Travel

Surdham Amano: ผู้รักษาวงโคจรแห่งหนังสือ

สำรวจร้านหนังสือมือสองเล็กๆ ในย่าน Central ของฮ่องกงที่ดำเนินกิจการมายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของยุคดิจิตัล

เรื่องและภาพ : ปัณฑารีย์ สุจิตวรงค์

พูดถึงย่าน Central ในฮ่องกง หลายคนอาจนึกถึงไฮไลท์ของนักท่องเที่ยวเก๋ๆ อย่าง Central Mid-Level’s Escalator บันไดเลื่อนที่ยาวที่สุดในโลก, ตึกชิคๆ ที่รวบรวมงานอาร์ทและของน่ารักๆ ที่ PMQ หรือทาร์ตไข่ชื่อดังในตำนานร้าน Tai Cheong Bakery

แต่จริงๆ แล้ว ย่านนี้ยังมีร้านหนังสือมือสองเล็กๆ ที่ไม่ธรรมดาซ่อนตัวอยู่บนชั้น 2 ของ Kai Fung Mansion บนถนน Queen เดินทางด้วย MTR ลงสถานี Sheung Wan เจ้าของร้านเป็นคุณลุงคนฮ่องกงแท้ๆ วัย 54 หน้าตาใจดี ชื่อ Surdham Amano ที่เล่าให้ฟังว่าเขาเปิดร้านหนังสือมือสองชื่อว่า FLOWbooks มายาวนานกว่า 20 ปีแล้ว

 

2 ทศวรรษกับธุรกิจหนังสือมือสอง

นอกจากหนังสือกว่า 30,000 เล่มที่กระจายตัวอยู่ในร้านเล็กๆ ขนาดห้องไม่ใหญ่ไปกว่าห้องสตูดิโอของคอนโดบ้านเราเท่าไร มีเสียงดนตรีแจ๊สเปิดคลอเบาๆ บ่งบอกถึงอารมณ์สุนทรีของเจ้าของร้านได้เป็นอย่างดี

Surdham เล่าว่า เขาเริ่มเปิดร้านหนังสือมือสองของตัวเองเมื่อปีพ.ศ. 2540 ก่อนหน้านี้เองก็เคยทำงานในร้านหนังสือมือสองมาก่อน ทำมาเรื่อยๆ จนเริ่มคิดว่าทำไมไม่เปิดร้านของตัวเองไปเลยจะได้ทำงานที่ตัวเขารู้สึกว่ามีความสุขที่ได้ทำ เขาจึงตัดสินใจด้วยความกล้าล้วนๆ

“พอตัดสินใจได้ก็เริ่มหาทุน ยืมเงินจากคนอื่นบ้าง แล้วก็ไปกู้เอาที่ธนาคาร โดยที่ตอนนั้นก็ไม่รู้หรอกว่าธุรกิจจะอยู่รอดไปได้แค่ไหน ทำมาได้ไม่กี่ปีก็มาเจอว่าร้านหนังสือมือสองกำลังจะตาย” เขาพูดแล้วก็หัวเราะ

การเปิดหนังสือมือสองในย่านธุรกิจอย่าง Central ไม่ง่าย แต่ Surdham บอกว่าเขาชอบที่นี่ ซึ่งจริงๆ เป็นที่ที่ 6 แล้วตั้งแต่เปิด FLOWbooks มา ย้ายที่ไปเรื่อยๆ จากปัญหาค่าเช่าบ้าง สถานที่บ้าง ล่าสุดมีโอกาสกลับมาตั้งร้านที่ Central อีกครั้งได้ประมาณปีกว่าๆ ด้วยทำเลที่คนพลุกพล่าน ลูกค้าก็มีมาเรื่อยๆ ส่วนมากก็เป็นลูกค้าเดิมๆ บอกกันปากต่อปากบ้าง ตัว Surdham เองก็อยากจะลงหลักอยู่ที่นี่เพราะลูกค้าเริ่มติด ดีกว่าต้องไปเริ่มต้นใหม่ในย่านอื่นๆ ที่ค่าเช่าอาจจะถูกกว่า

Surdham ยังเล่าให้ฟังอีกว่า กว่า 2 ทศวรรษมานี้ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างช่วง 10 ปีหลังมานี้รู้สึกได้เลยว่าคนอ่านหนังสือเล่มลดจำนวนลงเรื่อยๆ อย่างน่าตกใจ

“จุดประสงค์หลักในการทำร้านเลยคืออยากสนับสนุนการอ่าน มากกว่าการเพิ่มยอดขายอีก เพราะเราไม่ได้สั่งหนังสือที่เป็นที่นิยมมาจากสำนักพิมพ์ แต่ถึงยังไงที่นี่ก็ยังมีหนังสือทุกประเภทนะ”

 

การปรับตัวในยุคดิจิตัลเพื่อความอยู่รอด

ถ้าใครเข้าไปดูเว็บไซต์ http://www.flowbooks.net จะเห็นว่าใต้เว็บไซต์ออกตัวแบบเก๋ๆ ว่า Made by modernism โชว์สถิติว่าตลอด 21 ปีที่ผ่านมา FLOWbooks มีหนังสือในครอบครองกี่เล่ม และส่งต่อไปแล้วกี่เล่ม ซึ่งนอกเหนือจากการขายแล้ว หนังสือจำนวนหนึ่งก็ถูกเปลี่ยนผ่านด้วยการบริจาคให้กับโรงเรียนหรือมูลนิธิต่างๆ

Surdham บอกว่าตัวเว็บไซต์ออกแบบโดยเพื่อนของเขาที่ชื่อจอห์น และเขายอมรับว่าเขายังไม่เก่งในเรื่องการใช้เทคโนโลยีพวกนี้มากนัก แต่ก็จะค่อยๆ เรียนรู้ไป ตั้งแต่มีเว็บไซต์ขึ้นมา คนก็รู้จักร้านมากขึ้นส่วนหนึ่ง ตอนนี้มีเว็บไซต์ มีเฟสบุ๊กเพจ ส่วนในอนาคตข้างหน้าตั้งใจว่าจะต้องมีระบบการเก็บข้อมูลหนังสือที่มีอยู่ในร้าน เพราะตอนนี้ที่ร้านไม่มีระบบการจัดเก็บหนังสือเลย Surdham อาศัยการจำเอาคร่าวๆ เท่านั้นว่าที่ร้านมีหนังสืออะไรบ้าง ซึ่งก็ไม่ใช่วิธีที่ดีนักในการทำร้านหนังสือ

1 - Flowbooks second hand bookstore in HK
บรรยากาศภายในร้าน FLOWbooks มีหนังสือทุกประเภท ตั้งแต่ History ไปจนถึง Young Adult

ฉันถาม Surdham ว่าเขามีการปรับตัวอย่างไรบ้าง ในเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาททำให้พฤติกรรมนักอ่านเปลี่ยนแปลงไป จากการพลิกหน้ากระดาษอ่านหนังสือ คนส่วนหนึ่งก็เลือกที่จะกดหน้าจอพลิกหน้าหนังสือออนไลน์แทน และบางส่วนก็สนุกสนานกับการสั่งหนังสือมือสองผ่าน Amazon มากกว่ามาที่หน้าร้าน

“ขอบอกก่อนเลยว่า ผมชอบ Amazon นะ คนอาจจะคิดว่าเจ้าของร้านหนังสือมือสองต้องเกลียด Amazon แน่เลย แต่ไม่เลย ผมไม่เกลียด Amazon” Surdham เสริมว่า ตัวเขาเองมองว่าการเข้ามาของ Amazon ทำให้การอ่านเข้าถึงคนได้ง่ายขึ้นด้วยซ้ำไป

“เมื่อก่อน ถ้าเราอยากจะอ่านหนังสือซักเล่ม ก็ต้องอ่านให้จบ เราไม่มีทางเลือก แต่ตอนนี้มี E-book ขึ้นมา มีตัวอย่างให้ลองอ่าน เหมือนเป็นการให้ทางเลือกกับผู้อ่านให้เขาสามารถประหยัดเวลาได้บ้าง”

อย่างไรก็ตาม Surdham ย้ำในจุดยืนว่า เขามองว่าเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยในการเข้าถึงข้อมูลมากกว่า เหมือนที่เขาใช้เว็บไซต์เพื่อทำให้คนได้รู้จักร้านมากขึ้น แต่การอ่านหนังสือด้วยหนังสือจริงๆ เป็นการใช้เวลาว่างที่ทำให้เกิดคุณค่าจากภายใน แล้วก็เป็นหน้าที่ของ ‘book keeper’ อย่างเขานั่นแหละ ที่จะคอยย้ำให้คนอ่านไม่ลืมประสบการณ์ที่ได้จากการอ่านหนังสือ ยามที่ดวงตา ร่างกาย ลมหายใจ และสมองของคนเรามีปฏิกิริยากับหนังสือและตอบสนองต่อการอ่าน

 

2 - Flowbooks second hand bookstore in HK
บรรยากาศภายในร้าน FLOWbooks มีหนังสือทุกประเภท ตั้งแต่ History ไปจนถึง Young Adult

ผู้รักษาวงโคจรแห่งหนังสือ

ขณะที่ฉันกำลังสัมภาษณ์ Surdham อยู่ มีลูกค้าชาวต่างชาติเข้ามาใหม่ 2 คน ฉันลังเลว่าควรจะหยุดให้ Surdham ต้อนรับลูกค้าก่อนไหม แต่เขาโบกมือแล้วบอกว่า “ไม่เป็นไรๆ ลูกค้าบางคนก็ชอบที่จะเดินรอบๆ ร้านด้วยตัวเองมากกว่า”

ฉันถามว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้ FLOWbooks อยู่มาได้นานขนาดนี้ แล้วมีอะไรที่ที่นี่แตกต่างจากร้านหนังสือมือสองทั่วๆ ไปบ้าง นอกเหนือไปจากการมีหนังสือปกหายาก และคอลเลกชันซีดีเพลงเก่าเล็กๆ น้อยๆ

Surdham นิ่งคิดไป ก่อนยิ้มแล้วตอบว่า “It’s me, who makes the difference!” ก่อนปฏิเสธว่าเขาไม่ได้หมายถึงเขาฉลาดกว่าใคร แต่รู้สึกว่าตัวเองมีความตั้งใจที่แน่วแน่มาตลอดว่าจะต้องรักษาหนังสือไว้ให้ได้ “ผมเองก็ไม่รู้ว่าคนอื่นเขาทำยังไงบ้างให้ร้านหนังสือมันอยู่รอด เราก็รู้กันดีว่าการเปิดร้านหนังสือมือสองในฮ่องกงมันค่อนข้างยาก มีอุปสรรคเยอะไปหมด แต่สิ่งหนึ่งเลยคือผมสนุกและมีความสุขที่ได้ทำ แน่นอนว่าการทำธุรกิจก็ต้องทำให้ร้านอยู่รอดไปได้ นั่นเรื่องหนึ่ง แต่อีกเรื่องคือ นอกจากกำไรแล้ว ผมได้เจอกับมิตรภาพดีๆ มากมายจากลูกค้าหลากหลาย ได้เจอคนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน ก็คือการอ่านหนังสือ”

เขาบอกว่าหนังสือเป็นความมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง “อ่านเล่มนี้จบ แต่เรื่องราวมันก็ยังไม่จบถูกไหม? มันวนเวียนอยู่ในหัว แล้วหนังสือเล่มหนึ่งเราอ่านจบ พอส่งต่อให้คนอื่น เรื่องราวมันก็ยังคงวนเวียนต่อไป นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ผมตั้งชื่อร้านว่า ‘FLOW’ ร้านหนังสือก็เป็นเพียงที่เก็บหนังสือแค่ชั่วคราว แต่เรื่องราวของหนังสือจะอยู่ต่อไป หน้าที่ของผมก็คือทำให้วงโคจรนี้มันอยู่ต่อไปเรื่อยๆ”

Surdham Amano The owner of Flowbooks
Surdham Amano เจ้าของร้านหนังสือ Flowbooks

 

ก่อนจะกลับฉันคุยกับ Surdham เล็กน้อยเกี่ยวกับหนังสือของมุราคามิ ก่อนจะถามว่าตัวเขาเองเคยคิดบ้างไหมว่าหนังสืออาจจะตายลงก็ได้

“I always believe that books will never die.” เขาตอบแล้วก็ยิ้มๆ แบบอารมณ์ดี

%d bloggers like this: