Social Issue

ชะตากรรมผู้ค้าบนฟุตปาธ: กทม. กับการ “ขอคืน” ทางเท้า

ชีวิตของผู้ค้าหาบเร่แผงลอย กับผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังกทม. จัดระเบียบทางเท้า

เรื่องและภาพ: ทิฆัมพร บุญมี

รองผู้ว่าฯ กทม. เล็งสั่งยกเลิกแผงลอยให้หมดจากทางเท้าทั่วกรุง ผู้ค้าโอดเดือดร้อนต้องหันไปประกอบอาชีพอื่น ยันทำถูกกฎหมาย หากกทม. ติงแผงลอยก็พร้อมแก้ไข ด้านร้านตึกแถวเผยแผงลอยหายยอดขายตก นักวิชาการชี้รื้อแผงลอยหนึ่งแห่งอาจสร้างผลเสียถึงปากท้องแรงงานอีกห้าคน  แนะกทม. ควรยกให้คนในท้องถิ่นตัดสินใจมากกว่าให้รัฐมากำกับเอง

ปัจจุบันการขายของบนทางเท้าถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535  อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็อนุญาตให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการยกเว้นและกำหนดจุดผ่อนผันหรืออนุญาตให้ขายได้ ซึ่งกรุงเทพมหานครพิจารณาและกำหนดจุดผ่อนผันกว่า 600 จุด ในปี 2535 สมัย พล.ต.จำลอง ศรีเมืองเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2547 กรุงเทพมหานครมีมาตรการคืนทางเท้าให้กับประชาชน โดยกำหนดแนวทางกำกับดูแลหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพมหานครด้วยวิธีการยกเลิกจุดผ่อนผันให้เป็นจุดห้ามขาย ต่อมา ในปี 2558 คสช. ประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 4/2558 อาศัยตามอำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวซึ่งเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในการจัดการพื้นที่สาธารณะ รวมไปถึงการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นขอกาลังทหารเพื่อสนับสนุนในการปฏิบัติภารกิจได้

หนึ่งปีหลังประกาศใช้คำสั่งฯ กรุงเทพมหานครก็เริ่มปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ทางเท้าโดยขยายพื้นที่ที่ยกเลิกจุดผ่อนผัน โดยมีเจ้าหน้าที่เทศกิจ ทหาร และตำรวจ เข้าดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ตั้งแต่ช่วงราชประสงค์ ประตูน้ำ สุขุมวิท ไปจนถึงสีลม ข้อมูล ณ วันที่ 28 พ.ย. 2561 ที่รวบรวมโดยเครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ระบุว่า มีแผงลอยได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการดังกล่าวกว่า 10,000 ราย ในการยกเลิก 31 จุดผ่อนผันของ 23 เขตทั่วกรุงเทพมหานคร

nisitjournal_pathway order01
แผนที่ระบุจุดผ่อนผันที่มีการยกเลิก ข้อมูลจากเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ใครคือผู้ค้าหาบเร่แผงลอย

งานวิจัยเรื่อง การบริหารจัดการการค้าข้างทาง (Street Vending) ในประเทศไทย: สถานการณ์ และทิศทางนโยบายที่ควรจะเป็น ซึ่งจัดทำเมื่อปี 2560 โดย รศ. นฤมล นิราทร จากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า แต่เดิมผู้ค้าข้างทางส่วนใหญ่มาจากชนบทในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเข้ามาเป็นผู้ค้าในเมืองเพราะความยากจนจากการทำการเกษตร โดยผู้ค้าแผงลอยส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาไม่เกินหกปี จำนวนไม่น้อยเป็นผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้น้อยมาก่อน แต่ในปัจจุบันมีผู้ค้าที่มาจากกลุ่มชนชั้นกลางและผู้มีการศึกษามากขึ้น เนื่องจากอาชีพมีความยืดหยุ่น และรายได้ดีกว่า

นิภา ชอบธรรม อายุ 52 ปี แม่ค้าขายเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่ระลึก ในซอยสุขุมวิท 11/1 เล่าว่า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ตนย้ายมาจากต่างจังหวัด แล้วมาเริ่มต้นขายของบริเวณทางเท้าในย่านสุขุมวิท ซึ่งปัจจุบันถูกยกเลิกจุดผ่อนผันแล้ว โดยเริ่มจากการขายเสื้อยืดและแว่นตาและเปลี่ยนสินค้าที่ขายไปตามความนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ นิภายังระบุด้วยว่า การขายสินค้าดังกล่าวทาให้ตนสามารถสร้างครอบครัวและส่งลูกเรียนในระดับมัธยมศึกษาจนได้รับทุนการศึกษาไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษายังต่างประเทศ

nisitjournal_pathway order02
ผู้ค้ากำลังตั้งแผงบริเวณซอยสุขุมวิท 11/1 ซึ่งเป็นถนนส่วนบุคคล แต่เดิมผู้ค้าเหล่านี้เคยอยู่ริมทางเท้าบริเวณถนนสุขุมวิท ก่อนจะมาเช่าพื้นที่ส่วนบุคคลซึ่งหมดสัญญาในปลายเดือน ธ.ค. 2561

นิภาระบุว่า จะเริ่มตั้งแผงลอยประมาณ 20.00 น. เพื่อเริ่มขายในเวลาประมาณ 21.00 น. หลังจากร้านค้าบริเวณตึกแถวได้ปิดลงและการสัญจรบนทางเท้าของคนทำงานได้เบาบางลงแล้ว เหลือเพียงนักท่องเที่ยวที่มาเลือกซื้อสินค้า โดยจะเปิดขายไปถึงเวลา 01.00 น. จึงจะปิดร้าน สำหรับค่าใช้จ่ายทั่วไป ตนและเจ้าของแผงลอยอื่นๆ ต้องเสียค่าไฟซึ่งคิดเป็นดวงละ 600–1000 บาทต่อเดือน แต่ละแผงจะติดไฟประมาณ 5-10 ดวง เฉลี่ยค่าไฟแต่ละแผงเกือบ 10,000 บาทต่อเดือน ส่วนของที่นำมาขาย ตนจะรับซื้อมาจากแหล่งผลิตตามต่างจังหวัด มีต้นทุนร้อยละ 60-70 ยกเว้นพวกเครื่องประดับก็จะซื้ออุปกรณ์มาแล้วมาร้อยเป็นสร้อยเอง

นิภามองว่า แผงลอยก็เป็นอาชีพหนึ่ง ทำแล้วก็ต้องได้รายได้ บางคนอาจเก็บเงินซื้อบ้านซื้อรถได้ บางคนก็เก็บเงินไม่ได้ต้องขายของหาเงินวันต่อวันเหมือนอาชีพอิสระทั่วไป

ไม่ต่างกับประไพพักตร์ ปันฉาย อายุ 56 ปี แม่ค้าขายแม่เหล็กติดตู้เย็นที่ตั้งแผงขายบริเวณทางเดินเท้าถนนสุขุมวิทซึ่งเป็นพื้นที่ถูกห้ามขายเช่นเดียวกับนิภา ประไพพักตร์ระบุว่า ตนขายของบริเวณสุขุมวิทมา 22 ปี โดยอดีตขายเสื้อผ้าเป็นแผงขนาดใหญ่ ก่อนที่จะมาขายแม่เหล็กหลังจากพื้นที่ถูกยกเลิกการขาย

“การที่เราจะตั้งแผงค้าได้ กทม. เขาจะให้กฎให้ระเบียบเรามาว่าเขาให้เรามาขายในเวลากี่โมง ตั้งแผงได้แบบไหน เราก็ทำตามกฎเขา และก็ไม่ได้วางของเกะกะกีดขวาง แต่ถ้ากทม. บอกว่าเราเกะกะกีดขวางก็จัดระเบียบได้” แม่ค้าแผงลอยเล่าถึงแนวทางการตั้งแผงก่อนที่จะมีการยกเลิกจุดผ่อนผัน

ประไพพักตร์ยังย้ำด้วยว่า หาบเร่แผงลอยมีรายได้พอเลี้ยงตนเองและครอบครัว นอกจากนี้ในอดีต ผู้ค้าแผงลอยก็เสียภาษีปีละ 1,800 บาท และเสียค่าบำรุงสิ่งแวดล้อมกับสำนักงานเขต  เมื่อมีการประเมินรายได้อีกครั้งในสมัยอภิรักษ์ โกษะโยธินเป็นผู้ว่าฯ กทม. แล้วพบว่ารายได้ของแผงลอยไม่ถึงเกณฑ์ จึงได้รับการยกเว้นภาษี แต่ก็ยังเสียค่าบำรุงสิ่งแวดล้อมกับทางสำนักงานเขตอยู่เสมอ

nisitjournal_pathway order03
การตั้งแผงต้องใช้หลอดไฟเพื่อให้ขายในเวลากลางคืนได้สะดวก ซึ่งจะมีร้านตึกแถวพ่วงสายไฟมาให้อีกที อัตราค่าไฟคิดเป็น 600-1000 บาทต่อไฟ 1 ดวงต่อเดือน

ปฏิบัติการทวงคืนทางเท้าของกทม.

สกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การจัดการแผงลอยต้องผ่านสามฝ่ายคือ ผู้ค้า กรุงเทพมหานคร และกองบังคับการตำรวจจราจร โดยในปี 2547 ทางตำรวจจราจรมีหนังสือถึงกรุงเทพมหานคร ระบุว่า การขายของบนทางเท้าทำให้การจราจรติดขัด กทม. ในฐานะผู้ใช้กฎหมายก็ปฏิบัติตามและทยอยรื้อแผงค้าบนทางเท้าออกไป

“เราก็ทยอยเลิกจุดที่มีปัญหา จุดไหนที่ทำให้เกิดการจราจรติดขัด เช่น สุขุมวิทนี่เราก็เลิก หรือจุดไหนที่ผู้ค้ามีความไม่เรียบร้อย คุยกันไม่เรียบร้อยไม่อยู่ในระเบียบเราก็เลิก หรือจุดไหนที่ผู้ค้าเหลือน้อยมาก ถนนทั้งเส้นมีผู้ค้าอยู่สามราย เพื่อเป็นการกันไม่ให้มีรายใหม่เข้ามาเราก็เลิก” รองผู้ว่าฯ สกลธีกล่าว

นิภา เล่าถึงการทวงคืนทางเท้าช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2559 ว่า ตนได้รับแจ้งจากทางกทม. เพื่อที่จะให้ย้ายออกจากพื้นที่ก่อนหนึ่งเดือนโดยให้ไปขายที่ตลาดสดพระโขนงและตลาดสดอ่อนนุช (ห่างจากจุดขายเดิมประมาณหกกิโลเมตร) ซึ่งตนไม่สามารถนำสินค้าที่ระลึกไปขายได้ เพราะลูกค้าคนละกลุ่มกัน

nisitjournal_pathway order04
กลุ่มผู้ค้าบริเวณสุขุมวิทซอย 7 (บีทีเอสนานา) กลุ่มนี้กทม.ไม่สามารถไล่รื้อได้ เพราะตั้งอยู่บนขอบเขตของพื้นที่เอกชน

ด้านปวีณา สาเเละ อายุ 30 ปี ผู้ค้าแผงลอยย่านซอยอ่อนนุช 70 เปิดเผยว่า บริเวณที่ตั้งขายของกลุ่มผู้ค้าย่านอ่อนนุช 70 แตกต่างจากที่อื่น เนื่องจากมีพื้นที่ที่เป็นสาธารณะ ไม่ใช่ตั้งอยู่บนทางเท้า และกลุ่มผู้ค้าได้รางวัลการจัดผังดีเด่นทั้งด้านสาธารณะสุขและกายภาพต่อเนื่องมาตลอด โดยหลังจากมีคำสั่งของคสช. เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตแจ้งว่าพื้นที่ยังขายได้อยู่ เพียงต้องจ่ายค่าปรับเดือนละ 500 บาทซึ่งเป็นการปรับตาม พ.ร.บ. รักษาความสะอาดฯ

“จู่ๆ วันที่ 8 ม.ค. 2561 (สำนักงานเขต) ก็เรียกผู้ค้ามาประชุม คือหนึ่งวันให้ออกจากพื้นที่เลย ห้ามลงขายเด็ดขาด” ปวีณากล่าว และเสริมว่าทางสำนักงานเขตไม่ได้มีพื้นที่มารองรับกลุ่มผู้ค้า ทำให้กลุ่มผู้ค้าต้องรวมตัวกันไปยื่นหนังสือ และร้องเรียนผู้สื่อข่าว  ภายหลังจากนั้นทางเขตได้จัดสรรพื้นที่ตลาดประชารัฐ ซึ่งต้องเสียเงินค่าเช่า 4,400 บาทต่อเดือน ซึ่งต่อมาทางผู้ค้าได้รวมตัวกันทำประชามติร่วมกับคนในชุมชนจนทำให้สำนักงานเขตยอมรับและอนุญาตให้กลับมาขายได้ในบริเวณเดิมได้จนถึงปัจจุบัน

ผลจากปฏิบัติการทวงคืนทางเท้า

ณัฏฐ์ดนัย กุลธัชยศนันต์ อายุ 50 ปี ตัวแทนผู้ค้าแผงลอยย่านสีลม กล่าวว่า ปัจจุบันในพื้นที่ย่านสีลมซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ถูกยกเลิกจุดผ่อนผัน มีผู้ค้าเดิมเหลือไม่ถึง 100 รายจาก 400 รายที่ขายอยู่บริเวณพื้นที่เอกชนและลักลอบขาย ส่วนที่เหลือต่างแยกย้ายไปประกอบอาชีพรับจ้าง ด้วยคุณสมบัติทางการศึกษาที่ไม่สูงและอายุที่มาก จึงไปประกอบอาชีพเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย แม่บ้านทำความสะอาด และบ้างก็กลับไปทำอาชีพเกษตรกรรมที่ภูมิลำเนาเดิม  นอกจากจะทำให้ครอบครัวมีรายได้ลดลงแล้ว ลูกหลานของครอบครัวผู้ค้าก็ต้องออกจากการเรียนเพราะไม่มีรายได้จากการขายแผงลอยอีกต่อไป

เช่นเดียวกับประไพพักตร์ซึ่งยอมรับว่า ตนเองได้ลักลอบขายของด้วยแผงค้าขนาดเล็ก เนื่องจากหาอาชีพอื่นทำค่อนข้างยาก ทั้งปัจจัยทางด้านอายุและไม่เคยประกอบอาชีพอื่นมาก่อน  ทั้งยังเล่าเพิ่มอีกว่านอกจากผลกระทบที่มีต่อพวกตนแล้ว ผู้คนสัญจรและนักท่องเที่ยวต่างชาติก็น้อยลงตามไปด้วย ทำให้เกิดอาชญากรรมมากขึ้นในเวลากลางคืน

สอดคล้องกับอโศก (ไม่ทราบนามสกุล) สัญชาติอินเดีย ผู้จัดการร้านอาหารอินเดีย และพรมณี นพเก้า ผู้จัดการร้านนวดแผนไทย ภายในซอยสุขุมวิท 11/1 ที่มีความเห็นในทางเดียวกันว่า หลังจากกรุงเทพมหานครยกเลิกการค้าแผงลอย ธุรกิจของตนก็ซบเซาตามไปด้วย นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยมาก็มาน้อยลง ไม่มีคนกล้าเดินเข้ามาในซอยเพราะเกรงปัญหาด้านความปลอดภัย

“ยกเลิกแผงลอยลูกค้าก็เดินน้อยลง ไม่ค่อยมีเหมือนแต่ก่อน ยอดก็ตก เพราะว่าคือแผงลอยทาให้ลูกค้าเดิน ช็อปปิ้งเยอะ เมื่อเมื่อยก็มาเข้าร้านนวด” พรมณีกล่าว

nisitjournal_pathway order07
ทางเท้าระหว่างสุขุมวิท 11 และ 11/1 ในปัจจุบัน จะเห็นร่องรอยเส้นแบ่งเขตจุดผ่อนผัน (เส้นสีขาวด้านขวาของภาพ) ที่กทม.ได้แบ่งไว้ในอดีต

รศ. นฤมล นิราทร อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า สังคมไม่ควรมองแค่ปัญหาที่เกิดกับผู้ค้าบนทางเท้า แต่ควรพิจารณาอาชีพต่อเนื่องด้วย เช่น คนสร้างแผง คนเก็บแผง คนล้างจาน รวมทั้งผู้ให้บริการด้านการขนส่ง เช่น มอเตอร์ไซด์รับจ้าง สามล้อรับจ้าง และผู้ผลิตต่างๆ ที่เป็นวัตถุดิบหรือสินค้าที่นามาขาย เกษตรกรก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย  ดังนั้น เมื่อหายไปหนึ่งแผงอาจมีคนถึงห้าคน ได้รับผลกระทบไปด้วย

“เพราะฉะนั้นก็จะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ กระทบคนเหล่านี้ที่จะไม่มีรายได้ ของที่ผลิตขึ้นมาแล้วใครจะซื้อ จึงเป็นอะไรที่ส่วนใหญ่คนจะมองไม่เห็น ไม่ใช่แค่มองว่าเขาเหล่านี้กีดขวางทางเท้า” รศ. นฤมลกล่าว

นักวิชาการด้านสังคมสงเคราะห์อธิบายเพิ่มว่า ที่สำคัญ ในอนาคตคาดว่าผู้มีการศึกษาน้อยจะมีโอกาสในการประกอบอาชีพน้อยลง อาชีพแผงลอยจึงเป็นอาชีพทางเลือกให้ผู้มีการศึกษาน้อยให้พัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวและลูกหลานให้เติบโตด้วยระบบการศึกษาที่ดีกว่า  ดังนั้น การยกเลิกแผงลอยให้ออกไปจากทางเท้า อาจกำลังตัดโอกาสของผู้มีการศึกษาน้อยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัว

ด้าน ผศ.ดร. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่มีความหนาแน่นและมีความเป็นเมืองสูง ความต้องการในการบริโภคก็มาก ทำให้ยังมีคนจำนวนมากที่ยังต้องพึ่งพาอาหารริมทาง  ผศ.ดร. พิชญ์ยังอธิบายอีกว่า “ถ้าห้ามกันไปหมด คนที่เคยกินข้าวจานละ 35 บาท ก็จะต้องไปกินข้าวจานละ 40–50 บาท การกินข้าวจานละ 35 บาทได้ต้องเสียค่าเดินทางเพื่อที่จะไปกิน แผงลอยจึงเป็นตัวลดต้นทุนอย่างหนึ่ง”

กทม. เล็งสั่งยกเลิกแผงลอยให้หมดจากบนทางเท้า

สกลธี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ค้าแผงลอยบนพื้นที่จุดผ่อนผันที่ยังไม่ได้ถูกยกเลิกอีก 195 จุด เพราะกทม. เข้าใจบริบททางด้านเศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องยากที่จะเลิกแผงลอยริมทางเท้าในเวลาเดียวกันทั้งหมด ทำให้ต้องทยอยเลิก และยังทำให้ปัจจุบันยังคงมีผู้ค้าบนทางเท้าบางจุดอยู่

รองผู้ว่าฯ กทม. ย้ำว่า “ท้ายที่สุดถ้ากฎหมายเรื่อง พ.ร.บ. รักษาความสะอาดไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ก็ต้องทยอยเลิกจนหมด ถ้าตามกฎหมายนี้นะครับ ถ้ายังไม่แก้ไขต้องทาให้หมด เหลือศูนย์”  อย่างไรก็ตาม รองผู้ว่าฯ สกลธี เสริมว่า คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่มีบวรศักดิ์ อุวรรณโณเป็นประธานกำลังแก้กฎหมายข้อนี้อยู่ ซึ่งอาจทำให้เกิดจุดผ่อนผันเพิ่มในอนาคตถ้ากฎหมายดังกล่าวผ่าน  แต่ในระหว่างนี้กทม. ต้องทำตามกฎหมายที่มีอยู่ จึงทำให้ต้องทยอยเลิกจุดผ่อนผัน

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหารูปแบบอื่น เช่น การขยายพื้นที่ทางเท้า แสนยากร อุ่นมีศรี รองผู้อำนวยการสำนักผังเมือง เปิดเผยว่า การเพิ่มพื้นที่ทางเท้าอาจเป็นไปได้ยาก เพราะติดพื้นที่ของเอกชน แต่ในอนาคตถ้าระบบขนส่งทางรางมีความพร้อม จะมีความเป็นไปได้ที่จะลดขนาดช่องจราจรทางรถ และเพิ่มพื้นที่ทางเท้าให้มากขึ้น

nisitjournal_pathway order06
ทางเท้าที่กว้างบริเวณสุขุมวิท แต่เมื่อมีรถเข็นของแผงลอยที่ไม่ได้จัดระเบียบอาจทำให้คนเดินเท้าสัญจรไม่สะดวก

รองผอ. แสนยากรระบุถึงการปรับปรุงทางเท้าอีกว่า “ในตอนนี้ย่านที่จะมีการพัฒนาโดยภาคเอกชน จะมีราชประสงค์โมเดลกำลังดำเนินการอยู่ ที่ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด ต่อไปคือย่านสีลม โดยเราดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วม ลำพังเพียงภาครัฐเองทำคงยาก ถ้าจะปรับปรุง (ทางเท้า) ให้ดีต้องอาศัยงบจากเอกชน โดยเอกชนจะเป็นผู้ออกแบบทั้งหมด แล้วให้ทาง กทม. เป็นคนช่วยตรวจช่วยดู”

สกลธี รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงประเด็นการให้เอกชนเข้ามาปรับปรุงทางเท้าว่า การปรับปรุงทางเท้าของเอกชนเป็นความร่วมมือของคนในพื้นที่ และเมื่อเสร็จสิ้นแล้วทางเท้าก็ยังตกอยู่ในความดูแลของกทม. แต่ว่าอาจมีในบางพื้นที่ที่เอกชนใช้วัสดุคุณภาพดีกว่าที่กทม. จะจัดซื้อ เอกชนอาจต้องออกค่าวัสดุที่มาซ่อมแซมทางเท้าให้  รองผู้ว่าฯ สกลธียังเน้นย้ำด้วยว่า กทม. มีนโยบายที่จะเอื้อเฟื้อต่อคนเดินเท้าให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการยกเลิกจุดผ่อนผันของแผงลอย การรื้อป้ายโฆษณาบนทางเท้า และโครงการที่กทม. ร่วมพัฒนาปรับปรุงทางเท้ากับเอกชน

นักวิชาการแนะมีทางที่ดีกว่าไล่ผู้ค้า

ผศ.ดร. พิชญ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มองว่าการจัดการทางเท้าควรเป็นเรื่องการจัดการส่วนท้องถิ่นมากกว่าให้รัฐมาดูแล ประชาชนในละแวกนั้นควรจะกำหนดได้ว่าควรมีการค้าขายในละแวกนั้นหรือไม่ ไม่ใช่ว่าจะห้ามขายทั้งหมดหรือให้ขายได้ทั้งหมด ส่วนผู้ที่มาขายก็ควรเป็นคนท้องถิ่นนั้น หรืออย่างน้อยค่าเช่าแผงควรมีการจัดการอย่างเป็นธรรมและท้องถิ่นนั้นควรได้รับเงินอย่างแท้จริง

“ผู้ว่าฯ ไม่รู้หรอก ผู้ว่าฯ จะไปรู้รายละเอียดของแต่ละเขตได้อย่างไร แต่ละเขตควรจะมีผังเขตที่มาจากการยอมรับของประชาชนว่าควรจะมีบริเวณไหนที่ขายอาหาร มีตลาด แต่ว่าก็ต้องมีระบบในการดูแล เงินที่จะเก็บมาก็ต้องเข้าไปที่ท้องถิ่น และมีการดูแลในระดับเขตที่ประชาชนไปมีส่วนร่วมมากกว่านี้ เช่น บริเวณหน้าปากซอยนี้ชุมชนต้องตั้งกรรมการขึ้นมาพิจารณาว่าควรตั้งแผงลอยอะไรยังไง ประชาชนต้องมีส่วนโหวตกรรมการที่เข้ามาดูแล” ผศ.ดร. พิชญ์อธิบาย

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ นักวิชาการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอว่า กทม. ควรพัฒนาการจัดการพื้นที่บนทางเท้าสามด้านด้วยกัน ได้แก่ หนึ่ง-การพัฒนานวัตกรรมใหม่ให้กับผู้ค้าหาบเร่แผงลอย เช่น Co-eating space (พื้นที่เอื้อต่อการกิน) เพิ่มประสิทธิภาพในการเคลื่อนย้ายให้แผงลอย สอง-ควรมีการจัดการพื้นที่ให้เหมาะกับชุมชน เช่น ซอยอารีย์เป็นย่านคนพลุกพล่าน ข้าวสารเป็นพื้นที่เฉพาะเจาะจงเพื่อการท่องเที่ยว ซอยอ่อนนุช 70 เป็นย่านของชุมชน และสาม-กลไกการจัดการของรัฐที่ควรมีต่อหาบเร่แผงลอย

“กรุงเทพมหานครขาดความเป็นมืออาชีพในการบริหารจัดการเมือง เราอยู่มา 200 ปีไม่เคยรู้จักมันเลย และไม่ได้ใช้ประสบการณ์ในการจัดการ” อดิศักดิ์กล่าว

%d bloggers like this: