Art & Culture

เสียงเพลงแห่งความหวัง

เปิดมุมมองเรื่อง "โอกาสด้านดนตรี" ของเยาวชนรุ่นใหม่บนพื้นที่สาธารณะของประเทศไทย หนทางไหนที่จะช่วยส่งเสริมพวกเขาให้สามารถก้าวไปสู่การเป็นนักดนตรีมืออาชีพ

เรื่อง/ภาพ: พรไพลิน เชื้อพูล

ทางเท้าทั้งสองฝั่งถนนพหลโยธิน ย่านจตุจักร ถูกจัดเป็นแหล่งจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว แม้ว่าสถานที่แห่งนี้จะแน่นขนัดไปด้วยร้านค้าและผู้ที่สัญจรไปมา แต่ยังคงเว้นว่างพื้นที่ตรงกลางให้เยาวชนหลายกลุ่มได้ออกมาแสดงความสามารถผ่านเสียงเพลง หลายครั้งที่เสียงเพลงเหล่านี้ดึงดูดความสนใจจากผู้สัญจรไปมา แต่สุดท้ายก็มักจะถูกเมินเฉย เมื่อผู้ชมเดินจากไป

ในหลายๆ ประเทศ เช่น อังกฤษ เยอรมนี อิตาลี หน่วยงานรัฐจัดพื้นที่สาธารณะเพื่อให้คนมาแสดงความสามารถทางดนตรีโดยเฉพาะ ศิลปินระดับโลกที่มีชื่อเสียง เช่น Justin Bieber, Ed Sheeran ก็มีจุดเริ่มต้นจากการแสดงดนตรีในพื้นที่สาธารณะเช่นนี้ นี่อาจเป็นโอกาสให้พวกเขาก้าวไปสู่การเป็นศิลปินหรือนักดนตรีมืออาชีพได้

นางสาวเอื้อการย์ ชีโวนรินทร์ นิสิตปี 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เคยเล่นดนตรีเปิดหมวกที่ตลาดนัดจตุจักร เล่าประสบการณ์ว่า “เวลาไปเล่นจะรู้สึกระแวงเหมือนทำอะไรผิด เพราะ การเล่นดนตรีเปิดหมวกในบ้านเราเป็นเรื่องคลุมเครือ คนยังเข้าใจไม่ตรงกันเลยว่าสรุปมันถูกหรือผิดกฎหมาย เพราะ บางที่ก็เล่นได้บางที่ก็เล่นไม่ได้ มันควรมีกรอบที่ชัดเจนว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง” พร้อมเสริมว่า ตนไม่ได้ต้องการเล่นเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ แต่อยากให้คนเห็นความสามารถจริงๆ หากประเทศเรามีพื้นที่เฉพาะให้เยาวชนมาแลกเปลี่ยนความชอบทางด้านดนตรีกันน่าจะดี

นายนพรัตน์ สละกูล อายุ 22 ปี เล่าถึงปัญหาที่พบเจอว่า ตนเคยไปแสดงดนตรีเปิดหมวกบริเวณตลาดสตาร์ ไนท์บาร์ซ่า จังหวัดระยอง แต่เจ้าหน้าที่รปภ.กลับใช้ถ้อยคำหยาบคายและน้ำเสียงตะคอกไล่ออกจากพื้นที่ พร้อมทั้งห้ามไม่ให้เขากลับมาทำการแสดงบริเวณนั้นอีก เขาไม่เข้าใจว่าในเมื่อได้ขออนุญาตแล้วและไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ทำไมจึงโดนกีดกันไม่ให้แสดงความสามารถในบริเวณนี้

ด้าน นางงามจิต แต้สุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “สังคมเราไม่ได้ปิดกั้นหากเยาวชนจะออกมาแสดงความสามารถ เพราะปัจจุบันมีพรบ. คุ้มครองผู้แสดงความสามารถแยกออกจาก พรบ. ขอทานแล้ว แปลว่า ผู้ที่ออกมาแสดงความสามารถไม่ใช่ขอทาน จึงไม่ผิดกฎหมาย เพียงแต่เยาวชนต้องเข้าใจตัวกฎหมายอื่นๆ ที่ควบคุมอยู่และทำให้ถูกต้องตามนั้นด้วย”

ผอ. งามจิต ขยายความว่าหากเยาวชนหรือใครก็ตามที่จะแสดงในพื้นที่สาธารณะ ต้องมาจดทะเบียนเป็นผู้แสดงความสามารถกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพราะ บัตรผู้แสดงความสามารถ จะช่วยยืนยันได้ว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีความสามารถจริง มีเจตนาที่จะแสดงความสามารถ ไม่ใช่เรี่ยไรเงิน

กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ รายงานสถิติการทำบัตรประจำตัวผู้แสดงความสามารถประจำปีงบประมาณ 2560 ว่ามีจำนวน 2,274 ราย และปีงบประมาณ 2561 มีจำนวน 1,297 ราย รวมตั้งแต่มีการดำเนินการให้ทำบัตรประจำตัวผู้แสดงความสามารถมีผู้ที่ทำบัตรฯ ไปแล้ว 3,571 ราย (เฉพาะในกรุงเทพฯ) ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเยาวชน 1,456 คน

ผอ.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งมองว่าจำนวนดังกล่าวยังคงน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนคนที่มาลงทะเบียนทั้งหมด กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจึงกำลังหาแนวทางผลักดันเยาวชนให้มาจดทะเบียนมากขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันในการแสดงความสามารถอย่างถูกกฎหมาย

ด้าน นายเทอดศักดิ์ ศิริเจน โปรดิวเซอร์ค่ายเพลง Smallroom เสนอถึงแนวทางที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพด้านดนตรีของเยาวชนได้อย่างเต็มที่ว่า “การเล่นดนตรีเปิดหมวกบางทีไม่ใช่การเปิดโอกาสให้เยาวชนร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะคนที่มาชมไม่ใช่คนที่สนใจด้านดนตรีจริงๆ ดังนั้นการจัดกิจกรรม เช่น การประกวดวงดนตรี เทศกาลงานดนตรีประจำปี หรือการเปิดพื้นที่สาธารณะให้กับการแสดงดนตรีโดยเฉพาะจะช่วยส่งเสริมให้เยาวชนมั่นใจที่จะออกมาแสดงความสามารถด้านดนตรีมากขึ้น ผมในฐานะคนทำดนตรีก็อยากจะเห็นน้องๆ รุ่นใหม่ได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่”

ส่วน ดร.ณัฐพงศ์ พันธุ์น้อย อาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงปัญหาของพื้นที่สาธารณะในไทยว่า “ประเทศไทยยังขาดพื้นที่ที่เอื้ออำนวยต่อการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น การจัดงานศิลปะ งานแสดง งานดนตรี เป็นต้น พื้นที่ที่มีไม่ได้เอื้อต่อการทำกิจกรรมขนาดนั้น ทั้งข้อจำกัดของพื้นที่ที่ขาดความปลอดภัย คับแคบและไม่เข้ากับวิถีชีวิตของคนเมือง หากจะให้เพิ่มพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมทางดนตรีหรืออะไรก็ตามขึ้นมา ก็ต้องเกิดความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งเอกชนและภาครัฐ”

 

%d bloggers like this: