ถนนเยาวราช อดีตศูนย์กลางความบันเทิงแห่งหนึ่งของประเทศ
เรื่อง/ภาพ: วริศรา ชัยศุจยากร
ของกิน สีแดง ขนมปัง กวยจั๊บและป้ายไฟ คือภาพของถนนเยาวราชที่เรามักจะเห็นเป็นประจำเมื่อเลื่อนนิ้วผ่านโซเชียลมีเดีย ผ่านสายตาของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ
แต่ในสายตาของคนท้องถิ่น เยาวราชไม่ได้เป็นเพียงแค่ “สถานที่ท่องเที่ยว” แต่เป็น “บ้าน” ภาพของเยาวราชที่เขาเห็นและผูกพันจึงแตกต่างออกไปด้วยเรื่องราวและความทรงจำ
อาเจ็กสมชัย กวางทองพาณิชย์ หน้าภัตตาคารยิ้มยิ้ม
อาเจ็กสมชัย กวางทองพานิชย์ เจ้าของกิจการขายเชือกวัย 51 ปีผู้อาศัยอยู่ในย่านนี้มาทั้งชีวิตและมีความสุขกับการค้นคว้าอดีตของบ้านตัวเอง สวมบทบาทนักประวัติศาสตร์ชุมชนและตัวแทนของคนท้องถิ่น เล่าเรื่องเยาวราชในสายตาของคนเยาวราชให้เราฟัง
หวนย้อนกลับไปในช่วงประมาณปี 2510 เยาวราชเคยเป็นศูนย์กลางของความบันเทิงแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ทองหล่อหรือสยามสแควร์ในปัจจุบันเพราะเคยเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์และโรงงิ้วนับสิบ ไม่ว่าจะเป็นโรงภาพยนตร์เท็กซัส ศรีเยาวราช ศรีราชวงศ์ สิริรามาและอีกมากมาย รวมถึงโรงภาพยนตร์อีกหนึ่งแห่งที่โดดเด่นขึ้นในความทรงจำสมัยเด็กของอาเจ็กสมชัย
“ถ้าคุณพูดถึงถนนเยาวราช เจ็กจะนึกถึง ‘โรงหนังเทียนกัวเทียน’ ” อาเจ็กบอก โรงหนังเทียนกัวเทียนตั้งอยู่บนบริเวณซอยเยาวพานิช ใกล้กับปากซอยแปลงนาม ฉายหนังของชอว์บราเดอร์ส สตูดิโอจากฮ่องกง
“มันเป็นตัวแทนของความเป็น Entertainment Complex (ศูนย์รวมความบันเทิง) ที่เจ็กคิดถึง เรามีจินตนาการกับมันเยอะ คุณสามารถดูไปเรื่อยๆ ทุกโรงได้ด้วย มันมีสิบโรง โรงงิ้วก็ผ่าน คณะตั่งชอหุย ไม่เอาเบื่อ ข้ามไปศรีราชวงศ์ ศรีเยาวราชนะ แล้วก็วกมาคาเธ่ย์ ถ้าถามว่าชอบดูหนังเรื่องอะไร เรื่อง ‘ฉายวันนี้ โปรแกรมหน้า’ กับ ‘เร็วๆ นี้’ สองเรื่อง” อาเจ็กเล่นมุกตลกชวนให้เราหัวเราะเบาๆ
โรงหนังเทียนกัวเทียนในความทรงจำของอาเจ็ก ปัจจุบัน
ปัจจุบันมีเพียงโรงภาพยนตร์ไชน่าทาวน์รามาโรงเดียวเท่านั้นที่ยังเปิดให้บริการ เทียนกัวเทียนในความทรงจำของอาเจ็กปิดตัวลง บริเวณที่โรงภาพยนตร์สิริรามาเคยตั้งอยู่ปัจจุบันกำลังก่อสร้างคอนโด ส่วนศรีเยาวราชกลายเป็นที่จอดรถสำหรับผู้คนที่แวะเวียนมาเพื่อทานอาหารเหลือเพียงแค่ป้ายไฟเก่าที่บ่งบอกถึงความรุ่งเรืองในฐานะศูนย์รวมความบันเทิงในอดีต
ถึงแม้ว่าเยาวราชจะเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวในฐานะถนนสายอาหารซึ่งเป็นผลจากโครงการของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยประมาณปี 2540 แต่อาเจ็กยืนยันว่าชื่อเสียงในเรื่องของอาหารการกินของเยาวราชมีมาตั้งแต่ตอนที่เยาวราชยังเป็นศูนย์รวมความบันเทิง และความโด่งดังของอาหารจีนเยาวราชเกิดจากความได้เปรียบทางสถานที่บวกกับวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับการกินของกลุ่มคน
“เรา (เยาวราช) ดีได้เพราะว่าเรามีท่าเรืออยู่ตรงนี้ เราสั่งซีอิ๊วจากเมืองจีนเข้ามา เราสั่งทุกอย่างจากฮ่องกงเข้ามา เรามีสวนผักอยู่ข้างๆ ซึ่งเราสามารถนำผลผลิตทางการเกษตรเข้ามารวมกัน เราผ่านกลุ่มคนซึ่งในชีวิตนี้ให้ความสำคัญกับการกินมากเพราะมันเป็นความสุขอย่างเดียวที่เขาเสพได้” อาเจ็กย้อนอดีต
แม้ได้รับการยกย่องในฐานะสตรีทฟู้ดชื่อดังของประเทศ อาเจ็กเล่าว่าโครงการกลับไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการเท่าไรนัก และขาดไร้ความเข้าใจในการวางแผนและความร่วมมือระหว่างผู้มีอำนาจกับคนในชุมชน ทำให้รากเหง้าความละเอียดของวัฒนธรรมการกินเลือนหายไป
เราจึงถามอาเจ็กว่า แล้วร้านอาหารร้านไหนในย่านนี้ที่ยังคงรสชาติและความละเอียดแบบจีนดั้งเดิมไว้ได้ อาเจ็กตอบคำถามด้วยการพาเดินออกจากซอยวานิช ไปยัง “ยิ้มยิ้ม” ภัตตาคารอาหารเหลาอายุกว่าร้อยปีในซอยเยาวพานิช
“ยิ้มยิ้มก็เป็นอีกที่ที่ไม่เคยเปลี่ยนเลย” อาเจ็กสมชัยบอก ก่อนจะเอ่ยทักทายอาเฮียเจ้าของร้านรุ่นที่สาม ที่หน้าตายิ้มยิ้มสมชื่ออย่างเป็นกันเอง พร้อมกับส่งขนมที่หยิบติดไม้ติดมือมาจากบ้านให้อาเฮียเป็นของฝาก
ยิ้มยิ้ม เป็นภัตตาคารอาหารจีนแต้จิ๋วที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย เปิดให้บริการมามากกว่าหนึ่งร้อยปี มีเมนูแนะนำเป็นฮื่อแซ (ปลาดิบจีน) และ อีหมี่ (บะหมี่ไข่นำไปทอดกรอบ โรยหน้าด้วยแฮมและไก่ฉีก กินคู่กับน้ำซุป) เสริมด้วยไส้หมูทอดและแมงกะพรุนน้ำมันงา
ฮื่อแซ เมนูขี้นชื่อของภัตตาคารยิ้มยิ้ม
ในร้านอาหารที่บรรยากาศไม่เคยเปลี่ยนไป บทสนทนาระหว่างมื้ออาหารนี้กลับกลายเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของถนนเยาวราช
“การอนุรักษ์กับการพัฒนา มันเป็นจุดที่จริงๆ แล้วมันทำไปด้วยกันได้”
อาเจ็กสมชัยมองว่าการเข้ามาของรถไฟฟ้าใต้ดินในปัจจุบันที่มองว่าเป็น “การพัฒนาแต่ไม่อนุรักษ์” เพราะสถาปัตยกรรมที่สร้างใหม่ทำลายหัวใจของเมืองเก่าไป แต่สิ่งใหม่ที่ได้มาไม่สอดคล้องกับพื้นที่และไม่ปราณีตนัก
อาเจ็กยังกล่าวถึงอนาคตของเยาวราชว่า รถไฟฟ้าใต้ดินจะช่วยให้การเดินทางมายังพื้นที่ท่องเที่ยวขนาด 4,000 ตารางเมตรสะดวกมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีแผนมารองรับคนที่จะหลั่งไหลเข้ามา
“การเข้ามาของรถไฟฟ้า คนเข้ามาในวันละกี่ร้อยคน จะมาทุกกี่นาที แล้วเยาวราชจะเกิดอะไรขึ้น ไม่มีอะไรมาก ก็แค่แถวขนมปังยาวขึ้น เพราะมันไม่มีอะไรใหม่และไม่มีวิธีคิดแบบใหม่ๆ เข้ามา สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความน่ารำคาญก็จะมากขึ้น คนมาถึงก็จะเบื่อ” อาเจ็กตั้งข้อสังเกต
เขาปิดท้ายว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา แต่ต้องมีเป้าหมายให้คนไปข้างหน้า และต้องกำหนดภาพของเยาวราชที่อยากให้เป็นในอนาคตร่วมกันให้ชัดเจน
“ต้องทำให้คนเห็นว่าเห็นว่าอีก 20 ปีข้างหน้า ทำตามแผนเป็นขั้นตอนไปแล้วควรจะได้อะไร ในห้าปีสิบปีเราจะเห็นอะไร คุณต้องมีภาพเหล่านี้ให้คนเห็น ไม่ใช่ว่าคุณตามไอ้นี่ไปแล้วกัน แล้วคนจะต้องทำอะไรล่ะ มันไม่มีใครเห็นทาง” อาเจ็กสมชัยกล่าว
เวลาบังคับให้เราต้องเดินไปข้างหน้า อนาคตจึงเข้ามาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การก้าวไปข้างหน้าโดยปราศจากจุดมุ่งหมาย อาจจะไม่ใช่การก้าวเดินที่ควรจะเป็น
Like this:
Like Loading...
เรื่อง/ภาพ: วริศรา ชัยศุจยากร
ของกิน สีแดง ขนมปัง กวยจั๊บและป้ายไฟ คือภาพของถนนเยาวราชที่เรามักจะเห็นเป็นประจำเมื่อเลื่อนนิ้วผ่านโซเชียลมีเดีย ผ่านสายตาของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ
แต่ในสายตาของคนท้องถิ่น เยาวราชไม่ได้เป็นเพียงแค่ “สถานที่ท่องเที่ยว” แต่เป็น “บ้าน” ภาพของเยาวราชที่เขาเห็นและผูกพันจึงแตกต่างออกไปด้วยเรื่องราวและความทรงจำ
อาเจ็กสมชัย กวางทองพานิชย์ เจ้าของกิจการขายเชือกวัย 51 ปีผู้อาศัยอยู่ในย่านนี้มาทั้งชีวิตและมีความสุขกับการค้นคว้าอดีตของบ้านตัวเอง สวมบทบาทนักประวัติศาสตร์ชุมชนและตัวแทนของคนท้องถิ่น เล่าเรื่องเยาวราชในสายตาของคนเยาวราชให้เราฟัง
หวนย้อนกลับไปในช่วงประมาณปี 2510 เยาวราชเคยเป็นศูนย์กลางของความบันเทิงแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ทองหล่อหรือสยามสแควร์ในปัจจุบันเพราะเคยเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์และโรงงิ้วนับสิบ ไม่ว่าจะเป็นโรงภาพยนตร์เท็กซัส ศรีเยาวราช ศรีราชวงศ์ สิริรามาและอีกมากมาย รวมถึงโรงภาพยนตร์อีกหนึ่งแห่งที่โดดเด่นขึ้นในความทรงจำสมัยเด็กของอาเจ็กสมชัย
“ถ้าคุณพูดถึงถนนเยาวราช เจ็กจะนึกถึง ‘โรงหนังเทียนกัวเทียน’ ” อาเจ็กบอก โรงหนังเทียนกัวเทียนตั้งอยู่บนบริเวณซอยเยาวพานิช ใกล้กับปากซอยแปลงนาม ฉายหนังของชอว์บราเดอร์ส สตูดิโอจากฮ่องกง
“มันเป็นตัวแทนของความเป็น Entertainment Complex (ศูนย์รวมความบันเทิง) ที่เจ็กคิดถึง เรามีจินตนาการกับมันเยอะ คุณสามารถดูไปเรื่อยๆ ทุกโรงได้ด้วย มันมีสิบโรง โรงงิ้วก็ผ่าน คณะตั่งชอหุย ไม่เอาเบื่อ ข้ามไปศรีราชวงศ์ ศรีเยาวราชนะ แล้วก็วกมาคาเธ่ย์ ถ้าถามว่าชอบดูหนังเรื่องอะไร เรื่อง ‘ฉายวันนี้ โปรแกรมหน้า’ กับ ‘เร็วๆ นี้’ สองเรื่อง” อาเจ็กเล่นมุกตลกชวนให้เราหัวเราะเบาๆ
ปัจจุบันมีเพียงโรงภาพยนตร์ไชน่าทาวน์รามาโรงเดียวเท่านั้นที่ยังเปิดให้บริการ เทียนกัวเทียนในความทรงจำของอาเจ็กปิดตัวลง บริเวณที่โรงภาพยนตร์สิริรามาเคยตั้งอยู่ปัจจุบันกำลังก่อสร้างคอนโด ส่วนศรีเยาวราชกลายเป็นที่จอดรถสำหรับผู้คนที่แวะเวียนมาเพื่อทานอาหารเหลือเพียงแค่ป้ายไฟเก่าที่บ่งบอกถึงความรุ่งเรืองในฐานะศูนย์รวมความบันเทิงในอดีต
ถึงแม้ว่าเยาวราชจะเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวในฐานะถนนสายอาหารซึ่งเป็นผลจากโครงการของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยประมาณปี 2540 แต่อาเจ็กยืนยันว่าชื่อเสียงในเรื่องของอาหารการกินของเยาวราชมีมาตั้งแต่ตอนที่เยาวราชยังเป็นศูนย์รวมความบันเทิง และความโด่งดังของอาหารจีนเยาวราชเกิดจากความได้เปรียบทางสถานที่บวกกับวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับการกินของกลุ่มคน
“เรา (เยาวราช) ดีได้เพราะว่าเรามีท่าเรืออยู่ตรงนี้ เราสั่งซีอิ๊วจากเมืองจีนเข้ามา เราสั่งทุกอย่างจากฮ่องกงเข้ามา เรามีสวนผักอยู่ข้างๆ ซึ่งเราสามารถนำผลผลิตทางการเกษตรเข้ามารวมกัน เราผ่านกลุ่มคนซึ่งในชีวิตนี้ให้ความสำคัญกับการกินมากเพราะมันเป็นความสุขอย่างเดียวที่เขาเสพได้” อาเจ็กย้อนอดีต
แม้ได้รับการยกย่องในฐานะสตรีทฟู้ดชื่อดังของประเทศ อาเจ็กเล่าว่าโครงการกลับไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการเท่าไรนัก และขาดไร้ความเข้าใจในการวางแผนและความร่วมมือระหว่างผู้มีอำนาจกับคนในชุมชน ทำให้รากเหง้าความละเอียดของวัฒนธรรมการกินเลือนหายไป
เราจึงถามอาเจ็กว่า แล้วร้านอาหารร้านไหนในย่านนี้ที่ยังคงรสชาติและความละเอียดแบบจีนดั้งเดิมไว้ได้ อาเจ็กตอบคำถามด้วยการพาเดินออกจากซอยวานิช ไปยัง “ยิ้มยิ้ม” ภัตตาคารอาหารเหลาอายุกว่าร้อยปีในซอยเยาวพานิช
“ยิ้มยิ้มก็เป็นอีกที่ที่ไม่เคยเปลี่ยนเลย” อาเจ็กสมชัยบอก ก่อนจะเอ่ยทักทายอาเฮียเจ้าของร้านรุ่นที่สาม ที่หน้าตายิ้มยิ้มสมชื่ออย่างเป็นกันเอง พร้อมกับส่งขนมที่หยิบติดไม้ติดมือมาจากบ้านให้อาเฮียเป็นของฝาก
ยิ้มยิ้ม เป็นภัตตาคารอาหารจีนแต้จิ๋วที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย เปิดให้บริการมามากกว่าหนึ่งร้อยปี มีเมนูแนะนำเป็นฮื่อแซ (ปลาดิบจีน) และ อีหมี่ (บะหมี่ไข่นำไปทอดกรอบ โรยหน้าด้วยแฮมและไก่ฉีก กินคู่กับน้ำซุป) เสริมด้วยไส้หมูทอดและแมงกะพรุนน้ำมันงา
ในร้านอาหารที่บรรยากาศไม่เคยเปลี่ยนไป บทสนทนาระหว่างมื้ออาหารนี้กลับกลายเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของถนนเยาวราช
“การอนุรักษ์กับการพัฒนา มันเป็นจุดที่จริงๆ แล้วมันทำไปด้วยกันได้”
อาเจ็กสมชัยมองว่าการเข้ามาของรถไฟฟ้าใต้ดินในปัจจุบันที่มองว่าเป็น “การพัฒนาแต่ไม่อนุรักษ์” เพราะสถาปัตยกรรมที่สร้างใหม่ทำลายหัวใจของเมืองเก่าไป แต่สิ่งใหม่ที่ได้มาไม่สอดคล้องกับพื้นที่และไม่ปราณีตนัก
อาเจ็กยังกล่าวถึงอนาคตของเยาวราชว่า รถไฟฟ้าใต้ดินจะช่วยให้การเดินทางมายังพื้นที่ท่องเที่ยวขนาด 4,000 ตารางเมตรสะดวกมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีแผนมารองรับคนที่จะหลั่งไหลเข้ามา
“การเข้ามาของรถไฟฟ้า คนเข้ามาในวันละกี่ร้อยคน จะมาทุกกี่นาที แล้วเยาวราชจะเกิดอะไรขึ้น ไม่มีอะไรมาก ก็แค่แถวขนมปังยาวขึ้น เพราะมันไม่มีอะไรใหม่และไม่มีวิธีคิดแบบใหม่ๆ เข้ามา สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความน่ารำคาญก็จะมากขึ้น คนมาถึงก็จะเบื่อ” อาเจ็กตั้งข้อสังเกต
เขาปิดท้ายว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา แต่ต้องมีเป้าหมายให้คนไปข้างหน้า และต้องกำหนดภาพของเยาวราชที่อยากให้เป็นในอนาคตร่วมกันให้ชัดเจน
เวลาบังคับให้เราต้องเดินไปข้างหน้า อนาคตจึงเข้ามาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การก้าวไปข้างหน้าโดยปราศจากจุดมุ่งหมาย อาจจะไม่ใช่การก้าวเดินที่ควรจะเป็น
Share this:
Like this: