Education

อีกหนึ่งที่พึ่งของนักศึกษา จิตแพทย์-นักจิตวิทยา ประจำมหาวิทยาลัย

เปิดใจนักศึกษาป่วยโรคซึมเศร้า รับภาระค่าใช้จ่ายเกือบหมื่นบาทต่อเดือน

เรื่อง/ภาพ: ณิชชา เสริฐปัญญารุ่ง

“การตัดสินใจตอนนั้นที่บ้านไม่รู้ ต้องใช้เงินตัวเอง เป็นอะไรที่เหนื่อยมาก ด้วยความที่ส่วนตัวพยายามพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด บวกกับภาระที่เราไม่เคยคาดคิดว่าเราจะเจอแบบนี้มาก่อน ถ้ามีศูนย์อำนวยความสะดวกที่ช่วยคนที่กำลังรู้สึกเหนื่อยแบบนี้ในมหาวิทยาลัยมันเป็นทางเลือกที่น่าจะช่วยชีวิตใครได้หลายคน”

กชพร วนิชกีรติ หรือจ๋า นักศึกษาชั้นปี 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายความรู้สึกเมื่อตัดสินใจไปเข้าพบจิตแพทย์

จ๋าเล่าให้ฟังว่า ตนเริ่มต้นรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ในช่วงมหาวิทยาลัย เนื่องจากมีปัญหาสะสม ทั้งเรื่องการเรียน ครอบครัว และเพื่อน จนไม่รู้จะหันหน้าไปทางไหน เรื่องบางเรื่องเองครอบครัวไม่ใช่ที่ปรึกษาที่ดีเท่าไร จึงคิดว่าการเข้าพบจิตแพทย์น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด จ๋าอาศัยการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับจิตแพทย์ทางอินเทอร์เน็ต จนในที่สุดเลือกเข้ารับคำปรึกษาครั้งแรกที่โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ซึ่งเธอเสียค่ารักษาไปกว่า 7,000 บาท ถือว่าเป็นเงินจำนวนมากสำหรับนักศึกษา

นอกจากต้องรับผิดชอบกับความเครียดของตนเองแล้ว ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการพบจิตแพทย์เฉลี่ยเกือบหมื่นบาทต่อเดือนทำให้เธอยิ่งเครียดและสิ้นหวังมากกว่าเดิม 

“บอกตรงๆ จิตแพทย์ในมหาวิทยาลัยเป็นทางเลือกที่ดีมาก คือต้องยอมรับว่า จิตแพทย์ที่อยู่ข้างนอกค่าใช้จ่ายสูงมาก ด้วยความที่เราเป็นหนักด้วย ปาเข้าไป 7,000 กว่าบาท ซึ่งบอกเลยว่าตกใจ พอสมควร” จ๋ากล่าวเสริม

ด้าน พร้อมพันธ์ โพธารส หรือมะปริง นักศึกษาชั้นปี 2 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เล่าว่าที่คณะมีวิชาการเรียนรู้ของมนุษย์และจิตวิทยาสำหรับครูซึ่งเป็นรายวิชาบังคับซึ่งให้นักศึกษาได้คุยกับนักจิตวิทยาถึงสามครั้งด้วยกัน การเรียนวิชานี้ทำให้ความคิดของมะปริงเกี่ยวกับการปรึกษานักจิตวิทยาเปลี่ยนไป จากเดิมเธอเคยคิดว่าคนที่เข้าไปปรึกษานักจิตวิทยาต้องเป็นรคซึมเศร้าเท่านั้น

“เราได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับเพื่อนในแบบที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ครั้งแรกเขาถามเราก่อนว่า ความรู้สึกเราตอนนี้เป็นแบบไหน ให้เปรียบเทียบกับฤดูกาลต่างๆ คนก็เริ่มพูดกันเรื่อยๆ แชร์ประสบการณ์ต่างๆ เพื่อให้กำลังใจเพื่อนบ้าง หรือไม่ก็แชร์ปัญหาที่บางครั้งเราไม่กล้าปรึกษาใคร เราว่ามันก็ดีนะถ้ามีวิชานี้อยู่ในทุกมหาวิทยาลัย” มะปริงเล่าให้ฟังถึงความรู้สึกในการเข้ารับคำปรึกษากับนักจิตวิทยาครั้งแรก

สมภพ แจ่มจันทร์ นักจิตวิทยาการปรึกษา ผู้อำนวยการประจำศูนย์บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและส่งเสริมสุขภาวะ (Knowing Mind Center) อธิบายถึงความเครียดนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยว่าแบ่งออกเป็นสามเรื่อง คือ เรื่องการเรียน เรื่องครอบครัว และเรื่องความสัมพันธ์ นักศึกษาควรไปพูดคุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาได้เมื่อรู้สึกว่าตนเองไม่สบายใจ โดยไม่จำเป็นต้องมีปัญหาทางจิตหรือเป็นโรคซึมเศร้า

นอกจากนี้ สมภพยังแนะนำว่า มหาวิทยาลัยควรสร้างความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเข้ารับการปรึกษา อาจเป็นการบรรยายเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอาการเบื้องต้นของโรคซึมเศร้า หรือเปิดมุมให้นักศึกษาได้เข้ามาอ่านหนังสือในศูนย์ให้คำปรึกษาเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับสถานที่ ส่วนมหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาประจำ สามารถเริ่มให้บริการช่วงสั้นๆ ก่อน เช่น มีนักจิตวิทยาเข้ามาให้บริการสามวันในหนึ่งสัปดาห์ จะช่วยให้นักศึกษารู้สึกมีที่พึ่งมากขึ้น 

ผู้อำนวยการประจำศูนย์บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและส่งเสริมสุขภาวะยังอธิบายถึงความสำคัญของจิตแพทย์-นักจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัยว่า

“ต้องเริ่มต้นให้มีก่อน อาจจะมีแล้วแต่ไม่มีคนมา แต่ถ้าไม่มีก็ไม่ได้ เพราะจริงๆ แล้วบริการนี้เป็นบริการทางวิชาชีพ มีความต่างจากพูดคุยกับคนทั่วไป เพราะเป็นการพูดคุยบนพื้นฐานของคนมีความรู้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมี”

nisitjournal_psychiatrist_02

มหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งมีนโยบายส่งเสริมสุขภาพจิตสำหรับนักศึกษาและบุคลากร โดยจัดตั้งศูนย์ให้บริการรับคำปรึกษาที่มีจิตแพทย์-นักจิตวิทยาประจำ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีหน่วยส่งเสริมสุขภาวะนิสิต (Chula Student Wellness), มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยนานาชาติ มีคลินิกวัยทีน (Adolescent Clinic) และ มหาวิทยาลัยรังสิต มีโครงการคลินิกรังสิตฟ้าใส ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยบางแห่งที่ยังไม่มีการก่อตั้งศูนย์ให้บริการปรึกษาสุขภาพจิตก็มีบริการให้คำปรึกษาผ่านทางออนไลน์และโทรศัพท์ เช่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีสายด่วนสุขภาพจิตเพื่อนิสิต มศว และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มีศูนย์ให้คำปรึกษาปรึกษาชีวิตนักศึกษาทางออนไลน์ (Student help and Support Center) เป็นต้น

nisitjournal_psychologist_01
มุมอ่านหนังสือ ให้นักศึกษาสามารถเข้ามาใช้บริการได้ตามอัธยาศัย ที่หน่วยส่งเสริมสุขภาวะนิสิต (Chula Student Wellness) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจของผู้สื่อข่าวพบว่า มหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งไม่มีศูนย์ให้บริการเฉพาะนิสิต หรือมหาวิทยาลัยบางแห่งที่มีศูนย์ให้คำปรึกษาเฉพาะนิสิตและบุคคลภายใน ยังไม่มีการประชาสัมพันธ์เพียงพอ เช่น ไม่มีเว็บไซต์เฉพาะของศูนย์ให้คำปรึกษา หรือมีเว็บไซต์แต่บอกข้อมูลไม่ครบถ้วน ขาดที่ตั้งของศูนย์ที่ชัดเจน หรือเบอร์โทรติดต่อเพื่อขอนัดหมายล่วงหน้า 

สอดคล้องกับคำบอกเล่าของ ดร.พนิตา เสือวรรณศรี อาจารย์ประจำสาขาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กล่าวถึงมุมมองของคนไทยต่อสวัสดิการด้านสุขภาพจิตว่า สังคมไทยรวมถึงมหาวิทยาลัยยังไม่เห็นปัญหาทางสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญ เพราะยังคิดว่าเป็นเรื่องใหม่อยู่ ทำให้คนเพิกเฉยแก่การให้สวัสดิการต่อกลุ่มคนที่ต้องการ แท้จริงแล้วการให้บริการเหล่านี้ควรเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัย 

“เป็นความรับผิดชอบที่มหาวิทยาลัยควรมีให้เรา เหมือนเรามีประกันสังคม ประกันสุขภาพ สุขภาพจิตก็ควรจะอยู่ในประกันสุขภาพด้วยซ้ำ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มี มีแต่ในองค์กรที่เป็นนานาชาติ” ดร.พนิตากล่าว

 

%d bloggers like this: