Community Interview Top Stories

จากหนึ่งสู่สาม : เมื่อกาลเวลากำลังเปลี่ยนแปลง “สามแพร่ง”

การเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาของสามชุมในบริเวณ 'สามแพร่ง'

เรื่อง: เอม มฤคทัต
ภาพ: ชินภัทร จันทร์หล้าฟ้า

ในอดีต พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นแหล่งการค้าที่สำคัญ

ในปัจจุบัน พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวหากพูดถึงย่านพระนคร

จากลักษณะทางกายภาพของถนนสามสายที่อยู่เรียงกัน ส่งผลให้แพร่งภูธร แพร่งนรา และแพร่งสรรพศาสตร์ ถูกเรียกรวมกันเป็นหนึ่งชุมชนเล็กๆ ที่สามารถเดินไปมาหาสู่กันได้ภายใต้ชื่อ “สามแพร่ง”

ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 สามแพร่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของพระบรมวงศานุวงศ์ จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 พื้นที่บางส่วนเริ่มกลายเป็นที่ปล่อยเช่าสำหรับประชาชน และมีการขายพื้นที่แพร่งสรรพศาสตร์ให้กับเอกชนเพื่อดัดแปลงเป็นอาคารพาณิชย์และบ้านเช่า ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา ทำให้เหลือเพียงสองแพร่งเท่านั้นที่ยังอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และยังคงไว้ซึ่งอาคารโบราณอายุกว่าร้อยปี

ด้วยภาพที่คุ้นตาของตึกโบราณสองชั้นแบบชิโน-โปรตุกีสอันเป็นเอกลักษณ์ของแพร่งนราและแพร่งภูธรตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 รวมทั้งซากประตูโบราณของวังสรรพสาตรศุภกิจหน้าแพร่งสรรพศาสตร์ ทำให้ชุมชนสามแพร่งกลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่มักถูกโปรโมทผ่านสื่อของทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ยังคงไว้ทั้งตัวอาคารและร้านค้าเก่าแก่ ถ้าจะให้คุ้นที่สุด คงหนีไม่พ้นภาพของสามชุมชนที่รวมตัวกันจัดงานภายใต้ชื่อ “งานสามแพร่ง” ทุกๆ สิ้นปีตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา

หากในความเป็นจริงแล้ว กาลเวลาที่ผ่านไปกลับทำให้ความเป็นชุมชนของแพร่งทั้งสามต่างค่อยๆ เปลี่ยนไปคนละทิศคนละทาง

แพร่งนรา : เรียนรู้ที่จะรักษาเพื่อคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของชุมชน

“แต่ก่อนที่ตรงนี้เป็นศูนย์รวมของการค้าจริงๆ เรียกว่าสามารถใช้ชีวิตตรงนี้ได้เลย เพราะอยู่ใกล้ทั้งบางลำภู สำเพ็ง เยาวราช บ้านหม้อ” พี่ใหญ่ – บุญทรง พฤกษาพงษ์ วัย 54 ปี เจ้าของร้านอาหารตามสั่งที่ชาวแพร่งนรายกให้เป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมต่างๆ เล่าถึงชุมชนแห่งนี้เมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว ที่นอกจากจะล้อมรอบไปด้วยแหล่งการค้าสำคัญแล้ว  ทั้งหัวและท้ายถนนยังติดกับอาคารราชการทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงาน และศาลยุติธรรม

พี่ใหญ่เล่าให้ฟังว่าในสมัยก่อน คนในพื้นที่ประกอบอาชีพค้าขาย ถนนฝั่งคลองหลอดจะมีร้านขายของเก่าและสินค้ามือสอง ส่วนช่วงศุกร์-เสาร์-อาทิตย์จะมีเรือขายผลไม้ตามฤดูกาลมาจอด นอกจากนี้ ใกล้ๆ กระทรวงต่างๆ จะมีแผงขายหนังสือ พอได้เวลาเปิดเทอม นักเรียนก็จะต้องนำใบสั่งหนังสือมาให้ร้านจัดหรือซื้อเฉลยแบบฝึกหัดกันที่นี่ ด้านถนนตะนาวเป็นร้านและโรงงานเครื่องหนังขนาดย่อมที่ขายทั้งเข็มขัด กระเป๋า รองเท้า ส่งออกต่างประเทศและส่งไปขายที่บางลำภู ส่วนพื้นที่ระหว่างซอยจะเป็นสำนักงานทนายและร้านอาหารเพื่อรองรับคนที่เข้ามาติดต่อราชการในบริเวณนี้

“ช่วงปี 2525 พอสนามหลวงย้ายไปจตุจักร คนก็ไม่มาขายของที่นี่แล้ว ต่อมาระบบศาลเริ่มแยกเป็นศาลธนบุรี ศาลอาญา ศาลแขวง อาชีพที่เคยอยู่ตรงนี้ก็อยู่ไม่ได้ ยิ่งพอลูกหลานในบ้านตัวเองเริ่มได้รับการศึกษาที่ดี ไม่สานต่ออาชีพของพ่อแม่ ไปทำงานในบริษัทหรือทำงานที่ดีกว่าที่พ่อแม่เขาเคยทำ อาชีพค้าขายต่างๆ เลยหายไป” พี่ใหญ่สรุป

DSCF4777 copy
พี่ใหญ่ – บุญทรง พฤกษาพงษ์  ผู้นำการทำกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนแพร่งนรา

หากมีโอกาสได้เดินสำรวจในชุมชนจะพบว่าแม้ในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ควรจะมีผู้คนเข้ามาเที่ยวเล่น กลับมีเพียงผู้สูงอายุที่ออกมานั่งพูดคุยกันอยู่หน้าบ้านเพียงไม่กี่คนเท่านั้น เช่นเดียวกับบ้านเรือนส่วนใหญ่ที่พี่ใหญ่เล่าว่ามีเพียงแค่ร้อยละ 30 ที่ยังสานต่ออาชีพเดิมของครอบครัว ด้วยรูปแบบบ้านที่เป็นตึกแถวสองชั้นขนาดเล็กเหมือนกันทุกหลัง ทำให้การขยับขยายนั้นเป็นไปได้ยาก ส่งผลให้บ้านที่แต่งงานมีครอบครัวใหญ่จำเป็นต้องย้ายออกจากชุมชนไป

อย่างไรก็ดี พี่ใหญ่มองว่าในทุกการเปลี่ยนแปลงควรมีเรื่องเล่า เช่นเดียวกับอัตลักษณ์ของชุมชนที่ควรมีการช่วยกันรักษาไว้ ในปี 2539 พี่ใหญ่และเพื่อนๆ ในชุมชนใกล้เคียงทั้งแพร่งภูธรและแพร่งสรรพศาสตร์จึงรวมตัวกันจัด “งานสามแพร่ง” เป็นเทศกาลเล็กๆ โดยหวังให้ชุมชนเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับครอบครัว ที่มีทั้งกิจกรรมและการเล่าเรื่องราวในอดีตของชุมชนเท่าที่จะสามารถทำได้ “เราควักกระเป๋าจัดงานกันเองหมดเลย ทาสีชุมชนใหม่ หากิจกรรมที่น่าสนใจมาให้เด็กๆ ทำ แล้วใครมีของเก่า เราก็ให้เขาเอามาโชว์ที่โรงเรียนตะละภัฏ” พี่ใหญ่เล่า

จากงานเทศกาลในครั้งนั้น ส่งผลให้ชุมชนสามแพร่งเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง จากงานเล็กๆ ระดับชุมชนจึงกลายเป็นงานขนาดใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ เช่น กทม. และ ททท. อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของหน่วยงานเหล่านี้ทำให้บทบาทของสมาชิกในชุมชนลดลงเพราะต้องติดต่องานผ่านเจ้าหน้าที่รัฐและคนภายนอกเป็นหลัก สามแพร่งจึงกลายเป็นเพียงสถานที่จัดงานที่ถูกกำหนดภาพลักษณ์จากคนภายนอก

ปัจจุบัน สสส. กลุ่มดินสอสี และกลุ่มรักยิ้ม ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านศิลปะอิสระ ร่วมกับเยาวชนได้เข้ามาเป็นผู้รับช่วงต่อในการจัดงาน โดยปรับรูปแบบกิจกรรมเป็นการพาเยาวชนที่สนใจลงมาศึกษาชุมชน พร้อมกับเปิดซุ้มกิจกรรมด้านศิลปะให้กระจายไปทั่วชุมชนในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งทำให้ชาวบ้านเองก็ได้กลับมามีส่วนร่วมกับงานของชุมชนมากขึ้นด้วยเช่นกัน

แม้เรื่องเล่าของชุมชนจะถูกถ่ายทอดผ่านการพาเด็กๆ ที่สนใจมาเรียนรู้กับชุนชนเป็นประจำทุกปีที่มีงานเทศกาล แต่พี่ใหญ่ยอมรับว่าจำนวนเด็กๆ ที่สนใจที่จะมางานในปัจจุบันนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป บวกกับเหตุการณ์ไฟไหม้เมื่อปี 2560 ที่ทำให้บ้านเรือนเสียหายกว่า 13 หลัง ส่วนโรงเรียนตะละภัฏซึ่งเป็นอาคารไม้เก่าแก่กลางชุมชนก็มีสภาพผุพังจนใช้การไม่ได้ และต้องได้รับการซ่อมแซมในเร็ววัน ทำให้ผู้นำชุมชนยอมรับว่าสถานการณ์ของชุมชนนั้นอยู่ในช่วงที่ยังไม่รู้ว่าจะไปไหนทิศทางไหนต่อไป

DSCF4809 copy
โรงเรียนตะละภัฏ อาคารไม้เก่าแก่ของชุมชนซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการจัดงานสามแพร่ง

“ผมคิดว่าอีกประมาณ 5 ปี สำนักทรัพย์สินฯ คงจะเข้ามาซ่อมแซมอาคารทั้งชุมชนนี้ ถึงตอนนั้นคนที่เคยทำมาหากินที่นี่คงต้องย้ายออกไป แล้วถ้าเขาไปลงหลักปักฐานมีอาชีพที่อื่น หรือคนแก่ที่เขากลับไปอยู่กับครอบครัวนานๆ คุณคิดว่าเขาจะกลับมาไหมถ้ากลับมายังต้องจ่ายค่าซ่อมแซม จ่ายค่าประกันอัคคีภัย ภาษีโรงเรือนรวมเป็นเงินหลายแสน” พี่ใหญ่กล่าว

ไม่มีใครมองออกว่าในอีก 15 ปีข้างหน้าที่คาดการณ์ว่าเมื่อการซ่อมแซมชุมชนเสร็จแล้วนั้นจะเกิดอะไรขึ้น ในระหว่างนี้ งานเทศกาลประจำปีอาจไม่ได้ถูกจัด และบ้านเรือนของชาวบ้านที่ย้ายออกไปอาจถูกแทนที่ด้วยร้านแฟรนไชส์ต่างๆ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจากชุมชนใกล้เคียง

“เพราะฉะนั้นเมืองเก่าต้องมีคนเล่าเรื่อง วิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ผ่านมา อาชีพเดิมๆ มันเคยเป็นอย่างไรมาก่อน ในอนาคตเราไม่มีทางรู้ว่ามันจะเหลือสักเท่าไหร่หรือหายไปเลยไหม เพราะฉะนั้นในตอนนี้ที่ทำได้ ก็อยากจะเก็บเรื่องราวเหล่านี้เอาไว้ให้ได้” พี่ใหญ่สรุป

แพร่งภูธร : จัดการด้วยระบบองค์กรเพื่อชุมชนที่น่าอยู่

เช่นเดียวกับแพร่งนรา เมื่อเกือบ 60 ปีที่แล้ว แพร่งภูธรเคยเป็นศูนย์รวมร้านอาหารชื่อดังมากมาย สังเกตได้จากสวนหย่อมขนาดเล็กประมาณตึกแถว 7 คูหา พี่กอล์ฟ – อภิชาญ วัลลา อายุ 49 ปี ประธานกรรมการชุมชน เล่าให้ฟังว่า พื้นที่บริเวณสวนหย่อมที่ตั้งอยู่กลางชุมชนนี้เคยเป็นเพิงตั้งร้านอาหาร ก่อนจะถูกดัดแปลงเป็นโรงอาหารสำหรับรองรับผู้ที่มาติดต่อราชการที่กระทรวงต่างๆ ใกล้ชุมชน จนกระทั่งเมื่อปี 2504 กระทรวงต่างๆ ย้ายไปตั้งบริเวณอื่น พื้นที่นี้จึงถูกปรับเป็นสวนหย่อมให้ชาวบ้านใช้ทำกิจกรรมและพักผ่อน

DSCF4848 copy
พี่กอล์ฟ – อภิชาญ วัลลา ประธานชุมชนแพร่งภูธร

“อาหารที่แพร่งนี้พูดได้ว่าอร่อยที่สุด แต่ก่อนท่านเอกอัครราชทูต ข้าราชการต่างๆ จะมากินอาหารกันตรงนี้จนพื้นที่ตรงนี้ครึกครื้นมาก คนในชุมชนก็ไปมาหาสู่กัน เด็กๆ ออกมาเล่นกัน สนุกกว่านี้เยอะ 

“เดี๋ยวนี้ต่างคนต่างทำมาหากิน จะเจอกันทีก็เลิกงาน หรือบ้านไหนที่มีคนแก่ก็มักจะไม่ค่อยมีลูกหลาน เป็นแม่หม้ายกับเป็นโสดกันเยอะ สุดท้ายก็ไม่มีคนสานต่ออาชีพ” พี่กอล์ฟอธิบาย

ปัจจุบัน ชุมชนแห่งนี้จึงเงียบเหงาลงไปถนัดตาเช่นเดียวกับแพร่งนรา มีเพียงผู้คนในชุมชนที่ออกมาพักผ่อนและพูดคุยกันบริเวณสวนหย่อมให้เห็นระหว่างวัน ช่วงเวลาที่ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาคือยามเย็นที่ร้านอาหาร และรถเข็นขายอาหารเริ่มออกทำการ หรือช่วงเสาร์-อาทิตย์ที่จะมีนักท่องเที่ยวแวะเข้ามาบ้างประปราย

พี่กอล์ฟเล่าว่าชุมชนจะกลับมาคึกคักก็ต่อเมื่อมีงานเทศกาลประจำปีอย่างงานสามแพร่งเท่านั้น เพราะชาวบ้านจะรู้สึกภูมิใจที่ได้ใช้พื้นที่ของชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรม นอกจากนี้พวกเขายังใช้โอกาสนี้ตั้งซุ้มเฉพาะกิจสำหรับขายอาหารและขนม รวมทั้งได้ติดต่อกับเพื่อนบ้านในแพร่งใกล้เคียงอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม พี่กอล์ฟมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ชาวบ้านพึงพอใจ และยินดีที่จะให้คนนอกอย่าง สสส. และกลุ่มองค์กรศิลปะต่างๆ เข้ามาช่วยจัดกิจกรรมเพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายกันเองภายในชุมชน

DSCF4883 copy
ตึกสองชั้นอายุกว่าร้อยปีที่เป็นเอกลักษณ์ของแพร่งภูธร

เช่นเดียวกับการสนับสนุนการจัดงานประจำปี พี่กอล์ฟยังคงยินดีเปิดรับการเข้ามาของหน่วยงานรัฐเพื่อช่วยบริหารจัดการชุมชนในด้านอื่นๆ เช่น กระทรวงกลาโหมมาตั้งไลน์กลุ่มสำหรับคนในชุมชน เพื่อแก้ปัญหาทั้งการปรับทัศนียภาพให้น่าอยู่หรือการส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาจัดระเบียบยามที่มีคนไร้บ้านเข้ามาในชุมชน

“ตอนนี้มีทั้งกระทรวงกลาโหมและสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่เข้ามาปรับปรุงทัศนียภาพ ทั้งการนำสายไฟลงดินและการเข้ามาทาสีอาคารเก่าสำหรับงานพระบรมราชาภิเษกที่กำลังจะมาถึง เลยถือเป็นโอกาสดีของชุมชนที่จะได้ทำให้น่าอยู่มากขึ้นไปด้วย” พี่กอล์ฟกล่าว

ถึงแม้ชุมชนอาจไม่ได้คึกคักเหมือนเก่า แต่ประธานกรรมการชุมชนเห็นว่าการได้รับบริการจากภาครัฐในช่วงนี้ก็ถือเป็นโอกาสดีที่ชาวบ้านจะได้มีชุมชนที่น่าอยู่และคงเอกลักษณ์ตั้งแต่อดีตเอาไว้ พี่กอล์ฟมองว่าแม้ชุมชนใกล้เคียงจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบไหน แต่เท่านี้ก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับแพร่งภูธรในปัจจุบัน

แพร่งสรรพศาสตร์ : แยกย้ายด้วยยอมรับกับการเปลี่ยนแปลง

ขณะที่ทั้งแพร่งนราและแพร่งภูธรยังคงมีอาคารเก่าเหมือนดังเช่นร้อยปีที่ผ่านมา แพร่งสรรพศาสตร์กลับไม่เหลือเค้าเดิม เมื่ออาคารส่วนใหญ่ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นตึกแถวหลายชั้นที่ดูทันสมัยด้วยรูปทรงที่หลากหลาย และเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานเป็นทั้งออฟฟิศ บ้านเช่า และโรงงานขนาดย่อม เหลือเพียงร้านค้าเก่าแก่เพียง 2-3 ร้านเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น อาคารจำนวนหนึ่งยังอยู่ระหว่างการดัดแปลงเป็นโฮสเทล เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เริ่มขยับขยายมากจากแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง

ตั้งแต่เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ช่วงปี 2509 ผู้คนจำนวนหนึ่งต้องย้ายออกไปอยู่ที่อื่น บวกกับต่อมาสภาพของชุมชนที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นอาคารพาณิชย์ ทำให้แพร่งสรรพศาสตร์แทบไม่มีภาพของชาวบ้านที่ออกมาพูดคุยหรือนั่งเล่นกันหน้าบ้านเหมือนในแพร่งอื่นๆ นอกจากนี้ ชาวบ้านบางส่วนก็ไม่ทราบความเป็นไปในชุมชนของตนมากนัก

DSCF5317 copy
สุวัชร สายัณห์นิโคธร เจ้าของร้านอาหารตามสั่งในแพร่งสรรพศาสตร์

“กลุ่มคนที่แต่งตั้งมาประสานงานกับชาวบ้านไม่ได้เกิดขึ้นจากการเลือกขึ้นมา แต่เป็นการแต่งตั้งกันขึ้นมาเอง เขามีหน้าที่แค่ประชาสัมพันธ์ข่าวสาร หลังจากนั้นก็ไม่รู้ว่าจะสามารถติดต่อเขาได้ยังไง มีปัญหาก็ไม่รู้จะจัดการอย่างไร” สุวัชร สายัณห์นิโคธร เจ้าของร้านอาหารตามสั่งแห่งหนึ่งในชุมชนแพร่งสรรพศาสตร์ให้ความเห็น

สุวัชรยังเล่าอีกว่า การไม่มีตัวแทนชุมชนอย่างเป็นทางการนี้เองที่ทำให้เมื่อชาวบ้านมีปัญหาจึงไม่สามารถหาตัวแทนรับเรื่องร้องเรียนเพื่อไปประสานกับภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ หรือเมื่อแจ้งไปตามหน่วยงานต่างๆ เรื่องเหล่านั้นก็มักจะเงียบหาย ไม่ได้ถูกแก้ จนกลายเป็นปัญหาที่วนอยู่ในชุมชนมาโดยตลอด “ที่ผ่านมา มีทั้งเรื่องของคนที่เข้ามาขายบริการในชุมชนจนมีปากเสียงกับนักท่องเที่ยววุ่นวาย หรือแม้แต่เรื่องความไม่เป็นระเบียบของชุมชนที่มีทั้งต้นไม้ ทั้งรถจักรยานยนต์มาขวางทางจนใช้ทางเท้าไม่ได้ บ้างก็กินพื้นที่มาถึงบ้านข้างๆ โดยเฉพาะจุดที่เป็นบ้านเช่าตรงกลางซอยเดินไม่ได้เลย” สุวัชรอธิบาย

เจ้าของร้านอาหารตามสั่งบอกว่า เมื่อต่างคนต่างอยู่ ชาวบ้านจึงไม่ได้มองว่าชุมชนแห่งนี้มีความเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเหมือนกับสองแพร่งที่ผ่านมา ดังนั้น ความต้องการจัดการพื้นที่หรือดูแลรักษาชุมชนก็ลดลง เช่นเดียวกับความต้องการรวมตัวกันของคนในชุมชนด้วย แพร่งสรรพศาสตร์จึงกลายเป็นเพียงพื้นที่อยู่อาศัยที่ผู้คนรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องมีส่วนร่วมกับกิจกรรมใดที่เกิดขึ้นในชุมชนสามแพร่งก็ได้

“ชาวบ้านไม่ได้รู้สึกว่าที่นี่มีวิถีชีวิตชุมชนอะไร ที่ยังมีชื่อเสียงก็เพราะยังเป็นย่านเก่าแก่หนึ่งเท่านั้น ไม่มีใครเสียดายชุมชนที่กำลังจะเปลี่ยนไปแล้ว คนที่อยู่ก็มีแต่คนแก่ๆ เด็กๆ เขาก็ไม่รู้สึกอะไร อีก 15 ปีพื้นที่ตรงนี้คงกลายเป็นโฮสเทลของนายทุนข้างนอกหมด” สุวัชรกล่าว

แม้ปัจจุบัน สามแพร่งยังคงเป็นอีกหนึ่งสถานที่เก่าแก่ที่มักปรากฏอยู่ในสื่อหรือแผนที่การท่องเที่ยวย่านพระนคร แต่ภายใต้โครงสร้างทางกายภาพที่ดูเหมือนจะรวมชุมชนที่อยู่ใกล้กันให้เป็นหนึ่งเดียว กลับไม่สะท้อนการดำรงอยู่ของชุมชนสามแห่งที่มีความหลากหลายและมุ่งหน้าไปคนละทิศได้ ไม่ว่าเส้นทางของชุมชนสามแพร่งจะมาบรรจบกันบ้างเหมือนเดิมหรือไม่ ชาวชุมชนยังคงมุ่งหวังให้การดำรงอยู่ต่อไปสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในสังคมเมือง

 

%d bloggers like this: