Social Issue

MINESWEEPER เมื่อไหร่ทางเท้าไทยจะไม่ใช่การเล่นเกมเหยียบกับระเบิด

ปัญหาทางเท้าชำรุดที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนในปัจจุบันไม่ได้เกิดจากโครงสร้างเท่านั้น แต่การที่ประชาชนใช้ทางเท้าอย่างผิดวิธี ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทางเท้าชำรุดก่อนเวลากันควรเช่นกัน

เรื่อง/ภาพ : กรพินธุ์ บุญส่งทรัพย์

Minesweeper เกมยอดฮิตในคอมพิวเตอร์วินโดวส์ที่ผู้เล่นต้องกดเลือกช่องว่างในตารางโดยหลีกเลี่ยงการกดโดนปุ่มระเบิด ค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคมในช่วงยุค 2000 เป็นต้นมา จนกลายเป็นเพียงเกมออฟไลน์ที่ใช้เล่นฆ่าเวลาขณะต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ต (หรือคนอาจจะเลือกที่จะเล่นเกมไดโนเสาร์กระโดดข้ามต้นไม้บนหน้า Google Chrome แทนเสียมากกว่า) ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเกมนี้ไม่ได้หายไปไหนเลย

เพราะมันอยู่ในชีวิตประจำวันของเรานี่ล่ะ!

หน้าจอ Minesweeper ขนาดยักษ์ที่กินพื้นที่ 22.55 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 1.44 ของพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีชื่อเรียกสวยงามว่า “ทางเท้า”  เครื่องมือสร้างจินตนาการให้เกิดขึ้นในโลกของความเป็นจริงโดยใช้วัสดุปูทางเท้าบังระเบิดที่อยู่ด้านล่าง

มากกว่าแค่คลิกโดนระเบิดแล้วจบเกม ประชาชนที่เหยียบพลาดโดนกระเบื้องที่ชำรุดแล้วได้รับบาดเจ็บมีอยู่นับไม่ถ้วน เช่น กรณีของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เดินตกหลุมลึกบนทางเท้าบริเวณถนนอังรีดูนังต์จนได้รับบาดเจ็บ หรือทางเท้าที่ชำรุดจนทำให้ผู้ใช้ทางเท้าต้องลงมาเดินบนไหล่ถนนที่เสี่ยงอันตรายจากการจราจรแทน

นางละมัย นาคทองรูป แม่ค้าอายุ 72 ปีเล่าให้ฟังว่าเคยข้อเท้าพลิกจากการเดินบนทางเท้าที่ชำรุดจนทำให้ไม่สามารถไปทำงานได้ ต้องรักษาตัวเป็นเวลานานกว่าจะหายเป็นปกติ ส่วนนางสาวธัญชนก แสงวัฒนชัย นักศึกษาวัย 21 ปีบอกว่าเคยเดินสะดุดพื้นที่ไม่ราบเรียบจนได้รับบาดเจ็บอยู่บ่อยๆ และทำให้เครื่องแบบสกปรกจากการที่น้ำใต้กระเบื้องกระเด็นใส่

KRP_1408 WP.jpg
ภาพทางเท้าที่ชำรุดบริเวณสี่แยกบางกระบือ ทำให้ประชาชนผู้อาศัยได้รับอุบัติเหตุ

 

            นายธิติ ทรงเจริญกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างและบูรณะ สำนักโยธา กรุงเทพมหานคร กล่าวว่านอกจากสาเหตุทางกายภาพแล้ว การที่ประชาชนใช้ทาวเท้าผิดวิธีก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ทางเท้าชำรุดก่อนเวลาอันควร “บ้านเรายังมีการปล่อยให้ค้าขายได้บนทางเท้า ร้านอาหารกลายเป็นแหล่ง เทน้ำทิ้งเศษขยะลงบนทางเท้าจนเป็นเรื่องปกติ ทำให้คราบน้ำต่างๆ ซึมเข้าไปลงในดิน สะสมนานเข้า กลายเป็นปัญหาทรุดตัวตามมา นอกจากนั้นยังมีพวกชอบขับและจอดจักรยานยนต์บนทางเท้าที่มีผลให้ทรุดโทรมเร็วกว่าปกติ”

ผอ.สำนักงานก่อสร้างและบูรณะยังกล่าวอีกว่า โดยปกติแล้วทางเท้าที่มีลักษณะเป็นอิฐตัวหนอนหรือกระเบื้องปูนซีเมนต์มีอายุการใช้งานถึง 10 ปี แต่พฤติกรรมของประชาชนทำให้ทางเท้าเกิดความเสียหายอย่างรวดเร็ว แม้ว่าปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้ปรับเปลี่ยนวัสดุจากอิฐตัวหนอนเป็นกระเบื้องซีเมนต์สี่เหลี่ยมแล้ว แต่เมื่อประชาชนใช้งานอย่างผิดวัตถุประสงค์ก็ไม่สามารถทนต่ออาการทรุดและเสื่อมโทรมได้อยู่ดี

อาจารย์อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) และผู้จัดการโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี ได้เสนอวิธีแก้ไขปัญหาการชำรุดของทางเท้าไว้ 2 วิธี คือการเอาจริงเอาจังของรัฐในการออกแบบผังเมือง การบูรณะซ่อมแซม รวมไปถึงการใช้กฎหมายควบคุม และอีกวิธีคือการสร้างความรับผิดชอบให้กับคนในสังคม

“รัฐต้องเชื่อก่อนว่าทางเท้าเป็นสิ่งที่เป็น Public หมายความว่าเป็นสาธารณะ ดังนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องลงทุนงบประมาณลงมา”

อาจารย์อดิศักดิ์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่านอกจากเป็นปัญหาทางกายภาพที่หลายภาคส่วนควรตกลงร่วมกันแล้วยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างอีกด้วย คือการสร้างถนนไม่ได้ออกแบบให้ถนนมีทางเท้า พื้นที่ที่เหลือจากการทำถนนต่างหากที่เป็นทางเท้า

นอกจากการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของรัฐแล้ว อาจารย์อดิศักดิ์ยังเสนอว่าการสร้างการตระหนักรู้และความรับผิดชอบของคนในสังคมก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน เพราะการที่ประชาชนมีพฤติกรรมการใช้ทางเท้าผิดๆ ทั้งการขับขี่มอเตอร์ไซค์หรือตั้งร้านอาหารและเทน้ำเสียลงบนทางเท้า นอกจากจะทำให้ทางเท้าเสื่อมสภาพก่อนเวลาอันควรแล้วยังส่งผลต่อกรอบความคิดและพฤติกรรมการใช้ทางเท้าในระยะยาว

“ตอนนี้คนยังไม่รู้ว่าสิทธิ์ที่จะใช้ทางเท้ามันมีอยู่ ความจริงมันต้องคิดกว้างและหลากหลาย ไม่ใช่สุดโต่งแบบทางเท้าต้องเอาไว้เดิน ไม่ได้คิดอย่างบูรณาการอย่างรอบคอบรอบด้าน มันอาจจะเป็นอะไรก็ได้” อาจารย์อดิศักดิ์ยังเล่าให้ฟังอีกว่าหากมีการจัดการที่ดีและประชาชนมีพฤติกรรมการใช้ทางเท้าที่น่ารักก็จะสามารถทำให้พื้นที่ทางเท้าบางส่วนเป็นที่วางอุปกรณ์ประกอบถนน (Street Furniture) จำพวกม้านั่ง ต้นไม้ หรือแม้แต่ปรับให้เป็นสถานที่ทำกิจกรรมร่วมกันได้เลยทีเดียว ตัวอย่างเช่นในต่างประเทศที่มีการจัดการทางเท้าและมีกฎหมายที่รัดกุมอย่างสิงคโปร์และญี่ปุ่น

ถึงเวลา Mind Sweep – ปัดกวาดจิตใจคนในสังคมให้มีพฤติกรรมการใช้ทางเท้าอย่างถูกวิธี เพื่อนำไปสู่ทางเท้าที่ไม่มีหลุมระเบิดและ Log Out จากเกมหลบระเบิดนี้ได้เสียที

 

ตัวอย่างเมืองทางเท้าสวยและอุปกรณ์ประกอบถนน (Street Furniture) ที่น่าสนใจในต่างประเทศ

หากบ้านเรามีการแก้ไขปัญหาทางเท้าชำรุดอย่างยั่งยืนแล้ว การจะมีอุปกรณ์ประกอบถนนน่ารักๆ อย่างม้านั่งหรือกระถางต้นไม้คงเป็นเรื่องไม่ยากและช่วยสร้างบรรยากาศที่เหมาะแก่การเดินด้วย ตัวอย่างเช่นเก้าอี้รูปทรงต่างๆ ตามท้องถนนในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งนอกจากจะเป็นที่พักผ่อนของผู้คนที่สัญจรไปมาแล้ว ยังเป็นเวทีแสดงความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบหรือแม้แต่นักเรียนนักศึกษาในประเทศ เช่นการนำท่อนไม้จากสนามกีฬาเก่ามาดัดแปลงเป็นม้านั่ง

ในสาธารณรัฐเกาหลีใต้ พื้นที่ทางเท้าส่วนหนึ่งในฮงแด ศูนย์รวมของเหล่าวัยรุ่นตั้งแต่มัธยมไปจนถึงมหาวิทยาลัย ถูกจัดเป็นพื้นที่แสดงความสามารถชื่อว่า 홍대 걷고싶은 거리 (ฮงแด ค็อดโกชิพพึนกอรี) ซึ่งมีความหมายว่า “ถนนที่คุณอยากจะเดิน”  โดยในวันหยุดสุดสัปดาห์จะมีการแสดงรูปแบบต่างๆ ทั้งการแสดงของวงดนตรี เต้นคัฟเว่อร์ ไปจนถึงการแสดงมายากล

หรือการพัฒนาพื้นที่เล็กๆ บนทางเท้าให้เป็นแท่นชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือพลังงานแสงอาทิตย์ที่เรียกว่า Street Charge ในเมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี นอกจากนี้ยังมีการนำท่อนไม้มาตกแต่งเป็นตู้หนังสือกลางเมืองเพื่อส่งเสริมกิจกรรม Book Crossing หรือการส่งต่อหนังสือที่อ่านจบแล้วให้คนอื่น เรียกได้ว่านอกจากจะตกแต่งอย่างสวยงามแล้วยังเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่เดินไปมาด้วย

%d bloggers like this: