Gender

เพราะเป็นหญิง จึงถูกสอนให้เป็นหญิง

“เขาจะสอนว่าเป็นผู้หญิงต้องทำตัวยังไง เป็นผู้หญิงทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ มีกรอบมาเลยว่า ถ้าเป็นผู้หญิงทำแบบนี้คือถูก ทำแบบนี้คือผิด” - เจน (นามสมมุติ) วัย 20 ปี ศิษย์เก่าโรงเรียนหญิงล้วนแห่งหนึ่งกล่าว

เรื่อง/ภาพ: เมธาวจี สาระคุณ

“เขาจะสอนว่าเป็นผู้หญิงต้องทำตัวยังไง เป็นผู้หญิงทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ มีกรอบมาเลยว่า ถ้าเป็นผู้หญิงทำแบบนี้คือถูก ทำแบบนี้คือผิด” – เจน (นามสมมุติ) วัย 20 ปี ศิษย์เก่าโรงเรียนหญิงล้วนแห่งหนึ่งกล่าว

มุมหนึ่งของโลกการศึกษา มีโรงเรียนที่เรียกว่าโรงเรียนหญิงล้วน มุมหนึ่งของโรงเรียนหญิงล้วน มีส่วนหนึ่งที่ดำเนินงานภายใต้จุดมุ่งหมายและอัตลักษณ์การสร้าง “กุลสตรี” และมุมหนึ่งของความเป็นกุลสตรีทั้งหลาย เจน ศิษย์เก่าโรงเรียนหญิงล้วนแห่งหนึ่ง บอกเล่าถึงมุมที่เธอเคยพบเจอ

“มันเป็นเรื่องของความเป็นผู้หญิง”

เจนกล่าวแล้วนำเราเข้าสู่โลกการศึกษาของเธอ

 

เพราะเป็นหญิง จึงต้องศึกษาความเป็นหญิง

“กุลสตรี”

โรงเรียนของเจนจารึกคำนี้ไว้บนป้ายหน้าโรงเรียน บนอัตลักษณ์โรงเรียน บนหลักสูตร และบนคำพูด

“วิชากุลสตรี” เป็นวิชาที่เจนต้องเรียนตลอดสิบเอ็ดปีในรั้วโรงเรียน วิชานี้สอนถึงวิธีปฏิบัติตัวของเพศหญิง ตั้งแต่การพูด การเดิน การยืน การนั่ง การวางตัว และการปฏิบัติตัวกับผู้ใหญ่

เจนยกตัวอย่างให้ฟังว่า เธอถูกสอนให้นั่งพับเพียบอยู่เสมอ การพับเพียบที่ถูกต้องจะต้องนั่งเก็บปลายเท้า กระโปรงคลุมเข่า หากเปลี่ยนไปนั่งขัดสมาธิ ต้องมีท่าที่ใช้ในการเปลี่ยนเพื่อป้องกันไม่ให้ขากางออกหรือกระโปรงเลิกขึ้นสูงเพราะดูไม่งาม แม้แต่การยืนเข้าแถว หรือยืนฟังอาจารย์ ก็ให้ยืนประสานมือไว้ที่ระดับเอว

“นักเรียนต้องเป็นผู้มีกิริยามารยาทเรียบร้อย ตามขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย”

ข้อความข้างต้นถูกบรรจุไว้ในคู่มือนักเรียน หากพบเห็นการกระทำที่ไม่สอดคล้อง อาจารย์มีสิทธิ์ที่จะดูแลความประพฤตินักเรียน โดยสามารถตักเตือน ทำโทษ เรียกพบผู้ปกครอง ไปจนถึงให้พ้นสภาพนักเรียน

หากนักเรียนคนไหนสามารถรักษากิริยามารยาทของตนให้เป็นไปตามกรอบกุลสตรีที่กำหนดไว้ได้ เมื่อจบปีนักเรียนคนนั้นจะได้รับประกาศนียบัตรเป็นรางวัล

นอกเหนือจากกฎระเบียบ เจนเล่าว่าหลายครั้งการอบรมยังมาในรูปแบบของ ‘“การเป็นผู้หญิง”’ ว่าควรทำอย่างไร

“เป็นผู้หญิงต้องทำตัวให้ดูแพง”

ประโยคนี้เป็นประโยคที่เจนได้ยินเสมอ เป็นสิ่งที่เจนใช้ในการนิยามคำว่าผู้หญิงที่ดี และผู้หญิงที่ไม่ดีในโลกของเธอ

“ทำตัวให้ดูแพง หมายความว่า เป็นผู้หญิงที่เรียบร้อย รักนวลสงวนตัว พูดจาระวังถ้อยคำ ระวังการแต่งตัว อันนี้คือดูแพง ต้องระวัง เป็นผู้หญิงมันมีคำว่าดี ไม่ดี”

เรื่องการแต่งตัวเป็นเรื่องใหญ่ที่เจนถูกสั่งสอน เป็นผู้หญิงไม่สมควรแต่งตัวโป๊ หรือเปิดเผยเนื้อหนังจนเกินไป อย่างชุดนักเรียน โรงเรียนของเธอกำหนดให้ใส่เสื้อทับ (เสื้อกล้ามที่ใส่ทับเสื้อชั้นใน) ใต้เสื้อนักเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้ดูโป๊ หากนักเรียนคนใดลืมใส่เสื้อทับมาโรงเรียน ครูจะให้ไปซื้อที่สหกรณ์เพื่อใส่เรียนในวันนั้น

เจนเล่าให้ฟังว่าแม้แต่ในวันหยุด หากอาจารย์ทราบว่าแต่งตัวโป๊ ไม่ว่าจะเห็นจากโซเชียลมีเดีย หรือมีคนมาฟ้อง ก็ถูกเรียกไปตักเตือนได้

ครั้งหนึ่งหน้าเสาธง เคยมีการนำประเด็นของการแต่งตัวนอกรั้วโรงเรียนมาตำหนิ เธอเล่าให้เราฟังถึงประโยคที่เธอจำขึ้นใจว่า

“ครูไม่อยากให้ใครมามองเธอไม่ดี เธอทำเองใครเขาก็มองเธอไม่ดี หรือถ้าเธอไม่แคร์ว่าใครจะมองเธอไม่ดี (เขาจะมองว่า) โรงเรียนก็ไม่ดีด้วยนะ”

เมื่อเราถามว่าสิ่งที่กำหนดให้ผู้คนจะมองโรงเรียนเธอดีหรือไม่ดีคืออะไร เธอตอบกับเราว่า

“กุลสตรี”

เพราะเป็นหญิง แล้วปัญหาอยู่ตรงไหน ?

“การคุมขังจิตสำนึกทางเพศของนักเรียน เริ่มตั้งแต่การกำหนดเครื่องแต่งกายว่าผู้หญิงต้องใส่กระโปรง” – อาจารย์ ดร. ชเนตตี ทินนาม นักวิชาการด้านเพศวิถีศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าว

อาจารย์ ดร. ชเนตตี มองว่าปัญหาของการเรียนเช่นนี้จะจำกัดความเป็นไปได้ของมนุษย์ด้วยกรอบเพศ สถาบันทางสังคมและวัฒนธรรมมีส่วนในการสร้างความเป็น “เพศ” ที่สมบูรณ์ ด้วยการกำหนดวิธีปฏิบัติให้แก่มนุษย์ ทั้งที่ความจริงแล้ว “เพศ” เป็นเพียงคุณลักษณะที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิดเท่านั้น การเรียนการสอนเช่นนี้ จะสร้างความคาดหวังต่อบทบาททางเพศของมนุษย์ เช่น ผู้ชายต้องเข้มแข็งเป็นผู้นำ ผู้หญิงต้องอ่อนหวานและเป็นแม่ที่ดี หากผิดจากกรอบที่สังคมคาดหวัง มนุษย์ผู้นั้นก็จะได้รับการลงโทษจากสังคม การกระทำเช่นนี้เป็นการเพิ่มความเครียดในการเป็นมนุษย์มากเกินไป เพราะในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่มนุษย์ทุกคนที่สามารถทำตามคุณสมบัติทางเพศของตนได้เต็มร้อย

“เราคิดว่าเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ มันเป็นประดิษฐกรรมทางสังคม ที่มีอำนาจบังคับใช้” อาจารย์ ดร. ชเนตตีกล่าว

นอกจากนี้อาจารย์ ดร. ชเนตตียังชี้อีกว่าการกำหนดบทบาททางเพศเป็นรูปแบบหนึ่งของการสร้างชนชั้น เป็นการยกย่องคนประพฤติตัวแบบหนึ่งมากกว่าอีกแบบหนึ่ง เป็นการลดความพิเศษของมนุษย์ ทั้งที่มนุษย์ทุกคนพิเศษเพราะมีความแตกต่าง สมควรได้รับการยกย่อง และยอมรับ ไม่ว่าเขาจะเกิดมาในเพศใด เลือกวิถีทางทางเพศแบบไหน หรือปฏิบัติตัวอย่างไร

“ผู้หญิงดี แต่งตัวดี พูดจาดี (มี)มารยาท นี่คือการเอาระเบียบวินัยมาชู ให้คนเห็นดีเห็นงามกับการมีวินัย แต่วินัยไม่ได้สร้างชาติ วินัยไม่ได้ทำให้สังคมพัฒนา วินัยไม่ใช่คำตอบของการสร้างความเป็นมนุษย์ “ อาจารย์ ดร.ชเนตตีให้ความเห็น

ด้านอาจารย์ ดร. ปิยฤดี ไชยพร นักวิชาการด้านปรัชญาสตรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การสร้างภาพจำให้กับมนุษย์ในเพศนั้นๆ ส่งผลกระทบต่อบางอาชีพ คนนิยามว่าเป็นอาชีพของเพศใดเพศหนึ่ง เช่น อาชีพเกี่ยวกับการบริการ การดูแลเด็กและผู้สูงอายุ คนมักคิดว่าเป็นอาชีพของผู้หญิง เพราะคนมองว่าผู้หญิงเหมาะกับการดูแลมากกว่าผู้ชาย

“ปัญหาคือเมื่อเราคิดถึงผู้หญิง เราจะคิดเชื่อมโยงไปหาลักษณะที่เราเชื่อกันมาตลอดว่านี่คือผู้หญิง” อาจารย์ ดร. ปิยฤดีเน้นย้ำ

นอกจากนี้ ในทัศนะของอาจารย์ ดร. ปิยฤดี สถานศึกษาจำเป็นต้องเปิดกว้างให้ความเป็นหญิง โดยไม่จำเป็นต้องชื่นชมหรือเชิดชูบุคลิกประเภทไหนเป็นพิเศษ ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะทโมน หรือเรียบร้อย ก็ล้วนแต่น่าชื่นชมในรูปแบบของตัวเอง

“พอเราเห็นคุณค่าผู้หญิงในทุกแบบ มันคือการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเป็นได้ทุกอย่าง” อาจารย์ ดร. ปิยะฤดีกล่าว

เพราะเป็นหญิง แล้วการศึกษาจะเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ ?

“ความท้าทายของการอบรมสั่งสอนผู้หญิงคือการปรับให้ทันตามโลก คุณค่าดั้งเดิมเมื่อเวลาเปลี่ยนก็ค่อยๆลดลงไป ทุกอย่างยังเป็นตัวกรองให้เหลือว่าคุณค่าใดจะอยู่ต่อ มันจะได้สิ่งดีงามในช่วงเวลาของมัน” – อาจารย์ ดร. พิรุณ ศิริศักดิ์ นักวิชาการศึกษาผู้พัฒนาหลักสูตรกุลสตรี ให้ความเห็น

อาจารย์พิรุณมองว่าโรงเรียนหญิงล้วนจำเป็นที่จะต้องสอนความเป็นผู้หญิงให้กับนักเรียนเนื่องจากสังคมไทยยังเป็นสังคมที่คาดหวังกับเพศหญิง ยังคงมองคนที่ภาพลักษณ์ การวางตัว มากกว่าระดับการศึกษาเพียงอย่างเดียว

“การเรียนการสอนที่คาดหวังการวางตัวของผู้หญิงเป็นผลผลิตจากความคาดหวังของสังคม” อาจารย์ ดร. พิรุณกล่าว

อาจารย์ ดร. พิรุณ อธิบายว่าโรงเรียนเองก็เป็นธุรกิจประเภทหนึ่ง เมื่อเป็นธุรกิจจึงจำเป็นต้องผลิตผลผลิตที่ตรงกับความต้องการของสังคมเพื่อทำให้ธุรกิจนั้นยังคงดำเนินต่อไปได้

เมื่อใดสังคมที่เป็นเหมือนตลาดกำหนดโจทย์ที่ต่างไปให้คุณค่าความเป็นหญิง เมื่อนั้นเราคงได้เห็นโรงเรียนปรับตัวและเปลี่ยนแปลง อาจารย์พิรุณให้ความเห็นสรุป

%d bloggers like this: