Travel

แม่กลางหลวง: รักษ์ไว้.. ใต้ม่านหมอก

หากปลายทางแห่งการท่องเที่ยว.. คือหนทางสู่การอนุรักษ์ ประสบการณ์ที่ได้รับ อาจแตกต่างไปจากโลกใบเดิมที่เคยมองเห็น

1-2


แสงแดดถูกบดบังไว้ภายใต้ก้อนเมฆสีเทาทันทีที่เราก้าวขึ้นรถสองแถวสีเหลืองสะดุดตาในอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ปลายทางสู่บ้านแม่กลางหลวงที่อยู่ถัดออกไปราวหนึ่งชั่วโมง


 

รถคันเล็กจุคนจนเต็มคันจากทุกช่วงวัย ทว่าน้อยคนนักที่เป็นนักท่องเที่ยวแบบเดียวกันกับฉันและเพื่อน ส่วนใหญ่ดูเป็นคนท้องถิ่นที่สองมือถือถุงของซึ่งซื้อมาจากในเมืองเสียมากกว่า เบื้องหน้าเป็นเด็กหญิงตัวน้อยวัยไม่เกินสามขวบกำลังหยอกล้อกับผู้เป็นแม่ด้วยใบหน้าเปื้อนรอยยิ้ม แม้รถจะแน่นเอี๊ยดเสียจนอึดอัดก็ตาม ในตอนนั้นฉันตัดสินใจถอดหูฟังออก แล้วปล่อยให้เสียงลมแปรเปลี่ยนเป็นเสียงเพลง ในยามที่มองละอองฝนโปรยปรายนอกรถ สู่จุดหมายคือหลักกิโลเมตรที่ 26 ที่หมู่บ้านแม่กลางหลวง

ฉันได้ยินชื่อแม่กลางหลวงครั้งแรกจากเว็บไซต์แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว และถูกดึงดูดไว้ด้วยการนิยามท้ายชื่อว่า ‘แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์’ มันเป็นคำแปลกตาที่ชวนให้ตั้งคำถามว่าการท่องเที่ยวกับการอนุรักษ์จะเป็นสิ่งที่อยู่ด้วยกันได้อย่างไร และนั่นคือเหตุผลที่พวกเราตัดสินใจเดินทาง

“เราจะมีข้าวให้ซื้อใช่ไหมวินนี่” นั่นคือคำพูดแรกที่ฉันเอ่ยถามเพื่อนทันทีที่ภาพทุ่งนาขั้นบันไดกว้างปรากฏในสายตา ยืนยันว่าเรามาถูกจุดหมายด้วยป้ายสีขาวเขียนข้อความ “ยินดีต้อนรับสู่หมู่บ้านแม่กลางหลวง”  แน่นอนว่ามองจากหน้าหมู่บ้านแบบนี้ ฉันจินตนาการไม่ออกจริงๆ ว่าชีวิตเบื้องล่างทางทอดยาวนั้นจะเป็นอย่างไร

เราเดินจากจุดจอดรถไม่ไกลเท่าไหร่ ภาพแห่งชีวิตก็เริ่มเด่นชัด เริ่มต้นจากร้านขายของชำและร้านอาหารตามสั่งให้เราได้ฝากท้อง เบื้องหลังร้านเป็นภูเขาเขียวขจีสูงใหญ่ เคียงกับลำธารใสด้านล่าง เราใช้เวลาที่นั่นไม่นานก็เดินเท้าต่อไปยังที่พัก ‘อินทนนท์ คีรีมายา’ และทันทีที่เราวางกระเป๋าลงพร้อมกับหยิบสมุดออกมานั่งขีดเขียนอยู่บนโต๊ะหน้าบ้าน ความผ่อนคลายก็พลันปรากฏขึ้นชัดในหัวใจ ด้วยฝีมือของทุ่งหญ้าสีเขียวอ่อน ตัดกับท้องฟ้าสีเทาที่กำลังส่งละอองฝนเม็ดเล็กๆ ให้โอบอุ้มความเย็นมาสู่หมู่บ้าน

ความเขียวขจีกับเสียงของสรรพสัตว์ที่กำลังแข่งกันร้องในตอนนี้ คงเป็นเอกลักษณ์สำคัญของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวผู้หลีกหนีจากความวุ่นวายในเมืองหลวงได้เดินทางมาตามหาความสงบซึ่งหวังว่าจะถูกซ่อนไว้ภายใต้แมกไม้สีเขียว..

ฉันรอให้ฝนหยุดตกสักพัก ก่อนเริ่มต้นเดินสำรวจหมู่บ้าน จุดหมายแรกคือศาลากาแฟของน้าสมศักดิ์ คีรีภูมิทอง — ชาวปกาเกอะญอผู้มีชื่อเสียงแห่งบ้านแม่กลางหลวง หวังจะได้พูดคุยกับเจ้าของศาลากาแฟซึ่งมีเอกลักษณ์คือช็อตกาแฟสดของที่นี่ไม่มีการขาย แต่ให้ผู้มาเยือนได้ชิมกันฟรีๆ ทว่ากลับต้องผิดหวังเมื่อชาวบ้านที่นั่งอยู่ในศาลาบอกว่าน้าสมศักดิ์ไปทำธุระในเมือง

 

5

 

ฉันเริ่มวันใหม่ด้วยสัมผัสหนาวเย็นประกอบภาพแสงอาทิตย์ในยามเช้าที่ฉายชัดต่างจากเมื่อวาน พวกเราตัดสินใจใช้เช้าวันใหม่ที่ร้านกาแฟแม่กลางหลวง ฮิลล์ ซึ่งตั้งอยู่บนเนินสูงไม่ไกลจากที่พักเท่าไหร่นัก — แสงทองจากท้องฟ้าใสกำลังย้อมทุ่งข้าวเขียวอ่อน ชวนให้เราต้องหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูปกันอย่างไม่รู้จักเบื่อ เช่นเดียวกันกับกลุ่มนักท่องเที่ยวผู้สะพายกล้องตัวใหญ่

ตรงนั้นเองที่บทสนทนาของฉันกับ พี่ตุ๋ย  พงษ์วรรณ ศุขโภคานัก นักท่องเที่ยวจากกรุงเทพมหานครเริ่มต้นขึ้น พี่ตุ๋ยเล่าว่าเขาและเพื่อนกำลังจะเดินทางขึ้นสู่ป่าบงเปียง แต่อย่างไรก็ตามเขาต้องหยุดพักที่บ้านแม่กลางหลวงแห่งนี้เสียก่อน หลังจากเคยมาเยี่ยมเยียนแล้ว 3 ครั้งในเวลา 4 ปี

“ด้วยความที่ชอบถ่ายรูป ก็จะวางแพลนไว้ตลอด ตรงไหนเป็นหมู่บ้านปกาเกอะญอก็จะเข้าไปถ่ายรูปวิถีชีวิต  ระยะเวลาสี่ปีที่ผ่านมาที่นี่เองก็เปลี่ยนแปลงไปเยอะ ผมเห็นบ้านขึ้นใหม่ ตรงนาขั้นบันไดก็มีบ้านไปปลูก มันมีความรู้สึกว่ามันโดนรุกในจุดขายและที่สวยงาม..

“จริง ๆ นักท่องเที่ยวมีอยู่สองแบบ จะมีแบบที่เดินไปเรื่อยๆ รักธรรมชาติจริงๆ อยากอนุรักษ์ไว้ ให้คนรุ่นหลังได้ดู กับบางส่วนที่มาเที่ยวแล้วทิ้งซากไว้” พี่ตุ๋ยบอก

เราพูดคุยกันต่อไม่นาน ก็ต่างแยกย้ายไปสู่จุดหมายใหม่ของกันและกัน ฉันเลือกเดินทางกลับไปยังศาลากาแฟของน้าสมศักดิ์ หวังจะได้หาคำตอบที่ว่าการเปลี่ยนหมู่บ้านให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวในสายตาของชาวบ้านครั้งนี้คือการบุกรุกหรือไม่.. แต่เหมือนโชคชะไม่เข้าข้างเท่าไรนัก เพราะน้าสมศักดิ์กำลังลงไปร่วมงานเกษียณอายุคุณครูที่โรงเรียน

ฉันทิ้งตัวลงนั่งแล้วขอเด็กๆ ซึ่งกำลังทานแตงร้านถ่ายรูปโพลารอยด์ เหล่าเด็กหญิงต่างตื่นเต้นกันเสียยกใหญ่เมื่อภาพถูกพิมพ์ออกมาอย่างทันท่วงที “หนูขออันหนึ่งได้มั้ยคะ” หนึ่งในเด็กหญิงเอ่ยขอพร้อมรอยยิ้ม ฉันจึงยกภาพรวมให้เธอไปหนึ่งใบ ก่อนได้รับสิ่งตอบแทนมาเป็นคำเชิญชวน “พี่อยากไปโรงเรียนกับพวกหนูไหมคะ?”

พวกเราตอบตกลงอย่างไม่ลังเล แล้วปล่อยให้ นุ้ย พอลลีน น้ำ และน้ำฝนพาเราเดินทางสู่โรงเรียน เด็ก ๆ เล่าให้ฟังว่าที่หมู่บ้านมีโรงเรียนทั้งหมดสามโรงเรียน คือศูนย์เด็กเล็ก คอยดูแลเด็กๆ วัยอนุบาล  โรงเรียนสพฐ. เปิดสอนสำหรับเด็กๆ ชั้นประถม และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ซึ่งมีเด็กจากหมู่บ้านอื่นมาเรียนด้วย

ตลอดทางฉันเห็นภาพบ้านไม้ยกใต้ถุนสูงซึ่งเป็นบ้านแบบดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอ ขณะเดียวกันก็พบว่าคนในหมู่บ้านนี้ได้ผสมผสานวิถีปกาเกอะญอกับวิถีชีวิตของคนเมืองในปี 2560 ด้วยเสื้อผ้าที่มีทั้งกางเกงยีนส์ทันสมัย เข้ากันดีกับผ้าทอมืออันเป็นเอกลักษณ์ ไม่นานไกด์จำเป็นของพวกเรากระโดดโลดเต้นอยู่บนยางรถยนต์หน้าโรงเรียนซึ่งถูกแปรสภาพมาเป็นของเล่นสีสันสวยงาม ปล่อยให้เราได้เดินเข้าไปยังอาคารศูนย์เด็กเล็ก และเจอคุณครูพัชราภรณ์ พฤกษาฉิมพลี ผู้กำลังดูน้องกัสจังที่บัดนี้กำลังเต้นตามเพลงในทีวีอย่างสนุกสนาน

ครูพัชราภรณ์บอกเราว่าการเรียนการสอนของที่นี่สอนด้วยภาษาไทย ผสมกับภาษาท้องถิ่นนั่นคือภาษาปกาเกอะญอ เนื่องด้วยเด็กยังเล็กมากและบางครั้งอาจไม่สามารถเข้าใจภาษาไทยได้อย่างชัดเจน แม้ทุกคนในหมู่บ้านจะได้รับสัญชาติไทยมานานมากแล้วก็ตาม โดยทั่วไปแล้วเด็ก ๆ จะเข้าเรียนที่นี่จนจบชั้นประถม ก่อนออกไปเรียนมัธยมที่นอกหมู่บ้าน ทั้งในตัวอำเภอจอมทอง และในตัวจังหวัดเชียงใหม่

เราเอ่ยคำลาคุณครูและเด็ก ๆ ในศูนย์เด็กเล็กด้วยคุ้กกี้ที่ทำมาจากกรุงเทพมหานคร แล้วเดินทางกลับไปที่ศาลากาแฟน้าสมศักดิ์อีกครั้ง คราวนี้เราได้เจอน้าสมศักดิ์ คีรีภูมิทองตัวจริงเสียงจริงเสียที พร้อมเริ่มต้นพูดคุยถึงจุดเริ่มต้นการปรับหมู่บ้านให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว

yellow_template (1).jpg

“รีสอร์ทเริ่มแรกก็คือของคุณน้าเอง คุณน้าเป็นคนเริ่มทำคนแรกของที่นี่” คุณน้าเล่าให้พวกเราฟังด้วยสำเนียงท้องถิ่นน่าฟัง “ที่ทำรีสอร์ทเนี่ย.. เพราะมองว่า ทำไมชาวบ้านตอนนั้นต้องทำลายทรัพยากร ต้องทำลายป่า ต้องทำไร่ฝิ่น ต้องล่าสัตว์ ต้องมีปัญหากับสังคมและอุทยานที่ดูแลทรัพยากร มองย้อนไปอีกทีนึงว่าถ้าไม่มีอุทยานแล้วประชาชนจะอยู่ยังไง เพราะอิทธิพลที่ทำลายทรัพยากรมีเยอะมาก และประชาชนที่เป็นห่วงทรัพยากรก็มีอีกเยอะมาก.. แต่ว่าสู้เขาไม่ได้”

แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องราวที่ฉันเคยรับรู้มาตลอดชีวิต นิทานสูตรสำเร็จของผู้มีอิทธิพลที่ใช้เม็ดเงินเข้ามาหว่านโปรยใส่ชาวบ้านท้องถิ่น ให้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงชีวิตของตนเอง แต่การรับรู้เรื่องราวในครั้งนี้กลับทำให้ฉันรู้สึกประหลาดใจ เพราะมันทำลายความเชื่อดั้งเดิมของฉันไปเสียหมด

เพราะคุณน้าสมศักดิ์กำลังเล่าเรื่องราวใหม่ให้ฉันได้ฟัง

“ผมไม่ได้เรียนหนังสือ ครอบครัวยากจน จึงต้องเดินทางเดินทางไปเดินทางมาก็รู้สึกว่าต้องทำสิ่งนี้ เมื่อตอนปี 37-38 ชาวบ้านยังไม่เห็นด้วย บริษัททัวร์ก็ไม่เห็นด้วย พอปี 42 ผมก็เริ่มทำอีก ทำไปได้ 8-9 ปี กรุงเทพฯ ก็มีเหตุการณ์วุ่นวาย เรื่องน้ำท่วม แล้วมีคนไปลงหนังสือว่าที่นี่ไม่ปลอดภัย.. เขาคิดว่าที่นี่ดินถล่ม น้ำท่วม ชาวบ้านเลยหนีผมหมด

แต่แล้วอีกปีหนึ่ง คนก็เข้ามาลงหุ้นกับผมเยอะเลย ผมแบ่งกำไรให้ร้อยละ 63 บาท เพื่อทำรีสอร์ท บางคนขอลงเป็นแสน ผมก็ไม่ให้ ให้แค่ครอบครัวละ 3,500 แต่ทุกวันนี้ผมเอารีสอร์ททั้งหมดคืนให้เจ้าของที่ แล้วทำรีสอร์ทส่วนตัวและยกให้หลาน ๆ

กำไรชีวิตที่ได้คืนมา.. ไม่ใช่ได้เงิน แต่ผมได้สัตว์ป่าคืนมา ได้สภาพแวดล้อมคืนมา” ชายวัยกลางคนย้ำด้วยแววตาเป็นประกาย

“สัตว์ป่าหลายชนิดอพยพกลับมา ทั้งชะนี นกพญาไฟ แต่ก็มีอีกหลายชนิดที่ยังไม่อพยพกลับมา แต่ผมเชื่อว่ามันจะกลับมาอีก เพราะชาวบ้านไม่รุกที่ป่าแล้ว”

บทสนทนากับน้าสมศักดิ์นานนับชั่วโมง ทว่าฉันกลับไม่รู้สึกเหนื่อยล้าเลยแม้แต่นิด การพูดคุยกับชายเบื้องหน้าจุดประกายไฟบางอย่างให้เกิดขึ้นในใจ และทำลายกำแพงที่เคยมีให้กับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่อาจทำลายวิถีชาวปกาเกอะญอและสิ่งแวดล้อม

แต่น้าสมศักดิ์ทำให้ฉันคิดผิด.. พร้อมคำตอบใหม่ที่คืบคลานเข้ามาในจิตใจ

เราไม่มีสิทธิหยุดความเจริญที่จะเข้ามาแทรกแซงวิถีชีวิตได้.. ในเมื่อคนกรุงมีสิทธิที่เจริญ ผู้คนบนยอดดอยก็มีสิทธิใช้ชีวิตด้วยความสะดวกสบายเช่นกัน ปัจจุบันชาวปกาเกอะญออาจไม่ต้องทอผ้าเพื่อสวมใส่เองเหมือนในอดีต อาจเปิดร้านกาแฟสูตรเดียวกันกับเบื้องล่างอย่างกรุงเทพมหานคร.. แต่มนต์สเน่ห์แห่งธรรมชาติท่ามกลางม่านหมอกนั้นก็ยังไม่เคยจางไปไหน

ฉันเอ่ยคำลาคุณน้าสมศักดิ์ ก่อนเดินกลับไปยังบ้านพัก แล้วเก็บบรรยากาศยามเย็นเบื้องหน้าให้มากที่สุด หวังให้ความรู้สึกอิ่มเอิบที่เกิดขึ้นตลอดสามวันมานี้จะยังประทับอยู่ในใจไปอีกนานเท่านาน

ให้ได้จดจำไว้.. ว่าไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด ต่อให้ความเจริญและนักท่องเที่ยวจะเข้ามาปกคลุมวิถีชีวิตดั้งเดิมมากขนาดไหน แต่ถ้าหัวใจของเหล่าชาวบ้านยังมอบความรักให้ธรรมชาติ.. บัดนั้นสิ่งแวดล้อมก็จะยังถูกรักษ์ไว้ใต้ม่านหมอกเหมือนเช่นเคยไม่เปลี่ยนแปลง

 


 

วิธีการเดินทาง 

เริ่มต้นจากสถานีขนส่งช้างเผือก จากนั้นเรียกรถเหลืองสายเชียงใหม่ – จอมทอง ลงที่จอมทองใกล้กันกับวัดพระศรีจอมทอง จากนั้นต่อรถโดยสายสายจอมทอง – แม่แจ่ม ลงที่บริเวณกิโลเมตรที่ 26 บ้านแม่กลางหลวง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : อินทนนท์คีรีมายา  โทร 098-872-1079

%d bloggers like this: