Travel

กว่าจะเข้าใจ…(ไม่ควร) ต้องมาไกลถึงฮ่องกง

เรียนรู้และเข้าใจความแตกต่างทางศาสนา ตามแนวทางของชาวฮ่องกง

เรื่อง: ชินภัทร จันทร์หล้าฟ้า

ภาพ: วัศพล โอภาสวัฒนกุล


“เป็นคนมุสลิม เอาระเบิดมาด้วยรึเปล่า”


ไม่น่าเชื่อว่าประโยคข้างต้นจะถูกถ่ายทอดออกมาจากปากของนิสิตมหาวิทยาลัยดังที่ขนานนามตัวเองว่าเป็นเสาหลักของแผ่นดิน แต่ความคิดเหยียดศาสนาชาติเชื้อพันธุ์ยังคงฝังรากลึกอยู่ในสำนึกผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า “มุกตลก” ยามได้ยินว่ามีคนบางกลุ่มพูดประโยคนี้ใส่เพื่อนที่เป็นชาวมุสลิมทำให้ในใจนึกสะทกสะท้อนถึงปัญหาความเข้าใจที่คนไทยส่วนมากยังมีต่อผู้นับถือศาสนาอิสลาม


ประเทศไทยนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเป็นหลัก มีประชาชนนับถือศาสนาอิสลามราว 7 ล้านกว่าคนเท่านั้น คิดเป็น 10% จากประชากรไทยทั้งหมด แต่ภาพการรวมกลุ่มกันของชาวมุสลิมในไทยไม่ปรากฏให้เห็นบ่อยนักเนื่องจากภาพลักษณ์ที่สังคมมีต่อชาวมุสลิมว่าเป็นกลุ่มขบวนการผู้ก่อความไม่สงบและกระแสต่าง ๆ ของสังคมต่างเทไปในทางลบต่อความเป็นชาวมุสลิม


เมื่อได้มีโอกาสลัดฟ้ามายังเขตการปกครองพิเศษฮ่องกงซึ่งมีประชากรอยู่ที่ราว 7 ล้านคน กว่า 90% นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานและเทพเจ้าจีนในลัทธิเต๋า จึงเกิดความสงสัยว่าในสภาวะที่คล้ายคลึงกันของสองพื้นที่นี้ชาวมุสลิมได้รับการปฏิบัติแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร


ด้วยเหตุนี้การเดินทางหาคำตอบของเราจึงเกิดขึ้น


จุดหมายปลายทางของเราอยู่ที่มัสยิดและศูนย์อิสลามประจำเกาลูน (Kowloon Mosque & Islamic Centre) ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเขตเกาลูน ติดกับสถานีรถไฟใต้ดิน Tsium Sha Tsui ชนิดที่เดินไม่เกินยี่สิบก้าวก็บรรลุถึง


ภาพแรกที่ปรากฏแก่สายตาของเราตั้งแต่ยังไม่ได้ก้าวเท้าออกจากสถานีรถไฟคือภาพของผ้าฮิญาบคลุมศีรษะหลากสีสันอันสะท้อนถึงจำนวนมหาศาลของชาวมุสลิมที่มารวมตัวกัน ณ มัสยิดแห่งนี้

Masjid 1 Atmosphere
ชาวมุสลิมมากมายเดินทางมารวมตัวกันที่มัสยิดแห่งนี้ (Many Muslims gathered here at the mosque)


หะแรกที่ก้าวเท้าข้างขวาเข้าไปในมัสยิดตามธรรมเนียม เรายืนประเด๋อประด๋าอย่างไม่รู้จะเข้าไปคุยกับใคร โชคเข้าข้างที่คุณสุไลมาน หวัง (Sulaiman Wang) อิหม่ามวัย 50 ปีประจำมัสยิดเดินทางมาถึงพอดี เพียงแจ้งความจุดประสงค์ของพวกเราที่ต้องการศึกษาวิถีชีวิตชาวมุสลิมในฮ่องกง ใบหน้าอิ่มเอิบของคุณสุไลมานปรากฏแววยินดีแล้วนำทางเราเดินขึ้นไปด้านบนของมัสยิดทันที


ระหว่างทางที่เดินขึ้นไปเราผ่านโรงเรียนสำหรับเด็กมุสลิม มีเด็กน้อยมากมายอยู่ในนั้นรอเวลาที่จะได้รับการสั่งสอน พวกเขาดูแปลกใจและเกร็งเล็กน้อยยามเมื่อเห็นคนแปลกหน้าอย่างเราเยี่ยมหน้าเข้าไปมอง


เพื่อไม่ให้รบกวนเด็ก ๆ คุณสุไลมานจึงพาเราขึ้นมาจนถึงโถงกลางหรือ City Hall ซึ่งเป็นพื้นที่ของมัสยิดที่ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรม ทำกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การประชุม การฟังบรรยาย หรือกระทั่งการแต่งงาน คุณสุไลมานบอกว่ามัสยิดเป็นเหมือนคอมมูนิตี้สำหรับชาวมุสลิม

Masjid 2 Sulaiman Wang
คุณสุไลมาน หวัง อิหม่ามประจำมัสยิดเกาลูน (Sulaiman Wang, Imam Kowloon Masjid)


เมื่อถามสอบถามเกี่ยวกับชาวมุสลิมในฮ่องกงเราก็ได้รับข้อมูลว่ามีชาวมุสลิมอยู่ในฮ่องกง 3 แสนกว่าคน ไม่ถึง 10% ของประชากรทั้งฮ่องกงด้วยซ้ำ แต่ประวัติความเป็นมาของชาวมุสลิมหลังจากนั้นมีความน่าสนใจ
เมื่อก่อนนี้ด้วยความที่ฮ่องกงมีลักษณะเป็นเกาะ คนที่อาศัยอยู่ส่วนมากจึงเป็นชาวประมง และด้วยภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนทำให้คนสมัยก่อนช่วงก่อนปี 1840 นั้นอาศัยอยู่ในเรือมากกว่าบนแผ่นดิน
“จนเมื่ออังกฤษเข้ามาในปี 1841 พวกเขาต้องการแรงงาน ทั้งกองกำลัง ทั้งตำรวจ เพื่อมาดูแลความเรียบร้อยให้ดินแดนของเขา ถามว่าเขาจะเอาคนมาจากไหน ก็เอามาจากอาณานิคมคืออินเดีย ก็ต้อนมา บางส่วนที่มานั้นมีชาวมุสลิมอยู่ด้วย” คุณสุไลมานเล่าให้ฟังขณะที่พวกเราหย่อนตัวลงนั่งขัดสมาธิใจกลางโถงขนาดใหญ่สีขาวสะอาดตา

Masjid 3 City Hall
โถงใหญ่บนมัสยิดเกาลูน (City Hall of Kowloon Mosque & Islamic Center)


จากนั้นประเทศจีนก็ก้าวเข้ามา แต่พวกเขารู้ดีว่าชาวมุสลิมเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว ปัญหาเรื่องการกระทบกระทั่งกันจึงไม่เกิด ปัญหาเรื่องนี่ไม่ใช่แผ่นดินของพวกเจ้า นี่เป็นแผ่นดินของพวกข้าก็ไม่เกิด ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในจุดที่แตกต่างกันของรากฐานในเชิงประวัติศาสตร์ระหว่างฮ่องกงกับไทย เพราะฝ่ายหลังจะเห็นหลักฐานปรากฏว่ากลุ่มคนที่ลงตั้งถิ่นฐานก่อนนับถือพุทธศาสนา และยังคงมีชาวพุทธเป็นส่วนมากถึงปัจจุบัน
คุณสุไลมานบอกว่าชีวิตการเป็นมุสลิมในฮ่องกงนั้นสุขสบายดี อาจมีปัญหาบ้างแต่ก็ไม่ได้หนักหนาและมีความปลอดภัยดีอยู่ ต่างจากในทวีปยุโรปที่ค่อนข้างมีความตึงเครียดมากกว่า “ส่วนหนึ่งคือเพราะชาวฮ่องกงค่อนข้างมีทัศนคติที่เปิดกว้างด้วย” อิหม่ามใหญ่เสริมด้วยรอยยิ้ม


อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยกันทำให้เราเห็นว่าแม้ในฮ่องกงจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องความเข้าใจผิด แต่ในระดับโลกนั้นยังคงมีความเข้าใจผิดมากมายที่คุณสุไลมานอยากให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน


ตัวอย่างแรกที่ยกขึ้นมาคือความเข้าใจผิดที่ว่า “มุสลิมมาจากข้างนอกเสมอ (All Muslims come from outside)” ซึ่งเกิดจากปัญหาเรื่องพื้นที่ “อย่างเช่นประเทศจีนกับเมียนมาร์ สมมติมีครอบครัว A กับ B เป็นครอบครัวชาวจีน เป็นครอบครัวเดียวกัน อยู่ในพื้นที่ของจีน วันหนึ่งรัฐบาลประกาศว่าจะแบ่งพื้นที่บริเวณนี้เป็นจีนส่วนหนึ่ง เมียนมาร์ส่วนหนึ่ง แล้วมาตัดแบ่งตรงกลางระหว่าง A กับ B ทำให้ A ยังอยู่ในแผ่นดินจีน แต่ B มาอยู่แผ่นดินเมียนมาร์ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือดินแดนเป็นเมียนมาร์ แต่ประชากรเป็นจีน ก็เกิดการเข้าใจผิด ที่เรา (ชาวมุสลิม) อยู่ในฮ่องกงบางทีก็ถูกเข้าใจผิด ดังนั้นเรามองว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่คน แต่มีคนอยากให้เกิดปัญหา เช่น เรื่องการเมือง”


ดังนั้น “Not all Muslims come from outside”


ปัญหาถัดมา คุณสุไลมานชี้ขึ้นไปเหนือหัวพวกเราซึ่งเป็นโดมแล้วถามพวกเราว่ารู้ไหมว่าโดมของมัสยิดมีไว้ทำอะไร

Masjid 4 Dome
โดมด้านในมัสยิด (Dome inside the mosque)

คำตอบที่ได้รับช่างคาดไม่ถึง “มัสยิดทุกแห่งต้องมีโดม มันเป็นการออกแบบในเชิงการปฏิบัติและการใช้งานจริง (All mosques have domes; they are practical and functional designs)” อิหม่ามใหญ่บอกเราว่าให้ลองจินตนาการถึงสมัยอดีต ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีไมโครโฟนกับเครื่องขยายเสียง ในห้องโถงที่ผู้นำสวดนั่งอยู่ด้านหน้าจะทำยังไงให้เสียงมันดังจนคนด้านหลังก็ได้ยิน


ใช่แล้ว Echo นั่นเอง อาศัยเสียงที่สะท้อนไปมาอยู่ในโดมกระจายมันออกไปเพื่อให้ทุกคนในโถงได้ยินเสียงสวดนำ


อีกตัวอย่างหนึ่งคือ คุณสุไลมานให้เราลองคิดว่าในอดีตที่ไม่มีพัดลม ไม่มีเครื่องปรับอากาศ จะทำยังไง
“ตามหลักวิทยาศาสตร์ ความร้อนลอยขึ้นเสมอ (Heat goes up)” อิหม่ามใหญ่บอกยิ้ม ๆ ความขบขันกระจายอยู่เต็มใบหน้าขัดกับสีหน้าเหวอ ๆ ของพวกเรา ไม่น่าเชื่อว่าโดมที่เราเฝ้าสงสัยถึงความหมายในเชิงศาสนาของมันมาตลอดจะมีความหมายในเชิงวิทยาศาสตร์แบบนี้


“ไม่ได้มีความหมายอะไรซ่อนอยู่เลย เป็นแค่ข้อเท็จจริง (No any meaning, just fact)”


อีกหนึ่งปัญหาที่คุณสุไลมานอยากแก้ไขความเข้าใจคือเรื่องของอาหารฮาลาล (Halal) ซึ่งตามคัมภีร์กุรอาน (Quran) นั้นระบุว่ามุสลิมควรทานฮาลาล แต่ไม่เคยระบุว่าเป็นไปเพราะเหตุใด


ลักษณะอาหารฮาลาลที่เราพูดคุยกัน

อาทิ ไม่กินเลือด สงสัยหรือไม่ว่าทำไมเวลาไปโรงพยาบาลเขามาตรวจโรคถึงต้องเจาะเลือดเอาไปตรวจ นั่นเพราะโดยปกติแล้วในเลือดของสิ่งมีชีวิตมันมีทุกอย่าง ทั้งไขมัน เม็ดเลือด และโดยเฉพาะ…เชื้อโรค

ไม่กินสัตว์กินเนื้อที่มีเขี้ยว เช่น เสือ สุนัข และไม่กินสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น จระเข้ กบ งู ทั้งนี้เพราะเชื่อว่ามนุษย์ควรกินตามห่วงโซ่อาหารที่ควรกิน

และจุดสำคัญที่คนสนใจและเห็นเป็นเรื่องตลกที่สุด คือไม่กินหมู “เรื่องบางอย่างคนคิดกันไปเองว่าเราไม่กินหมูเพราะพวกเราบูชาหมู แล้วก็มองว่าเป็นเรื่องตลกว่าศาสนาอะไรกันที่บูชาหมู ทั้งที่ความจริงแล้วหมูเป็นสัตว์ที่เป็นไปด้วยพิษ หมูกินทุกอย่าง กินเนื้อที่ไม่ดี กินหมูกันเอง กินกระทั่งศพคนตาย เคยได้ยินประโยคนี้มั้ย คุณเป็นในสิ่งที่คุณกิน (You are what you eat)” แต่ประเด็นหลักของอาหารฮาลาลที่คุณสุไลมานสรุปให้คือเป็นอาหารที่สะอาดและดีต่อสุขภาพ (Hygiene and Healthy)

ในความเข้าใจผิดเกือบทั้งหมดอิหม่ามประจำมัสยิดเกาลูนได้บอกเราว่า “วิทยาศาสตร์และองค์ความรู้ได้พิสูจน์ในสิ่งที่กุรอานบอกเราแล้ว (Science and knowledge prove what Quran said)”

สิ่งที่คุณสุไลมานให้ความสำคัญมากที่สุดคือการแก้ไขความเข้าใจผิดที่สังคมมีต่อมุสลิม

“อย่างในมหาวิทยาลัยฮ่องกง (HKU) เขามีวิชาการศึกษาทั่วไปที่สอนให้นักศึกษาเข้าใจชาวมุสลิม เพื่อลดความขัดแย้ง”

เราสัมผัสได้ไม่น้อยถึงความอัดอั้นตันใจที่คุณสุไลมานมี “คนเกลียดมุสลิม เพราะเชื่อข่าว เชื่อโซเชียลมีเดีย เชื่อที่คนบอก แต่ไม่มีใครเคยมาถามสุลิม อยากรู้อะไรมาถามมุสลิม ไม่ใช่กูเกิล”

ฉะนั้นปัญหาเรื่องความเข้าใจที่ “ถูกต้อง” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างสันติภาพและลดความเกลียดชังที่สังคมกำลังมีต่อชาวมุสลิม “สมมติมีสัญญาณเตือนไฟไหม้ดังขึ้น คนวิ่งหนีกันอลหม่าน มีเสียงประกาศออกมาว่าต้นเพลิงมาจากมัสยิด แต่คุณอยู่ที่มัสยิด ณ ขณะนั้นและมันไม่มีอะไรเลย สิ่งที่คุณต้องทำไม่ใช่เฮโลวิ่งไปกับเขาแต่บอกความจริงกับเขาว่ามันไม่มีไฟ เพื่อสวัสดิภาพของทุกคนคุณต้องพูดความจริง (For the safety of everyone you need to tell the truth) ไม่ใช่ผสมโรงไปกับเขา ทีนี้อาจมีคนตาย ไม่ได้ตายด้วยไฟ เพราะมันไม่มีไฟ แต่ตายเพราะเหยียบกันเอง”

คุณสุไลมานเสริมว่า “เราอยู่บนโลกใบเดียวกันแต่เรากำลังแตกแยกเพราะข้อมูลที่ผิด มุสลิมเป็นเหมือนจิ๊กซอว์พัซเซิล ต่อให้คุณต่อมาถูกต้องแล้ว 99% แต่ถ้าชิ้นสุดท้ายคุณต่อผิด ภาพที่ออกมามันก็ผิด”

Masjid 5 Outside
บรรยากาศภายนอกมัสยิดซึ่งตั้งอยู่ติดกับสวนสาธารณะ (Atmosphere outside of the mosque, located next to Kowloon Park)


เมื่อเราถกกันถึงปัญหาในประเทศไทย ลักษณะที่ปรากฏออกมานั้นไม่ต่างกันเลยกับที่อิหม่ามใหญ่บอกเล่าให้เราฟัง ทุกอย่างเกิดจากความไม่เข้าใจ เกิดจากการไม่สื่อสารกันด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง

 

คุณสุไลมานแนะว่าให้ลองไปมัสยิด ไปคุยกับชาวมุสลิมเพื่อรับข้อมูลจากต้นทางบ้าง ท่านมั่นใจว่าทุกที่ต้องต้อนรับ หากที่ไหนไม่ต้อนรับ แสดงว่าไม่ชอบมาพากล

เป็นเรื่องน่าเศร้าประการหนึ่ง ในประเทศไทยมีชาวมุสลิมกว่า 7 ล้านคน มีมัสยิดกว่า 3,500 แห่ง แต่ไม่เคยมีสักครั้งที่เราจะคิดไปพูดคุย หาความจริงจากพวกเขา จากชาวมุสลิมในบ้านเมืองของเราเอง แต่กลับดั้นด้นข้ามฟ้าข้ามแผ่นดินมาไกลถึงฮ่องกงแล้วพบว่าปัญหาที่เกิดในประเทศไทยกับที่เกิดทั่วทั้งโลกนั้นแทบไม่ต่างกันเลย และต่างสามารถแก้ไขได้ด้วยการสร้างความเข้าใจที่ “ถูกต้อง” เท่านั้น

…เราเดินทางมาไกลเพื่อเข้าใจในสิ่งที่สามารถเข้าใจได้เพียงนั่งรถเมล์ไปไม่กี่ป้าย เรื่องนี้สมควรแล้วหรือ หรือเราจะลองหันไปข้าง ๆ เดินไปไม่กี่ซอย นั่งรถไปเยือนมัสยิด เพื่อตามหาความเข้าใจนั้นที่อยู่ใกล้ตัวเราเสมอมา…

%d bloggers like this: