Education

จบป.ตรี ต่อ MBA : สูตรสำเร็จคนยุคใหม่ จำเป็นแค่ไหนในตลาดแรงงาน

แลกเปลี่ยนมุมมองโลกหลังจบการศึกษา ทำไมใคร ๆ ก็อยากเรียน MBA

“จบตรีแล้วไปไหน” เป็นคำถามที่นิสิตนักศึกษาหลายคนตั้งคำถามและคิดกันไม่ตกว่าหลังจากจบชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยไปแล้วจะต้องทำอย่างไรต่อกับชีวิต โดยทั่วไปบัณฑิตจบใหม่จะแปรสภาพมาเป็น first jobber แต่ก็ยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่เลือกจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโทต่อไป แล้วปริญญาโทสาขาใดเล่าที่จะตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานของประเทศไทยในปัจจุบัน

newinfo
สถิติจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทปีการศึกษา 2557 – 2559 จากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา

สถิติของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ระบุว่า ในช่วงสามปีที่ผ่านมา มีผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทประมาณ 30,000 คนต่อปี ในจำนวนนี้หลักสูตรที่มีผู้สำเร็จการศึกษาเป็นอันดับหนึ่งในทุกปีการศึกษา คือ หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA) คิดเป็นกว่าร้อยละ 20 ของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาโททั้งหมด

เบญจาภรณ์ องค์มงคลกุล ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การเรียนต่อ MBA นั้นช่วยคนที่ไม่ได้เรียนด้านบริหารมาโดยตรง เนื่องจากตนเองจบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านเภสัชศาสตร์ แต่ปัจจุบันทำธุรกิจโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ การเรียน MBA จึงช่วยเปลี่ยนแปลงความคิดและเพิ่มเติมความรู้ด้านการบริหารโรงเรียนให้ดียิ่งขึ้น ประยุกต์ใช้กับธุรกิจส่วนตัวได้จริง รวมไปถึงได้ฝึกบริหารเวลาของตัวเองทั้งเรื่องเรียน ทำงานกลุ่มของชั้นเรียน และทำงานส่วนตัวได้อย่างเป็นระบบ

ด้าน ไชยรัตน์ บุตรพรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) บริษัทอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของโครงการคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้า เล่าให้ฟังว่า บริษัทให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากสาขา MBA เพราะเห็นว่าคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจและอยากเป็นผู้ประกอบการมากกว่าพนักงานออฟฟิศ

“ที่อนันดา เราเรียกกลุ่มเด็ก MBA จบใหม่อายุประมาณ 24 – 25 ปีที่ได้รับตำแหน่งผู้บริหารหน่วยงานว่า Digital Venture เราจะฝึกสอนให้ทำเขาแผนธุรกิจ วางกลยุทธ์ และทำจริง ซึ่งตอนนี้มี 10 หน่วยงานที่กำลังดำเนินธุรกิจที่มี Digital Venture อยู่ภายใต้อนันดา ถ้าหากเล็งเห็นว่าหน่วยงานนี้มีโอกาสที่จะเติบโต ผู้บริหารก็อาจจะลงทุนเปิดเป็นธุรกิจใหม่ แล้วให้เด็กกลุ่มนี้บริหารไปเลย” ไชยรัตน์กล่าว

แต่ พฤทธ์ อึงคะนึงเดชา ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ไมเนอร์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้นำเข้าและตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่นและเครื่องสำอางจากต่างประเทศ ให้ความเห็นว่า การขาดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านต่างๆ ก็เป็นอีกปัญหาสำคัญเพราะประเทศไทยผลิตคนออกมาไม่ได้ตรงกับความต้องการของตลาด หลักสูตร MBA ผลิตผู้เชี่ยวชาญทางบริหารธุรกิจออกมาจริงแต่ก็ไม่ได้เป็นที่ต้องการของตลาดถึงขนาดนั้น

พฤทธ์อธิบายต่อว่า จากการสังเกตในหลายองค์กร คนจะคิดว่างานสายอาชีพหรือผู้เชี่ยวชาญพิเศษต้องเป็นแค่สายงานช่างหรืองานที่ไม่มีความก้าวหน้าและคิดว่าเรียน MBA ถึงจะประสบความสำเร็จ แต่ตลาดแรงงานในเมืองไทยยังขาดแรงงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญมาก ซึ่งจะเป็นคนที่ช่วยคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ออกมา ยกตัวอย่างเช่น โรงงานที่มีแผนก R&D ก็ ต้องการผู้เชี่ยวชาญสายอาชีพที่สามารถคิดสูตรหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะตอบโจทย์ลูกค้า ซึ่งคนที่จบ MBA ไม่สามารถคิดสูตรเหล่านี้ได้

“ถ้าจบมาโดยตรงมันก็ดีกว่าอยู่แล้ว เพราะเขาจะมีความรู้ที่ลึกมาต่อยอดทักษะ แต่ถ้าการศึกษาเป็นอย่างนี้ พูดง่ายๆ ก็คือไม่มีทั้งความรู้และทักษะ ต้องมาฝึกกันใหม่ ถ้าเป็นเด็กจบใหม่เข้ามา เราจะดูว่ามีทัศนคติการทำงานยังไง ถ้าเป็นคนที่พร้อมเปิดรับ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ สุดท้ายแล้วมันก็ต้องยอมรับ เพราะว่าเมืองไทยมันหาคนที่เชี่ยวชาญโดยตรงไม่ได้” พฤทธ์กล่าว


ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงศ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เผยว่า ปี 2560 อัตราว่างงานไทยสูงขึ้น เนื่องจากไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้สำเร็จ กว่าร้อยละ 95 ธุรกิจในไทยเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดย่อมซึ่งใช้แรงงานระดับล่างมากเกินไป ต้องนำแรงงานต่างด้าวกว่าสามล้านคนเข้ามาทำงานเพื่อลดปัญหาขาดแรงงานระดับล่างที่เรื้อรังมาถึง 15 ปี ขณะเดียวกัน อัตราว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับมัธยมปลายและสายอาชีพอยู่ที่ค่าเฉลี่ย ร้อยละ 1.2 แต่ระดับอนุปริญญากลับมีค่าสูงถึงร้อยละ 3.2 ถือเป็นความสูญเปล่าทั้งผู้จบการศึกษาและทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลในยุคที่กำลังแรงงานใหม่เริ่มจะลดลง
ที่มา : เว็บไซต์ TDRI วันที่ 10 ต.ค. 2560


 

 

%d bloggers like this: