News

ผู้ใช้บีทีเอสย้ำ ควรติดตั้งประตูกั้นชานชาลาทุกสถานี    

นับตั้งแต่ปี 53 ถึงปัจจุบัน อุบัติเหตุผู้โดยสารพลัดตกชานชาลาเกิดขึ้นแล้วอย่างน้อย 8 ครั้ง และสถานที่เกิดเหตุุส่วนใหญ่เป็นสถานีที่ไม่มีประตูกั้นชานชาลา

เรื่อง: วัศพล โอภาสวัฒนกุล
ภาพ: เมธาวจี สาระคุณ

ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสเห็นด้วยกับการติดตั้งประตูกั้นชานชาลาทุกสถานี เพื่อป้องกันการพลัดตกราง การจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ยืนยันเร่งติดตั้งประตูกั้นใน 10 สถานีที่กทม. เป็นผู้ดำเนินการสร้าง

ผู้สื่อข่าวสำรวจการรายงานของสื่อมวลชนเกี่ยวกับอุบัติเหตุผู้โดยสารพลัดตกชานชาลาบีทีเอส พบว่าตั้งแต่ปี 2553 – 2561 เกิดอุบัติเหตุในลักษณะนี้อย่างน้อย 8 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดเกิดเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2561 เมื่อผู้โดยสารหมดสติ ขณะยืนรอรถไฟฟ้าที่สถานีหมอชิต และล้มฟาดกับขบวนรถไฟฟ้าที่กำลังเทียบชานชาลา ทำให้ได้รับบาดเจ็บ

จากการสำรวจเมื่อเดือนตุลาคม 2561 พบว่า บีทีเอสเปิดให้บริการ 35 สถานี ติดตั้งประตูกั้นชานชาลาแล้ว 10 สถานี ได้แก่ สถานีช่องนนทรี สถานีศาลาแดง สถานีสยาม สถานีพญาไท สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สถานีชิดลม สถานีอโศก สถานีพร้อมพงษ์ สถานีอ่อนนุช และสถานีสำโรงซึ่งติดตั้งแล้วแต่ยังไม่สามารถใช้งานได้ ส่วนอีก 25 สถานียังไม่มีการติดตั้งประตูกั้นชานชาลา

วรรณี พุ่มรัตนา แม่บ้านวัย 63 ปี ผู้ใช้บริการสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ กล่าวว่า เธอใช้บริการสถานีรถไฟฟ้าที่ไม่มีประตูกั้นชาลาทุกวัน เห็นว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่บีทีเอสเลือกติดตั้งประตูกั้นชานชาลาเพียงบางสถานีเท่านั้น บีทีเอสควรติดตั้งประตูกั้นชานชาลาให้ครบทุกสถานี เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร

ดาวเรือง ยางศรี พยาบาลวัย 36 ปี พยาบาล ผู้ใช้บริการสถานีราชเทวี เล่าว่า เธอเคยหมดสติบนชานชาลา แต่เกิดเหตุในบริเวณที่ห่างจากรางรถไฟฟ้า จึงไม่ได้รับบาดเจ็บ เธอเห็นว่าการมียามคอยเตือนให้ผู้โดยสารยืนรออยู่ด้านหลังเส้นสีเหลืองอย่างเดียว เป็นมาตราการที่ไม่เพียงพอ เนื่องจากบางครั้งมีผู้ใช้บริการในเวลาเร่งด่วนจำนวนมาก ทำให้เบียดเสียดกัน จนมีความเสี่ยงที่คนจะพลัดตกไปยังบริเวณรางได้ ถ้าเป็นไปได้ อยากให้มีการติดตั้งประตูกั้นชานชาลาทุกสถานี แต่ถ้าเป็นไปไม่ได้ ก็อยากให้ติดตั้งประตูกั้นในสถานีที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากก่อน

นพวรรณ ถาวรอุปกรณ์ นักศึกษาวัย 20 ปี ผู้ใช้บริการสถานีหมอชิต กล่าวว่า ควรติดตั้งประตูกั้นชานชาลาทุกสถานี เพื่อรักษาความปลอดภัยของผู้ใช้บริการและภาพลักษณ์ของประเทศ เธอคิดว่าสถานีต้นทางควรติดตั้งมากกว่าสถานีอื่นๆ เนื่องจากเป็นสถานีหลักที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยังบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อขอสัมภาษณ์ความคืบหน้าในการติดตั้งประตูกั้นชานชาลาทุกสถานี แต่ได้รับการปฏิเสธจากฝ่ายสื่อสารองค์กรของบริษัท ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2561 เว็บไซต์ The Bangkok Insight รายงานว่า อาณัติ อาภาภิรม ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในการติดตั้งประตูกั้นชานชาลาเพิ่มเติมนั้น บริษัทจะต้องหารือกับทางกทม. ก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่เบื้องต้นจะติดตั้งตามความพร้อมและความจำเป็น

สำหรับการเตรียมการของกทม. นั้น สำราญ ทวีกาญจน์ นักวิจัยการจราจรชำนาญการ สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ระบุว่า สำนักฯ ได้ของบประมาณ 700 ล้านบาท จากสภากรุงเทพมหานคร เพื่อใช้ในการติดตั้งประตูกั้นชานชาลาเพิ่มเติม ทั้งในส่วนของสถานีต่อขยายและส่วนสัมปทานของบีทีเอส แต่ถูกปฏิเสธ เนื่องจากสภาฯ มองว่าการที่กทม. เข้าไปร่วมลงทุน จะเอื้อประโยชน์ให้กับบีทีเอส

“ถ้าบีทีเอสสร้างจะได้ประโยชน์ หนึ่ง เขาได้โฆษณา สอง ถ้าเราไปลงทุนสร้างเอง วันหนึ่ง (บีทีเอส) ต้องโฆษณาแน่ๆ ทีนี้เราลงทุนแต่กำไรไปเข้าเขา มันก็หมิ่นเหม่” สำราญกล่าว

สำราญ อธิบายว่า ระบบขนส่งมวลชนยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย พร้อมเสริมว่า ระบบขนส่งมวลชนไทยใช้มาตราฐานเดียวกับต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้ระบุว่าต้องมีการติดตั้งประตูกั้นชานชาลา

ทั้งนี้กระบวนการติดตั้งประตูกั้นชานชาลามีความซับซ้อน เนื่องจากต้องมีการเชื่อมต่อระบบการทำงานเข้ากับระบบรถไฟฟ้าส่วนอื่นๆ จึงอาจทำให้ระบบรถไฟฟ้าขาดความเสถียรได้

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยการจราจรชำนาญการ สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ย้ำว่า สำนักฯ จะพยายามให้มีการติดตั้งประตูกั้นชานชาลาในสถานีที่กทม. เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างทั้ง 10 สถานี ได้แก่ สถานีกรุงธนบุรี สถานีวงเวียนใหญ่ สถานีโพธิ์นิมิตร สถานีตลาดพูล สถานีวุฒากาศ สถานีบางหว้า สถานีบางจาก สถานีปุณณวิถี สถานีอุดมสุข และสถานีบางนา แม้ยังระบุไม่ได้ว่าจะเสร็จเมื่อไร แต่คาดว่าในอนาคตน่าจะมีการติดตั้งครบทุกสถานี เพราะหากติดตั้งประตูกั้นชานชาลาไม่ครอบคลุมทุกสถานี อาจทำให้ผู้ใช้เกิดข้อเปรียบเทียบในแต่ละสถานีได้

%d bloggers like this: