Social Issue Top Stories

ไร้บ้าน… ไม่ไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ผู้คนหวาดกลัว "พวกเขา" เพราะความไม่เข้าใจ ทั้งที่แท้จริงพวกเราล้วนเป็น "มนุษย์"

เรื่อง: ชินภัทร จันทร์หล้าฟ้า
ภาพ: โมเลกุล จงวิไล, ชินภัทร จันทร์หล้าฟ้า

“พี่ไม่อยากกลับไปอยู่บ้าน กลับไปก็ไม่มีอะไรทำ… บ้านนั้นไม่ใช่ของเราแล้ว เป็นของพ่อเลี้ยง ไม่มีบ้านของตัวเอง ก็เลยมาอยู่ที่นี่”

“ออกจากบ้านมาปีกว่าแล้ว เพราะว่ามีปัญหากับที่บ้าน… ออกมาแล้วมีความสุขนะ ยิ้มได้ตลอด”

“บ้าน” เป็นหนึ่งในปัจจัยการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่คนกลุ่มหนึ่งกลับเลือกเดินออกจากบ้านของตัวเอง มาใช้ชีวิตเป็น “ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ”

หากใครมีโอกาสสัญจรบริเวณสนามหลวง-ถนนราชดำเนิน-คลองหลอด คงสังเกตเห็นผู้คนนั่งและนอนพักอยู่ตามทางเท้าหรือหน้าอาคารต่างๆ เป็นกลุ่มๆ ถ้าเดินตลอดเส้นทางดังกล่าว คืนหนึ่งๆ คงนับด้วยตาคร่าวๆ ได้ไม่ต่ำกว่า 30 คน เคยสงสัยหรือไม่ว่า “ทำไม” พวกเขาจึงตัดสินใจออกมาจาก “บ้าน”

Homeless 1
ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะที่พักอาศัยบริเวณถนนราชดำเนิน

เมื่อบ้านไม่ให้ความสุขใจ จึงต้องใช้ชีวิตในที่สาธารณะ

วิชาญ ชื่นคำ ชายอายุ 51 ปี เล่าให้ฟังว่าเขาออกจากบ้านที่อยู่กับน้องชายมาเกือบ 20 ปีแล้ว เพราะไม่สะดวกใจอาศัยอยู่กับน้องชาย และไม่มีบ้านของตนเองให้กลับไป

“ผมเคยทำงานอยู่บริษัทปูน CPAC ช่วงปี 2534 ถึงปี 2543 แต่ว่าตอนนั้นแฟนป่วยเป็นมะเร็ง ก็เลยขายบ้านขายทุกอย่าง แล้วสุดท้ายพอแฟนเสียชีวิตก็เลยไม่มีบ้านอยู่ เงินก็หมดไปกับการรักษาแฟน” วิชาญย้อนเรื่องราวในอดีตให้ฟัง

วิชาญเล่าว่าเคยเดินทางไปพักอาศัยหลายที่ทั้งในและต่างประเทศ ตั้งแต่สนามหลวง นครราชสีมา อินโดนีเซีย จนกลับมากรุงเทพฯ ช่วงปี 2557 โดยพักแถวศูนย์ราชการฯ (แจ้งวัฒนะ)

แม้จะเคยฝึกอบรมงานฝีมือจากหน่วยงานของกรุงเทพฯ เช่น ทำพวงกุญแจ ดอกไม้ประดิษฐ์ แต่เนื่องจากไม่มีสถานที่สำหรับนำผลิตภัณฑ์ไปค้าขาย ปัจจุบันวิชาญจึงทำงานรับจ้างทั่วไป และพยายามเก็บเงินซื้อบ้านใหม่เพราะไม่อยากกลับไปอยู่กับญาติ พร้อมบอกด้วยรอยยิ้มเล็กๆ ว่า “มีความหวังนิดๆ”

วิชาญยังมีลูกสาว 1 คนซึ่งกำลังเรียนอยู่ในระดับอุดมศึกษา เขาฝากฝังให้น้องชายเป็นคนเลี้ยงดู และยอมรับว่านานๆ ครั้งจะได้เจอหน้ากัน “ลูกสาวเขาบอกเข้าใจที่พ่อออกมาใช้ชีวิตข้างนอก บอกว่าดีที่ยังมีชีวิตอยู่”

ส่วน ฝ้าย ชาวบางกอกใหญ่อายุ 27 ปี ออกจากบ้านมาแล้วครึ่งปี บอกว่าสาเหตุที่ออกมาอยู่ในที่สาธารณะเนื่องจากถูกคนในบ้านทำร้าย “ออกจากบ้านเพราะว่าลุงทำร้าย แล้วแม่ก็ร้องไห้ บอกว่าให้แจ้งตำรวจ ไม่ก็ให้ออกมาถ้ามีที่ไป ก็เลยตัดสินใจออกมา”

ฝ้ายยอมรับว่าการได้ออกมาใช้ชีวิตข้างนอกมีข้อดี “ได้ทำงาน มีของใช้ มีโทรศัพท์ เก็บเงินซื้อของ ส่งลูกเรียน” ปัจจุบันเธอรับจ้างต่อคิวจองรองเท้า สั่งสินค้า และรับงานเป็นผู้ชมตามรายการโทรทัศน์ต่างๆ เธอบอกว่ามีเครือข่ายที่จะแจ้งผ่านทางโทรศัพท์มือถือว่าช่วงนี้มีรายการให้เธอไปเข้าร่วม

ตอนนี้ฝ้ายฝากฝังให้น้องสาวเป็นคนเลี้ยงลูกชายชั้น ป.1 และลูกสาวที่กำลังเข้าอนุบาล “เราอยากอยู่กับลูกนะ ตอนนี้คือลูกชายกำลังจ้ำม่ำ เขาก็รู้ความบ้าง ก็บอกน้องสาวเขาว่าแม่ไม่ได้ทิ้งนะ แม่มาทำงาน เราก็พยายามเก็บเงินให้ลูก” เธอบอกด้วยรอยยิ้มและแววตาที่แสดงถึงความรักที่มีต่อลูกๆ

เมื่อคนกรุงและผู้สูงอายุออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะเพิ่มขึ้น

มนทกานต์ ฉิมมานี นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า การที่คนออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเศรษฐกิจที่ตกต่ำเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากปัญหาสถาบันครอบครัวด้วย ส่งผลให้ต้องพิจารณาว่าเขาเป็นคนไร้บ้านแบบขาด “House” (บ้านเชิงกายภาพ) ซึ่งเกิดจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก หรือขาด “Home” (บ้านเชิงจิตใจ) โดยกลุ่มหลังนี้ไม่ได้มีฐานะยากจน แต่บ้านไม่อบอุ่นจึงตัดสินใจออกมา

ผลการสำรวจช่วงปี 2558-2559 พบว่าคนไร้บ้านมาจากเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 30.6 มาจากภาคกลาง ร้อยละ 28.2 ซึ่งมักมีฐานะดีแต่ไม่อยากอยู่บ้าน สะท้อนว่าการขาด Home เพิ่มขึ้น

อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ซึ่งทำงานกับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะบริเวณสนามหลวง คลองหลอด และปริมณฑลมากว่าทศวรรษ ชี้ว่า จากการเก็บสถิติของมูลนิธิ พบว่า ผู้อาศัยในที่สาธารณะจะเพิ่มจำนวนขึ้นประมาณร้อยละ 10 ทุกปี โดยเป็นผู้สูงอายุมากขึ้น เนื่องจากสวัสดิการผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาทที่ได้รับมาไม่เพียงพอ ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถดูแลตัวเองได้ บางครอบครัวจึงมองว่าเป็นภาระ และทอดทิ้งให้ออกมาอาศัยในที่สาธารณะ

“600 บาท ถ้าเทียบชีวิตมนุษย์ ผู้สูงอายุคนเดียวที่แก่ชรา คิดว่าเฉลี่ยวันหนึ่ง อาหารวันละสามมื้อนี่เขาเหลือเงินอยู่เท่าไหร่ มันพอรึเปล่า ไหนจะค่ารถไปหาหมอ” อัจฉรากล่าว

ความเห็นของอัจฉราเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุ สอดคล้องกับรายงานวิจัยเรื่อง “การสำรวจข้อมูลทางประชากรเชิงลึกของคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง” โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งระบุว่า ช่วงอายุของคนไร้บ้านที่พบมากที่สุดคือ กลุ่มวัยกลางคนอายุ 40-59 ปี คิดเป็นร้อยละ 49.04 รองลงมาคือวัยแรงงานอายุ 19-39 ปี คิดเป็นร้อยละ 26.55 และกลุ่มผู้สูงวัยอายุมากกว่า 60 ปี คิดเป็นร้อยละ 20.35

Homeless 4
มูลนิธิอิสรชนลงพื้นที่เยี่ยม “เพื่อน” ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ

เมื่อการไร้บ้านถูกทำให้ไร้ศักดิ์ศรี

วาสนา (สงวนนามสกุล) หญิงอายุราว 40 ปีซึ่งอยู่บริเวณคลองหลอดเล่าให้ฟังว่า เคยเจอเหตุการณ์เจ้าหน้าที่รัฐมาไล่ โดยพูดกับเธอว่า “อย่าทำให้ภาพลักษณ์ไม่ดี สังคมมองว่าพวกเรา (คนไร้บ้าน) ไม่ดี” ซึ่งเธอก็ยอมรับการกล่าวหานั้นเพราะรู้สึกว่าไม่สามารถทำอะไรได้ อย่างไรก็ตาม วาสนาบอกว่า “ไม่หวังให้ใครเข้าใจหรอก ขนาดรัฐยังไม่เข้าใจเราเลย รัฐกำลังเหยียบเราอยู่ เราไม่ใช่คนของรัฐ”

เช่นเดียวกับ เวียงสวรรณ์ แก้วสาลี หรือ หน่อย ชาวศรีสะเกษที่เคยมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะที่สนามหลวง และปัจจุบันเป็นแม่ค้าขายข้าวไข่เจียว เธอตัดพ้อว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยเข้ามาพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้อาศัยในที่สาธารณะ แม้เธอจะเข้าใจว่าภาครัฐต้องการภาพความสวยงามของพื้นที่สนามหลวง-คลองหลอด แต่หากทำให้สวยงามแล้วผู้อาศัยในที่สาธารณะสามารถอาศัยได้ด้วย ก็น่าจะเป็นเรื่องดี

เวียงสวรรณ์ยังเล่าให้ฟังว่าแม้ตอนที่เธอเป็นแม่ค้า ไม่ใช่ผู้อาศัยในที่สาธารณะแล้ว ก็เคยถูกไล่ที่เช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่รัฐต้องการให้เธอย้ายไปขายอาหารบริเวณสนามหลวง 2 ใกล้กับพุทธมณฑล (นครปฐม) ซึ่งเธอมองว่าไม่มีลูกค้า ทำให้ขายไม่ได้ หรือบางครั้งเจ้าหน้าที่ก็มาบอกให้หยุดขายเป็นเวลาหนึ่งเดือนโดยไม่แจ้งล่วงหน้าหรือถามความเห็นประชาชนละแวกคลองหลอดก่อน

แม่ค้าขายไข่เจียวจึงอยากให้เสียงของเธอไปถึงภาครัฐว่า “เธออยากอยู่ตรงนี้” เพราะสำหรับเธอแล้ว สนามหลวงเปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ ที่ไม่ได้น่ากลัว แต่อบอุ่น

ด้าน มนทกานต์ นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยสังคมฯ ชี้ว่าการที่รัฐไล่ผู้อาศัยในที่สาธารณะให้ย้ายออกไปไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เช่นเดียวกับเวียงสวรรณ์ อดีตผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ที่บอกว่า “ถึงจะไล่คนไร้บ้านไป พวกเขาก็จะย้ายไปที่อื่น ไปหัวลำโพง วงเวียนใหญ่ เยาวราช มันไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาจริงๆ”

Homeless 3
จำนวนผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะบริเวณพื้นที่คลองหลอดเริ่มบางตา หลังเจ้าหน้าที่รัฐเร่งดำเนินการจัดระเบียบพื้นที่

ภาวะไร้บ้าน… เหมือนห่างไกลแต่ใกล้ตัวกว่าที่คิด

มนทกานต์เสนอว่า เรื่องของคนไร้บ้านเป็นประเด็นที่สังคมควรให้ความสนใจและร่วมป้องกันแก้ไข โดยให้เหตุผลว่าภาวะไร้บ้านเป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะวันหนึ่งผู้สูงอายุในบ้านที่หลงๆ ลืมๆ อาจเดินออกมาแล้วกลับบ้านไม่ได้ วันหนึ่งคนใกล้ตัวอาจออกมาเป็นคนไร้บ้าน หรือตัวเราเองวันหนึ่งอาจล้มละลาย ทำให้ไม่มีที่พักพิงก็เป็นได้

สำหรับผู้อาศัยในที่สาธารณะที่ขาดบ้านเชิงกายภาพ มนทกานต์บอกว่า “บ้านพัก” เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญ เนื่องจากเป็นตัวช่วยในการ “ช้อนคน” ไว้ไม่ให้เตลิดไปไกล และยังมุ่งพัฒนาศักยภาพผู้อาศัยในที่สาธารณะให้มีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตที่มีบ้านเหมือนเดิม

ไพรัตน์ เหมันต์ นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการประจำบ้านอิ่มใจ บ้านพักย่านแม้นศรี เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย สังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งเปิดให้ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเข้าพักรายวัน บอกว่า ผู้ที่เข้ามาพักส่วนใหญ่เป็นคนไร้บ้านขาจรที่ต้องการโอกาส เขาจะได้อาหาร ที่พัก ห้องอาบน้ำ ขณะที่ส่วนน้อยเป็นคนไร้บ้านขาประจำ ซึ่งทางบ้านพักจะช่วยจัดหางาน ฝึกอาชีพ เพื่อพัฒนาทักษะให้พร้อมทำงาน

นักสังคมสงเคราะห์กล่าวว่า “คนไร้บ้านที่น่าเป็นห่วง คือกลุ่มที่พัฒนาตัวเองได้ยาก เช่น ผู้สูงอายุ คนที่มีอาการทางจิตเวช คนติดสุรา คนที่ไม่มีทางถอยหลังกลับบ้าน คนที่ไม่มีสมบัติ คนที่เหลือตัวคนเดียว ทำให้พวกเขาต้องมาอาศัยในพื้นที่สาธารณะ เช่น สนามหลวง”

ไพรัตน์วิเคราะห์สาเหตุที่สนามหลวงกลายเป็นสถานที่รวมตัวของกลุ่มคนไร้บ้าน ดังนี้

1. การเดินทางสะดวก สามารถเดินทางได้ตลอด 24 ชั่วโมง

2. มีคนสัญจรพลุกพล่าน มีนักท่องเที่ยว

3. มีของขาย 24 ชม. รถเข็น ร้านสะดวกซื้อ

4. มักมีเทศกาลจัดงาน แจกข้าวแจกของ

5. มีระบบแสงสว่าง ไม่อับ ความปลอดภัยสูง ไม่ค่อยถูกโจรกรรม

6. พื้นที่กว้าง มีที่อาบน้ำใกล้ๆ มีความสะดวก

ขณะที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจประชากรคนไร้บ้านตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพมหานครและพื้นที่เกี่ยวเนื่องเมื่อปี 2558 พบว่า ในช่วงหนึ่งคืน พบคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวน 1,178 คน โดยพบบริเวณสนามหลวง-ถนนราชดำเนิน-คลองหลอด มากที่สุด รวม 349 คน

ด้านอัจฉรา เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน แนะว่า การป้องกันไม่ให้เกิดผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเพิ่มขึ้นวิธีหนึ่งคือ “การยอมรับ” จากสมาชิกในครอบครัว

“มนุษย์ทุกคนต้องการการยอมรับ การมีตัวตน การมีมิตรภาพ บางคนรวยกว่าเราออกมาเป็นคนไร้บ้าน เพราะอะไร ไม่ใช่เพราะว่าต้องการอิสระ แต่เขาแค่ไม่ได้รับการยอมรับในครอบครัว เขาไม่มีตัวตนในครอบครัว ลึกๆ แล้วมนุษย์ต้องการความสุข ต้องการการยอมรับจากสังคม การมีตัวตน” เธอบอก

เช่นเดียวกับ วิชาญ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะที่เคยถูกคนในสังคมแสดงอาการหวาดกลัวและดูถูก เขาเผยรอยยิ้มเย้ยหยันโลก แล้วพูดประโยคที่ส่งตรงมาราวกับต้องการให้สังคมได้รับรู้ว่า “คนเหมือนกันก็อยากให้ดูว่าเป็นคน อย่าดูแค่ด้วยสายตาว่าเราต่างจากคุณ”

%d bloggers like this: