เรื่อง/ภาพ : โมเลกุล จงวิไล
ปฏิเสธได้ยากว่าการเดินทางในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครมักเต็มไปด้วยเรื่องวุ่นวายให้ได้เอาขาก่ายหน้าผากอยู่เสมอ รถติดคือวงเวียนชีวิตที่ดูไม่มีทางหลุดพ้น พอๆ กับการหาที่จอดรถซึ่งขับวนแทบตายก็ยังหาไม่เจอ การใช้ยานพาหนะส่วนตัวจึงอาจไม่ตอบโจทย์สำหรับใครหลายๆ คน
ณ จุดนี้ ขนส่งสาธารณะและรับจ้างจึงเป็นทางเลือกให้ประชาชนได้ใช้บริการ พร้อมความหวังที่จะพาทุกคนไปถึงจุดหมายอย่างราบรื่น อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงอาจไม่มุ้งมิ้งอย่างภาพฝัน เพราะระบบขนส่งสาธารณะยังบกพร่องอยู่มาก โดยเฉพาะด้าน “ความปลอดภัย” การเดินทางออกจากบ้านแต่ละวันกลายเป็นบททดสอบบุญเก่า เมื่ออุบัติเหตุเกี่ยวกับขนส่งสาธารณะมีให้เห็นจนชินตา แต่ด้วยความจำเป็น (และจำใจ) ชาวกรุงจึงต้องแบกรับความเสี่ยงนี้ไว้แม้จะไม่เต็มใจก็ตาม
Everyday Life = Everyday Luck?
นางสาวสุชานาถ โจภัทรกุล นิสิตลูกค้าประจำของบริการขนส่งรับจ้าง เล่าถึงเหตุการณ์สุดระทึกในวันที่เธอเรียกใช้มอเตอร์ไซค์รับจ้างตามปกติเพื่อเดินทางจากโรงพยาบาลจุฬาฯ ไปแยกสะพานเหลืองซึ่งมีระยะทางเพียง 2 กิโลเมตร “ระหว่างทาง ตรงหน้าเป็นสี่แยกไฟแดง พี่วินเลยเลี้ยวซ้ายกะจะกลับรถเพื่อขับตรงไปทางเดิม แต่ประเด็นคือมันไม่ใช่ที่ให้กลับรถไง ลักไก่อะพูดง่ายๆ และจังหวะที่เลี้ยวกลับคือรถยนต์คันหลังวิ่งมาพอดี คงเบรกไม่ทันก็เลยชนท้ายจนเสียหลักล้มลงไปทั้งคู่” น.ส.สุชานาถกล่าว
โชคยังดีที่ทั้งคู่ไม่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจึงตัดสินใจออกเดินทางต่อ แต่ความสยองยังไม่จบลงง่ายๆ เมื่อมีรถยนต์ปริศนาวิ่งมาตามหลัง “มีรถขับตามมา บีบแตรดังมาก พอพี่วินจอดก็มีคนลงมาหาเรื่อง เหมือนจังหวะที่โดนชนท้าย รถเรามันเด้งไปขูดรถเขา เจ้าของรถเลยโกรธมาก โวยวายหาว่าเราจะหนี แบบคลั่งเลยล่ะ ตอนนั้นกลัวมากอยากออกมาเพราะเราไม่ใช่คนผิด แต่ก็ต้องยืนอยู่ด้วย” นิสิตหญิงเสริม
แท็กซี่ก็เป็นอีกบริการดีๆ ที่ผู้คนพูดถึงกันหนาหู นางสาววัชรียา ยอดประทุม นักศึกษาปริญญาโท กล่าวถึงค่ำคืนที่เธอเกือบไปไม่รอดถึงเยาวราช หลังจากโบกเรียกแท็กซี่บริเวณป้ายรถเมล์หน้าคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ “ตอนนั้นกลางคืนแล้ว ประมาณสามสี่ทุ่ม และรถเมล์คือรอน้านนาน ป้ายตรงนั้นก็มืดมากจ้า ไม่มีคนเลย พี่เลยตัดสินใจโบกแท็กซี่และก็กวักสีชมพูมาได้คันหนึ่ง” เมื่อเจรจาตกลงจุดหมายได้เธอก็เข้าไปนั่งในรถตามปกติ ก่อนจะเริ่มสัมผัสได้ถึงอะไรบางอย่าง “คือรถมันกระตุกเหมือนเขาขับไม่นิ่ง พี่สังเกตมือของเขามันดุ๊กดิ๊กตลอดเวลา และอยู่ๆ ก็หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาคุย หยิบเกมมาเล่น เป็นอย่างนี้ตลอดทาง พอถึงหัวลำโพงก็ฝ่าไฟแดงเลย ขับเหวี่ยงแรงมากขนาดพี่เอนไปอีกฝั่งหนึ่ง” วัชรียากล่าว
แม้ใครหลายคนจะพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์แบบข้างต้นโดยเปลี่ยนมาใช้ขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น แต่เรื่องสยองก็ยังคงตามหลอนผู้บริโภคราวกับไม่มีทางหนีพ้น
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์รายงานว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Sassanee Smile’bsm Virachat โพสต์ภาพพร้อมบรรยายเหตุการณ์ขณะต่อแถวขึ้นเรือด่วนคลองแสนแสบ ณ ท่าประตูน้ำว่า ขณะที่ผู้หญิงซึ่งยืนต่อหลังเธอกำลังจะก้าวเท้าขึ้นเรือ เรือก็ได้แล่นออกไปก่อน ทำให้ผู้หญิงคนนั้นพลัดตกลงไปในคลอง
ผู้ใช้เฟซบุ๊กเขียนต่อว่า “เจ้าหน้าที่ดูไม่ตกใจเลย แบบเฉยมากทุกคน มีคนกระโดดลงไปช่วย (ไม่ใช่เจ้าหน้าที่) ในขณะที่เจ้าหน้าที่ใส่ชูชีพโยนโฟม โยนห่วงลงมา และพูดเสียงดังว่า อ่ะนี่ครับ นี่แหละครับ บทเรียนนะครับ”
ก่อนโพสต์จะจบลงด้วยยอดแชร์หลักหมื่นและคอมเมนต์ก่นด่าถล่มทลาย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กันยายน มติชนออนไลน์รายงานเหตุที่ผู้โดยสารหญิงรายหนึ่ง เป็นลมบนชานชาลาสถานีบีทีเอสหมอชิตในจังหวะที่รถจอดสนิท ทำให้ร่างเธอล้มกระแทกตัวรถ โชคดีที่เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือได้ทัน
อุปกรณ์ความปลอดภัย: พร้อมใช้ หรือ มีไว้วัดบุญ?
อย่างที่ทราบ “อันตราย” อาจไม่ได้มีปัจจัยมาจากคนขับยานพาหนะเพียงอย่างเดียว แต่อุปกรณ์ที่ไม่เพียบพร้อมก็มีส่วนอย่างมากในการเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้โดยสาร
ในกรณีวินมอเตอร์ไซค์ เป็นที่รู้กันว่าหมวกกันน็อกก็เสมือนเกมวัดดวง โชคดีก็มีให้ โชคร้ายก็ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองไป นางสาววัชรียาเล่าเสริมถึงประสบการณ์การขอหมวกกันน็อคจากวินแถวเพลินจิตให้ฟังว่า “พี่วินบอกแค่นี้เองไม่ต้องใส่หรอก คันอื่นเขาก็ไม่ใส่กัน เราเลยรีบสวนว่าขอใส่เถอะค่ะ กลัวตาย สุดท้ายเขาก็ยอมหาให้ ถึงจะแอบเหวี่ยงหน่อยๆ ก็ตาม”
ถึงแม้อีกทางเลือกของบริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างอย่าง GrabBike จะมีข้อบังคับให้ผู้ขับขี่ต้องจัดหาหมวกกันน็อคให้ลูกค้าใส่ทุกคัน แต่บริการนี้ยังไม่มีการตรากฏหมายออกมารองรับ แม้จะพิจารณาปรับแก้กันมานานหลายปีแล้วก็ตาม
สรุป อุปกรณ์ช่วยเหลือ/ป้องกันอุบัติเหตุ ที่มีให้บนขนส่งสาธารณะทางบก
ส่วนบริการขนส่งทางรางก็มีปัญหาเช่นกัน มติชนออนไลน์รายงานเมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมาว่า รถไฟฟ้าสายสุขุมวิท จากหมอชิตถึงแบริ่ง มีเพียง 7 จาก 22 สถานี ที่มีประตูกั้นชานชาลา ได้แก่ อนุสาวรีย์ชัยฯ พญาไท สยาม ชิดลม อโศก พร้อมพงษ์ และอ่อนนุช ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีลม จากสนามกีฬาแห่งชาติถึงบางหว้า มีเพียง 2 จาก 12 สถานีเท่านั้นที่มีประตูกั้นชานชาลา ได้แก่ ศาลาแดง และช่องนนทรี
สรุป อุปกรณ์ช่วยเหลือ/ป้องกันอุบัติเหตุ ที่มีให้บนขนส่งสาธารณะทางราง
สำหรับขนส่งทางน้ำยอดฮิตอย่างเรือด่วนคลองแสนแสบ หากจะฟันธงว่า “ไม่ปลอดภัยเลย” ก็คงดูเกินจริงไปเสียหน่อย เพราะภายในเรือยังมีแผ่นโฟมชูชีพถึงประมาณ 30 ชิ้นต่อลำ อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจของกรมเจ้าท่าในปี 2559 ระบุว่ามีผู้โดยสารเฉลี่ย 146 คนต่อเที่ยว ดังนั้น หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน ผู้โดยสารคงต้องสวดมนต์ขอให้ตนเป็นผู้โชคดีที่ชิงชูชีพมาได้ ไม่ก็หาทางรอดกันไปตามยถากรรม
สรุป อุปกรณ์ช่วยเหลือ/ป้องกันอุบัติเหตุ ที่มีให้บนขนส่งสาธารณะทางน้ำ
ทางรอดอยู่ไหน ถามใครได้บ้าง?
อาจารย์ณัฏฐพร รอดเจริญ อาจารย์สอนวิชากฎหมายอาญาและผู้ช่วยคณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะวิธีทางกฎหมายที่ผู้โดยสารสามารถทำได้เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจมาหาแบบไม่ทันตั้งตัว โดยยกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 233 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ใช้ยานพาหนะรับจ้างขนส่งคนโดยสาร ซึ่งมีลักษณะการขับขี่ที่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในยานพาหนะ ผู้นั้นมีความผิด
“ดูแค่สภาพว่าน่าจะเป็นอันตราย เช่น ขับขี่หวาดเสียว หรือรถที่ผู้โดยสารห้อยกันแน่นอยู่เต็มคันแต่ก็ยังขับต่อ โดยยังไม่ต้องถึงขั้นเกิดอุบัติเหตุจริง เท่านี้ก็เข้าข่ายความผิด สามารถฟ้องร้องได้แล้ว” อาจารย์เสริม
แต่อีกคำถามคาใจ……คือถ้ามัน ตูม!! ไปแล้วล่ะ จะทำอย่างไร
“ในทางรถยนต์รวมถึงมอเตอร์ไซค์ ผู้ประสบเหตุสามารถใช้สิทธิ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ได้ โดยมีขั้นตอนคือเตรียมใบแจ้งความ พร้อมกับเอกสารการรักษา ไม่ว่าจะเป็นใบรับรองแพทย์หรือค่ารักษาพยาบาล จากนั้นก็ยื่นเรื่องไปที่ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด (จัดตั้งขึ้นตาม พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ มีหน้าที่รับคำร้องขอค่าเสียหายเบื้องต้นและจ่ายค่าสินไหมทดแทนตาม พรบ.) หรือโทร 1791” นักวิชาการกฏหมายอาญากล่าว
หน้าเว็บไซด์ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด http://www.rvp.co.th
เงินเยียวยาผู้ประสบเหตุนี้มาจากกองทุนซึ่งผู้ประสบเหตุสามารถเบิกได้คนละไม่เกิน 50,000 บาท ในกรณีบาดเจ็บ และไม่เกิน 200,000 บาท ในกรณีที่ถึงแก่ความตายหรือพิการ ซึ่งนับว่าพอเป็นข่าวดีให้อุ่นใจได้บ้าง (แม้จะไม่มีใครอยากเจอเหตุที่ทำให้ต้องเบิกเงินก้อนนี้ก็ตาม) แต่ข่าวร้ายก็คือ พรบ.ที่ว่านี้ไม่ได้ครอบคลุมขนส่งสาธารณะชนิดอื่นด้วย
งั้นถ้าตกรางบีทีเอสเพราะไม่มีที่กั้นชานชาลา หรือจมคลองแสนแสบเพราะแย่งชูชีพไม่ทันล่ะจะทำอย่างไร
“ต้องใช้กฎหมายทางแพ่งเข้ามาช่วย ส่วนที่ว่าด้วยเรื่องของการละเมิด หรือในทางแพ่งหมายถึง การกระทำด้วยความจงใจหรือความประมาท ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้อื่น ไม่ว่าเรื่องสิทธิในชีวิต ร่างกาย สุขอนามัย เสรีภาพ หรือสิทธิอื่นใดที่กฎหมายให้การรับรอง และเป็นเหตุให้ผู้นั้นได้รับความเสียหาย บุคคลที่ทำละเมิดจะต้องมีค่าสินไหมทดแทน ชดใช้เยียวยาให้ผู้เสียหายกลับมาเหมือนเดิมมากที่สุด” อาจารย์ณัฏพรกล่าว
อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งโล่งใจ เพราะการฟ้องร้องกรณีละเมิด จะต้องมีหลักฐานพยานที่รัดกุม ผู้เสียหายต้องอธิบายให้ได้ว่า ผู้ขับขี่ละเมิดจริงหรือไม่ การกระทำนั้นส่งผลเสียอย่างไร คิดเป็นค่าเสียหายได้เท่าไร เพียงเท่านี้ก็อยากกลอกตามองบนแล้ว เพราะไม่ใช่ว่าขณะกำลังตกจากเรือ ผู้ประสบเหตุจะมีเวลาถ่ายภาพมาตรวัดความเร็ว นี่ยังไม่นับรวมเวลาที่เสียไปกับการดำเนินคดี ขึ้นโรงขึ้นศาลซึ่งเห็นได้ชัดว่านี่ไม่ใช่กระบวนการที่รวดเร็วและได้ผลแน่นอน
“หลักฐานที่มีจะต้องชี้ชัด เช่น ถ้ากล่าวหาว่าผู้ขับขี่ประมาท ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าประมาทอย่างไร ซึ่งก็กลายเป็นภาระใหญ่หลวงของผู้ประสบเหตุที่ต้องหาหลักฐาน ทำให้จุดนี้ยังคงเป็นช่องโหว่ทางกฎหมาย”
อาจารย์ณัฏฐพรแสดงความเห็นก่อนจะทิ้งท้ายว่า “ทำประกันเอาไว้เถอะ ดีที่สุด”
อาจารย์.ดร.อิสริยะ สัตกุลพิบูลย์ นักวิชาการด้านประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง ภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย เผยว่า ตามประกาศกรมขนส่งทางบก ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 ระบุให้ยานพาหนะประเภทรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์ รถตู้) แท็กซี่ และตุ๊กตุ๊ก ต้องจัดทำประกันภัยเพิ่มเติมนอกเหนือจาก พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 โดยกำหนดวงเงินประกันความเสียหายต่อชีวิตและร่างกายผู้โดยสารซึ่งผู้ขับขี่ต้องทำ อยู่ที่จำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท สำหรับรถเมล์และรถตู้ 50,000 บาท สำหรับแท็กซี่ และ 25,000 บาท สำหรับตุ๊กตุ๊ก
นี่คงพอทำให้ผู้โดยสารหลับฝันดีได้สักตื่นก่อนจะสะดุ้งด้วยฝันร้ายเรื่องใหม่ที่ว่า ประกาศนี้ไม่ได้กล่าวถึงขนส่งชนิดอื่นเลยแม้แต่กระผีกเดียว
นายศศพันธุ์ ระงับภัย นายหน้าประกันภัย บริษัท ออลริสค์ คอนซัลแตนท์ จำกัด อายุ 27 ปี อธิบายต่อกรณีมอเตอร์ไซค์รับจ้างว่า “ไม่มีการบังคับให้ทำประกันภัยในภาคสมัครใจ ซึ่งหากเกิดเหตุค่าเสียหายเกินประกันภัยภาคบังคับ ผู้รับผิดต้องรับผิดชอบส่วนเกินเอง”
หมายความว่าไม่มีการบังคับให้เหล่าพี่วินเสื้อส้มทำประกันอื่นๆ (ภาคสมัครใจ) นอกเหนือจากที่ พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ 2535 กำหนดไว้ (ภาคบังคับ) เท่ากับหากเกิดอุบัติเหตุซึ่งมีค่าเสียหายเกินวงเงินที่ พรบ. คุ้มครอง ผู้โดยสารต้องไปลุ้นเอาเองว่าพี่วินแสนดีได้ทำประกันเอาไว้ไหม หรือไม่ก็ต้องยอมเป็นผู้แพ้และดูแลตัวเองต่อไป
ในส่วน BTS และ MRT นายศศพันธุ์กล่าวว่า เป็นลักษณะธุรกิจเกี่ยวกับขนส่งมวลชนซึ่งรับสัมปทานมาจากรัฐ ทำให้ไม่มีการทำ พรบ. และประกันภัยภาคสมัครใจเหมือนขนส่งบนถนน
BTS และ MRT จึงมีความจำเป็นต้องทำประกันภัยความรับผิดชอบบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นแนวทางที่บริษัทส่วนใหญ่กระทำกัน
“ถือเป็นการโอนความเสี่ยงของตนให้กับบริษัทประกันที่สามารถรับมือได้ดีกว่า เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันจะได้ใช้กรมธรรม์ประกันภัย บรรเทาความเสียหาย แทนที่จะต้องรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมดเอง”
นายหน้าประกันอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัยความรับผิดชอบบุคคลภายนอก
สำหรับการเรียกค่าสินไหมทดแทนกรณีเกิดอุบัติเหตุกับผู้โดยสาร นายศศพันธุ์เสริมว่าโดยทั่วไปจะมีการเก็บหลักฐานต่างๆ อาทิ รายงานจากช่างเทคนิค บันทึกประจำวันของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากนั้นทาง BTS หรือ MRT จะจ่ายค่าเสียหายให้ผู้โดยสารในขั้นแรก ก่อนจะทำการเรียกสินไหมจากบริษัทประกันในภายหลัง ซึ่งรายละเอียดแผนรองรับอุบัติเหตุเหล่านี้ผู้เสียหายต้องสอบถามกับทางบริษัทที่กำกับดูแล BTS และ MRT เอง
สุดท้ายในส่วนเรือโดยสารคลองแสนแสบ นายศศพันธุ์อธิบายว่าถนนและคลองมีลักษณะร่วมกันคือเป็นพื้นที่สาธารณะซึ่งใครจะนำยานพาหนะมาขับขี่ก็ได้ ดังนั้นผู้ให้บริการเรือคลองแสนแสบจึงสามารถทำประกันภัยในส่วนภาคสมัครใจได้เช่นเดียวกับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จึงหมายความว่าหากมีเหตุการณ์ระทึกเกิดขึ้นกับผู้โดยสารไม่ว่าจะ พลัดตกคลอง หรือแย่งชูชีพไม่ทัน ก็คงต้องไปวัดดวงกันอีกทีว่าคนขับเรือได้ทำประกันภัยเอาไว้หรือไม่
ชีวิตคนกรุงรายล้อมไปด้วยความเสี่ยงมากมาย โดยเฉพาะบนขนส่งสาธารณะที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ แม้การเปลี่ยนขนส่งสาธารณะให้ปลอดภัยไร้กังวลคงต้องใช้เวลาประมาณหนึ่ง (หรือประมาณชาติหนึ่งก็ไม่อาจทราบ) แต่สิ่งที่ผู้โดยสารทำได้ตั้งแต่ตอนนี้คือการตระหนักถึงสิทธิความปลอดภัยและการชดเชยค่าเสียหายที่ตนพึงได้รับ เพราะการเลิกใช้ขนส่งสาธารณะคงทำได้ยาก ผู้โดยสารจึงต้องใจถึงและมีความรู้มากพอ
Like this:
Like Loading...
เรื่อง/ภาพ : โมเลกุล จงวิไล
ปฏิเสธได้ยากว่าการเดินทางในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครมักเต็มไปด้วยเรื่องวุ่นวายให้ได้เอาขาก่ายหน้าผากอยู่เสมอ รถติดคือวงเวียนชีวิตที่ดูไม่มีทางหลุดพ้น พอๆ กับการหาที่จอดรถซึ่งขับวนแทบตายก็ยังหาไม่เจอ การใช้ยานพาหนะส่วนตัวจึงอาจไม่ตอบโจทย์สำหรับใครหลายๆ คน
ณ จุดนี้ ขนส่งสาธารณะและรับจ้างจึงเป็นทางเลือกให้ประชาชนได้ใช้บริการ พร้อมความหวังที่จะพาทุกคนไปถึงจุดหมายอย่างราบรื่น อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงอาจไม่มุ้งมิ้งอย่างภาพฝัน เพราะระบบขนส่งสาธารณะยังบกพร่องอยู่มาก โดยเฉพาะด้าน “ความปลอดภัย” การเดินทางออกจากบ้านแต่ละวันกลายเป็นบททดสอบบุญเก่า เมื่ออุบัติเหตุเกี่ยวกับขนส่งสาธารณะมีให้เห็นจนชินตา แต่ด้วยความจำเป็น (และจำใจ) ชาวกรุงจึงต้องแบกรับความเสี่ยงนี้ไว้แม้จะไม่เต็มใจก็ตาม
Everyday Life = Everyday Luck?
นางสาวสุชานาถ โจภัทรกุล นิสิตลูกค้าประจำของบริการขนส่งรับจ้าง เล่าถึงเหตุการณ์สุดระทึกในวันที่เธอเรียกใช้มอเตอร์ไซค์รับจ้างตามปกติเพื่อเดินทางจากโรงพยาบาลจุฬาฯ ไปแยกสะพานเหลืองซึ่งมีระยะทางเพียง 2 กิโลเมตร “ระหว่างทาง ตรงหน้าเป็นสี่แยกไฟแดง พี่วินเลยเลี้ยวซ้ายกะจะกลับรถเพื่อขับตรงไปทางเดิม แต่ประเด็นคือมันไม่ใช่ที่ให้กลับรถไง ลักไก่อะพูดง่ายๆ และจังหวะที่เลี้ยวกลับคือรถยนต์คันหลังวิ่งมาพอดี คงเบรกไม่ทันก็เลยชนท้ายจนเสียหลักล้มลงไปทั้งคู่” น.ส.สุชานาถกล่าว
โชคยังดีที่ทั้งคู่ไม่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจึงตัดสินใจออกเดินทางต่อ แต่ความสยองยังไม่จบลงง่ายๆ เมื่อมีรถยนต์ปริศนาวิ่งมาตามหลัง “มีรถขับตามมา บีบแตรดังมาก พอพี่วินจอดก็มีคนลงมาหาเรื่อง เหมือนจังหวะที่โดนชนท้าย รถเรามันเด้งไปขูดรถเขา เจ้าของรถเลยโกรธมาก โวยวายหาว่าเราจะหนี แบบคลั่งเลยล่ะ ตอนนั้นกลัวมากอยากออกมาเพราะเราไม่ใช่คนผิด แต่ก็ต้องยืนอยู่ด้วย” นิสิตหญิงเสริม
แท็กซี่ก็เป็นอีกบริการดีๆ ที่ผู้คนพูดถึงกันหนาหู นางสาววัชรียา ยอดประทุม นักศึกษาปริญญาโท กล่าวถึงค่ำคืนที่เธอเกือบไปไม่รอดถึงเยาวราช หลังจากโบกเรียกแท็กซี่บริเวณป้ายรถเมล์หน้าคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ “ตอนนั้นกลางคืนแล้ว ประมาณสามสี่ทุ่ม และรถเมล์คือรอน้านนาน ป้ายตรงนั้นก็มืดมากจ้า ไม่มีคนเลย พี่เลยตัดสินใจโบกแท็กซี่และก็กวักสีชมพูมาได้คันหนึ่ง” เมื่อเจรจาตกลงจุดหมายได้เธอก็เข้าไปนั่งในรถตามปกติ ก่อนจะเริ่มสัมผัสได้ถึงอะไรบางอย่าง “คือรถมันกระตุกเหมือนเขาขับไม่นิ่ง พี่สังเกตมือของเขามันดุ๊กดิ๊กตลอดเวลา และอยู่ๆ ก็หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาคุย หยิบเกมมาเล่น เป็นอย่างนี้ตลอดทาง พอถึงหัวลำโพงก็ฝ่าไฟแดงเลย ขับเหวี่ยงแรงมากขนาดพี่เอนไปอีกฝั่งหนึ่ง” วัชรียากล่าว
แม้ใครหลายคนจะพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์แบบข้างต้นโดยเปลี่ยนมาใช้ขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น แต่เรื่องสยองก็ยังคงตามหลอนผู้บริโภคราวกับไม่มีทางหนีพ้น
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์รายงานว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Sassanee Smile’bsm Virachat โพสต์ภาพพร้อมบรรยายเหตุการณ์ขณะต่อแถวขึ้นเรือด่วนคลองแสนแสบ ณ ท่าประตูน้ำว่า ขณะที่ผู้หญิงซึ่งยืนต่อหลังเธอกำลังจะก้าวเท้าขึ้นเรือ เรือก็ได้แล่นออกไปก่อน ทำให้ผู้หญิงคนนั้นพลัดตกลงไปในคลอง
ผู้ใช้เฟซบุ๊กเขียนต่อว่า “เจ้าหน้าที่ดูไม่ตกใจเลย แบบเฉยมากทุกคน มีคนกระโดดลงไปช่วย (ไม่ใช่เจ้าหน้าที่) ในขณะที่เจ้าหน้าที่ใส่ชูชีพโยนโฟม โยนห่วงลงมา และพูดเสียงดังว่า อ่ะนี่ครับ นี่แหละครับ บทเรียนนะครับ”
ก่อนโพสต์จะจบลงด้วยยอดแชร์หลักหมื่นและคอมเมนต์ก่นด่าถล่มทลาย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กันยายน มติชนออนไลน์รายงานเหตุที่ผู้โดยสารหญิงรายหนึ่ง เป็นลมบนชานชาลาสถานีบีทีเอสหมอชิตในจังหวะที่รถจอดสนิท ทำให้ร่างเธอล้มกระแทกตัวรถ โชคดีที่เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือได้ทัน
อุปกรณ์ความปลอดภัย: พร้อมใช้ หรือ มีไว้วัดบุญ?
อย่างที่ทราบ “อันตราย” อาจไม่ได้มีปัจจัยมาจากคนขับยานพาหนะเพียงอย่างเดียว แต่อุปกรณ์ที่ไม่เพียบพร้อมก็มีส่วนอย่างมากในการเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้โดยสาร
ในกรณีวินมอเตอร์ไซค์ เป็นที่รู้กันว่าหมวกกันน็อกก็เสมือนเกมวัดดวง โชคดีก็มีให้ โชคร้ายก็ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองไป นางสาววัชรียาเล่าเสริมถึงประสบการณ์การขอหมวกกันน็อคจากวินแถวเพลินจิตให้ฟังว่า “พี่วินบอกแค่นี้เองไม่ต้องใส่หรอก คันอื่นเขาก็ไม่ใส่กัน เราเลยรีบสวนว่าขอใส่เถอะค่ะ กลัวตาย สุดท้ายเขาก็ยอมหาให้ ถึงจะแอบเหวี่ยงหน่อยๆ ก็ตาม”
ถึงแม้อีกทางเลือกของบริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างอย่าง GrabBike จะมีข้อบังคับให้ผู้ขับขี่ต้องจัดหาหมวกกันน็อคให้ลูกค้าใส่ทุกคัน แต่บริการนี้ยังไม่มีการตรากฏหมายออกมารองรับ แม้จะพิจารณาปรับแก้กันมานานหลายปีแล้วก็ตาม
ส่วนบริการขนส่งทางรางก็มีปัญหาเช่นกัน มติชนออนไลน์รายงานเมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมาว่า รถไฟฟ้าสายสุขุมวิท จากหมอชิตถึงแบริ่ง มีเพียง 7 จาก 22 สถานี ที่มีประตูกั้นชานชาลา ได้แก่ อนุสาวรีย์ชัยฯ พญาไท สยาม ชิดลม อโศก พร้อมพงษ์ และอ่อนนุช ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีลม จากสนามกีฬาแห่งชาติถึงบางหว้า มีเพียง 2 จาก 12 สถานีเท่านั้นที่มีประตูกั้นชานชาลา ได้แก่ ศาลาแดง และช่องนนทรี
สำหรับขนส่งทางน้ำยอดฮิตอย่างเรือด่วนคลองแสนแสบ หากจะฟันธงว่า “ไม่ปลอดภัยเลย” ก็คงดูเกินจริงไปเสียหน่อย เพราะภายในเรือยังมีแผ่นโฟมชูชีพถึงประมาณ 30 ชิ้นต่อลำ อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจของกรมเจ้าท่าในปี 2559 ระบุว่ามีผู้โดยสารเฉลี่ย 146 คนต่อเที่ยว ดังนั้น หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน ผู้โดยสารคงต้องสวดมนต์ขอให้ตนเป็นผู้โชคดีที่ชิงชูชีพมาได้ ไม่ก็หาทางรอดกันไปตามยถากรรม
ทางรอดอยู่ไหน ถามใครได้บ้าง?
อาจารย์ณัฏฐพร รอดเจริญ อาจารย์สอนวิชากฎหมายอาญาและผู้ช่วยคณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะวิธีทางกฎหมายที่ผู้โดยสารสามารถทำได้เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจมาหาแบบไม่ทันตั้งตัว โดยยกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 233 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ใช้ยานพาหนะรับจ้างขนส่งคนโดยสาร ซึ่งมีลักษณะการขับขี่ที่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในยานพาหนะ ผู้นั้นมีความผิด
“ดูแค่สภาพว่าน่าจะเป็นอันตราย เช่น ขับขี่หวาดเสียว หรือรถที่ผู้โดยสารห้อยกันแน่นอยู่เต็มคันแต่ก็ยังขับต่อ โดยยังไม่ต้องถึงขั้นเกิดอุบัติเหตุจริง เท่านี้ก็เข้าข่ายความผิด สามารถฟ้องร้องได้แล้ว” อาจารย์เสริม
แต่อีกคำถามคาใจ……คือถ้ามัน ตูม!! ไปแล้วล่ะ จะทำอย่างไร
“ในทางรถยนต์รวมถึงมอเตอร์ไซค์ ผู้ประสบเหตุสามารถใช้สิทธิ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ได้ โดยมีขั้นตอนคือเตรียมใบแจ้งความ พร้อมกับเอกสารการรักษา ไม่ว่าจะเป็นใบรับรองแพทย์หรือค่ารักษาพยาบาล จากนั้นก็ยื่นเรื่องไปที่ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด (จัดตั้งขึ้นตาม พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ มีหน้าที่รับคำร้องขอค่าเสียหายเบื้องต้นและจ่ายค่าสินไหมทดแทนตาม พรบ.) หรือโทร 1791” นักวิชาการกฏหมายอาญากล่าว
เงินเยียวยาผู้ประสบเหตุนี้มาจากกองทุนซึ่งผู้ประสบเหตุสามารถเบิกได้คนละไม่เกิน 50,000 บาท ในกรณีบาดเจ็บ และไม่เกิน 200,000 บาท ในกรณีที่ถึงแก่ความตายหรือพิการ ซึ่งนับว่าพอเป็นข่าวดีให้อุ่นใจได้บ้าง (แม้จะไม่มีใครอยากเจอเหตุที่ทำให้ต้องเบิกเงินก้อนนี้ก็ตาม) แต่ข่าวร้ายก็คือ พรบ.ที่ว่านี้ไม่ได้ครอบคลุมขนส่งสาธารณะชนิดอื่นด้วย
งั้นถ้าตกรางบีทีเอสเพราะไม่มีที่กั้นชานชาลา หรือจมคลองแสนแสบเพราะแย่งชูชีพไม่ทันล่ะจะทำอย่างไร
“ต้องใช้กฎหมายทางแพ่งเข้ามาช่วย ส่วนที่ว่าด้วยเรื่องของการละเมิด หรือในทางแพ่งหมายถึง การกระทำด้วยความจงใจหรือความประมาท ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้อื่น ไม่ว่าเรื่องสิทธิในชีวิต ร่างกาย สุขอนามัย เสรีภาพ หรือสิทธิอื่นใดที่กฎหมายให้การรับรอง และเป็นเหตุให้ผู้นั้นได้รับความเสียหาย บุคคลที่ทำละเมิดจะต้องมีค่าสินไหมทดแทน ชดใช้เยียวยาให้ผู้เสียหายกลับมาเหมือนเดิมมากที่สุด” อาจารย์ณัฏพรกล่าว
อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งโล่งใจ เพราะการฟ้องร้องกรณีละเมิด จะต้องมีหลักฐานพยานที่รัดกุม ผู้เสียหายต้องอธิบายให้ได้ว่า ผู้ขับขี่ละเมิดจริงหรือไม่ การกระทำนั้นส่งผลเสียอย่างไร คิดเป็นค่าเสียหายได้เท่าไร เพียงเท่านี้ก็อยากกลอกตามองบนแล้ว เพราะไม่ใช่ว่าขณะกำลังตกจากเรือ ผู้ประสบเหตุจะมีเวลาถ่ายภาพมาตรวัดความเร็ว นี่ยังไม่นับรวมเวลาที่เสียไปกับการดำเนินคดี ขึ้นโรงขึ้นศาลซึ่งเห็นได้ชัดว่านี่ไม่ใช่กระบวนการที่รวดเร็วและได้ผลแน่นอน
อาจารย์ณัฏฐพรแสดงความเห็นก่อนจะทิ้งท้ายว่า “ทำประกันเอาไว้เถอะ ดีที่สุด”
อาจารย์.ดร.อิสริยะ สัตกุลพิบูลย์ นักวิชาการด้านประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง ภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย เผยว่า ตามประกาศกรมขนส่งทางบก ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 ระบุให้ยานพาหนะประเภทรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์ รถตู้) แท็กซี่ และตุ๊กตุ๊ก ต้องจัดทำประกันภัยเพิ่มเติมนอกเหนือจาก พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 โดยกำหนดวงเงินประกันความเสียหายต่อชีวิตและร่างกายผู้โดยสารซึ่งผู้ขับขี่ต้องทำ อยู่ที่จำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท สำหรับรถเมล์และรถตู้ 50,000 บาท สำหรับแท็กซี่ และ 25,000 บาท สำหรับตุ๊กตุ๊ก
นี่คงพอทำให้ผู้โดยสารหลับฝันดีได้สักตื่นก่อนจะสะดุ้งด้วยฝันร้ายเรื่องใหม่ที่ว่า ประกาศนี้ไม่ได้กล่าวถึงขนส่งชนิดอื่นเลยแม้แต่กระผีกเดียว
นายศศพันธุ์ ระงับภัย นายหน้าประกันภัย บริษัท ออลริสค์ คอนซัลแตนท์ จำกัด อายุ 27 ปี อธิบายต่อกรณีมอเตอร์ไซค์รับจ้างว่า “ไม่มีการบังคับให้ทำประกันภัยในภาคสมัครใจ ซึ่งหากเกิดเหตุค่าเสียหายเกินประกันภัยภาคบังคับ ผู้รับผิดต้องรับผิดชอบส่วนเกินเอง”
หมายความว่าไม่มีการบังคับให้เหล่าพี่วินเสื้อส้มทำประกันอื่นๆ (ภาคสมัครใจ) นอกเหนือจากที่ พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ 2535 กำหนดไว้ (ภาคบังคับ) เท่ากับหากเกิดอุบัติเหตุซึ่งมีค่าเสียหายเกินวงเงินที่ พรบ. คุ้มครอง ผู้โดยสารต้องไปลุ้นเอาเองว่าพี่วินแสนดีได้ทำประกันเอาไว้ไหม หรือไม่ก็ต้องยอมเป็นผู้แพ้และดูแลตัวเองต่อไป
ในส่วน BTS และ MRT นายศศพันธุ์กล่าวว่า เป็นลักษณะธุรกิจเกี่ยวกับขนส่งมวลชนซึ่งรับสัมปทานมาจากรัฐ ทำให้ไม่มีการทำ พรบ. และประกันภัยภาคสมัครใจเหมือนขนส่งบนถนน
BTS และ MRT จึงมีความจำเป็นต้องทำประกันภัยความรับผิดชอบบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นแนวทางที่บริษัทส่วนใหญ่กระทำกัน
นายหน้าประกันอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัยความรับผิดชอบบุคคลภายนอก
สำหรับการเรียกค่าสินไหมทดแทนกรณีเกิดอุบัติเหตุกับผู้โดยสาร นายศศพันธุ์เสริมว่าโดยทั่วไปจะมีการเก็บหลักฐานต่างๆ อาทิ รายงานจากช่างเทคนิค บันทึกประจำวันของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากนั้นทาง BTS หรือ MRT จะจ่ายค่าเสียหายให้ผู้โดยสารในขั้นแรก ก่อนจะทำการเรียกสินไหมจากบริษัทประกันในภายหลัง ซึ่งรายละเอียดแผนรองรับอุบัติเหตุเหล่านี้ผู้เสียหายต้องสอบถามกับทางบริษัทที่กำกับดูแล BTS และ MRT เอง
สุดท้ายในส่วนเรือโดยสารคลองแสนแสบ นายศศพันธุ์อธิบายว่าถนนและคลองมีลักษณะร่วมกันคือเป็นพื้นที่สาธารณะซึ่งใครจะนำยานพาหนะมาขับขี่ก็ได้ ดังนั้นผู้ให้บริการเรือคลองแสนแสบจึงสามารถทำประกันภัยในส่วนภาคสมัครใจได้เช่นเดียวกับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จึงหมายความว่าหากมีเหตุการณ์ระทึกเกิดขึ้นกับผู้โดยสารไม่ว่าจะ พลัดตกคลอง หรือแย่งชูชีพไม่ทัน ก็คงต้องไปวัดดวงกันอีกทีว่าคนขับเรือได้ทำประกันภัยเอาไว้หรือไม่
ชีวิตคนกรุงรายล้อมไปด้วยความเสี่ยงมากมาย โดยเฉพาะบนขนส่งสาธารณะที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ แม้การเปลี่ยนขนส่งสาธารณะให้ปลอดภัยไร้กังวลคงต้องใช้เวลาประมาณหนึ่ง (หรือประมาณชาติหนึ่งก็ไม่อาจทราบ) แต่สิ่งที่ผู้โดยสารทำได้ตั้งแต่ตอนนี้คือการตระหนักถึงสิทธิความปลอดภัยและการชดเชยค่าเสียหายที่ตนพึงได้รับ เพราะการเลิกใช้ขนส่งสาธารณะคงทำได้ยาก ผู้โดยสารจึงต้องใจถึงและมีความรู้มากพอ
Share this:
Like this: