Community Top Stories

โบสถ์พราหมณ์: ความเก่าที่เข้ากับคนรุ่นใหม่

ร่วมสำรวจเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ค้นหาความเป็นมาและแรงดึงดูด ที่สามารถจูงใจผู้คนจำนวนมาก รวมทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ ให้แวะเวียนมาเที่ยวชมได้อยู่ไม่ขาด

เรื่อง : โมเลกุล  จงวิไล
ภาพ : ชินภัทร  จันทร์หล้าฟ้า, ชนนิกานต์  แก้วแก่นเพชร

บริเวณริมถนนดินสอ เยื้องเสาชิงช้าเล็กน้อย เป็นที่ตั้งของอีกหนึ่งสถานที่อายุกว่า 200 ปีซึ่งมีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ แม้จะไม่ใหญ่โตโออ่า แต่ ‘เทวสถานโบสถ์พราหมณ์’ แห่งนี้ก็มีสถานะเสมือนศูนย์กลางความเชื่อแบบพราหมณ์ในไทยที่มีผู้คนหลั่งไหล่เข้ามาสักการะบูชาอยู่ไม่ขาด ด้วยเหตุผลนานับประการ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกศักดิ์สิทธิ์ของเทวสถาน ศิลปะอันงดงามของประติมากรรม หรือบรรยากาศแสนเงียบสงบ

เมื่อขึ้นชื่อว่า ศาสนสถาน (บวกโบราณ) คงพอเดาได้ไม่ยากว่าบรรดาผู้เยี่ยมชมส่วนใหญ่จะเป็นวัยกลางคนไปจนถึงสูงอายุ แต่สำหรับโบสถ์พราหมณ์ ภาพจำเดิมๆ นี้อาจต้องยกเว้นไว้ เพราะในบรรดาผู้มาเยือนก็มีกลุ่มวัยรุ่นปะปนอยู่ไม่น้อย

“นิสิตนักศึกษา” จึงอยากค้นหาความเป็นมาและเหตุผลว่าเพราะอะไรเทวสถานแห่งนี้จึงยังสามารถจูงใจคนรุ่นใหม่ให้แวะเวียนไปเที่ยวชมได้

ประวัติความเป็นมา & หน้าตาปัจจุบัน

2
โบสถ์พระศิวะ

เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2327 ตามคำบอกเล่าของพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพรามหณ์คนปัจจุบัน ย้อนกลับไปในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชดำริให้สร้างศาสนสถานของพราหมณ์ไว้ ณ ตำแหน่งกึ่งกลางเมือง ตามหลักความเชื่อที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

“รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างเมืองโดยวัดพื้นที่จากแม่น้ำถึงกำแพงเมือง และตั้งสถานสักการะเทพยดา หรือ โบสถ์พราหมณ์ไว้เป็นศูนย์กลาง ตามหลักการสร้างเมือง” พระมหาราชครูฯ เล่า “ภายในทำเป็นอาคารสามหลัง มีโบสถ์พระศิวะ พระพิฆเนศ และพระนารายณ์ เป็นแบบนี้มาตั้งแต่สมัย ร.1” 

3.jpg
โบสถ์พระพิฆเนศ (หลังใกล้) และโบสถ์พระนารายณ์ (หลังไกล)

เทวสถานประกอบด้วยอาคารก่ออิฐถือปูน (หมายถึงอาคารที่ก่อด้วยอิฐและฉาบปูนทับ) สามหลัง ตั้งเรียงกันโดยหันหน้าออกไปทางถนนพร้อมมีกำแพงล้อม แต่ละหลังเป็นอาคารชั้นเดียว ทาสีขาว ส่วนใหญ่มีผนังเรียบไม่มีลวดลาย สื่อถึงความเงียบสงบ โบสถ์ทั้งสามตั้งอยู่ไม่ห่างกันนัก ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็สามารถเดินชมเทวสถานแห่งนี้ได้ครบ ส่วนบริเวณท้ายเทวสถานเป็นอาคารหลังใหม่ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 9 ชั้นล่างใช้เป็นสำนักงาน และชั้นบนเป็นห้องสมุดเก็บหนังสือเกี่ยวกับศาสนา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ซึ่งเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าชมได้

สักการะบูชา เทพยดาทั้ง 4

“ลองเข้าไปกราบกันรึยัง?” พระมหาราชครูฯ ถามกลับเมื่อ “นิสิตนักศึกษา” เอ่ยถามถึงเอกลักษณ์สำคัญที่ทำให้สถานที่แห่งนี้ยังได้รับความนิยมและมีผู้เข้ามาเยี่ยมชมจำนวนมาก

ประธานพระครูพราหมณ์เล่าว่าภายในเทวสถานมีเทวรูปสำคัญ 4 องค์อันได้แก่ พระพิฆเนศ พระพรหม พระนารายณ์ และพระอิศวร ซึ่งถือเป็นไฮไลต์ที่ดึงดูดผู้คนจำนวนมากให้หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาด บ้างมาเยี่ยมชม บ้างมาสักการะบูชา แต่ก็มีผู้ที่เดินเข้ามาด้วยความอยากรู้อยากเห็น เพราะศาลพระพรหมที่ตั้งเด่นอยู่ด้านหน้าทำให้ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมารู้สึกสะดุดตาจนอยากเข้ามาเยี่ยมชม   

1
ศาลพระพรหมบริเวณทางเข้าเทวสถาน

เทวรูปทั้ง 4 ยังมีความเก่าแก่ เพราะถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขมัย แต่ละองค์เป็นตัวแทนของสิ่งศิริมงคลต่างๆ “เริ่มไหว้พระพิฆเนศเพื่อเอาปัญญา จากนั้นก็ไหว้พระพรหมซึ่งเป็นผู้สร้าง รับเอาความเมตตา ต่อไปก็พระนารายณ์ ตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ ความเป็นระเบียบ และมาปิดท้ายที่ศิวลึงค์ (พระอิศวร) พระบิดาของจักรวาล การกำเนิดไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อรับเอาความสงบร่มเย็นและการหลุดพ้น” พระมหาราชครูฯ แนะนำลำดับการเยี่ยมชม

โบสถ์พราหมณ์ ตามความคิดคนรุ่นใหม่

“นิสิตนักศึกษา” ลองสอบถามคนรุ่นใหม่ถึงความรู้สึกและปัจจัยที่ทำให้พวกเขาเลือกเข้ามาเยี่ยมชมศาสนสถานโบราณแห่งนี้

ธัธริยา ธรรมรักษ์ บัณฑิตจบใหม่อายุ 22 ปี เล่าให้ฟังว่า เธอกับกลุ่มเพื่อนรู้จักโบสถ์พราหมณ์แห่งนี้มาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมปลาย ตอนนั้นครูมอบหมายให้เธอมาทำรายงานที่มิวเซียมสยามซึ่งอยู่บริเวณโรงเรียนวัดราชบพิธและอยู่ในย่านเดียวกับเทวสถานฯ จึงได้มีโอกาสนั่งรถโดยสารผ่านสถานที่นี้ ธัธริยาสนใจเลยแวะเข้ามาเยี่ยมชม ก่อนจะประทับใจความสงบร่มเย็นของที่นี่และกลับมาเที่ยวอีกตลอด ทั้งช่วง ม.ปลาย มหาวิทยาลัย จนถึงทุกวันนี้

“ปกติเป็นคนชอบวาดรูปอยู่แล้ว เลยรู้สึกชอบศิลปะของที่นี่โดยเฉพาะรูปปั้น ส่วนตัวเป็นคนชอบความเงียบสงบ สำหรับที่นี่พอได้เข้าไปในโบสถ์เราจะรู้สึกถึงความสงบ รู้สึกเย็น รู้สึกสบาย” ธัธริยากล่าว

4
ประติมากรรมปูนปั้นบริเวณหน้าบันของโบสถ์พระศิวะ

ขณะที่ จิตาภา ทวีหันต์ นักศึกษามหาวิทยาลัย วัย 20  ปี แบ่งปันประสบการณ์ว่า “รู้จักโบสถ์นี้สมัยเรียนอยู่ ม.6 เพราะไปเดินแถวย่านนั้นแล้วร้อน ก็เลยเข้าไปนั่งพักร่ม”

นักศึกษาหญิงบอกว่า จุดเด่นของศาสนสถานแห่งนี้คือความงาม โดยเฉพาะตัวอาคาร นอกจากนี้ศาลพระพรหมซึ่งประดิษฐานอยู่ด้านหน้า ยังมีความโดดเด่น “เราชอบที่มีสถานที่แบบนี้อยู่ เพราะมันทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีหลายความเชื่อซึ่งมาจากที่อื่น อีกอย่างคือคนดูแลที่นี่ก็ให้ข้อมูลดีว่าจะต้องไหว้อะไรก่อน อะไรหลัง” จิตาภาเสริม

แม้ความเชื่อเรื่องศาสนาในสังคมยุคใหม่จะเปลี่ยนผันไปตามกาลเวลา แต่ลึกๆ แล้วมนุษย์ทุกคนล้วนยังต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจให้ได้พึ่งพิงเมื่อต้องการปลีกหนีจากโลกภายนอก ตามความเห็นของพระมหาราชครูฯ นี่คือสาเหตุที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากรวมถึงคนรุ่นใหม่ยังหลั่งไหลเข้ามายังเทวสถานแห่งนี้อยู่ไม่ขาด 

“คนที่มาสักการะบูชา คือคนที่ต้องการความสุข สงบ ร่มเย็น เราไปไหว้พระบ่อยๆ เพื่อทำให้จิตใจมีความเข้มแข็ง เพื่อยันอบายมุข กิเลสต่างๆ ที่จะเข้ามาจากภายนอก ทำให้ต้องมีสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างสถานที่สักการะแบบนี้ เพื่อที่เมื่อมีทุกข์จากโลกภายนอกแล้วต้องการความสงบ จะได้เข้ามาได้” พระมหาราชครูฯ กล่าว

%d bloggers like this: