Interview Social Issue Top Stories

เลือกตั้งปี 2562: ครั้งแรกของ “คนรุ่นใหม่” สัญญาณผลัดใบในระบบการเมือง

ทัศนะของนักวิชาการรัฐศาสตร์ถึงเหตุผลว่า ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงยังมองการเลือกตั้งเป็นเรื่องไกลตัว

เรื่อง/ภาพ: ศุภจิต ภัทรจิรากุล

ก่อนการเลือกตั้งส.ส.ทั่วประเทศปี 2562 จะเริ่มขึ้น “นิสิตนักศึกษา” พาไปคุยกับ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงมุมมองของคนรุ่นใหม่ว่า เหตุใดพวกเขาถึงยังมองการเลือกตั้งเป็นเรื่องไกลตัว แม้พลังของพวกเขาจะได้รับความสนใจจากคนในแวดวงการเมือง ทั้งที่คนกลุ่มนี้จะมีจำนวนไม่ถึงครึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดก็ตาม

nisitjournal_virginvoters_prof siripan_4
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ร่วมพูดคุยเรื่องพลังของคนรุ่นใหม่ในการเลือกตั้งปี 2562 (ภาพจากรศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี)

อาจารย์มีความเห็นอย่างไรกับคำกล่าวว่า “คนรุ่นใหม่จะมาเปลี่ยนแปลงการเมือง” ทั้งๆ ที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกยังมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

ถ้าย้อนกลับไปในปี 2554 หรือช่วงที่พวกเขายังอายุไม่ถึง 18 ปี และนับมาจนถึงปี 2561 จะรวมคนกลุ่มนี้ได้ประมาณ 7.5 ล้านคน  สมมติว่าประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้งมีประมาณ 50 ล้านคน จะเท่ากับ 15 เปอร์เซ็นต์ หรือเกือบหนึ่งในหก ถ้าถามว่าตัวเลขนี้เยอะไหม คงต้องตอบว่า ไม่เยอะแต่ก็ไม่น้อย

ส่วนจะเปลี่ยนการเมืองได้หรือไม่นั้น คงยังเปลี่ยนการเมืองไม่ได้ในทันที แต่ความสำคัญของคนรุ่นนี้คือ ในการเลือกตั้งครั้งหน้าและครั้งต่อๆ ไป เขาจะกลายเป็นผู้ที่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด เพราะว่าคนที่อายุมากกว่านี้ก็จะค่อยๆ แก่ตายไป ดังนั้น เวลาที่คนพูดว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงการเมืองนั้น เป็นการสะท้อนถึงบทบาทของพวกเขาในอนาคตรวมถึงความคาดหวังที่มีต่อคนกลุ่มนี้ด้วย

หากมองในแง่สถิติอย่างเดียวคือ จำนวน 7.5 ล้านคน แล้วลองคิดคร่าวๆ ว่าคนกลุ่มนี้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งแค่ครึ่งเดียวหรือประมาณ 3.5 ล้านคน ในการเลือกตั้งครั้งหน้ามีการประเมินว่า ส.ส. 1 คน ต้องได้เสียงประมาณ 70,000 เสียง จะเท่ากับมีส.ส. 50 คนที่พวกเขาจะมีสิทธิเลือก ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะและสร้าง “แรงกระเพื่อมทางการเมือง” ได้  ถ้าให้พูดอย่างตรงไปตรงมา ประโยคที่ว่าเขาจะมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงการเมืองก็เป็นไปได้ แต่พวกเขายังไม่ใช่ปัจจัยหลัก

ภาพสะท้อนจากตัวเลขนี้คือ ทุกพรรคให้ความสนใจ  เราจะเห็นว่าหลายพรรคเริ่มที่การจัดตั้งกลุ่มสมาชิกคนรุ่นใหม่ (youth member) ของแต่ละพรรค เริ่มตั้งแต่อนาคตใหม่ จริงๆ เพื่อไทยก็มีมานานแล้ว มีการใช้ยุวเพื่อไทย ยุวประชาธิปัตย์ หรือล่าสุดคุณสุรบถ หลีกภัย ก็มีการพยายามจัดตั้งกลุ่มนี้ในประชาธิปัตย์ และพรรคอื่น ๆ เองก็ให้ความนใจกับคนกลุ่มนี้ เพราะตัวเลขประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งก็คือหนึ่งในหก และส.ส.ที่เขามีโอกาสกุมอำนาจในการเลือก 50 คน มันไม่ใช่จำนวนน้อย

นี่คือ บทบาทและความคาดหวังที่จะมีต่อคนรุ่นใหม่ในอนาคตด้วย เพราะว่าเขาจะเลือกตั้งในครั้งนี้และครั้งต่อๆ ไป  กลุ่มคนที่ไม่เคยเลือกตั้งเลยเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างคาดเดายากว่าจะตัดสินใจอย่างไร เขามีเป้าหมายทางการเมืองหรืออยากเห็นอนาคตทางการเมืองอย่างไร เขาอยู่ภายใต้วาทกรรมเดิมของความขัดแย้งระหว่างสีเสื้อหรือเปล่า เขาชอบนายกฯ แบบไหน อยากเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยหรือนิยมความสงบเรียบร้อยมากกว่ากัน

สิ่งเหล่านี้เป็นความคาดหวังที่คาดเดาไม่ได้ คนกลุ่มนี้เลยน่าสนใจและทุกฝ่ายอยากให้ความสำคัญ อย่างกลุ่มวัยกลางคนเรารู้แล้วว่าเขาชอบแบบไหน คนรุ่นใหม่เป็นเหมือนตะกร้าทางการเมืองใบใหม่ที่ยังไม่มีใครเป็นเจ้าของ และทุกคนรู้สึกว่าน่ามาฉกฉวยหรือเอาไปเป็นพวก

ขณะที่คนในสังคมพูดถึงคำว่า “คนรุ่นใหม่” แต่ก็ยังมีคำว่า “เด็กสมัยนี้” ไม่สนใจการเมือง ไม่ออกมาเคลื่อนไหวอยู่ด้วยเช่นกัน คำพูดพวกนี้เป็นการกำหนดความคิดคนที่มีต่อคนกลุ่มนี้ด้วยไหม

คำว่า “คนรุ่นใหม่” เป็นคำที่ให้ความหวังในเชิงบวก ส่วน “เด็กสมัยนี้” จะเป็นเชิงลบสักเล็กน้อย  ความจริงแล้วแทบทุกประเทศในโลกที่เป็นประชาธิปไตย กลุ่มคนที่ดูเหมือนกระตือรือร้นมากที่สุด แต่กลับเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองน้อยที่สุดคือคนวัยหนุ่มสาว ด้วยความที่เขายังไม่ตระหนักถึงผลกระทบทางการเมืองที่เกิดขึ้นกับเขาโดยตรงโดยเฉพาะในประเทศไทย ซึ่งอาจเป็นในแง่ของกระบวนการกล่อมเกลาทางการเมืองที่ไม่ได้ทำให้เห็นถึงความสำคัญและความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนกับระบบการเมือง

แต่อยากให้มีกลไกที่ทำให้คนรุ่นใหม่มองอีกด้านหนึ่งว่า ระบบการเมืองกระทบต่อเขามากขนาดไหน ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า นี่เป็นจุดอ่อนของระบบการศึกษา ระบบสังคมและการเมือง ไม่ว่าด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ที่ทำให้เขาละเลยกับความสำคัญและความเชื่อมโยงระหว่างตัวเขากับระบบการเมืองและสังคม

อีกประเด็นหนึ่งที่อยากให้คิดว่า สิ่งนี้สำคัญกับเขามากๆ เลย เช่น การที่ต้องแย่งกันสอบทีแคส (TCAS) หลายรอบจนเหนื่อยขนาดนี้ก็เป็นเรื่องของระบบการเมือง การที่เขาต้องตื่นมาเดินทางหลายตลบวันละหลายชั่วโมงก็เป็นเรื่องของการเมือง การที่ฝนตกน้ำรอการระบายก็เป็นเรื่องของการเมือง  อย่างนี้ก็ควรตั้งคำถามแล้วว่า ทำอย่างไรถึงจะดึงให้คนกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบการเมืองและทำให้เขาเห็นถึงผลพลังที่เขาจะเปลี่ยนแปลงได้

อาจารย์คิดว่ามีความตั้งใจอยู่บ้างที่จะผลักให้คนกลุ่มนี้มี “ความเฉื่อยชาทางการเมือง” (political inertia) เพราะคนที่อยู่ในแวดวงการเมืองจริงๆ ผู้มีอำนาจหรือรัฐย่อมรู้ดีว่าพลังของคนหนุ่มสาวเปลี่ยนแปลงสังคมได้มากขนาดไหน โดยเฉพาะประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่ 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา ทำให้อำนาจรัฐกับตัวชนชั้นนำทางการเมืองสายอนุรักษนิยมอาจจะมีความหวั่นเกรงต่อพลังของคนหนุ่มสาวค่อนข้างมาก

ดังนั้น เราจึงเห็นความพยายามที่จะกดทับ บีบคั้น และสร้างขอบเขตอันจำกัดต่อพลังของคนหนุ่มสาวที่จะสามารถแสดงออกมาได้ ปรากฏการณ์ทุกวันนี้เป็นภาพสะท้อนความสำเร็จของพลังอนุรักษนิยมในสังคมไทยที่ตัดทอนขอบเขตและสร้างข้อจำกัดต่อการมีส่วนร่วม การมีพลังที่จะคิดตั้งคำถามในช่วงที่ผ่านมา เราจึงต้องปลดปล่อยพลังนี้ออกมา

อาจารย์คิดว่า ตัวระบบการเมืองและสังคมมีส่วนในการกันคนรุ่นใหม่ออกจากการเมืองโดยให้เขาคิดว่ามันไม่สำคัญไหม

คิดว่ามีส่วนมาก ทั้งระบบ โครงสร้าง แต่ไม่ใช่แค่สังคมเพียงอย่างเดียว ครอบครัวเองที่เป็นสถาบันที่ใกล้ชิดที่สุดกับกลุ่มเยาวชนก็มีส่วนเช่นกัน จากส่วนตัวเท่าที่คุยกับนิสิตมา เขาจะบอกว่าพ่อแม่ ผู้ปกครองไม่อยากให้ยุ่งเรื่องการเมือง เพราะกลัวว่าจะมีปัญหา ดังนั้น เป็นตัวระบบที่ฝังแน่นอยู่ในการสร้างทัศนคติและจิตสำนึกด้วยซ้ำไป

แล้วประโยคหนึ่งในบทเรียนที่บอกว่า “การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของประชาชน” เราสามารถมองได้ไหมว่า ประโยคนี้เป็นการพูดถึงแค่ตัวระบบการเมือง แต่ไม่ได้กล่าวถึงประโยชน์เชิงปัจเจกหรือประโยชน์ส่วนตัวที่ประชาชนจะได้จากการเลือกตั้ง

ใช่ จริงๆ แล้วเวลาพูดถึงประโยชน์ของการเลือกตั้งมันไม่ควรเป็นหน้าที่หรือสิทธิเท่านั้น แต่ต้องพูดว่าเราจะได้อะไรจากระบบเลือกตั้ง เราจะได้อะไรจากการออกไปเลือกตั้ง อาจารย์ไม่อยากใช้คำว่าใช้สิทธิด้วยซ้ำไป

อาจารย์เคยอ่านเจอสมการหนึ่งของฝรั่งที่น่าสนใจคือ การที่คนจะออกไปใช้สิทธิเป็นเรื่องของการคำนวณบนผลประโยชน์และเหตุผล (rational choice)

ประการแรกคือ เราจะไปใช้สิทธิก็ต่อเมื่อเรารู้สึกว่าต้นทุนของการออกไปเลือกตั้งน้อยกว่า ผลประโยชน์ที่เราจะได้กลับมาบวกกับพลังที่เราจะเปลี่ยนแปลงผลของการเลือกตั้ง

ประการที่สองคือ พลังของเรา ถ้าเรารู้สึกว่าเราออกไปหรือไม่ออกไปคนนี้ก็ได้ คะแนนของเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เราก็อาจจะไม่อยากออก อีกอย่างคือ ถ้าเราออกไปแสดงจุดยืนแล้วเราได้ประโยชน์จากการออกไปเลือก ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ทางวัตถุหรือผลประโยชน์ด้านจุดยืนทางการเมืองว่า เราได้เลือกคนที่เราชอบ  ถ้าสองอันนี้บวกกันแล้วมากกว่าที่ต้นทุนที่คำนวณ เช่น ขี้เกียจตื่น ต้องเดินฝ่าอากาศร้อน เขาก็จะออกไป

ดังนั้น ถ้ามองในแง่นี้กลุ่มคนรุ่นใหม่อาจจะรู้สึกว่าทั้งสองประการห่างไกลจากเขา เท่าที่อาจารย์เข้าใจคนเหล่านี้ไม่ค่อยได้ติดตามข่าวก็จะไม่มีข้อมูลและไม่รู้ว่าจะเลือกใคร เลือกแล้วได้ประโยชน์อะไร ไม่รู้ว่านโยบายพรรคเป็นอย่างไร ผู้สมัครเป็นอย่างไร จึงไม่รู้สึกว่าตัวเองจะได้รับผลประโยชน์อะไร บวกกับความไม่รู้สึกว่าพลังของตัวเองว่าคะแนนเสียงมีความหมายหรือเปลี่ยนการเมืองได้ พอรวมกันแล้วปรากฏว่า ต้นทุนอย่างการขี้เกียจตื่น ขี้เกียจแต่งตัวมีมากกว่า

ถึงเราจะพูดว่าระบบการเมืองพยายามสร้างข้อจำกัดในการมีส่วนร่วมอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าในช่วงการเลือกตั้ง เราสามารถชี้ให้คนกลุ่มนี้เห็นถึงสองประการนี้ได้คือ เขาจะได้อะไรอย่างเป็นรูปธรรมจากระบบ และพลังของเขามีอำนาจในการเปลี่ยนแปลง ผู้ชนะ ผู้แพ้และระบบการเมืองในอนาคตได้ ก็จะทำให้เขาอยากออกมา ซึ่งในส่วนนี้อาจารย์อยากจะเห็นการรณรงค์และชักนำให้คนรุ่นใหม่ออกมาเลือกตั้งในเวลาใกล้ๆ นี้

สิ่งที่อาจารย์อธิบายมาถือว่า เป็นไปตาม “ปากท้องมาก่อนอุดมการณ์” ด้วยไหม ที่ทำให้คนไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้

ถูกค่ะ ความคิดนี้ก็เป็นไปตามการคำนวณบนผลประโยชน์และเหตุผลตามที่ได้กล่าวไป และอาจารย์ก็เห็นด้วยกับคำว่า “ปากท้องมาก่อนอุดมการณ์” ถ้าพูดกันตามทฤษฎีเหตุและผล อรรถประโยชน์นิยมเลย ซึ่งไม่ผิดอะไรที่คนรู้สึกแบบนี้ และนั่นคือประเด็นที่เราต้องทำให้คนรุ่นใหม่เข้าใจว่าจริงๆ แล้ว “ปากท้อง” ไม่ได้อยู่มาลอยๆ แต่สัมพันธ์โดยตรงกับคนที่จะมาเป็นรัฐบาลและนโยบายของรัฐบาล ถ้ามองตามสมการแล้วตัวแปรที่หายไปคือ เขาขาดความเข้าใจว่าปากท้องของเขาเป็นผลโดยตรงจากระบบการเมือง และสิทธิที่เขาจะเลือกผู้กำหนดนโยบายทางการเมืองที่จะทำให้เขาอยู่ดีกินดีหรืออดอยากปากแห้ง

nisitjournal_virginvoters_prof siripan_1
รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อธิบายถึงเหตุผลที่คนอยากออกไปเลือกตั้ง

ส่วนหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง เป็นเพราะการเมืองเป็นเรื่องเข้าใจยากสำหรับพวกเขาหรือไม่

จริงมาก และความจริงนี้ก็เป็นกับทุกประเทศทั่วโลกด้วย ไม่ใช่เฉพาะสังคมไทย แต่ระบบการเมืองไทยมีความเข้าใจยากมากกว่าประเทศอื่นๆ เช่น ระบบเลือกตั้งที่มีการเปลี่ยนจนสร้างความสับสน สร้างความไม่เข้าใจ

อาจารย์จึงคิดว่ามันมีความพยายามอย่างเป็นระบบและเป็นสถาบันโดยอำนาจรัฐที่จะกีดกันให้คนออกนอกระบบการเมืองด้วยการสร้างความสับสน ด้วยการสร้างความรู้สึกว่าเขาไม่มีอำนาจ ด้วยการสร้างความรู้สึกว่าเสียงของเขาไม่มีความหมายและทำให้รู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรก ไม่ควรเข้ามายุ่ง  แต่ในแง่คนที่สนใจการเมืองและอยากจะเห็นพลังคนรุ่นใหม่ เราจะต้องหาวิธีปลุกพลังนี้ขึ้นมาแล้วพยายามหาทางอธิบายให้เขาเข้าใจและเห็นความสำคัญของเสียงของเขาเอง ซึ่งนี่เป็นโจทย์ของพรรคการเมืองเช่นกัน

แล้วคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ติดตามการเมือง แต่ยังยืนยันว่าเขาจะออกไปเลือกตั้ง อาจารย์มองว่า อะไรที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้สมัครของเขา

มาตรฐานของไทยที่ผ่านมาคนออกไปเลือกตั้งประมาณ 73 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าเขาจะไปใช้สิทธิได้เท่ากับเกณฑ์เฉลี่ยทั่วไปหรือเปล่าอาจารย์ไม่แน่ใจ แต่อาจารย์เชื่อว่าเขาไปเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ประเด็นก็คือว่า ในเมื่อคนส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ไม่เคยติดตามการเมืองมาก่อน เขาจะเลือกด้วยเหตุผลอะไร เขาไม่ได้ตามการเมืองมาก เขาไม่ได้มีจุดยืนทางการเมืองว่าอยู่ฝั่งเหลือง ฝั่งเขียวหรือฝั่งแดง

ดังนั้น ตัวแปรที่มีผลต่อการตัดสินใจของเขา อาจารย์คิดว่าเป็นเรื่องของอารมณ์หรือลักษณะต่างๆ ว่า ผู้สมัครคนนั้นหรือพรรคนั้นตรงจริตกับเขาหรือเปล่า ซึ่งจะกลายเป็นว่า คนกลุ่มนี้เลือกบนพื้นฐานของอารมณ์หรือความรู้สึกมากกว่า อุดมการณ์หรือขั้วทางการเมือง (polarization) แบบคนกลุ่มอื่น เช่น คนที่อายุประมาณ 30 ปีขึ้นไป เขาเคยผ่านประสบการณ์เหลืองแดง ดังนั้น เขาจะค่อนข้างมีเรื่องราวความหลังตรงนั้นมามีส่วนในการตัดสินใจ

แต่สำหรับคนที่อายุ 25-26 ปีที่ยังไม่เคยเลือกตั้ง หรือคนอายุ 18-19 ปีซึ่งเด็กมากและยังไม่เคยเลือกตั้ง อาจารย์เลยมีสมมติฐานว่า เหตุผลหลักของเขาคือถูกจริตเราหรือเปล่า กับถ้าอยากไปเลือกแล้วไม่รู้จะเลือกใครก็จะถามคนที่บ้าน อาจารย์คิดว่า อิทธิพลทางบ้านจะมีอิทธิพลสูงกับคนกลุ่มนี้ แล้วจะกลายเป็นเหตุผลบนพื้นฐานของอารมณ์กับความรู้สึกมากกว่าจุดยืนทางการเมือง

ถ้าการเลือกตั้งเป็นสิ่งเดียวที่ยังเชื่อมคนกับการเมือง แล้วกรณีที่เขาหมดศรัทธากับการเมืองจนทำให้คนรุ่นใหม่รุ่นต่อๆ ไปก็หมดศรัทธาเช่นกัน หากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจะเกิดปัญหาอะไรไหม

หากเป็นภาพนั้นจริงๆ อาจารย์คิดว่าเป็นไปได้ ถ้าแนวโน้มทางการเมืองยังไม่เปลี่ยน เราจะเห็นว่าคนรุ่นใหม่หมดศรัทธาทางการเมือง เพราะเขาเห็นว่า 7-8 ปีที่ผ่านมาไม่มีการเลือกตั้ง เขาก็อยู่ได้และสงบดี ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ เขาจะหมดศรัทธาในการเลือกตั้ง ในประชาธิปไตย และถ้ายังลากไปยาวๆ อาจารย์คิดว่ามันเหมือนทฤษฎีกบที่อยู่ในหม้อต้ม คือมีความร้อนขึ้นมาทีละนิดแต่ไม่ได้รู้สึกอะไรจนถึงจุดแล้วมันร้อนจนออกจากหม้อต้มไม่ได้ก็กลายเป็นกบต้มอยู่ในหม้อ

ถ้าเรามองประสบการณ์จากทั่วโลก บางครั้งผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่ได้บริหารประเทศดีอย่างเช่นเวเนซูเอลา แต่เราควรจะมีสิทธิในการกำหนดผู้นำทางการเมือง เราต้องเปลี่ยนเขาเมื่อเขาไม่ตอบโจทย์ที่เราต้องการ พลังตรงนี้จึงเป็นพลังที่ต้องช่วยกันดึงกลับมาให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าเขามีส่วนในการกำหนดอนาคตของประเทศ

สิ่งนี้จะพากลับมาสู่ประเด็นที่ว่าทำไมคนถึงมองว่าคนรุ่นใหม่สำคัญ เพราะว่าถ้าครั้งแรกเขาไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ครั้งที่สองเขาก็ยังไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ในอนาคตจะกลายเป็นระบบการเมืองที่ถูกปกคลุมด้วยชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ ในสังคมและพลังในอนาคตจะหายไป

ถ้าเขาไม่ไปเลือกตั้ง ลูกหลานของเขาก็อาจจะไม่อยากไปเลือกตั้ง ระบบการเมืองที่ประชาชนเป็นศูนย์กลางจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย ซึ่งนั่นคือความอันตราย เราจะเรียกระบบว่าอะไร ถ้าประชาธิปไตยไม่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางของอำนาจก็จะยิ่งอันตราย

แล้วถ้าคนรุ่นใหม่อยากได้เศรษฐกิจที่ดีขึ้น การเลือกตั้งจะช่วยได้ไหม

เรื่องเศรษฐกิจดีขึ้น อาจารย์เชื่อว่า อาจจะไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะถูกบีบให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในด้านเศรษฐกิจที่ดีกว่า เพราะเขากลัวว่าถ้าเศรษฐกิจไม่ดีแล้วคนจะไม่เลือกตั้ง ซึ่งตรงนี้เป็นพื้นฐานที่สุดแล้วและเกิดขึ้นจริงในประเทศทั่วโลก

ไม่มีประชาชนคนไหนจะเลือกรัฐบาลที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ แต่ถ้ารัฐบาลที่เศรษฐกิจตกต่ำและไม่สนใจประชาชนก็เพราะเขารู้ว่าประชาชนไม่เลือกเขา เขาก็ยังอยู่ต่อได้

ดังนั้น ถ้าคนรุ่นใหม่มองว่า เศรษฐกิจไม่ดี พ่อแม่หนูทำงานเหนื่อย ทุกวันนี้เหนื่อยมากขึ้น ไม่สามารถทำมาหาเลี้ยงชีพได้ ไม่มีเวลาพักผ่อน ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้โยงไปที่อำนาจในการเลือกตั้งหรืออำนาจในการเลือกผู้นำประเทศของเราด้วย

ถ้าในสภาวะปกติที่เรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว อาจารย์ก็อยากให้มองไปในอนาคตถึงสิ่งที่คนต้องการแม้แต่คนรุ่นใหม่ก็ด้วย อย่างตัวอาจารย์เองต้องการสนามสีเขียวเยอะๆ พิพิธภัณฑ์เยอะ ๆ รถโรงเรียน สาธารณูปโภคที่ดี  พลังเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราเรียกร้องได้จากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นส่วนใหญ่  รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเขาก็ไม่ได้สนใจ  ดังนั้น สิทธิในการเลือกตั้งจึงเป็นสิทธิที่เราต้องสงวนไว้และหมั่นใช้พลังนี้ให้มากที่สุด เพื่อเป็นการบอกอำนาจรัฐว่า เราต้องการอำนาจนี้อย่างสม่ำเสมอและเป็นระยะเวลาที่แน่นอน ไม่ใช่ทิ้งช่วงไป 7-8 ปี

ตามรัฐธรรมนูญแล้ว ในกระบวนการล่ารายชื่อของประชาชนเพื่อถอดถอนนักการเมืองสักคนต้องใช้รายชื่อถึงหลักหมื่น ซึ่งอาจฟังดูเป็นเรื่องที่ยาก  อาจารย์คิดว่า มีกระบวนการทางการเมืองอื่นที่ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองนอกจากการเลือกตั้งอีกไหม

จริงๆ แล้วการถอดถอนใช้ 20,000 รายชื่อ เด็กกรุงเทพฯ อาจจะรู้สึกว่ามันยากเพราะไม่เคยทำ แต่ว่าในต่างจังหวัดมีการถอดถอนผู้ใหญ่บ้าน อบต. หรืออบจ. เยอะมาก จริงๆ แล้วพลังของประชาชนในระบบการเมืองท้องถิ่นมันเกิดขึ้นอาจจะไม่ใช่จากคนรุ่นใหม่เสียทีเดียว แต่เกิดขึ้นจากประชาชนในพื้นที่มีอยู่จริง ดังนั้น คงต้องเรียกว่า เด็กกรุงเทพฯ เองต่างหากที่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีพลังในการเปลี่ยนแปลง

แต่ส่วนตัวเองก็ไม่ได้ชอบให้มีการเดินขบวนประท้วงบ่อยๆ เพราะสิ่งนี้มีต้นทุนที่สูง ไปกีดกันและละเมิดสิทธิคนอื่นในที่สาธารณะ  หากเป็นการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์และไม่เจ็บตัว เช่น การชุมนุมเพื่อเรียกร้องบางอย่าง สมมติการชุมนุมในอเมริกาหรือยุโรปที่กลุ่มเด็กเขาประท้วงพ่อแม่ว่าเล่นมือถือมากเกินไป หันมาสนใจพวกหนูหน่อย แบบนี้เป็นไปได้เพราะระบบการเมืองเป็นพหุนิยม เปิดรับความหลากหลาย  ซึ่งอาจารย์คิดว่าถ้าระบบการเมืองมันเปิดกว้างให้ทุกคนมีส่วนร่วมหรือแสดงออกได้อย่างไม่มีข้อจำกัด บรรยากาศทางการเมืองก็จะสนุกสนาน มีชีวิตชีวา แล้วคนก็จะรู้สึกว่ามันมีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยน

nisitjournal_virginvoters_prof siripan_2
รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี กล่าวถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองรูปแบบอื่นนอกจากการเลือกตั้ง

อาจารย์กลับมองว่า ความเชื่อมโยงคนกับการเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นการประท้วง อาจจะเป็นการเปิดกลุ่มสนทนากับนักการเมืองในพื้นที่ แลกเปลี่ยนว่าเราต้องการอะไร ไม่ต้องการแค่มาฉีดยุง เราต้องการพื้นที่สีเขียว พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ ที่ออกกำลังกาย หรือชมรมดนตรี  สิ่งนี้คือตัวอย่างของการมีส่วนร่วมหรือสร้างข้อเรียกร้องที่จะแสดงความต้องการไปถึงระบบการเมืองได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการประท้วง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อยากจะให้เกิดขึ้น เพราะเป็นการสร้าง Social capital หรือต้นทุนทางสังคมที่คนรุ่นใหม่เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับระบบการเมือง ซึ่งอาจารย์คิดว่า สิ่งเหล่านี้ทำได้จริงมากกว่าทั้งในกรุงเทพฯ หรือแม้แต่ต่างจังหวัดเอง

อยากให้อาจารย์ช่วยยกตัวอย่างรูปแบบหรือวิธีการที่ทำให้คนหันมาสนใจการเมืองของต่างประเทศ

อาจารย์ว่าที่ชัดที่สุดคือ ตอนรัฐบาลโอบาม่า  อเมริกาก็เหมือนประเทศอื่นที่นอกจากคนรุ่นใหม่จะใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยแล้ว คนทั่วไปก็ใช้สิทธิน้อย แต่พอโอบาม่าสมัครประธานาธิบดีในปี 2547 ครั้งแรกทำให้คนออกมาใช้สิทธิเยอะมากถึง 69 เปอร์เซ็นต์ซึ่งคนกลุ่มนั้นจำนวนมากเป็นคนรุ่นใหม่

อาจารย์จึงคิดว่า ผู้สมัครที่เป็นต้นแบบ หรือเป็นคนที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในอนาคต จะเป็นแรงบันดาลใจและแรงผลักดันให้คนรุ่นใหม่อยากเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง เพราะเขารู้สึกว่ามันมีเป้าหมาย หรือจุดหมายบางอย่างที่เขาไปถึงได้จริงๆ

การเมืองไทยในช่วงนี้ พรรคต่างๆ ก็มีคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นสมาชิกด้วย ตรงนี้จะช่วยให้คนรุ่นใหม่ใส่ใจการเมืองได้มากน้อยแค่ไหน

ถ้าพูดถึงพรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคเกรียน ที่อาจจะไม่ใช่คนรุ่นใหม่ แต่เป็นคนกลุ่มใหม่ที่เป็นกลุ่มคนจากองค์กรอิสระ (NGO) อาจารย์คิดว่าก็มีส่วน แต่ต้องดูบทบาทของพรรคเหล่านี้ต่อไป เพราะตอนนี้ยังประเมินได้ไม่มาก เท่าที่อาจารย์เห็นอย่างพรรคอนาคตใหม่ของธนาธรกับอาจารย์ปิยบุตรก็เป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่ ส่วนพลังนี้จะยั่งยืนแค่ไหนก็อยู่ที่บทบาทของพรรค  แต่อาจารย์คิดว่าอย่างน้อยมันก็สร้างแรงกระเพื่อม  แน่นอนว่าพอมีพรรคที่ประกาศตัวว่าเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ เพื่ออนาคตใหม่ เราจะเห็นว่าพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ก็ตอบรับโจทย์นี้และมีความพยายามที่จะตั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ในพรรคเก่าเหมือนกัน เช่น การเกิดขึ้นของพรรคไทยรักษาชาติ และกลุ่ม New Dem ดังนั้น ตรงนี้อาจารย์คิดว่ามันก็เป็นเหมือนกับตัวสร้างแรงจูงใจที่ทำให้โครงสร้างการแข่งขันในระบบการเมืองและการเลือกตั้งนั้นหันมาให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น

อีกสิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้จากการเมืองไทยในช่วงนี้คือ การพูดคุยกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผ่านโซเชียลมีเดีย เราสามารถมองได้ไหมว่า วิธีหาเสียงผ่านช่องทางใหม่นี้จะช่วยทำให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่และเพิ่มโอกาสชนะการเลือกตั้งได้

อาจารย์มองว่า เพราะพรรคเพิ่งตั้งอาจจะยังไม่ได้จดทะเบียน เขายังไม่สามารถหาสมาชิกพรรคได้ ยังไม่สามารถมีกิจกรรมทางการเมืองในนามพรรคได้  ฉะนั้น การทำแบบนี้จึงคล้ายๆ กับเป็นการแสดงหนังตัวอย่างในแบบที่เขาจะทำได้  อาจารย์คิดว่า ในที่สุดแล้วพรรคเองจะจำกัดยุทธศาสตร์ในการหาเสียงเพียงแค่โซเชียลมีเดียไม่พอแน่นอน เพราะว่าการเมืองไทยต้องใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวค่อนข้างเยอะ อย่างไรก็ต้องมีตัวกลางที่จะเชื่อมโยงพรรคกับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะครั้งนี้ตัวบุคคลที่เป็นส.ส.เขตจะมีความสำคัญมากเพราะเหลือบัตรเลือกตั้งใบเดียว

ดังนั้น อาจารย์คิดว่าทุกพรรคยังจะให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์แบบเดิมก็คือตัวบุคคล หัวคะแนน หรือการลงพื้นที่ในระดับใกล้ชิดกับประชาชน ส่วนการหาเสียงทางโซเชียลมีเดียจะเป็นแค่ตัวเสริมเท่านั้น ไม่สามารถเป็นตัวหลักที่จะทำให้ชนะเลือกตั้งได้

%d bloggers like this: