโอไหนให้ทุนสร้างเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวขึ้นมาจริงๆ
อธิษฐานกล่าวว่า นอกจากภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นแนวทางที่สตูดิโอในไทยไม่คุ้นเคยและใช้งบประมาณสูงแล้ว ประเด็นการนำวัฒนธรรมลงจากหิ้งก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เธอคาดว่ามีส่วนทำให้สตูดิโอต่างๆ ไม่กล้าเข้ามาลงทุน แต่เธอยังยืนยันว่า โครงการนี้ยังไม่ได้ยุติลง และยังคงเดินหน้าพัฒนากันต่อไป
“รัฐบาลหรือกระทรวงวัฒนธรรมไม่จำเป็นต้องเข้ามาให้การสนับสนุนก็ได้ แต่อยากให้ทุกคนเปิดใจเพราะเราทำมันด้วยเจตนาที่ดีเราต้องการดึงศิลปวัฒนธรรมที่มันจะตายอยู่บนหิ้งให้ลงมาอยู่กับวัยรุ่น ทำให้พวกเขารู้สึกว่าวัฒนธรรมไทยมันเป็นเรื่องเท่ มันพูดภาษาเดียวกับเขา สามารถจับต้องได้ ไม่ได้มีไว้แค่ให้มองเพื่อความสวยงามเพียงอย่างเดียว” อธิษฐาน กล่าว
“ถ้าถามว่าสิ่งที่ทำอยู่ มันสามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้จริงไหม บอกเลยว่าเข้าถึง เพราะผู้คนที่เข้ามาไลก์และคอมเมนต์ตัวอย่างหนังนั้น 90% เป็นคนรุ่นใหม่ มีตั้งแต่เด็กประถมไปจนถึงวัยรุ่นที่เพิ่งเรียนจบใหม่ๆ ความน่ารักคือมีผู้ใหญ่ในวัย 30-40 ปีเข้ามาให้กำลังใจในเพจด้วย” ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์กล่าว
สอดคล้องกับแนวคิดของ ขจิตธรรม พาทยกุล ทายาทศิลปินแห่งชาติ เจ้าของกิจการโรงเรียนดนตรีและนาฏศิลป์ “พาทยกุล” ผู้คิดค้น Thai Fit การออกกำลังกายแนวใหม่ที่นำเอานาฏศิลป์ การรำพื้นบ้าน และศิลปะการป้องกันตัวของไทยมาประยุกต์เป็นการออกกำลังกาย เธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในเว็บไซต์เจาะใจออนไลน์เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2560 ว่าการเอาวัฒนธรรมลงจากหิ้งมาผสมผสานกับวิถีชีวิตประจำวันนั้นไม่ได้เป็นการทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิม แต่เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยที่ได้ประโยชน์ ไม่ใช่การแค่อนุรักษ์
ให้คงอยู่บนหิ้งสืบไปเท่านั้น
ขจิตธรรม กล่าวว่า การนำวัฒนธรรมดั้งเดิมมาประยุกต์ต่อยอดนั้น คือการสร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมา ไม่ได้เป็นการทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิม “สิ่งใหม่ไม่จำเป็นต้องทำลายสิ่งเก่า Thai fit ไม่ได้เป็นนาฏศิลป์ดั้งเดิม แต่มันคือการพัฒนาต่อยอดจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษ ไม่มีใครทำลายกันและกัน สิ่งที่เราภูมิใจมากจากการทำ Thai fit คือคนที่มาร่วมคลาสบอกเราว่าอยากไปเรียนรำไทยจริงๆ นี่แหละ มันคือสะพานที่เชื่อมต่อให้คนทั่วไปที่แค่อยากลองออกกำลังกายแบบใหม่ในตอนแรกแล้วเกิดความสนุก จนอยากเรียนรำจริงๆ” ผู้คิดค้น Thai Fit บอก
“เราว่ามันออกจะใจแคบเกินไปกับการที่จะคิดว่าสิ่งใหม่จะต้องมาทำลายสิ่งเก่า ไม่ใช่แค่นาฏศิลป์ไทย แต่คือทุกอย่างในสังคมมันคือการปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนไป” ขจิตธรรมกล่าว
Like this:
Like Loading...
“อันตัวเรานั่นคือทศกัณฐ์
พระราชาแห่งกรุงลงกา
เอิงเงิงเงยไม่เก่งภาษา
เจรจา ให้ไพเราะ เท่าไรนัก
ข้าไม่เคยจะร้องเพลงแร็พหรือรู้จัก
ข้าไม่เคยจะร้องเพลงร็อคถ้าจะรัก
ร้องเป็นเพียงก็แต่จะเอิงเงิงเงย
ที่เธออาจมองดูว่ามันเชย”
ส่วนหนึ่งจากเพลง “หัวใจทศกัณฐ์” โดย เก่ง ธชย ft.ทศกัณฐ์
จากเนื้อเพลงข้างต้นอาจเห็นได้ว่าผู้แต่งเปรียบเทียบทศกัณฐ์เป็นตัวแทนของความเก่า ความเชย ความยึดติดกับอะไรเดิมๆ ส่งผลให้ “เธอ” เฉยเมยไม่เหลียวแล
และถ้าลองนำมาตีความต่อ อาจจะพบว่า “เธอ” ในบทเพลง สอดคล้องกับบริบทของ “เหล่าคนรุ่นใหม่” ที่ชื่นชอบความทันสมัยการร้องเอื้อนแบบไทยเดิมจึงไม่สามารถดึงดูดใจของพวกเขาได้อีกต่อไป ถ้าทศกัณฐ์ไม่ปรับตัว ดึงดันที่จะร้องเอื้อนแบบดั้งเดิมก็ดูจะไม่มีวันมัดหัวใจของพวกเขาได้ ชะตากรรมของทศกัณฐ์ก็ดูจะต้องประสบกับความเจ็บปวดเหมือนดั่งเนื้อหาในบทเพลงอยู่ร่ำไป
แต่บางที สาเหตุที่ทศกัณฐ์ต้องรู้สึกเศร้าใจ อาจไม่ได้เป็นเพราะทศกัณฐ์ไม่ยอมปรับตัว แต่เป็นเพราะทศกัณฐ์ไม่ได้รับอนุญาตให้ก้าวลงจากหิ้งเพื่อมาสื่อสารทักทายกับคนรุ่นใหม่ตั้งแต่แรกแล้วหรือเปล่า
เมื่อปีที่แล้ว เที่ยวไทยมีเฮ มิวสิควิดีโอโปรโมทการท่องเที่ยวประเทศไทย ถูกผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า ผู้จัดทำนำเสนอตัวละครทศกัณฐ์ ซึ่งถือเป็นตัวละครในวรรณคดีที่มีความสง่างาม น่าเกรงขาม อีกทั้งเป็นราชาแห่งยักษ์ทั้งปวงออกมาได้ไม่เหมาะสม เช่น การนำพญายักษ์มาหยอดขนมครก ขับโกคาร์ท ถ่ายเซลฟี่ หรือขี่บั้งไฟ
ทศกัณฐ์สูงส่งเกินกว่าจะมาหยอดขนมครก ขับโกคาร์ท ถ่ายเซลฟี่?
ส่วนกลางปีที่ผ่านมานี้ อาจารย์สรพล ถีระวงษ์ กรรมการกลุ่มมรดกสยาม ก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เครื่องแต่งกายของศิลปินมือรางวัล เก่ง ธชย ประทุมวรรณ และกลุ่มนักดนตรี ที่ใส่ไปโชว์ในงาน Asia Music Festival 2017 ที่เมืองฮามามัตสึ ประเทศญี่ปุ่นว่า “ผิดรูปแบบ” โดยมองว่าการแต่งตัวของเก่ง ธชย มีลวดลายที่แสดงความเป็นไทยไม่ชัดเจน ส่วนการแต่งกายของกลุ่มนักดนตรีนั้น เขามองว่ามันดูผิดแบบและเป็นการนำเอาแนวความคิดการแต่งกายของชาติอื่นมาทำให้เด่นเกินกว่าไทย
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนำไปสู่คำถามที่ว่า อะไรคือมาตรวัดความเป็นไทยที่ถูกต้องเหมาะสม คนธรรมดาอย่างเราๆ สามารถเอาวัฒนธรรมลงมาจากหิ้งได้มากน้อยแค่ไหนกันแน่
สิทธิชัย จูอี้ นักเขียนอิสระที่ศึกษาเรื่องตำนานปรัมปราและวรรณคดีของไทย เห็นว่า แท้จริงแล้วการนำเอาวัฒนธรรมลงมาจากหิ้งนั้นเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ไม่ได้ผิดหลักการใดๆ เพราะ “นาฏยศาสตร์” ซึ่งเป็นรากฐานของ “นาฏศิลป์” มีจุดเริ่มต้นมาจากการแหวกขนบธรรมเนียมดั้งเดิมและดัดแปลงต่อยอด เพื่อให้องค์ความรู้ประการต่างๆ เข้าถึงผู้คนมาตั้งแต่แรกแล้ว
“ในหนังสือ นาฏยเวท ที่เขียนโดย พ่อแก่ (ภรตมุนี) ครูอาจารย์ที่เป็นที่นับถือสูงสุดของวงการนาฎศิลป์ได้เขียนบอกไว้ว่า พระพรหมรู้สึกว่าหลักคำสอนในพระเวทนั้น คนวรรณะศูทรไม่สามารถเข้าถึงได้ ท่านจึงได้ดัดแปลงและผสมผสานพระเวท 4 เล่มแรกให้ออกมาเป็น ‘นาฎย’ วิชาที่จะสามารถเข้าถึงคได้ทุกชนชั้น แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงมนุษย์ได้ พระพรหมจึงต้องนำ ‘นาฎย’ หรือ พระเวทฉบับดัดแปลงนี้ให้พ่อแก่แก้ไขปรับปรุงอีกทอดหนึ่ง จึงจะสามารถเข้าถึงผู้คนได้” สิทธิชัยอธิบาย
นักเขียนอิสระ กล่าวต่อว่า เจตจำนงหลักของเทพเจ้านั้น ต้องการให้ “นาฏศิลป์” เป็นสิ่งที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้ในทุกชนชั้นดังนั้นนาฏศิลป์จึงไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ หรือต้องเทิดทูนบูชาเอาไว้บนหิ้งเท่านั้น
การอุ้มชูส่งเสริมให้วัฒนธรรมอยู่แต่บนหิ้งนั้นนอกจากจะสร้างผลกระทบต่อผู้คนที่ทำงานในวงการดนตรีและมิวสิควิดีโอแล้ว ยังมีผลกระทบต่อผู้ที่ทำงานในวงการภาพยนตร์อีกด้วย
อธิษฐาน อินทเคหะ ผู้อำนวยการสร้างโครงการภาพยนตร์เรื่อง Teen ยักษ์ ที่นำความเป็นยักษ์แบบไทยๆ มาตีความใหม่โดยเล่าเรื่องราวผ่านเด็กวัยรุ่น ผู้มีสายเลือดเป็นลูกครึ่งยักษ์ที่มีพฤติกรรมคล้ายเด็กวัยรุ่นทั่วไป คือชอบใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์ เล่นเกมคอมพิวเตอร์ และขี่มอเตอร์ไซค์ ตัวอย่างภาพยนตร์ฉบับทดลองที่ออกอากาศทางสื่อสังคมออนไลน์ในปีที่ผ่านมา มียอดชมในเพจเฟซบุ๊กมากถึง 812,582 ครั้ง และมียอดแชร์สูงถึง 10,441 ครั้ง แต่ถึงกระนั้นโครงการนี้ก็ยังไม่มีสตูดิโอไหนให้ทุนสร้างเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวขึ้นมาจริงๆ
อธิษฐานกล่าวว่า นอกจากภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นแนวทางที่สตูดิโอในไทยไม่คุ้นเคยและใช้งบประมาณสูงแล้ว ประเด็นการนำวัฒนธรรมลงจากหิ้งก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เธอคาดว่ามีส่วนทำให้สตูดิโอต่างๆ ไม่กล้าเข้ามาลงทุน แต่เธอยังยืนยันว่า โครงการนี้ยังไม่ได้ยุติลง และยังคงเดินหน้าพัฒนากันต่อไป
“รัฐบาลหรือกระทรวงวัฒนธรรมไม่จำเป็นต้องเข้ามาให้การสนับสนุนก็ได้ แต่อยากให้ทุกคนเปิดใจเพราะเราทำมันด้วยเจตนาที่ดีเราต้องการดึงศิลปวัฒนธรรมที่มันจะตายอยู่บนหิ้งให้ลงมาอยู่กับวัยรุ่น ทำให้พวกเขารู้สึกว่าวัฒนธรรมไทยมันเป็นเรื่องเท่ มันพูดภาษาเดียวกับเขา สามารถจับต้องได้ ไม่ได้มีไว้แค่ให้มองเพื่อความสวยงามเพียงอย่างเดียว” อธิษฐาน กล่าว
“ถ้าถามว่าสิ่งที่ทำอยู่ มันสามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้จริงไหม บอกเลยว่าเข้าถึง เพราะผู้คนที่เข้ามาไลก์และคอมเมนต์ตัวอย่างหนังนั้น 90% เป็นคนรุ่นใหม่ มีตั้งแต่เด็กประถมไปจนถึงวัยรุ่นที่เพิ่งเรียนจบใหม่ๆ ความน่ารักคือมีผู้ใหญ่ในวัย 30-40 ปีเข้ามาให้กำลังใจในเพจด้วย” ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์กล่าว
สอดคล้องกับแนวคิดของ ขจิตธรรม พาทยกุล ทายาทศิลปินแห่งชาติ เจ้าของกิจการโรงเรียนดนตรีและนาฏศิลป์ “พาทยกุล” ผู้คิดค้น Thai Fit การออกกำลังกายแนวใหม่ที่นำเอานาฏศิลป์ การรำพื้นบ้าน และศิลปะการป้องกันตัวของไทยมาประยุกต์เป็นการออกกำลังกาย เธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในเว็บไซต์เจาะใจออนไลน์เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2560 ว่าการเอาวัฒนธรรมลงจากหิ้งมาผสมผสานกับวิถีชีวิตประจำวันนั้นไม่ได้เป็นการทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิม แต่เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยที่ได้ประโยชน์ ไม่ใช่การแค่อนุรักษ์
ให้คงอยู่บนหิ้งสืบไปเท่านั้น
ขจิตธรรม กล่าวว่า การนำวัฒนธรรมดั้งเดิมมาประยุกต์ต่อยอดนั้น คือการสร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมา ไม่ได้เป็นการทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิม “สิ่งใหม่ไม่จำเป็นต้องทำลายสิ่งเก่า Thai fit ไม่ได้เป็นนาฏศิลป์ดั้งเดิม แต่มันคือการพัฒนาต่อยอดจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษ ไม่มีใครทำลายกันและกัน สิ่งที่เราภูมิใจมากจากการทำ Thai fit คือคนที่มาร่วมคลาสบอกเราว่าอยากไปเรียนรำไทยจริงๆ นี่แหละ มันคือสะพานที่เชื่อมต่อให้คนทั่วไปที่แค่อยากลองออกกำลังกายแบบใหม่ในตอนแรกแล้วเกิดความสนุก จนอยากเรียนรำจริงๆ” ผู้คิดค้น Thai Fit บอก
“เราว่ามันออกจะใจแคบเกินไปกับการที่จะคิดว่าสิ่งใหม่จะต้องมาทำลายสิ่งเก่า ไม่ใช่แค่นาฏศิลป์ไทย แต่คือทุกอย่างในสังคมมันคือการปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนไป” ขจิตธรรมกล่าว
Share this:
Like this: