Social Issue Top Stories

ถามความเห็นผู้บริโภคกรณีแกร็บคาร์ ถึงเวลารัฐทบทวนกม.แท็กซี่รถบ้านหรือยัง?

ผู้บริโภคเห็นว่าภาครัฐควรทบทวนกฎหมายการกำกับดูแลรถขนส่งรับจ้างใหม่ เพื่อรองรับบริการแกร็บคาร์และบริการรถยนต์ร่วมโดยสารประเภทอื่น

เรื่อง/ภาพ: ณภัทร เจริญกัลป์

ผู้บริโภคเห็นว่าภาครัฐควรทบทวนกฎหมายการกำกับดูแลรถขนส่งรับจ้างใหม่ เพื่อรองรับบริการแกร็บคาร์และบริการรถยนต์ร่วมโดยสารประเภทอื่น ขณะที่คนขับแท็กซี่เห็นว่าเป็นการเอาเปรียบธุรกิจตน พร้อมแนะว่าหากต้องการประกอบอาชีพรถรับจ้าง ผู้ขับขี่ควรทำให้ถูกต้องตามกฎหมายที่มีอยู่ดีกว่า

บริการรถยนต์ร่วมโดยสาร (Ride-hailing) คือบริการที่ผู้ขับขี่รถยนต์ส่วนตัวสามารถให้บริการในลักษณะรับจ้าง โดยผู้บริโภคเรียกใช้บริการในแอปพลิเคชัน บริษัทผู้ดูแลแอปพลิเคชันเป็นผู้กำหนดอัตราค่าบริการ ตัวอย่างของบริการรถยนต์ร่วมโดยสารได้แก่ แอปพลิเคชันอูเบอร์ และแกร็บคาร์

จากกรณีข้อพิพาทระหว่างผู้ขับแกร็บคาร์กับผู้ให้บริการแท็กซี่และรถสองแถว จนถึงขั้นทะเลาะวิวาทกันหลายครั้ง โดยสาเหตุหลักเป็นเพราะบริการรถยนต์ร่วมโดยสาร ขัดต่อพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 เนื่องจากเป็นการใช้รถผิดประเภท ผู้ขับขี่ไม่มีใบขับขี่สาธารณะ และไม่ใช้อัตราค่าโดยสารตามที่ทางการกำหนด

กรณีดังกล่าวทำให้เกิดการถกเถียงกันระหว่างฝ่ายที่คัดค้านการให้บริการรถยนต์ร่วมโดยสาร โดยอ้างกฎหมายของไทยที่ไม่รับรองการให้บริการลักษณะนี้ และฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เพิ่มตัวเลือกในการใช้บริการให้แก่ผู้บริโภค นอกเหนือจากแท็กซี่ในระบบผูกขาด ซึ่งมักถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการบริการและความปลอดภัยของผู้โดยสาร

ผู้บริโภคชี้ ใช้แกร็บคาร์เพราะสะดวก ไม่โดนเท ราคาชัดเจน คนขับสุภาพ

จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยใช้บริการแกร็บคาร์ อายุ 18 ถึง 30 ปี จำนวน 26 คน พบว่าเกือบทุกคนจะเลือกใช้บริการแกร็บคาร์ในการสัญจรในชีวิตประจำวัน และทุกคนให้ความเห็นตรงกันว่าภาครัฐควรทบทวนกฎหมายเพื่อรองรับบริการรถยนต์ร่วมโดยสารในอนาคต

สุชานาถ กิตติสุรินทร์ นักศึกษา อายุ 21 ปี กล่าวว่าสาเหตุที่ตนเลือกใช้บริการแกร็บคาร์มากกว่าแท็กซี่ เพราะโอกาสที่จะถูกแกร็บคาร์ปฏิเสธหรือยกเลิกมีน้อยกว่า มีการกำหนดราคาแน่นอนแสดงหน้าจออย่างชัดเจนและสมเหตุสมผล โดยเทียบกับรถตุ๊กตุ๊กที่กำหนดราคาตามใจคนขับ ในกรณีที่เกิดปัญหา แกร็บมีศูนย์ร้องเรียนและมีพนักงานคอยดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสาร

ด้านการบริการ จัสติน่า สุวรรณวิหค ผู้ช่วยผู้กำกับ อายุ 23 ปี เห็นว่าทัศนคติและมารยาทของคนขับรถเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญและมีผลต่อการเลือกใช้บริการของผู้บริโภคมากที่สุด เป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่ผู้ประกอบอาชีพให้บริการควรมี ซึ่งแกร็บคาร์พิสูจน์แล้วว่า สามารถทำให้ผู้บริโภคพึงพอใจมากกว่าแท็กซี่

กมลศิริ ทองสุข พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน อายุ 24 ปี เห็นว่าเหตุที่ผู้บริโภคคนไทยนิยมใช้บริการแกร็บคาร์ เป็นเพราะมีการจ่ายเงินแบบตัดผ่านบัตรเครดิต ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินทอนไม่ครบ และช่วยให้บริหารเวลาได้ดีขึ้นจากการวางแผนการจองผ่านแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้สามารถระบุตำแหน่งของตัวเองได้ชัดเจน ไม่ต้องออกไปยืนรอตามถนนใหญ่ อีกทั้งการผนวกกูเกิ้ลแมปในแอปพลิเคชันก็ช่วยให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติระบุปลายทางจะไปได้ดีกว่าการพูดปากเปล่า

สำหรับประเด็นกฎหมายของแกร็บคาร์ กมลศิริ กล่าวว่า “รู้แค่ว่าแกร็บดีกว่าแท็กซี่ แต่ถ้าตอนนี้ไม่ถูกกฎหมายจริงๆ ก็ถือว่าเป็นการเอาเปรียบพี่ๆ แท็กซี่ จริงๆ ควรมาเจอกันตรงกลาง ให้แท็กซี่ไม่เสียผลประโยชน์มาก”

คนขับ-ผู้บริโภคเสนอแก้กม.เพื่อให้การแข่งขันยุติธรรม

ด้านผู้ขับรถแท็กซี่อย่างประพันธ์ ยิ้มขลิบ เห็นว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บริการแกร็บคาร์ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพราะความสะดวกในการเรียกรถและไม่ต้องกลัวถูกแท็กซี่โก่งราคา อย่างไรก็ตาม คนขับรถแท็กซี่บางกลุ่มก็มองว่าการมีอยู่ของแกร็บคาร์ ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีปัญหาการแย่งลูกค้ากัน

ประพันธ์ยังบอกว่า ผู้ขับรถแกร็บคาร์ไม่มีใบขับขี่รถสาธารณะ ซึ่งขัดต่อกฎหมายอย่างชัดเจน อีกทั้งยังไม่ต้องเสียภาษีเงินได้จากการให้บริการ จึงมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่ยุติธรรมต่อคนขับแท็กซี่ที่ต้องเสียเงินเสียเวลาในการอบรม การจ่ายค่าเช่ารถและบำรุงรักษาต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่เช่ารถจากตัวแทนมาขับให้บริการ

“ถ้าตัดได้ก็น่าจะตัดออกไปเลย เหลือเป็นแกร็บแท็กซี่ที่เอาไว้เรียกรถแท็กซี่ทั่วไปดีกว่า ถ้าเขาจะมาขับแกร็บคาร์ก็ให้เขามาทำให้ถูกต้องแบบพวกผมดีกว่า เขาไม่ได้อบรมมาแบบพวกผม” ประพันธ์เสนอ

ด้านนิธิศ วาจากิจรุ่งเรือง อายุ 24 ปี ผู้เคยขับแกร็บคาร์ กล่าวว่า อยากให้บริการแกร็บคาร์ถูกกฎหมายเพื่อให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น กระนั้นก็เสนอทางแก้แบบเดียวกันกับประพันธ์ ผู้ขับแท็กซี่ โดยเห็นว่า ปัจจุบัน หากผู้ขับขี่อยากทำมาหากินในลักษณะรถรับจ้างนี้ก็ควรทำตามกระบวนการให้ถูกต้องตามกฎหมายจดทะเบียนรถป้ายเหลืองและทำใบขับขี่รถสาธารณะ เพื่อให้มีการเสียภาษีอย่างถูกต้องเหมือนที่คนขับแท็กซี่ต้องทำ

ผู้บริโภคเห็นว่าแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาคือการทำให้บริการแกร็บคาร์ถูกกฎหมาย ณฐบงกช ชยรักษ์ นักศึกษา อายุ 21 ปี กล่าวว่า “มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่จะทำให้ (แกร็บคาร์) ถูกกฎหมาย ข้อดีคือ สะดวกต่อการเรียกรถของผู้โดยสาร ข้อเสียคือ เพิ่มจำนวนรถบนท้องถนนที่นำไปสู่ปัญหาจราจรติดขัด เพราะผู้คนมีแนวโน้มจะลดการใช้ระบบโดยสารสาธารณะ”

ด้านดิฐวัต งามกนก นักศึกษา อายุ 18 ปี เห็นว่าควรผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับบริการแกร็บคาร์ “เพราะประชาชนมีสิทธิ์เลือกการใช้บริการ และเป็นการกดดันให้แท็กซี่ยกระดับคุณภาพการบริการเพื่อแข่งขันกับแกร็บ” ดิฐวัตกล่าว

“ไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องมาคอยหลบๆ ซ่อนๆ แกล้งเป็นลุงเป็นป้าเป็นญาติ ต้องนั่งหน้า นู่นนี่ มันสิทธิผู้บริโภคไม่ใช่หรือ แล้วเราก็ต้องมาถูกพวกที่เคลมว่าตัวเองถูกกฎหมายเอาเปรียบสารพัด” สุชานาถ นักศึกษา อายุ 21 ปี ให้ความเห็น

เมื่อถามถึงความเห็นต่อแนวทางที่เป็นไปได้ต่อการผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ธีร์จุฑา แก้วทอง นักศึกษา อายุ 22 ปี กล่าวว่า การมีบริการแนวคิดใหม่เช่นนี้เกิดขึ้น บางครั้งอาจขัดต่อกฎหมายหรือกฎหมายไม่ครอบคลุมพอ จนทำให้ผู้ที่นิยมแนวคิดแบบเดิมการให้บริการแนวคิดใหม่ในแง่ลบ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องทบทวนเรื่องนี้ใหม่ บนพื้นฐานของการทำให้เกิดความสะดวกสบาย และเป็นประโยชน์แก่สังคมเป็นหลัก อีกทั้งเพื่อให้กลไกตลาดได้มีการแข่งขันกันอย่างไร้การผูกขาด

ธีร์จุฑากล่าวเพิ่มว่า “การกดดันจากสังคมก็เป็นอีกทางหนึ่ง แต่อาจต้องรอเวลา เมื่อมันถูกกฎหมายกฎหมายชัดเจน มีการกำกับดูแลอย่างเป็นธรรม อาจทำให้ Ride-hailing ไม่อิสระเหมือนเดิม แต่ก็ช่วยให้บ้านเมืองมีระเบียบขึ้น ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ปิดกั้นอย่างที่เป็นอยู่ เมื่อนั้น (บริการรถยนต์ร่วมโดยสาร) ก็จะได้รับการคุ้มครอง วันหนึ่งแท็กซี่ทั่วไปก็จะเลิกบ่น ต้องปรับตัวแข่งขัน และการกระทำอุกอาจเหมือนที่แท็กซี่ไล่ตีแกร็บคาร์ก็มิอาจทำได้อย่างเปิดเผยเหมือนเดิม เพราะกฎหมายเปลี่ยนบริบทไป”

ส่วนเฉลิมศิลป์ เฉลิมแสนยากร นักศึกษา อายุ 21 ปี เสริมว่า “เริ่มที่รัฐต้องเล็งเห็นว่าตลาดไทยควรเป็นตลาดการค้าเสรี ไม่ใช่ตลาดผูกขาดอย่างที่รัฐพยายามทำให้เป็น รวมทั้งบริษัทแกร็บแท็กซี่ควรมีการกำหนดคุณสมบัติในการจ้างพนักงาน มากกว่าการหาคนขับรถได้มาขับเฉยๆ”

สำหรับหนทางแก้ข้อพิพาทกับฝ่ายแท็กซี่ น้ำปาย ไชยฤทธิ์ กองบรรณาธิการนิตยสาร อายุ 23 ปี เห็นว่าควรให้ความรู้แท็กซี่เรื่องพฤติกรรมผู้บริโภค ว่าที่จริงแล้วผู้บริโภคไม่ได้เลิกใช้บริการแท็กซี่อย่างถาวร แต่เลือกวาระและโอกาสในการใช้บริการมากกว่า เช่น หากรีบก็อาจจะเลือกโบกแท็กซี่เลย เพราะไม่ต้องรอแบบแกร็บ ถ้าคนขับแท็กซี่เข้าใจจุดนี้ก็จะโกรธระบบแกร็บคาร์น้อยลง

Grab Infographic
เปรียบเทียบแนวทางการกำกับดูแลบริการรถยนต์ร่วมโดยสารในต่างประเทศ

นักวิชาการแนะรัฐเลิกผูกขาดตลาดเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค

ผศ.ดร.พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า การมีอยู่ของใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะถือเป็นแนวทางหนึ่งที่ภาครัฐบังคับให้ผู้บริโภคยอมรับให้เกิดการผูกขาดในตลาดรถขนส่งรับจ้าง

ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์เสนอให้รัฐเปิดโอกาสให้แกร็บคาร์เข้าสู้กับแท็กซี่ในตลาดที่ไร้การผูกขาดพร้อมแนะว่าการแบ่งสัดส่วนรายได้ระหว่างทั้งสองฝ่ายจะเกิดขึ้นจากระบบตลาดเอง โดยผู้บริโภคจะเป็นผู้แบ่งสัดส่วนทางการตลาด สิ่งไหนดีกว่าผู้บริโภคก็เลือกสิ่งนั้น จนธุรกิจนั้นได้สัดส่วนตลาดไปครองในที่สุด

สำหรับการกำกับดูแลทั้งบริการแกร็บคาร์และแท็กซี่นั้น นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์มองว่าเป็นการกำกับการแข่งขันทางการค้ามากกว่ากำกับที่ตัวบริการใดบริการหนึ่ง โดยต้องกำกับไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีพฤติกรรมที่เป็นการทำลายการแข่งขันในตลาด หรือมีอำนาจเหนือตลาดจนทำลายสมดุลการค้าของทั้งสองฝ่าย การกำกับนี้มีเพื่อรักษาให้การแข่งขันเป็นไปอย่างเท่าเทียมและป้องกันการผูกขาดของฝ่ายใดแต่ฝ่ายเดียว

อ่านข้อเสนอแนะแนวทางการกำกับดูแลบริการรถยนต์ร่วมโดยสารของผศ.ดร.พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ที่ นักเศรษฐศาสตร์แนะหนทาง ‘แกร็บคาร์’ ไทย กำกับด้วยกลไกตลาด-ผู้บริโภคต้องร่วมเสนอแก้กม.

อ้างอิง

ได้ข้อสรุปจับ “แท็กซี่รถบ้าน”ขึ้นทะเบียน. ไทยรัฐ, 9 กุมภาพันธ์2561. https://www.thairath.co.th/content/1199622

ทีมสื่อสาธารณะ-ทีดีอาร์ไอ. ความเห็น TDRI ต่อกรณี UBER 16 ข้อ. ไทยพับลิก้า, 14 ธันวาคม 2014. https://thaipublica.org/2014/12/tdri-uber/

พินดา พิสิฐบุตร. ทำไม “แท็กซี่”ต้องมีแบบเดียว? – มุมมองกฎหมายมหาชนเรื่อง Uberและการกำกับดูแลแท็กซี่. Thai Netizen Network, 13 ธันวาคม2014. https://thainetizen.org/2014/12/interview-jantajira-uber/

ภาครัฐหนุนปฏิรูป TAXI TDRI จับมือกรมขนส่งทางบก ร่วมหาทางออก. BLT, 5 กรกฎาคม 2518. bltbangkok.com/CoverStory/ภาครัฐหนุนปฏิรูปTAXITDRIจับมือกรมขนส่งทางบกร่วมหาทางออก

วิภานันท์ ประสมปลื้ม. การกำกับดูแล TNC ในต่างประเทศ (ออนไลน์). กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 24 มกราคม2561. http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/643725

Uber. Toronto regulations : Information for drivers. https://www.uber.com/en-CA/drive/toronto/resources/regulations/

%d bloggers like this: