News

เสียงคนรุ่นใหม่สะท้อนเลือกตั้งยังไกลตัว นักวิชาการชี้สังคมจำกัดการมีส่วนร่วม

คนรุ่นใหม่ยังมองการเลือกตั้งเป็นเรื่องไกลตัวเพราะไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตโดยตรง

เรื่อง/ภาพ: ศุภจิต ภัทรจิรากุล

คนรุ่นใหม่ยังมองการเลือกตั้งเป็นเรื่องไกลตัวเพราะไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตโดยตรง นักวิชาการเตือน คนรุ่นใหม่สร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองได้ แต่หากละเลยการเลือกตั้งอาจทำให้ประชาชนเสียอำนาจทางการเมือง พร้อมแนะต้องทำให้คนเห็นประโยชน์ที่ได้จากการเลือกตั้ง มากกว่ามองเป็นแค่สิทธิและหน้าที่

ผลสำรวจของสำนักการบริหารทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2561 ระบุว่า ในปี 2562 มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั่วประเทศ ทั้งหมด 51,564,284 คน โดยเป็นผู้ที่เกิดระหว่าง 3 ม.ค. 2539-2 ม.ค. 2544 หรือกลุ่มคนอายุ 18-22 ปีที่ยังไม่เคยใช้สิทธิเลือกตั้งหลังจากการเลือกตั้งส.ส. ครั้งสุดท้ายที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้เป็นโมฆะเมื่อ 2 ก.พ. 2557 จำนวน 4,510,052 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 8.75 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

แต่หากย้อนไปดูตั้งแต่การเลือกตั้งส.ส. อย่างเป็นทางการครั้งสุดท้ายเมื่อ 3 ก.ค. 2554 หรือเมื่อเจ็ดปีที่แล้ว จะพบว่า ประชาชนอายุ 18-25 ปี หรือผู้เกิดในปี 2536-2543 ที่ยังไม่เคยใช้สิทธิเลือกตั้งมีจำนวนทั้งสิ้น 7,496,454 คน โดยอ้างอิงจากสถิติประชากรผู้มีสัญชาติไทยและมีรายชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ปี 2560 ของสำนักการบริหารทะเบียน กรมการปกครอง หรือคิดเป็นร้อยละ 14.54 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

“นิสิตนักศึกษา” สอบถามความเห็นของคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวน 20 คน ถึงมุมมองต่อการเลือกตั้ง พบว่า หลายคนมองว่าการเมืองเป็นเรื่องของระบบการบริหารประเทศและไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตส่วนตัวมากนัก แต่ยังมีผลต่อชีวิตประชาชนโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ

ภัทรพงศ์ ตันสกุล บัณฑิตใหม่จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี วัย 23 ปี มองว่า การเลือกตั้งมีความสำคัญในเชิงหน้าที่และกลไก แต่ถ้าทุกคนไม่ให้ความสำคัญกับทุกกระบวนการในการเลือกตั้ง หรือเลือกคนไม่ดีเข้ามา ก็ไม่ได้ช่วยให้ประเทศดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เขาคิดว่าตนเองไม่ได้รับผลกระทบมากนักหากมีหรือไม่มีการเลือกตั้งเพราะไม่มีใครช่วยเขาได้นอกจากตนเอง เขาหวังเพียงแค่ให้รัฐบาลช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนและไม่ทำให้ประเทศล้มละลาย

เช่นเดียวกับ อภิชญา ราษฎร์เจริญ บัณฑิตใหม่จากคณะมัณฑนศิลป์ วัย 22 ปี ที่เห็นว่า การเลือกตั้งเป็นเครื่องหมายของประชาธิปไตย เธอจึงไม่อยากให้หายไป ขณะเดียวกัน เธอกลับมองว่าการเลือกตั้งไม่ได้มีผลต่อการใช้ชีวิตของเธอโดยตรง แต่อาจจะกระทบต่อสังคมแล้วส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเธออีกที อีกทั้งเธอรู้สึกว่าระบบการบริหารไม่เข้าถึงประชาชน เพราะหลังการเลือกตั้งจบลง ชีวิตของประชาชนไม่ได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

ส่วน ทศพร คชาชาติ นักศึกษาอาชีวะ อายุ 18 ปี กล่าวว่า การเลือกตั้งมีความสำคัญ และอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตบ้าง แต่ไม่ได้ทำให้ปากท้องดีขึ้นเพราะสุดท้ายแล้วก็เป็นเรื่องของนักการเมืองซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับเขา

ขณะที่ พงศธร จิรัฐจินตนา พนักงานซ่อมเครื่องบิน วัย 21 ปี ให้ความเห็นว่า การเลือกตั้งมีความสำคัญระดับหนึ่งเพราะเป็นสิทธิของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่สำคัญมากถึงขั้นต้องหยุดงานเพื่อไปใช้เสียง อย่างไรก็ตาม ตนยังเชื่อว่าการเลือกตั้งอาจช่วยทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในการเลือกตั้งปี 2562 เธอประเมินไว้ว่าพรรคการเมืองจะต้องได้คะแนนเสียง 70,000 คะแนนจึงจะได้ที่นั่งส.ส. 1 ที่นั่ง และเมื่อพิจารณาจากสถิติคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยใช้สิทธิเลือกตั้ง 7.5 ล้านคนนั้น มีการคาดการณ์ขั้นต่ำว่า ถ้าคนกลุ่มนี้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเพียงแค่ครึ่งเดียว หรือ 3.5 ล้านคน คะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่จะสามารถเลือกส.ส.ได้ 50 ที่นั่ง ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองได้ ทุกพรรคจึงให้ความสนใจกับคนกลุ่มนี้ 

nisitjournal_virginvotersinfo

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านการเมืองแสดงความเป็นห่วงว่า หากคนรุ่นใหม่ไม่สนใจไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกและครั้งต่อๆ ไปอาจทำให้ระบบการเมืองถูกควบคุมด้วยกลุ่มชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ จนกลายเป็นระบบการเมืองที่ไม่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอำนาจในที่สุด

รศ.ดร.สิริพรรณ อธิบายว่า การที่คนรุ่นใหม่ไม่เห็นถึงความสำคัญของการเมืองนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิด และยังเกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะในไทยที่ระบบการศึกษา โครงสร้างสังคม และกระบวนการกล่อมเกลาทางการเมืองทำให้คนรุ่นใหม่ละเลยต่อความสำคัญและการเชื่อมโยงตัวเองกับการเมืองจนกลายเป็นคนเฉื่อยชาทางการเมือง (political inertia) เพราะผู้มีอำนาจหรือรัฐหวั่นเกรงต่อพลังของคนรุ่นใหม่ที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้

“ปรากฏการณ์ทุกวันนี้เป็นภาพสะท้อนความสำเร็จของพลังอนุรักษนิยมในสังคมไทยที่สร้างขอบเขตและข้อจำกัดต่อการมีส่วนร่วม หรือการคิดตั้งคำถาม” รศ.ดร.สิริพรรณกล่าว

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์กล่าวอีกว่า การออกไปใช้สิทธิเป็นการตัดสินใจที่อยู่บนเหตุและผล (Rational Choice) กล่าวคือ หากผู้ไปใช้สิทธิคำนวณแล้วว่าผลประโยชน์ที่ได้รับกลับมาบวกกับน้ำหนักของพลังเสียงของเขามีมากกว่าต้นทุนของการออกไปเลือกตั้ง เช่น การสละเวลาไปเข้าคูหา คนจะเห็นความสำคัญของการเลือกตั้ง ดังนั้น ระบบต้องบอกว่าประชาชนจะได้อะไรจากการออกไปเลือกตั้ง ไม่ใช่บอกแค่เป็นสิทธิและหน้าที่

“เราต้องทำให้คนรุ่นใหม่เข้าใจว่าจริงๆ แล้ว ‘ปากท้อง’ ไม่ได้อยู่มาลอยๆ แต่สัมพันธ์โดยตรงกับคนที่จะมาเป็นรัฐบาลและนโยบายของรัฐบาล ถ้ามองตามสมการแล้วตัวแปรที่หายไปคือ เขาขาดความเข้าใจว่าปากท้องของเขาเป็นผลโดยตรงจากระบบการเมือง และสิทธิที่เขาจะเลือกผู้กำหนดนโยบายทางการเมืองที่จะทำให้เขาอยู่ดีกินดีหรืออดอยากปากแห้ง” รศ.ดร.สิริพรรณกล่าว

ติดตามทัศนะของ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า เหตุใดคนรุ่นใหม่ถึงยังมองการเลือกตั้งเป็นเรื่องไกลตัว ใน เลือกตั้งปี 2562: ครั้งแรกของ “คนรุ่นใหม่” สัญญาณผลัดใบในระบบการเมือง

%d bloggers like this: