Social Issue

มายากลซ่อนหา ประชาธิปไตยล่องหน

“ประชาธิปไตยไทยนิยม” กลายเป็นศัพท์ใหม่แห่งยุคที่ถูกบัญญัติโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยระบุความหมายไว้ในคู่มือการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน โดยกระทรวงมหาดไทยไว้ว่า นิยมความดี ความงาม ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ประเทศชาติ และลูกหลานในอนาคต เพื่อให้ประชาชนรับรู้ เข้าใจลักษณะของ “คนดี” และเลือกตั้งคนดีเข้าไปบริหารประเทศ

เรื่อง: เมธาวจี สาระคุณ
ภาพ: วิชญา ภาณุพัฒนกุล

ของในประเทศนี้ถูกเสกให้หายได้ราวกับร่ายมนตร์

ชั่วขณะที่ผู้ชมจับจ้องการร่ายมนตร์ของนักมายากล พยายามจับไต๋ว่ากลเม็ดใดซ่อนของให้หายวับ สูดหายใจเข้าแล้วจ้องนิ่งตาไม่กะพริบ เพียงชั่ววินาทีแห่งความจดจ่อนั้น ผู้ชมก็ถูกเบี่ยงเบนความสนใจอย่างไม่รู้ตัว แท้จริงแล้วคาถาที่ออกจากปากเป็นเพียงสิ่งล่อสายตา กลลวงที่แท้จริงกำลังเกิดขึ้นที่อื่น หลุดรอดสายตาอย่างน่าเสียดาย

ขณะนี้ระฆังเปิดฉากหาเสียงดังขึ้นอย่างเงียบงันท่ามกลางเค้าลางการเลือกตั้งที่งุนงง นักมายากลเดินสายพร่ำคาถา ชี้ชวนให้ประชาชนเล่นซ่อนหาโดยตั้งรางวัลเป็นการพัฒนาที่ฝันถึง เสียงกระซิบนั้นดังเป็นทำนองกรอกหูประชาชนความว่า “เลือกคนดี”

“ประชาธิปไตยไทยนิยม” กลายเป็นศัพท์ใหม่แห่งยุคที่ถูกบัญญัติโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยระบุความหมายไว้ในคู่มือการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน โดยกระทรวงมหาดไทยไว้ว่า นิยมความดี ความงาม ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ประเทศชาติ และลูกหลานในอนาคต เพื่อให้ประชาชนรับรู้ เข้าใจลักษณะของ “คนดี” และเลือกตั้งคนดีเข้าไปบริหารประเทศ

คู่มือนี้ ยังมีการระบุสาเหตุที่ประเทศไม่เจริญก้าวหน้าไว้ในกรอบเนื้อหาของประชาธิปไตยไทยนิยม ความว่า

“…ทำไมประเทศถึงไม่เจริญก้าวหน้า? สาเหตุเกิดจากการยึดหลักสากลมากเกินไป จนหลงลืมความเป็นไทย สิ่งที่ตามมาคือ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศไทย ประเทศจึงไม่ก้าวหน้า ตัวอย่างเช่น มีการเลือกตั้ง แต่เลือกคนไม่ดีเข้ามาบริหารประเทศ ทำให้ปัญหาของประเทศยังคงอยู่ และไม่ได้รับการแก้ไข เสียงส่วนมากหรือเสียงส่วนน้อยสร้างความวุ่นวาย ดังนั้น ประชาชนจะต้องหลอมรวมหลักสากลและความเป็นไทยเข้าด้วยกัน ไปสู่ความดีงาม ความสงบ สันติสุขอย่างยั่งยืนโดยหลักประชาธิปไตยไทยนิยม เช่น การเลือกตั้ง ประชาชนต้องเลือกคนดีเข้าไปบริหารประเทศ…”

“เลือกคนดี” ไม่ว่านานเท่าไรคาถานี้ก็ยังเป็นคาถาคลาสสิกที่เคียงคู่การเลือกตั้งเมืองไทย และคอยหลอกหลอนย้ำเตือนยามประเทศเกิดปัญหาว่า สาเหตุของปัญหานั้น เป็นเพราะประชาชนไม่เลือกคนดีเข้าสภา คาถานี้เป็นคาถาวิเศษ จูงใจประชาชนให้ใช้สิทธิ์เลือกคนดีเข้าไปนั่งในสภา และคาดหวังว่าคนดีนั้นจะเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง โดยหลงลืมไปว่าภาพใหญ่ของระบบที่เราเลือกคนดีเข้าไปนั้น อาจไม่ได้เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงเท่าไรนัก

คาดหวังว่าคนดีนั้นจะเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง โดยหลงลืมไปว่าภาพใหญ่ของระบบที่เราเลือกคนดีเข้าไปนั้น อาจไม่ได้เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงเท่าไรนัก

รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดว่าในช่วงห้าปีแรกของการบริหารประเทศโดยรัฐบาลจากการเลือกตั้ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะคัดเลือกบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 250 คน โดยจำนวนนี้คัดเลือกจากกลุ่มอาชีพที่คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอต่อคสช. จำนวน 50 คน มาจากการสรรหาของคณะกรรมการที่คสช.แต่งตั้ง 194 คน และ 6 คนที่เหลือคือ ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก  บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

หนึ่งในหน้าที่พื้นฐานของสว. คือการกลั่นกรองกฎหมาย ซึ่งหมายรวมถึงการควบคุมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่คสช. เป็นผู้เขียนผ่านสภานิติบัญญัติ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องผ่านการเห็นชอบจากสว. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3

ดังนั้น ในช่วงห้าปีแรกหลังการเลือกตั้ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่เรื่องที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งเข้ามา สามารถตัดสินใจได้เอง แต่ต้องผ่านการตัดสินใจของสว. ที่คสช. เป็นผู้เลือกไว้ด้วย

นอกจากนี้ สว. มีหน้าที่ร่วมออกเสียงเลือกผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยสามารถเลือก “นายกฯ คนนอก” หรือบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกในรัฐสภา ให้ขึ้นเป็นนายกฯ ได้ หากมีการลงเสียง 2 ใน 3 ของสภา

สว. ยังมีหน้าทีติดตามตรวจสอบการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่รัฐบาลคสช. เป็นผู้เขียนขึ้น และบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 2561 คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ต้องแจ้งความคืบหน้าของการดำเนินการตามแผนฯ ต่อรัฐสภาทุก 3 เดือน คณะรัฐมนตรีและสส.จึงไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขแผนฯ นอกเหนือจากทำตามที่ถูกกำหนดไว้ในอีก 20 ปี

กฎเหล็กของนักมายากล คือห้ามเปิดเผยกลให้ใครรู้ เพราะเมื่อไรที่กลเม็ดนั้นถูกเปิดเผย คาถาเวทมนตร์ทั้งสิ้นก็จะกลายเป็นแค่เรื่องหลอกตา กลายเป็นแค่เป้าหลอกที่ชี้ชวนคนให้มองไปผิดทาง หากเมื่อไรที่ประชาชนตระหนักถึงกลที่แท้จริง เมื่อนั้นประชาชนจะเลิกเล่นตามเกมของนักมายากล แล้วหันมาเล่นตามเกมของประชาธิปไตย ที่ไม่มองข้ามเสียงของประชาชน

แท้จริงแล้วประชาธิปไตยไม่ได้จบที่การเลือกตั้ง

แท้จริงแล้วประชาธิปไตยไม่ได้จบที่การเลือกตั้ง แม้หน้าที่บริหารอาจเป็นของผู้ถูกเลือกในสภา แต่สิทธิทั้งหลายเป็นของประชาชนทุกคนอย่างไม่ต้องถูกเลือก สิทธิทั้งหลายรองรับให้ประชาชนมีอำนาจในการพูด การวิจารณ์ และการตั้งคำถามต่อการทำหน้าที่ของรัฐ รวมไปถึงการเข้าชื่อเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ระบุสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้หลายประการ เช่น มาตรา 133 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน สามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของประชาชนได้ มาตรา 256 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน สามารถเข้าชื่อเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

โจทย์ใหญ่ก็คือ บนสนามมายากลลวงตา ประชาชนต้องตระหนักรู้ถึงสิทธิที่ตนเองมี ปกป้องสิทธินั้นไม่ให้ถูกลิดรอน และอย่ากลัวที่จะใช้สิทธินั้นเพราะมันคือความชอบธรรมของประชาชน

หากระบบไม่เปิดช่องให้การเปลี่ยนแปลง ประชาชนต้องเปลี่ยนเอง

%d bloggers like this: