Community Top Stories

สี่ปีแห่งการต่อสู้ และอนาคตที่แขวนอยู่บนเส้นด้ายของชาวโยธะกา

ตั้งแต่ปี 2557 ชาวบ้านหมู่ 11 ตำบลโยธะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ต้องเผชิญการให้ย้ายออกจากพื้นที่ แม้จะพยายามยื่นหนังสือร้องเรียนไปที่หน่วยงานต่างๆ แต่ยังคงไร้ความคืบหน้า

เรื่อง: พชร คำชำนาญ

ภาพ: นัจนันท์ เกตุสุวรรณ, รณิดา บริบูรณ์ภัทรกุล

บนพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีทางรถไฟพาดผ่าน ตลอดสองฝั่งถนนแคบเล็กเต็มไปด้วยทุ่งนาเขียวขจี ด้วยชาวบ้านในบริเวณนี้ล้วนประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก หากมองภายนอก อาจเห็นว่าชีวิตของชาวบ้านดำเนินไปอย่างปรกติสุข ต่อเมื่อได้ลองพูดคุย จึงพบว่าปัญหาการให้ย้ายออกจากพื้นที่ ยังเป็นฝันร้ายหลอกหลอนชาวบ้านในตำบลโยธะกามาเป็นเวลาสี่ปี

 

ชีวิตใน “โยธะกา” จากอดีต สู่วันที่ถูกให้ย้ายออก

ข้อมูลชุมชนที่จัดทำโดยชาวบ้านหมู่ 11 ตำบลโยธะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ระบุว่า ตำบลโยธะกามีประวัติความเป็นมากว่า 80 ปี แยกมาจากตำบลดอนเกาะนาและตำบลหมอนทองเมื่อปี 2480 มีเนื้อที่ 36,375 ไร่ ปัจจุบันมีครัวเรือน 1,654 ครัวเรือน มีประชากร 6,362 คน และประชากรร้อยละ 90 ประกอบอาชีพอาชีพเกษตรกรรม

DSC_0162 copy
สมหมาย บุญนิมิ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11

สมหมาย บุญนิมิ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11  เล่าว่า พื้นที่นี้เดิมทีเป็นของเจ้าจอมแพในสมัยรัชกาลที่ห้า ต่อมาในปี 2491 กองทัพเรือซื้อต่อจากเจ้าจอมแพ ที่ดินบริเวณนี้จึงกลายเป็นที่ราชพัสดุและชาวบ้านไม่มีโฉนด มีเพียงสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์ปีต่อปีเท่านั้น

เมื่อปี 2557 ชาวบ้านได้รับจดหมายแจ้งจากกองทัพเรือว่า หน่วยงานจะขอคืนพื้นที่ 4,000 ไร่ ด้วยเหตุผลว่า จะนำพื้นที่บริเวณหมู่ 11 ไปทำสุสาน แต่พื้นที่ที่เหลือ กองทัพเรือไม่ได้เปิดเผยว่าจะขอคืนไปทำอะไร

“ตอนที่ยังไม่มีโครงการอะไรมา เราก็กะว่าจะอยู่ได้นาน แต่เขาจะเอาที่คืน เราก็เดือดร้อน มีหนังสือมาไล่บ่อยมาก ตอนนี้เขามีอำนาจเขาก็ไม่สนใจเรา เขาจะไล่เราอย่างเดียว เราก็ทำนาของเราต่อไป แต่บางคนก็กังวล เพราะเขาไม่มีการพูดถึงค่าชดเชย” ผู้ใหญ่ฯ สมหมายกล่าว

IMG_0080 copy
ละม้าย สรรพชัย ชาวบ้านหมู่ 11 วัย 60 ปี

ด้าน ละม้าย สรรพชัย วัย 60 ปี ชาวบ้านหมู่ 11 เล่าว่า แต่ก่อนไม่เคยมีการเก็บค่าที่ แต่เมื่อมีการเก็บ ตนก็ยินดีจ่ายเพื่อแลกกับที่ชาวบ้านจะได้มีที่อยู่อาศัยและทำมาหากิน หากไม่มีเงินก็สามารถผ่อนจ่ายได้ ต่อมาสำนักงานธนารักษ์จังหวัดฉะเชิงเทราแจ้งว่า ต่อไปนี้จะเก็บค่าเช่า และบอกกับชาวบ้านว่า ไม่ต้องกังวล ไม่ว่าอย่างไรที่ดินตรงนี้ก็เป็นของชาวบ้าน ชาวบ้านจึงแบ่งสัญญาเช่าไปให้ลูกหลาน เพราะหวังว่าที่ดินตรงนี้จะตกทอดสู่ลูกหลานต่อไป

“มีการมาเก็บค่าเช่า ชาวบ้านก็ให้ อยู่ๆ เขาก็บอกว่าไม่เก็บแล้ว ไม่ให้เช่า มีหนังสือมาให้ คนไม่รู้หนังสือ ทหารเขาก็วิ่งมาบอก ใบเช่าที่เป็นสมุดแบบนี้ เขาขอคืน แล้วใครจะไปคืน พอไปราชพัสดุ เขาก็ว่า ที่นี่ต่อไปจะมีโฉนด เราก็ว่า ถ้ามีเจ้าของแล้วทำไมไม่บอกล่ะ คิดว่าเป็นของเราแล้ว อยู่ๆ ก็มาบอกว่ามีเจ้าของ” ละม้ายกล่าว

ผู้ใหญ่ฯ สมหมาย ให้ดูจดหมายจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ฉะเชิงเทรา ลงวันที่ 9 ก.พ. 2559 เรื่อง “ขอให้ไปถอนคืนเงินประกันการเช่าที่ดินราชพัสดุ” ซึ่งระบุว่า ทางสำนักงานธนารักษ์ของดเก็บค่าเช่าที่ เนื่องจากกองทัพเรือมีโครงการจะใช้พื้นที่บริเวณหมู่ 11 เพื่อประโยชน์ทางราชการ โดยให้ชาวบ้านไปยื่นถอนเงินประกันการเช่า และให้ออกจากพื้นที่ภายใน 15 วัน

แม้จนถึงวันนี้ จะยังไม่มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานใดเข้ามาจัดการให้ชาวบ้านย้ายออกจากพื้นที่ที่ตนอยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชาวบ้านกังวลคือ อนาคตที่ไม่แน่นอน เพราะจดหมายไม่ได้พูดถึงแนวทางการชดเชยการยุติการเช่าที่ไว้แต่อย่างใด และไม่อาจแน่ใจได้ว่าวันใดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาดำเนินการให้พวกตนย้ายออกไป

 

ยื่นเรื่องร้องเรียน แต่ยังไร้ความคืบหน้า

เมื่อมีการขอคืนพื้นที่เกิดขึ้น ผู้ใหญ่บ้านสมหมายแห่งหมู่ 11 เผยว่า ตนและชาวบ้านพยายามเจรจาผ่านผู้นำท้องถิ่น ไปจนถึงเดินทางไปยื่นหนังสือด้วยตนเองที่กรุงเทพฯ บางหน่วยงานให้คำตอบเพียงว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ แล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้า แต่ก็มีหลายหน่วยงานที่ไม่ติดต่อกลับมาราวกับไม่เคยมีการร้องเรียนเกิดขึ้น ยิ่งทำให้ชาวบ้านกังวลใจ

“เคยมีการร้องเรียนไปที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ก็ถูกบอกให้เลิกร้องเรียน เคยร้องเรียนไปที่ศูนย์ดำรงธรรม ธนารักษ์ สำนักนายกรัฐมนตรี ขึ้นรถตู้กันไป” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 อธิบาย

DSC_0075 copy
จดหมายจากกองทัพเรือถึงสมหมาย ยืนยันว่าให้ยกเลิกสัญญาเช่าที่ดิน

สมหมายนำจดหมายจากกองทัพเรือที่ส่งมาหลังจากตนส่งเรื่องร้องเรียนไป ลงวันที่ 22 ม.ค. 2561 มาให้ดู ในจดหมายระบุว่า “กองทัพเรือมีแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณดังกล่าวแล้ว จึงขอยืนยันการยกเลิกสัญญาเช่าที่ดินบริเวณศูนย์เกษตรกรรมทหารเรือโยธะกาแปลงดังกล่าว พร้อมกับให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดิน พร้อมกับทำหนังสือส่งมอบคืนที่ดินให้แก่กองทัพเรือ หากท่านยังคงเพิกเฉยทางราชการมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป” ซึ่งสมหมายมองว่า ข้อความเช่นนี้ชี้ว่ากองทัพเรือได้ปิดช่องทางการร้องเรียน และชาวบ้านไม่สามารถทำอะไรต่อได้นอกจากเตรียมย้ายออก

 

ความหวังเดียวของชาวบ้าน คือการได้เจรจาต่อรอง

นอกจากอนาคตที่แขวนอยู่บนเส้นด้าย การที่หน่วยงานเจ้าของพื้นที่ทำเพียงส่งจดหมาย แต่ไม่สื่อสารกับชาวบ้านอย่างเป็นทางการด้วยวิธีอื่นๆ ก็เป็นอีกปัญหาที่ชาวบ้านกังวล ผู้ใหญ่บ้านสมหมายบอกว่า ตนอยากให้มีการเจรจาต่อรองกันเกิดขึ้น แต่ปัญหาคือ ชาวบ้านไม่รู้ว่าจะต้องไปเจรจากับใคร ใครเป็นเจ้าของโครงการ หรือแม้แต่โครงการนี้คืออะไรกันแน่

“ได้ยินมาว่า เขามีงบประมาณมาแล้ว 150 ล้านบาท จะมาทำเป็นเรดาร์ฉายเรือดำน้ำ ชาวบ้านก็ต่อรองไปว่า ถ้าจะสร้างเสาเรดาร์แล้วมีพื้นที่เหลือชาวบ้านขอทำนาได้ไหม ขอเช่าที่ก็ได้ แต่เขาไม่สนใจ” สมหมายกล่าว

IMG_0101 copy
วันเพ็ญ บุญนิมิ ชาวบ้านหมู่ 11 วัย 50 ปี

ด้าน วันเพ็ญ บุญนิมิ วัย 50 ปี ชาวบ้านหมู่ 11 บอกว่า หลังจากปี 2557 มา ชาวบ้านไม่สามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้เหมือนเดิม เพราะมีข้อห้ามเกี่ยวกับการดัดแปลงพื้นที่จากกองทัพเรือ และมีทหารมาตรวจตราอยู่บ่อยครั้ง

“ที่ดินเขาไม่ให้ใช้ค่ะ แค่เอาดินมาถม เขาก็ไม่ให้ทำเลย ทำอะไรกับพื้นที่ไม่ได้เลย ขุดบ่อปลาก็ไม่ได้ ปลูกต้นไม้เพิ่มก็ไม่ได้ ทุกอาทิตย์ สองอาทิตย์ เขาก็จะมาถ่ายรูป บอกว่า ต้องห้ามเปลี่ยนแปลงใหม่ เปลี่ยนแปลงยังไง จะมีทหารมาดูตลอด” ชาวบ้านโยธะกากล่าว

วันเพ็ญยังกล่าวว่า หากสามารถเจรจาได้ จะขอให้ตนและชาวบ้านคนอื่นๆ ได้อยู่บนพื้นที่นี้ต่อไป เพราะอยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ประกอบอาชีพทำนามานาน มีภาระหนี้สิน ไม่สามารถไปเริ่มต้นชีวิตใหม่บนพื้นที่ใหม่ที่ไม่มีความผูกพันได้

“คนมันก็เคยอยู่มันก็สะดวกสบาย เราอยู่กันแบบพี่น้อง ไปอยู่ที่อื่นเรายังไม่รู้เลยว่าจะเป็นอย่างไร แล้วก็การทำกินตรงนี้ เขาอยู่ได้ของเขา แค่มีบ้านอยู่ เขาก็อยู่ได้ ถ้าไปอยู่ที่อื่น เราก็ไม่รู้จะทำกินอะไร เรามีหนี้สิน จะให้หาเงินไปซื้อที่ใหม่มันไม่มีทาง อยากขอเช่าซื้อพื้นที่ตรงนี้ ให้มีการกำหนดปีไปด้วย ไม่งั้นก็จะกังวลว่าจะมีปัญหาตามมาอีกหรือเปล่า” วันเพ็ญกล่าว

 

การเข้ามาของ EEC กับก้าวต่อไปของการต่อสู้ของชาวโยธะกา

ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2561 โดยอ้างคำพูดของ พชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ ว่า กรมธนารักษ์ได้จัดหาที่ราชพัสดุในฉะเชิงเทราในบริเวณศูนย์เกษตรกรรมทหารเรือฯ ตำบลโยธะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว พื้นที่ประมาณ 4,000 ไร่เศษ ส่งมอบให้โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ไปเรียบร้อยแล้ว เพื่อพัฒนาให้เป็น “เมืองที่อยู่อาศัยชั้นดีที่ทันสมัย” รองรับการขยายตัวของกรุงเทพฯ และ EEC

“มองว่าไม่เหมาะที่จะเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม เพราะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำมาก น้ำท่วมเป็นประจำ เป็นจุดบรรจบของแม่น้ำนครนายกและแม่น้ำปราจีน ถ้ามองในการใช้พื้นที่คิดว่าทำอะไรใหญ่ๆ ไม่เหมาะ ทำนาเหมาะที่สุด” กัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Watch)  กล่าวถึงพื้นที่ที่ถูกเวนคืน

กัญจน์ วิเคราะห์ว่า พื้นที่บริเวณหมู่ 11 ตำบลโยธะกา ไม่น่าจะเป็นพื้นที่ที่อยู่ใน EEC และไม่เหมาะจะใช้ทำประโยชน์ด้านอุตสาหกรรม แต่เป็นพื้นที่ที่กองทัพซึ่งเข้ามาเป็นรัฐบาลหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 อยากได้คืน แล้วปล่อยให้เอกชนเช่าต่อ เห็นตัวอย่างได้จากพื้นที่โยธะกาฝั่งจังหวัดนครนายกที่กองทัพเรือได้คืนไปแล้ว

ด้าน พรพนา ก๊วยเจริญ จาก กลุ่ม Land Watch Thai ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนและส่งเสริมขบวนการการเคลื่อนไหวด้านสิทธิของผู้ที่ประสบปัญหาจากกฎหมายและนโยบายด้านที่ดินและป่าไม้ เห็นว่า ข้อมูลพื้นที่สำคัญต่อชาวบ้านมาก เพราะช่วยสร้างความชอบธรรมในการต่อสู้เรื่องสิทธิที่ดิน

“ถ้าเราไม่มีข้อมูลว่าชาวบ้านอยู่กันมาสามชั่วอายุคน ทำนาที่นี่มาตลอด คนทั่วไปก็จะคิดว่าชาวบ้านผิด เพราะไปอยู่บนที่ดินของคนอื่น แต่ถ้าเราทำให้เห็นได้ว่าชาวบ้านเขามีสิทธิที่จะอยู่ตรงนี้นะ เขาอยู่มานาน ชาวบ้านจะมีความชอบธรรมในการร้องเรียนมากขึ้น” พรพนาอธิบาย

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านไม่สามารถรวบรวมข้อมูลเองได้ เพราะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลบางส่วนจากหน่วยงานรัฐ องค์กรภาคประชาสังคมอย่าง Land Watch Thai จึงมีหน้าที่หาข้อมูลและรวบรวมเป็นเอกสารให้ชาวบ้านยื่นไปพร้อมกับหนังสือร้องเรียนไปที่หน่วยงานต่างๆ “ชาวบ้านยังทำข้อมูลไม่เป็น หรือมีข้อมูลจากภาครัฐที่ชาวบ้านเข้าถึงไม่ได้ แต่เรื่องการเคลื่อนไหวชาวบ้านต้องเป็นคนเคลื่อนไหวเอง โดยใช้ข้อมูลพื้นที่แนบไปด้วย” พรพนากล่าว

นอกจากนั้น พรพนายังกล่าวถึงแผนการการร้องเรียนขั้นต่อไปของชาวบ้านว่า จะยื่นหนังสือร้องเรียนไปที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ดูแลที่ดินแปลงใหญ่ในประเทศ ตามคำแนะนำของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เพราะสำนักงานธนารักษ์จังหวัดฉะเชิงเทราไม่สามารถช่วยอะไรได้ หากกองทัพเรือยังเป็นเจ้าของที่ดิน

 

“ก็อยากได้ที่อย่างเดิม อยากจะอยู่กันเหมือนเดิม เพราะว่าเราไม่มีที่อื่นให้ไปแล้ว และก็ไม่มีเงินทุนที่จะย้ายไปอยู่ที่อื่น เพราะว่าหนี้สินภาระก็เยอะ” วันเพ็ญ ชาวบ้านหมู่ 11 ย้ำ

 

รู้จักคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

“ลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาการไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกรและผู้ยากจน โดยการจัดที่ดินให้แก่ผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ดินทำกิน ในลักษณะแปลงรวมโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์” นี่เป็นนโยบายที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ไว้แก่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)

เว็บไซต์ คทช. ระบุแนวทางการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการสามคณะ คือ  คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน และคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ รวมถึง คทช. จังหวัด ภายใต้การกำกับของ คทช. ไว้ดังนี้

  1. จัดหาที่ดินที่จะจัดให้แก่ผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ดินทำกิน พร้อมด้วยชื่อผู้ครอบครอง
  2. จัดที่ดินให้ผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ดินทำกินในรูปแบบสหกรณ์ หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม เพื่อให้มีการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ ตามระยะเวลาที่กำหนด
  3. ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ รายการตลาดในรูปแบบเศรษฐกิจชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้การใช้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสม
  4. จัดตั้งกลไกการบริหารจัดที่ดินของชุมชน/สหกรณ์ โดยใช้ประชาคมหมู่บ้าน คณะกรรมการสหกรณ์/ชุมชน โดยการควบคุมกำกับของส่วนราชการจังหวัด อำเภอ ตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

ภาษาอังกฤษ: 4 years of fighting; Life in Yothaka and its unpredictable future  

%d bloggers like this: