เรื่อง/ภาพ: ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์
สุนัขพันธุ์ชิสุตัวนี้เป็นหนึ่งในสุนัขที่ป่วยจนต้องได้รับผลิตภัณฑ์เลือด เช่นเดียวกับเพื่อนสี่ขาอีกหลายตัว
“พี่ครับ กรี๊ดเสียแล้วนะครับ เมื่อเช้า”
ย้อนกลับไปราวหนึ่งสัปดาห์ก่อนข่าวร้ายมาเยือน ภาพของกรี๊ด สุนัขไทยพันธุ์ผสมผู้เต็มไปด้วยรอยคมเขี้ยวบนลำตัวถูกเผยแพร่บนเฟซบุ๊กของนิติพนธ์ อินทบุตร ช่างซ่อมโทรศัพท์มือถือวัย 37 ปี เพื่อขอความช่วยเหลือจากบรรดาคนรักสุนัขให้ช่วยสนับสนุนค่ารักษากรี๊ดที่พุ่งสูงกว่า 30,000 บาทและเพื่อตามหาเลือดที่จะมาช่วยต่อลมหายใจของสัตว์แสนรัก
“กรี๊ดโดนกัดเป็นแผลตามตัว ตอนแรกเราไม่คิดว่าหนักมาก แต่ต่อมามีอาการอาเจียนเป็นเลือดเลยต้องรีบพามาที่โรงพยาบาล”
นิติพนธ์เล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่าเขาพาสุนัขตัวอื่นในบ้านมาตรวจสุขภาพเพื่อบริจาคเลือดให้กรี๊ดไม่ต่ำกว่าหกตัว ผลลัพธ์คือมีแค่สองตัวที่ผ่านเกณฑ์ และเลือดจากสุนัขไทยขนาดกลางทั้งสองก็ไม่เพียงพอที่จะเยียวยาเพื่อนให้พ้นขีดอันตราย
กรี๊ดจึงนอนรอคอยความหวังขณะที่เวลานับถอยหลังทุกวินาที จนกระทั่งนิติพนธ์ได้รับการติดต่อจากเจ้าของสุนัขโกลเด้นรีทรีฟเวอร์ผู้พร้อมบริจาคเลือดให้เพื่อนสี่ขาในจำนวนเพียงพอต่อการรักษา แต่โชคร้ายที่หนึ่งวันหลังการติดต่อนั้น อาการป่วยของกรี๊ดกลับทรุดหนักลงจนกระทั่งเสียชีวิต
“สถานการณ์เลือดสุนัขสำรองในโรงพยาบาลตอนนี้ถือว่าขาดแคลนเข้าขั้นวิกฤต” สพ.ญ.จรรยาภรณ์ ธัญกานต์สกุล หรือหมอยิ้ม หัวหน้าหน่วยธนาคารเลือดโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขนเผย ในปี2560 จำนวนสุนัขที่ติดต่อขอรับเลือดมายังโรงพยาบาลมีจำนวนเฉลี่ยมากถึง 4,000 ตัว ขณะที่ปริมาณผลิตภัณฑ์เลือดสำรองของทางธนาคารมีเพียง 2,000 ยูนิตเท่านั้น ซึ่งหมายความว่ามีสุนัขจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งมีจุดจบไม่ต่างจากกรี๊ดเพราะขาดแคลนเลือดมาเยียวยาอาการป่วย
“คนเลี้ยงสุนัขในตอนนี้มีมากขึ้น ฉะนั้นปริมาณสัตว์ป่วยที่เข้ามาขอเลือดก็เยอะตามมา ทั้งจากของโรงพยาบาลเราเองและจากการส่งตัวเข้ามาจากที่อื่น” หมอยิ้มกล่าว
ขณะที่ตัวเลขจากโรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชี้ให้เห็นว่าในแต่ละเดือน จำนวนเฉลี่ยของสุนัขที่ป่วยต้องการเลือดมีสูงถึง 640-800 ตัว แต่ยอดสุนัขที่มาบริจาคเลือดกลับมีไม่เกิน 170 ตัว หรือเพียงร้อยละ 20 ของจำนวนที่ต้องการ สัดส่วนดังกล่าวสะท้อนว่าปัญหานี้เป็นเรื่องวิกฤตเช่นเดียวกัน
ผลิตภัณฑ์เลือดสุนัขสำรองในตู้แช่ของโรงพยาบาลสัตว์ไม่เพียงพอกับจำนวนสุนัขป่วยที่ต้องการเลือดในแต่ละเดือน (ภาพจากธนาคารเลือดสุนัข โรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
สพ.ญ.สุวรัตน์ วดีรัตน์ หรือหมอปุ๋ม หัวหน้าหน่วยธนาคารเลือดโรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความเห็นว่า “สาเหตุของปัญหา (การขาดแคลนเลือด) คือหนึ่ง ความรู้สึกกลัว ส่วนใหญ่เจ้าของมักกลัวว่าถ้าสุนัขไปบริจาคเลือดแล้วจะป่วย ซึ่งนั่นเป็นความเชื่อที่ผิด อย่างที่สองคือคนไม่รู้สึกว่าการให้เลือดจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นจนกว่าสุนัขของตัวเองจะต้องการเลือด ไม่คิดว่าเป็นสิ่งที่เราเองต้องช่วยเหลือกัน”
นอกจากอุปสรรคด้านทัศนคติและความเข้าใจของเจ้าของสุนัขข้างต้น หมอปุ๋มระบุว่าการที่คนในเมืองนิยมพักอาศัยในคอนโดซึ่งมีพื้นที่จำกัดมากขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายการเลี้ยงสุนัขพันธุ์ใหญ่ที่ค่อนข้างสูงจากราคาอาหารและการรักษา เป็นผลให้คนนิยมเลี้ยงสุนัขพันธุ์เล็กมากกว่า
ด้วยเหตุนี้ แม้จำนวนคนเลี้ยงสุนัขจะเพิ่มขึ้น แต่จำนวนสุนัขพันธุ์ใหญ่ที่สามารถบริจาคเลือดได้ยังคงเท่าเดิม ยิ่งไปกว่านั้นยังมีแนวโน้มลดลงเนื่องด้วยเจ้าของบางส่วนเลี้ยงดูไม่เหมาะสม อาทิ ไม่ป้องกันเห็บหมัด ไม่ควบคุมอาหารจนค่าไตสูง ทำให้สุขภาพสุนัขไม่ผ่านเกณฑ์การบริจาค โดยหมอปุ๋มประเมินว่าในจำนวนสุนัขบ้าน 20 ตัวที่เข้ามาบริจาคเลือดจะมีสุขภาพแข็งแรงผ่านเกณฑ์แค่ตัวเดียว
ดังนั้น ทางเลือกหนึ่งของโรงพยาบาลสัตว์เหล่านี้คือการ “ออกหน่วย” หรือใช้หน่วยรับบริจาคเคลื่อนที่เดินทางไปตามบ้านและฟาร์มสุนัขพันธุ์ใหญ่ อย่างไรก็ตาม หมอยิ้มระบุว่าการออกหน่วยมีข้อจำกัดทั้งด้านจำนวนบุคลากร การขนย้ายผลิตภัณฑ์ ต้นทุนค่าเดินทาง อีกทั้งโรงพยาบาลในเครือมหาวิทยาลัยต้องใช้เวลายื่นเอกสารขออนุญาตออกนอกสถานที่ทุกครั้ง
“บุคลากรของเรายังถือว่าไม่เพียงพอที่จะออกหน่วยได้เป็นประจำ และเมื่อเราได้ผลิตภัณฑ์เลือดกลับมา ผลิตภัณฑ์เลือดเหล่านั้นต้องมีการขนย้ายที่ถูกต้อง อุณหภูมิต้องควบคุมได้ อีกเรื่องหนึ่งคือจำนวนบ้าน การออกหน่วยแค่หนึ่งถึงสองบ้านแม้จะดีกว่าไม่ได้ แต่ก็อยากให้มีจำนวนที่มากพอก่อนค่อยออกไป” หมอยิ้มชี้แจง
หมอยิ้มอธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องจากธนาคารเลือดสามารถออกหน่วยอย่างจำกัด การแก้ไขปัญหาขาดแคลนเลือดสำรองเฉพาะหน้าจึงเป็นการติดต่อขอความช่วยเหลือไปยังสถานพยาบาลใกล้เคียงเพื่อขอแบ่งปันผลิตภัณฑ์ รวมถึงการใช้พื้นที่เครือข่ายสังคมออนไลน์ในการประกาศรับบริจาคเลือด
“เราจะประกาศเชิญชวนตามสื่อต่างๆ เช่น ในเฟซบุ๊กเพจของโรงพยาบาล กลุ่มสุนัขที่เข้ามาบริจาคเลือดเป็นประจำบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก อย่างบ้านนินจา (Ninja And The Gang) กลุ่มของปู่ลอยด์ เขาจะช่วยประกาศหาให้” หมอยิ้มว่า
สุนัขโกลเด้นรีทรีฟเวอร์ตัวนี้กำลังบริจาคเลือดเพื่อช่วยเยียวยาอาการป่วยของเพื่อนสี่ขาตัวอื่นๆ
แต่สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว หมอปุ๋ม หัวหน้าหน่วยธนาคารเลือดโรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาฯ กล่าวว่า “การแก้ไขปัญหาทำได้ยากมาก เพราะเป็นเรื่องการเลี้ยงสัตว์ของคน เราไม่สามารถบังคับได้เลยว่าต้องเลี้ยงสุนัขที่ใหญ่พอจะบริจาคเลือด จึงอาจจะทำได้แค่กระตุ้นจิตสำนึกว่าถ้าคุณมีสัตว์ที่สุขภาพแข็งแรงก็มาร่วมบริจาคเลือดก่อนที่เขาจะป่วย … และต่อให้ธนาคารเลือดมีเพิ่มขึ้น แต่ถ้าไม่มีสุนัขเพิ่มขึ้นก็ไม่มีประโยชน์”
ด้านหมอยิ้ม หัวหน้าหน่วยธนาคารเลือดโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขนเสนอว่าการรณรงค์ฉีดวัคซีนแก่สุนัขเพื่อป้องกันโรคจะช่วยเพิ่มจำนวนสุนัขพันธุ์ใหญ่ที่แข็งแรงมากขึ้น รวมถึงการให้ความรู้เรื่องการบริจาคเลือดแก่เจ้าของน่าจะช่วยบรรเทาปัญหาเรื้อรังนี้ได้
“บางคนอาจจะยังไม่ทราบว่าสุนัขบริจาคเลือดได้ เราเลยต้องพยายามโฆษณาให้เห็นว่าสุนัขที่เขาเลี้ยงสามารถบริจาคเลือดได้ ถ้ามีอายุเข้าเกณฑ์คือ 1-7 ปี น้ำหนัก 17 กิโลกรัมขึ้นไป ให้วัคซีนครบถ้วน ไม่ป่วยใดๆ ถ้าเราให้ข้อมูลว่าสุนัขของเขาบริจาคเลือดได้ เขาก็น่าจะเข้ามาเพิ่มขึ้น” หมอยิ้มทิ้งท้ายด้วยความหวัง

Like this:
Like Loading...
เรื่อง/ภาพ: ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์
“พี่ครับ กรี๊ดเสียแล้วนะครับ เมื่อเช้า”
ย้อนกลับไปราวหนึ่งสัปดาห์ก่อนข่าวร้ายมาเยือน ภาพของกรี๊ด สุนัขไทยพันธุ์ผสมผู้เต็มไปด้วยรอยคมเขี้ยวบนลำตัวถูกเผยแพร่บนเฟซบุ๊กของนิติพนธ์ อินทบุตร ช่างซ่อมโทรศัพท์มือถือวัย 37 ปี เพื่อขอความช่วยเหลือจากบรรดาคนรักสุนัขให้ช่วยสนับสนุนค่ารักษากรี๊ดที่พุ่งสูงกว่า 30,000 บาทและเพื่อตามหาเลือดที่จะมาช่วยต่อลมหายใจของสัตว์แสนรัก
“กรี๊ดโดนกัดเป็นแผลตามตัว ตอนแรกเราไม่คิดว่าหนักมาก แต่ต่อมามีอาการอาเจียนเป็นเลือดเลยต้องรีบพามาที่โรงพยาบาล”
นิติพนธ์เล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่าเขาพาสุนัขตัวอื่นในบ้านมาตรวจสุขภาพเพื่อบริจาคเลือดให้กรี๊ดไม่ต่ำกว่าหกตัว ผลลัพธ์คือมีแค่สองตัวที่ผ่านเกณฑ์ และเลือดจากสุนัขไทยขนาดกลางทั้งสองก็ไม่เพียงพอที่จะเยียวยาเพื่อนให้พ้นขีดอันตราย
กรี๊ดจึงนอนรอคอยความหวังขณะที่เวลานับถอยหลังทุกวินาที จนกระทั่งนิติพนธ์ได้รับการติดต่อจากเจ้าของสุนัขโกลเด้นรีทรีฟเวอร์ผู้พร้อมบริจาคเลือดให้เพื่อนสี่ขาในจำนวนเพียงพอต่อการรักษา แต่โชคร้ายที่หนึ่งวันหลังการติดต่อนั้น อาการป่วยของกรี๊ดกลับทรุดหนักลงจนกระทั่งเสียชีวิต
“สถานการณ์เลือดสุนัขสำรองในโรงพยาบาลตอนนี้ถือว่าขาดแคลนเข้าขั้นวิกฤต” สพ.ญ.จรรยาภรณ์ ธัญกานต์สกุล หรือหมอยิ้ม หัวหน้าหน่วยธนาคารเลือดโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขนเผย ในปี2560 จำนวนสุนัขที่ติดต่อขอรับเลือดมายังโรงพยาบาลมีจำนวนเฉลี่ยมากถึง 4,000 ตัว ขณะที่ปริมาณผลิตภัณฑ์เลือดสำรองของทางธนาคารมีเพียง 2,000 ยูนิตเท่านั้น ซึ่งหมายความว่ามีสุนัขจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งมีจุดจบไม่ต่างจากกรี๊ดเพราะขาดแคลนเลือดมาเยียวยาอาการป่วย
“คนเลี้ยงสุนัขในตอนนี้มีมากขึ้น ฉะนั้นปริมาณสัตว์ป่วยที่เข้ามาขอเลือดก็เยอะตามมา ทั้งจากของโรงพยาบาลเราเองและจากการส่งตัวเข้ามาจากที่อื่น” หมอยิ้มกล่าว
ขณะที่ตัวเลขจากโรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชี้ให้เห็นว่าในแต่ละเดือน จำนวนเฉลี่ยของสุนัขที่ป่วยต้องการเลือดมีสูงถึง 640-800 ตัว แต่ยอดสุนัขที่มาบริจาคเลือดกลับมีไม่เกิน 170 ตัว หรือเพียงร้อยละ 20 ของจำนวนที่ต้องการ สัดส่วนดังกล่าวสะท้อนว่าปัญหานี้เป็นเรื่องวิกฤตเช่นเดียวกัน
สพ.ญ.สุวรัตน์ วดีรัตน์ หรือหมอปุ๋ม หัวหน้าหน่วยธนาคารเลือดโรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความเห็นว่า “สาเหตุของปัญหา (การขาดแคลนเลือด) คือหนึ่ง ความรู้สึกกลัว ส่วนใหญ่เจ้าของมักกลัวว่าถ้าสุนัขไปบริจาคเลือดแล้วจะป่วย ซึ่งนั่นเป็นความเชื่อที่ผิด อย่างที่สองคือคนไม่รู้สึกว่าการให้เลือดจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นจนกว่าสุนัขของตัวเองจะต้องการเลือด ไม่คิดว่าเป็นสิ่งที่เราเองต้องช่วยเหลือกัน”
นอกจากอุปสรรคด้านทัศนคติและความเข้าใจของเจ้าของสุนัขข้างต้น หมอปุ๋มระบุว่าการที่คนในเมืองนิยมพักอาศัยในคอนโดซึ่งมีพื้นที่จำกัดมากขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายการเลี้ยงสุนัขพันธุ์ใหญ่ที่ค่อนข้างสูงจากราคาอาหารและการรักษา เป็นผลให้คนนิยมเลี้ยงสุนัขพันธุ์เล็กมากกว่า
ด้วยเหตุนี้ แม้จำนวนคนเลี้ยงสุนัขจะเพิ่มขึ้น แต่จำนวนสุนัขพันธุ์ใหญ่ที่สามารถบริจาคเลือดได้ยังคงเท่าเดิม ยิ่งไปกว่านั้นยังมีแนวโน้มลดลงเนื่องด้วยเจ้าของบางส่วนเลี้ยงดูไม่เหมาะสม อาทิ ไม่ป้องกันเห็บหมัด ไม่ควบคุมอาหารจนค่าไตสูง ทำให้สุขภาพสุนัขไม่ผ่านเกณฑ์การบริจาค โดยหมอปุ๋มประเมินว่าในจำนวนสุนัขบ้าน 20 ตัวที่เข้ามาบริจาคเลือดจะมีสุขภาพแข็งแรงผ่านเกณฑ์แค่ตัวเดียว
ดังนั้น ทางเลือกหนึ่งของโรงพยาบาลสัตว์เหล่านี้คือการ “ออกหน่วย” หรือใช้หน่วยรับบริจาคเคลื่อนที่เดินทางไปตามบ้านและฟาร์มสุนัขพันธุ์ใหญ่ อย่างไรก็ตาม หมอยิ้มระบุว่าการออกหน่วยมีข้อจำกัดทั้งด้านจำนวนบุคลากร การขนย้ายผลิตภัณฑ์ ต้นทุนค่าเดินทาง อีกทั้งโรงพยาบาลในเครือมหาวิทยาลัยต้องใช้เวลายื่นเอกสารขออนุญาตออกนอกสถานที่ทุกครั้ง
“บุคลากรของเรายังถือว่าไม่เพียงพอที่จะออกหน่วยได้เป็นประจำ และเมื่อเราได้ผลิตภัณฑ์เลือดกลับมา ผลิตภัณฑ์เลือดเหล่านั้นต้องมีการขนย้ายที่ถูกต้อง อุณหภูมิต้องควบคุมได้ อีกเรื่องหนึ่งคือจำนวนบ้าน การออกหน่วยแค่หนึ่งถึงสองบ้านแม้จะดีกว่าไม่ได้ แต่ก็อยากให้มีจำนวนที่มากพอก่อนค่อยออกไป” หมอยิ้มชี้แจง
หมอยิ้มอธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องจากธนาคารเลือดสามารถออกหน่วยอย่างจำกัด การแก้ไขปัญหาขาดแคลนเลือดสำรองเฉพาะหน้าจึงเป็นการติดต่อขอความช่วยเหลือไปยังสถานพยาบาลใกล้เคียงเพื่อขอแบ่งปันผลิตภัณฑ์ รวมถึงการใช้พื้นที่เครือข่ายสังคมออนไลน์ในการประกาศรับบริจาคเลือด
“เราจะประกาศเชิญชวนตามสื่อต่างๆ เช่น ในเฟซบุ๊กเพจของโรงพยาบาล กลุ่มสุนัขที่เข้ามาบริจาคเลือดเป็นประจำบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก อย่างบ้านนินจา (Ninja And The Gang) กลุ่มของปู่ลอยด์ เขาจะช่วยประกาศหาให้” หมอยิ้มว่า
แต่สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว หมอปุ๋ม หัวหน้าหน่วยธนาคารเลือดโรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาฯ กล่าวว่า “การแก้ไขปัญหาทำได้ยากมาก เพราะเป็นเรื่องการเลี้ยงสัตว์ของคน เราไม่สามารถบังคับได้เลยว่าต้องเลี้ยงสุนัขที่ใหญ่พอจะบริจาคเลือด จึงอาจจะทำได้แค่กระตุ้นจิตสำนึกว่าถ้าคุณมีสัตว์ที่สุขภาพแข็งแรงก็มาร่วมบริจาคเลือดก่อนที่เขาจะป่วย … และต่อให้ธนาคารเลือดมีเพิ่มขึ้น แต่ถ้าไม่มีสุนัขเพิ่มขึ้นก็ไม่มีประโยชน์”
ด้านหมอยิ้ม หัวหน้าหน่วยธนาคารเลือดโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขนเสนอว่าการรณรงค์ฉีดวัคซีนแก่สุนัขเพื่อป้องกันโรคจะช่วยเพิ่มจำนวนสุนัขพันธุ์ใหญ่ที่แข็งแรงมากขึ้น รวมถึงการให้ความรู้เรื่องการบริจาคเลือดแก่เจ้าของน่าจะช่วยบรรเทาปัญหาเรื้อรังนี้ได้
“บางคนอาจจะยังไม่ทราบว่าสุนัขบริจาคเลือดได้ เราเลยต้องพยายามโฆษณาให้เห็นว่าสุนัขที่เขาเลี้ยงสามารถบริจาคเลือดได้ ถ้ามีอายุเข้าเกณฑ์คือ 1-7 ปี น้ำหนัก 17 กิโลกรัมขึ้นไป ให้วัคซีนครบถ้วน ไม่ป่วยใดๆ ถ้าเราให้ข้อมูลว่าสุนัขของเขาบริจาคเลือดได้ เขาก็น่าจะเข้ามาเพิ่มขึ้น” หมอยิ้มทิ้งท้ายด้วยความหวัง
Share this:
Like this: