Art & Culture

“Scala” รักษาไว้ซึ่งคุณค่าหรือพัฒนาตามเมืองที่เติบโต

ช่วงเวลา 4 ปี เราสามารถทำอะไรได้บ้าง

เรื่อง: ปพิชญา ถนัดศีลธรรม / เอม มฤคทัต ภาพ: กาญจนาภรณ์ มีขำ 

“อยากชวนเธอไปดูหนังด้วยกัน ไปด้วยกันดีไหม.. อยากชวนเธอไปดูหนังด้วยกัน ไปด้วยกันหรือเปล่า..”

ด้วยทำนองเพลงติดหูที่ฟังแล้วสามารถร้องตามได้ง่ายๆ ทำให้บทเพลง ‘สกาลา’ของวงดนตรีอัลเทอร์เนทีฟยุคแรกๆ ของไทยอย่าง โมเดิร์นด็อก ยังคงกรอซ้ำไปมาในห้วงคำนึงของใครหลายคน หรืออาจถูกลืมเลือนไปตามยุคสมัยของแนวเพลง คงไม่ต่างจาก โรงภาพยนตร์สกาลาที่ตั้งตระหง่านกลางสยามสแควร์มาเกือบ 50 ปี สำหรับคนจำนวนไม่น้อย โรงหนังแห่งนี้อาจเป็นฉากหลังความทรงจำที่ยากจะลืม ขณะที่บางคนอาจลืมไปแล้วว่ามีโรงภาพยนตร์แห่งนี้อยู่

หลังจากโรงภาพยนตร์ ลิโด้ มัลติเพล็กซ์ ปิดตัวลงและคืนพื้นที่ให้สำนักงานทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับอนาคตของสกาลา ที่ได้รับการต่อสัญญาไปจนถึงปี 2563 แม้ว่าจะเป็นโรงภาพยนตร์ในเครือเดียวกับ ลิโด้ มัลติเพล็กส์ แต่สกาลามีความโดดเด่น ด้วยสถาปัตยกรรมโถงที่โอ่อ่าแบบอาร์ตเดโค ที่เน้นการใช้เส้นโค้งและเส้นตรงที่เรียบง่าย รวมถึงโคมไฟระย้าขนาดใหญ่บริเวณบันไดทางขึ้น กลายเป็นสัญลักษณ์ให้ผู้คนจดจำ

วสุ โปษยะนันทน์สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร อธิบายว่า ก่อนการอนุรักษ์อาคารต่างๆ ต้องมีการประเมินคุณค่าของอาคาร ตามกฏหมายพระราชบัญญัติโบราณสถาน ศิลปะวัตถุ และพิพิธภัณสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535ระบุคุณค่าทางวัฒนธรรมในการเป็นโบราณสถานไว้ 3 ด้าน คือ คุณค่าทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ และ โบราณคดี

ในกรณีโรงภาพยนตร์สกาล่า วสุ ให้ความเห็นว่า หากวิเคราะห์คุณค่าด้านต่างๆ แล้ว โรงหนังแห่งนี้อาจไม่มีคุณค่าด้านประวัติศาสตร์มากนัก เพราะแม้ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทย แต่ไม่ได้มีความโดดเด่นในฐานะสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ คุณค่าที่โดดเด่นของสกาล่าจึงอยู่ที่คุณค่าทางศิลปะ เห็นได้ชัดจากโถงทางเข้าที่แปลกตาจากตึกรอบด้าน ด้วยสถาปัตยกรรมสมัยใหม่สไตล์เขตร้อน (Modern Tropical Architecture)

“ความโดดเด่นในการออกแบบของสกาล่า ทั้งโถงทางเข้าที่โอ่อ่า ฝ้าเพดานที่มีความวิจิตร ไม่ได้เป็นเพียงตัวแทนของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในยุคเท่านั้น แต่เป็นตัวแทนของความเป็นโรงหนังสกาล่าที่ปรากฏออกมาผ่านงานสถาปัตยกรรม ทำให้ผู้คนจดจำและประทับใจ” วสุ เสริม

ส่วนคุณค่าด้านโบราณคดีนั้น ผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากรชี้แจงว่า ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับความเก่าแก่ แต่คำว่าโบราณคดี คือคุณค่าที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ สกาล่าจึงมีคุณค่าในด้านนี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่กิจกรรมที่ผู้คนใช้ชมภาพยนตร์ ตั้งแต่ปี 2512 จนถึงปัจจุบัน

แม้ว่าจะมีคุณค่าทางศิลปะและโบราณคดี ผู้เชี่ยวชาญยังเสนอว่าการใช้พื้นที่ต้องคำนึงถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย “ถ้าคุณค่าอยู่ที่ความงาม ก็ต้องดูว่าส่วนไหนเป็นที่สุดของสกาล่า คงเป็นไปไม่ได้ที่จะเก็บทุกส่วนไว้ให้สอดคล้องกับการใช้สอยในปัจจุบันและการวางแผนในอนาคต อาจปรับโรงหนังให้ทันสมัย เพื่อให้อยู่ได้ เพราะทิ้งไว้เฉยๆ คงไม่คุ้มทุน” วสุ ขยายความถึงแนวทางการอนุรักษ์สกาล่าในความคิดของตน

เช่นเดียวกับ ดร.พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ผู้เชี่ยวชาญด้านการผังเมือง  ที่ให้ความเห็นว่า เมืองจำเป็นต้องเปลี่ยนตลอดเวลา หากไม่เปลี่ยนเมืองก็จะหยุดนิ่งและไม่พัฒนา ยิ่งโรงภาพยนตร์สกาล่าอยู่ในบริเวณที่รอบข้างเติบโตและพัฒนาทางเศรษฐกิจ พื้นที่ของโรงภาพยนตร์ก็สมควรต้องได้รับการพัฒนา

เมื่อสยามสแควร์เป็นพื้นที่ที่กำลังเติบโตและมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่แปลกที่จะมีการเปรียบเทียบคุณค่าทางวัฒนธรรมและมูลค่าทางเศรษฐกิจของโรงภาพยนตร์บนทำเลทองใจกลางเมืองที่ขาดทุนอย่างต่อเนื่องกว่า 7 ล้านบาท รองผอ.ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ใช้หลักการเศรษฐศาสตร์เมืองอธิบายว่า หากจะมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ในอนาคต ก็สามารถประเมินคุณค่าทางวัฒนธรรมและสังคมของโรงภาพยนตร์สกาล่าออกมาเป็นตัวเลขได้ โดยพิจารณาจากมูลค่าที่สังคมจะได้ประโยชน์ถ้าเก็บสถานที่นี้ไว้ และนำมาเปรียบเทียบกับมูลค่าทางธุรกิจ

“เพียงแต่ว่ามันอยู่ในสมการการเปรียบเทียบของจุฬาฯ หรือเปล่า”

ดร.พรสรร ให้ความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า ท่ามกลางกระแสสังคมที่ยังตั้งคำถามเกี่ยวกับแผนการพัฒนาพื้นที่สกาล่า ผู้บริหารสามารถนำเรื่องการเรียนรู้นอกห้องเรียนมาประกอบการพิจารณาแนวทางพัฒนาพื้นที่ เช่น ปรับเป็นพื้นที่การเรียนรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์ หรือใช้กิจกรรมอื่นๆ แม้จะอยู่บนฐานความคิดของพื้นที่ธุรกิจ แต่สังคมจะเข้าใจการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ในรูปแบบนี้ รวมถึงควรกำหนดเป็นเงื่อนไขให้เอกชนที่เข้ามาลงทุน ปฏิบัติทั้งด้านจุดประสงค์ของโครงการ และการเก็บรักษาสถาปัตยกรรม

นางสาว สิรินดา มธุรสสุคนธ์ มหาบัณฑิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของวิทยานิพนธ์เรื่อง ทางเลือกการอนุรักษ์โถงโรงภาพยนตร์สกาล่า (2560)กล่าวถึงแนวทางการอนุรักษ์โรงภาพยนตร์เก่าแก่แห่งนี้ว่า การเก็บรักษาอาคารไว้เพียงบางส่วนแล้วบูรณะส่วนอื่นๆ ให้แข็งแรง หรือการสร้างใหม่ในรูปแบบเดิมเป็นไปได้ง่ายขึ้น เพราะเป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบสมัยใหม่ (Modern Architecture) ซึ่งเน้นความเรียบง่าย อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีที่ช่วยให้การรื้อถอนและสร้างใหม่ไม่ยุ่งยากเหมือนเดิม

“ยอมรับว่างานสถาปัตยกรรมที่ดีก็ดึงดูดให้คนเข้ามาใช้งานสถานที่นั้นๆ แต่ก็ต้องมีการพัฒนา ถ้าไม่มีการปรับปรุง แล้วยังเป็นโรงหนังที่คนเข้ามาน้อยลงเรื่อยๆ มันก็จะตาย เพราะสถาปัตยกรรมที่ไม่มีคนเข้าไปใช้ ก็ไม่ต่างอะไรจากตึกร้าง” สิรินดากล่าว

“ไปด้วยกันหรือเปล่า ไปดูกันหรือเปล่า ให้ใจสุขสำราญ… ดั่งใจเราต้องการ…”

เช่นเดียวกับเนื้อเพลงท่อนสุดท้ายของบทเพลง ‘สกาล่า’ แม้ในวันนี้อนาคตของโรงภาพยนตร์สกาล่ายังคลุมเครือ แต่หากสังคมเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของเมือง ควบคู่กับการที่นำคุณค่าในมิติต่างๆ ของสถานที่มาพิจารณาแนวทางการพัฒนาโรงหนังแห่งนี้ในวันข้างหน้า อาจทำให้เกิดพื้นที่ซึ่งตอบความต้องการของทุกฝ่ายอย่างลงตัวก็เป็นได้

%d bloggers like this: