เรื่อง-ภาพ: โมเลกุล จงวิไล
“ใครจะซื้อสินค้าเกี่ยวกับสังฆภัณฑ์เขาก็ต้องนึกถึงเสาชิงช้า ทั่วประเทศที่นี่คือแหล่งใหญ่สุด” พีรญา ธรรมอารี หรือ แนน วัย 44 ปี ทายาทรุ่นที่ 2 ของร้านรุ่งเรืองพานิช หนึ่งในกิจการขายสังฆภัณฑ์แถบเสาชิงช้าล่างกล่าว
ประโยคข้างต้นจะเมคเซนส์ขึ้นในบัดดล หากได้มีโอกาสไปทอดน่องริมถนนบำรุงเมือง ตั้งแต่แยกสำราญราษฎร์ ผ่านเสาชิงช้า ไปจรดสี่แยกตัดถนนตะนาว คนแปลกถิ่นอาจต้องร้องว้าวเมื่อเห็นว่าสองข้างทางของที่นี่ต่างเต็มไปด้วยแสงสีทอง ซึ่งสะท้อนจากปฏิมากรรมองค์พระพุทธรูปนับร้อยที่วางเรียงรายอยู่ริมถนน จนทำให้ชุมชนแถบนี้ถูกกล่าวขานว่าเป็นย่านขายสังฆภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
บนถนนสายนี้ที่หาซื้อชุดสังฆทานได้ง่ายกว่าอาหารตามสั่ง เพราะปัจจุบันมีร้านขายสังฆภัณฑ์กว่า 30 ร้าน ตั้งอยู่สองข้างทางถนนใหญ่ (รวมทั้งในตรอกน้อยซอยเล็กต่างๆ) แบ่งออกเป็นสองโซนหลักๆ ได้แก่ แถบเสาชิงช้าบน นับตั้งแต่เสาชิงช้าไปจนถึงสี่แยกตัดถนนตะนาว และเสาชิงช้าล่าง ตั้งแต่แยกสำราญราษฎร์ไปจรดเสาชิงช้า รวมเป็นระยะทางกว่า 700 เมตร
ถนนบำรุงเมืองแถบเสาชิงช้าบน
วิจิตต์ ธรรมอารี วัย 78 ปี เจ้าของร้านรุ่งเรืองพานิชและคุณพ่อของพีรญา เล่าถึงความเป็นมาของชุมชนแถบนี้ว่า เดิมทีย่านนี้เต็มไปด้วยร้านย้อมและเย็บผ้าเหลือง ผู้อยู่อาศัยในย่านนี้ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานชาวจีนซึ่งอพยพเข้ามาอยู่ไทย ก่อนที่คนรุ่นหลังจะเริ่มขยับขยายกิจการเพิ่มสินค้าประเภทพระพุทธรูปและเครื่องใช้ต่างๆ ภายในวัด จนกลายมาเป็นอย่างที่เห็นทุกวันนี้
สอดคล้องกับคำบอกเล่าของ สุเทพ จันยั่งยืน เจ้าของร้านแสงธรรมประทีปแถบเสาชิงช้าบนที่กล่าวว่า ย่านนี้เป็นที่พักอาศัยของชาวจีนมาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ กระทั่งมีการตัดถนนบำรุงเมืองพาดผ่านในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงทำให้บริเวณแถวนี้มีผู้คนจากหัวเมืองต่างๆ สัญจรไปมาหนาแน่น เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้สถานที่ราชการสำคัญอย่างกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย ก่อนจะพัฒนากลายเป็นย่านการค้าในเวลาต่อมา นอกจากนี้ ชาวชุมชนส่วนใหญ่มีความชำนาญในการเย็บผ้าเหลือง จึงทำให้กลายเป็นแหล่งขายจีวรที่สำคัญด้วย
“พอถนนบำรุงเมืองเปิด ย่านนี้ก็กลายเป็นแหล่งการค้า ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นช่วงที่คนจีนอพยพเข้ามากรุงเทพฯ เยอะ เขาก็มาอยู่กับคนในตระกูลแซ่เดียวกัน ตามๆ กันเข้ามาแถบนี้ มาทำงานอยู่ด้วยกัน อยู่ไปอยู่มาก็เริ่มเปิดกิจการเป็นของตัวเอง ขายของที่ใกล้เคียงกับผ้าเหลือง จนกลายเป็นร้านสังฆภัณฑ์ในที่สุด” สุเทพกล่าว
การตลาดสังฆภัณฑ์: กลุ่มลูกค้า ราคาขาย และไฮซีซั่น
พระพุทธรูปตั้งเรียงรายอยู่หน้าร้านค้าสังฆภัณฑ์แถบเสาชิงช้าล่าง
พีรญาอธิบายว่า ลูกค้าที่มาซื้อสังฆภัณฑ์จะมีทั้งกลุ่มผู้บริโภคที่ซื้อไปใช้งานโดยตรง และกลุ่มพ่อค้าปลีกที่ซื้อไปขายต่อ สมัยก่อนลูกค้าประเภทแรกจะต้องเข้ามาหน้าร้านเพื่อเลือกสินค้าด้วยตัวเอง ในขณะที่กลุ่มขายปลีกนั้น คุณพ่อของเธอจะต้องนำสินค้าไปเสนอขายโดยวิ่งตระเวนขายตามร้านค้าปลีกต่างๆ ทั่วประเทศ ผิดกับสมัยนี้ที่ลูกค้าทั้งสองกลุ่มนิยมสั่งซื้อสังฆภัณฑ์ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊กหรือไม่ก็ไลน์ จากนั้นทางร้านจึงจะนำสินค้าไปส่ง แต่ก็ยังมีบ้างที่เดินทางเข้ามาดูหน้าร้านด้วยตัวเอง
พีรญาบอกต่อว่า กลุ่มลูกค้าที่ซื้อไปใช้งานโดยตรงจะมีสองประเภทใหญ่ๆ
ประเภทที่ 1 คือลูกค้าที่อยากทำบุญโดยการซื้อสิ่งของถวายวัด แต่ไม่มีความรู้เรื่องสังฆภัณฑ์ จึงต้องอาศัยการไถ่ถามความต้องการจากเจ้าอาวาสก่อนแล้วค่อยมาซื้อ หรือหากยังไม่เข้าใจความต้องการของวัด ก็อาจต้องนิมนต์พระสงฆ์มาที่ร้านเพื่อเลือกสินค้าด้วยตัวเองและค่อยให้โยมเป็นผู้ชำระเงิน
ส่วนประเภทที่ 2 คือลูกค้าที่ทำบุญเป็นประจำทุกปี กลุ่มนี้จะมีความเชี่ยวชาญเรื่องสินค้ามากเป็นพิเศษ ในระดับคล่องกว่าเจ้าอาวาส หรือขนาดรู้ดีกว่าร้านค้า ลูกค้ากลุ่มนี้มักจะมาจับจ่ายเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไปถวายด้วยตัวเอง
โกดังเก็บปฏิมากรรมพระพุทธรูปร้านรุ่งเรื่องพานิช
พีรญาเล่าว่า เนื่องจากสินค้ามีความหลากหลาย จึงทำให้มีมูลค่าตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักล้าน ผลิตภัณฑ์ที่แพงที่สุดเป็นงานประติมากรรมที่สั่งทำโดยเฉพาะ เนื่องจากต้นทุนในการทำแม่พิมพ์ค่อนข้างสูงและผ่านกรรมวิธีหลายขั้นตอน
“สินค้าเกี่ยวกับพระพุทธรูป รูปหล่อ รูปเหมือน ที่เป็นงานทองเหลืองซึ่งสั่งทำเฉพาะ มันต้องผ่านกว่าสิบช่างกว่าจะออกมาเป็นหนึ่งชิ้นงาน ต้นทุนจึงค่อนข้างสูง ราคาก็เลยแพงตาม” ทายาทรุ่นที่ 2 กล่าว
เช่นเดียวกับสินค้าประเภทอื่น สังฆภัณฑ์ย่อมมีช่วงที่ยอดขายพุ่งพรวดเป็นจรวด กับช่วงที่ขายได้เรื่อยๆ เอื่อยๆ เพียงแต่สำหรับวงการนี้ ซีซั่นอาจไม่ได้อยู่ที่ฤดูกาลทางธรรมชาติ แต่ขึ้นอยู่กับฤดูกาลทางศาสนา สุเทพ เจ้าของร้านแสงธรรมประทีป บอกว่าช่วงขายดีของสินค้าสังฆภัณฑ์ในรอบปีจะมีอยู่ 3 อีเวนท์ใหญ่ๆ ได้แก่ เทศกาลสงกรานต์ 1 เดือนก่อนเข้าพรรษา และ 1 เดือนก่อนออกพรรษาที่จะมีงานทอดกฐิน ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้คนพากันมาซื้อวัตถุปัจจัยต่างๆ ไปถวายวัด
เศรษฐกิจ ศรัทธา และจำนวนลูกค้าที่น้อยลง
บริเวณด้านหน้าโกดังเก็บปฏิมากรรมพระพุทธรูปร้านรุ่งเรื่องพานิช
เมื่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาไม่สดใสนัก แม้แต่ตลาดสายบุญอย่างวงการสังฆภัณฑ์ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ เพราะยอดขายลดลงอย่างเห็นได้ชัด
“เงินจะมาซื้อสังฆภัณฑ์ส่วนใหญ่ต้องเป็นเงินเหลือ เงินเก็บ ถ้าตัวเองไม่พอใช้ ไม่พอส่งบ้านส่งรถ ก็ไม่มีใครอยากมาทำบุญ ก็มันช็อตอ่ะ” พีรญาแห่งร้านรุ่งเรื่องพานิชอธิบาย ก่อนจะขยายความต่อว่า “ที่ร้านจะมีรถส่งของ 4 คัน มอเตอร์ไซค์ 2 คัน ถ้าเป็นช่วงพีค ช่วงไฮซีซั่นแต่ก่อนรถวิ่งไม่เคยพอ ทุกวันต้องจ้างภายนอกมาช่วยส่งให้ตลอด อีก 3 – 4 คัน แต่ปัจจุบันอย่างเช่นช่วงนี้ซึ่งปกติต้องขายดี แต่รถกลับไม่ได้วิ่งตลอด วันหนึ่ง 4 คันออก 2 คันแบบนี้ ไม่ได้เต็มทุกวัน”
พีรญาพูดต่อว่า อีกช่วงหนึ่งที่ธุรกิจซบเซา คือเมื่อเกิดกระแสข่าวทุจริตเงินทอนวัด ซึ่งเป็นการยักยอกงบประมาณปฏิสังขรณ์และพัฒนาที่วัดได้จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยมีพระสงฆ์เข้าไปพัวพันด้วย เมื่อมีการเปิดโปงและออกหมายจับพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ 5 รูป ส่งผลให้ลูกค้าจำนวนมากหมดศรัทธา จนไม่มีใครอยากมาซื้อของถวายพระอีกเพราะกลัวว่าทำไปก็ไม่ได้บุญ แต่พอกระแสข่าวซาลงธุรกิจก็กลับสู่ภาวะซบเซาเนื่องจากพิษเศรษฐกิจตามเดิม
พฤติกรรมของคนสมัยนี้ที่นิยมซื้อของออนไลน์ ก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้ยอดขาย โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัดลดน้อยลง
ทายาทร้านรุ่งเรืองพานิช เล่าว่า “สมัยก่อนไม่มีโซเชียล ใครจะซื้อสังฆภัณฑ์ก็ต้องนึกถึงเสาชิงช้าและมาที่นี่ พอยุคอินเทอร์เน็ตเข้ามา คนที่เคยทำงานกับโรงงานเรามั่ง โรงงานคนอื่นมั่ง เขาก็ออกไปทำเอง เปิดร้านเองที่บ้านและโฆษณาผ่านโซเชียล ลูกค้าจากต่างจังหวัดก็เลยมาเสาชิงช้าลดลง เพราะซื้อแถวบ้านมันถูกกว่าไม่มีค่าขนส่ง”
เครื่องสังฆภัณฑ์ที่วางจำหน่ายภายในร้านรุ่งเรืองพานิช
เช่นเดียวกับ สุจิตรา ฉอจิระพัณธิ์ หรือ จิ๋ม วัย 42 ปี ทายาทรุ่น 2 ของร้านเนตรทราย พานิช ย่านเสาชิงช้าบน ที่กล่าวว่า ธุรกิจค้าสังฆภัณฑ์ของครอบครัวเธอก็กำลังเจอปัญหาเช่นเดียวกัน โดยในสองปีที่ผ่านมามีจำนวนลูกค้าลดลงถึงประมาณร้อยละ 70 เนื่องจากมีร้านเปิดใหม่กระจายตามต่างจังหวัดมากขึ้น และร้านเหล่านั้นก็เริ่มหันมาขายผ่านออนไลน์ ทำให้ลูกค้าเลือกเดินทางไปจับจ่ายในร้านที่ใกล้บ้านกว่า
“ขนาดปิดร้านไหมเหรอ ถ้าตอนนี้ก็ยัง แต่อีกหน่อยไม่แน่ จริงๆ เราก็พยายามจะออนไลน์นะ แต่การคุยออนไลน์มันก็ไม่เหมือนต่อหน้า มันไม่มีต้นทุนที่ลูกค้าต้องเสีย ทำให้บางทีคุยๆ อยู่ก็หายไป พอมากเข้าก็ต้องมีแอดมินที่มาคอยตอบเฉพาะแบบไปยุ่งกับอย่างอื่นไม่ได้ บางคนเข้ามาถามห้ารอบหกรอบแล้วก็ไม่เอา เราก็เลยไม่ค่อยอยากคุย” สุจิตรากล่าว
เทคนิคทุจริต….ในธุรกิจสายบุญ
ไม่ว่าสินค้าประเภทไหนๆ ย่อมมีกลยุทธ์การขายที่ใช้ทั้งในเชิงการตลาดและใช้เพื่อเอาเปรียบลูกค้า แต่จะน้อยมากก็แล้วแต่สามัญสำนึก แต่ใครจะนึกว่าสินค้าเกี่ยวกับศาสนาก็ยังมีการใช้กลโกงชนิดที่ว่าไม่กลัวบาปกันเลยทีเดียว
“สังฆภัณฑ์ก็เหมือนสินค้าทุกประเภท มีทั้งของแบรนด์ ของก็อป”
พีรญาเอ่ยถึงอีกหนึ่งปัญหาที่พาให้บางกิจการในย่านนี้ปิดตัวลงไป นั่นก็คือการมีจรรยาบรรณและความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า “สินค้าทุกชนิดจะต้องเป็นตามพุทธบัญญัติ ซึ่งเป็นหลักที่ซีเรียสมาก” เจ้าของร้านสังฆภัณฑ์อธิบาย
ทายาทรุ่น 2 ของร้านรุ่งเรืองพานิชเล่าให้ฟังว่า เคยได้ยินเสียงบ่นจากลูกค้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ร้านค้ามีวิธีซิกแซกต่างๆ เพื่อลดต้นทุน ตั้งแต่ทริคธรรมดาอย่างถังสังฆทานที่บรรจุสิ่งของแค่ด้านบน แต่ด้านล่างว่างเปล่าเป็นอากาศธาตุ จนถึงบางกรณีที่ร้ายแรงยิ่งกว่า เพราะไม่เพียงผิดหลักศาสนา แต่ยังเป็นอันตรายต่อตัวผู้ใช้ซึ่งก็คือพระภิกษุสงฆ์ อาทิ สินค้าประเภทบาตรพระ ที่ตามหลักต้องทำจากสแตนเลสเพราะจะทนทานต่อความร้อน แต่ก็มีการนำบาตรที่เป็นโลหะผสมมาขาย ในต่างจังหวัดซึ่งผู้คนนิยมตักข้าวร้อนๆ ใส่บาตรโดยตรง เมื่อความร้อนสัมผัสก้นบาตรสารตะกั่วในโลหะผสมก็จะละลายออกมา ทำให้พระที่ฉันข้าวในบาตรเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง
ขณะที่สุเทพ จากร้านแสงธรรมประธีปก็เล่าให้ฟังเช่นกันว่าปัจจุบันสินค้าสังฆภัณฑ์หลายประเภทมีคุณภาพหย่อนยาน อาทิ องค์พระพุทธรูป “เดี๋ยวนี้มีการลดคุณภาพของสินค้าเพื่อแข่งในเรื่องราคา อย่างพระพุทธรูปทองเหลืองเดี๋ยวนี้มีการออกมาใหม่เป็นอะลูมิเนียม ขนาดเท่าเดิม งานสวยเหมือนเดิม แต่วัตถุดิบถูกลง เป็นการซื้ออย่างหนึ่งแต่ขายอีกอย่างหนึ่ง หมายถึงตอนลูกค้าสั่งซื้อ สั่งทองเหลือง แต่ตอนส่งส่งเป็นอะลูมิเนียม และลูกค้าก็แยกไม่ออก” สุเทพกล่าว
เช่นเดียวกับสุจิตรา จากร้านเนตรทราย พานิช ซึ่งเล่าให้ฟังว่า เคยมีลูกค้าที่ซื้อผ้าไตรจีวรแล้วขนาดความยาวไม่พอ ทำให้ต้องมาหาซื้อใหม่ เนื่องจากสินค้าถูกพับมาสำเร็จรูปในห่อ บวกกับลูกค้าไม่ทราบรายละเอียดว่าผ้าที่ใช้บวชพระควรจะมีความยาวเท่าไหร่จึงไม่ได้แกะออกมาเพื่อเช็คดู กว่าจะรู้อีกทีก็คือวันงานว่าผ้าที่ซื้อมานั้นไม่ผ่านมาตรฐาน
ช่างกำลังประดับเพชรพลอยบริเวณฐานองค์พระพุทธรูป
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานรัฐยังไม่สามารถติดตามตรวจสอบคุณภาพของสังฆภัณฑ์ได้เหมือนสินค้าประเภทอื่นๆ เพราะสังฆภัณฑ์นั้นมีรายละเอียดอยู่มากที่ต้องอาศัยความรู้เฉพาะด้านในการตรวจสอบ “จะมีหน่วยงานที่ควบคุมได้ก็ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ เพราะถ้าไม่อยู่ในวงการ มันดูยาก ดูไม่ออก เพราะวิธีซอกแซกมันเยอะมากจริงๆ” พีรญากล่าว
แม้ศรัทธาต่อสถาบันและประเพณีทางศาสนาอาจคงอยู่ในสังคมไทย แต่รูปแบบของธุรกิจสังฆภัณฑ์ในย่านนี้อาจเปลี่ยนไปตามความผันแปรทางเศรษฐกิจและสังคม ถือเป็นความท้าทายใหม่ๆ ให้ผู้ค้าขายต้องเร่งปรับตัว
Like this:
Like Loading...
เรื่อง-ภาพ: โมเลกุล จงวิไล
“ใครจะซื้อสินค้าเกี่ยวกับสังฆภัณฑ์เขาก็ต้องนึกถึงเสาชิงช้า ทั่วประเทศที่นี่คือแหล่งใหญ่สุด” พีรญา ธรรมอารี หรือ แนน วัย 44 ปี ทายาทรุ่นที่ 2 ของร้านรุ่งเรืองพานิช หนึ่งในกิจการขายสังฆภัณฑ์แถบเสาชิงช้าล่างกล่าว
ประโยคข้างต้นจะเมคเซนส์ขึ้นในบัดดล หากได้มีโอกาสไปทอดน่องริมถนนบำรุงเมือง ตั้งแต่แยกสำราญราษฎร์ ผ่านเสาชิงช้า ไปจรดสี่แยกตัดถนนตะนาว คนแปลกถิ่นอาจต้องร้องว้าวเมื่อเห็นว่าสองข้างทางของที่นี่ต่างเต็มไปด้วยแสงสีทอง ซึ่งสะท้อนจากปฏิมากรรมองค์พระพุทธรูปนับร้อยที่วางเรียงรายอยู่ริมถนน จนทำให้ชุมชนแถบนี้ถูกกล่าวขานว่าเป็นย่านขายสังฆภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
บนถนนสายนี้ที่หาซื้อชุดสังฆทานได้ง่ายกว่าอาหารตามสั่ง เพราะปัจจุบันมีร้านขายสังฆภัณฑ์กว่า 30 ร้าน ตั้งอยู่สองข้างทางถนนใหญ่ (รวมทั้งในตรอกน้อยซอยเล็กต่างๆ) แบ่งออกเป็นสองโซนหลักๆ ได้แก่ แถบเสาชิงช้าบน นับตั้งแต่เสาชิงช้าไปจนถึงสี่แยกตัดถนนตะนาว และเสาชิงช้าล่าง ตั้งแต่แยกสำราญราษฎร์ไปจรดเสาชิงช้า รวมเป็นระยะทางกว่า 700 เมตร
วิจิตต์ ธรรมอารี วัย 78 ปี เจ้าของร้านรุ่งเรืองพานิชและคุณพ่อของพีรญา เล่าถึงความเป็นมาของชุมชนแถบนี้ว่า เดิมทีย่านนี้เต็มไปด้วยร้านย้อมและเย็บผ้าเหลือง ผู้อยู่อาศัยในย่านนี้ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานชาวจีนซึ่งอพยพเข้ามาอยู่ไทย ก่อนที่คนรุ่นหลังจะเริ่มขยับขยายกิจการเพิ่มสินค้าประเภทพระพุทธรูปและเครื่องใช้ต่างๆ ภายในวัด จนกลายมาเป็นอย่างที่เห็นทุกวันนี้
สอดคล้องกับคำบอกเล่าของ สุเทพ จันยั่งยืน เจ้าของร้านแสงธรรมประทีปแถบเสาชิงช้าบนที่กล่าวว่า ย่านนี้เป็นที่พักอาศัยของชาวจีนมาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ กระทั่งมีการตัดถนนบำรุงเมืองพาดผ่านในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงทำให้บริเวณแถวนี้มีผู้คนจากหัวเมืองต่างๆ สัญจรไปมาหนาแน่น เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้สถานที่ราชการสำคัญอย่างกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย ก่อนจะพัฒนากลายเป็นย่านการค้าในเวลาต่อมา นอกจากนี้ ชาวชุมชนส่วนใหญ่มีความชำนาญในการเย็บผ้าเหลือง จึงทำให้กลายเป็นแหล่งขายจีวรที่สำคัญด้วย
“พอถนนบำรุงเมืองเปิด ย่านนี้ก็กลายเป็นแหล่งการค้า ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นช่วงที่คนจีนอพยพเข้ามากรุงเทพฯ เยอะ เขาก็มาอยู่กับคนในตระกูลแซ่เดียวกัน ตามๆ กันเข้ามาแถบนี้ มาทำงานอยู่ด้วยกัน อยู่ไปอยู่มาก็เริ่มเปิดกิจการเป็นของตัวเอง ขายของที่ใกล้เคียงกับผ้าเหลือง จนกลายเป็นร้านสังฆภัณฑ์ในที่สุด” สุเทพกล่าว
การตลาดสังฆภัณฑ์: กลุ่มลูกค้า ราคาขาย และไฮซีซั่น
พีรญาอธิบายว่า ลูกค้าที่มาซื้อสังฆภัณฑ์จะมีทั้งกลุ่มผู้บริโภคที่ซื้อไปใช้งานโดยตรง และกลุ่มพ่อค้าปลีกที่ซื้อไปขายต่อ สมัยก่อนลูกค้าประเภทแรกจะต้องเข้ามาหน้าร้านเพื่อเลือกสินค้าด้วยตัวเอง ในขณะที่กลุ่มขายปลีกนั้น คุณพ่อของเธอจะต้องนำสินค้าไปเสนอขายโดยวิ่งตระเวนขายตามร้านค้าปลีกต่างๆ ทั่วประเทศ ผิดกับสมัยนี้ที่ลูกค้าทั้งสองกลุ่มนิยมสั่งซื้อสังฆภัณฑ์ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊กหรือไม่ก็ไลน์ จากนั้นทางร้านจึงจะนำสินค้าไปส่ง แต่ก็ยังมีบ้างที่เดินทางเข้ามาดูหน้าร้านด้วยตัวเอง
พีรญาบอกต่อว่า กลุ่มลูกค้าที่ซื้อไปใช้งานโดยตรงจะมีสองประเภทใหญ่ๆ
ประเภทที่ 1 คือลูกค้าที่อยากทำบุญโดยการซื้อสิ่งของถวายวัด แต่ไม่มีความรู้เรื่องสังฆภัณฑ์ จึงต้องอาศัยการไถ่ถามความต้องการจากเจ้าอาวาสก่อนแล้วค่อยมาซื้อ หรือหากยังไม่เข้าใจความต้องการของวัด ก็อาจต้องนิมนต์พระสงฆ์มาที่ร้านเพื่อเลือกสินค้าด้วยตัวเองและค่อยให้โยมเป็นผู้ชำระเงิน
ส่วนประเภทที่ 2 คือลูกค้าที่ทำบุญเป็นประจำทุกปี กลุ่มนี้จะมีความเชี่ยวชาญเรื่องสินค้ามากเป็นพิเศษ ในระดับคล่องกว่าเจ้าอาวาส หรือขนาดรู้ดีกว่าร้านค้า ลูกค้ากลุ่มนี้มักจะมาจับจ่ายเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไปถวายด้วยตัวเอง
พีรญาเล่าว่า เนื่องจากสินค้ามีความหลากหลาย จึงทำให้มีมูลค่าตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักล้าน ผลิตภัณฑ์ที่แพงที่สุดเป็นงานประติมากรรมที่สั่งทำโดยเฉพาะ เนื่องจากต้นทุนในการทำแม่พิมพ์ค่อนข้างสูงและผ่านกรรมวิธีหลายขั้นตอน
“สินค้าเกี่ยวกับพระพุทธรูป รูปหล่อ รูปเหมือน ที่เป็นงานทองเหลืองซึ่งสั่งทำเฉพาะ มันต้องผ่านกว่าสิบช่างกว่าจะออกมาเป็นหนึ่งชิ้นงาน ต้นทุนจึงค่อนข้างสูง ราคาก็เลยแพงตาม” ทายาทรุ่นที่ 2 กล่าว
เช่นเดียวกับสินค้าประเภทอื่น สังฆภัณฑ์ย่อมมีช่วงที่ยอดขายพุ่งพรวดเป็นจรวด กับช่วงที่ขายได้เรื่อยๆ เอื่อยๆ เพียงแต่สำหรับวงการนี้ ซีซั่นอาจไม่ได้อยู่ที่ฤดูกาลทางธรรมชาติ แต่ขึ้นอยู่กับฤดูกาลทางศาสนา สุเทพ เจ้าของร้านแสงธรรมประทีป บอกว่าช่วงขายดีของสินค้าสังฆภัณฑ์ในรอบปีจะมีอยู่ 3 อีเวนท์ใหญ่ๆ ได้แก่ เทศกาลสงกรานต์ 1 เดือนก่อนเข้าพรรษา และ 1 เดือนก่อนออกพรรษาที่จะมีงานทอดกฐิน ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้คนพากันมาซื้อวัตถุปัจจัยต่างๆ ไปถวายวัด
เศรษฐกิจ ศรัทธา และจำนวนลูกค้าที่น้อยลง
เมื่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาไม่สดใสนัก แม้แต่ตลาดสายบุญอย่างวงการสังฆภัณฑ์ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ เพราะยอดขายลดลงอย่างเห็นได้ชัด
“เงินจะมาซื้อสังฆภัณฑ์ส่วนใหญ่ต้องเป็นเงินเหลือ เงินเก็บ ถ้าตัวเองไม่พอใช้ ไม่พอส่งบ้านส่งรถ ก็ไม่มีใครอยากมาทำบุญ ก็มันช็อตอ่ะ” พีรญาแห่งร้านรุ่งเรื่องพานิชอธิบาย ก่อนจะขยายความต่อว่า “ที่ร้านจะมีรถส่งของ 4 คัน มอเตอร์ไซค์ 2 คัน ถ้าเป็นช่วงพีค ช่วงไฮซีซั่นแต่ก่อนรถวิ่งไม่เคยพอ ทุกวันต้องจ้างภายนอกมาช่วยส่งให้ตลอด อีก 3 – 4 คัน แต่ปัจจุบันอย่างเช่นช่วงนี้ซึ่งปกติต้องขายดี แต่รถกลับไม่ได้วิ่งตลอด วันหนึ่ง 4 คันออก 2 คันแบบนี้ ไม่ได้เต็มทุกวัน”
พีรญาพูดต่อว่า อีกช่วงหนึ่งที่ธุรกิจซบเซา คือเมื่อเกิดกระแสข่าวทุจริตเงินทอนวัด ซึ่งเป็นการยักยอกงบประมาณปฏิสังขรณ์และพัฒนาที่วัดได้จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยมีพระสงฆ์เข้าไปพัวพันด้วย เมื่อมีการเปิดโปงและออกหมายจับพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ 5 รูป ส่งผลให้ลูกค้าจำนวนมากหมดศรัทธา จนไม่มีใครอยากมาซื้อของถวายพระอีกเพราะกลัวว่าทำไปก็ไม่ได้บุญ แต่พอกระแสข่าวซาลงธุรกิจก็กลับสู่ภาวะซบเซาเนื่องจากพิษเศรษฐกิจตามเดิม
พฤติกรรมของคนสมัยนี้ที่นิยมซื้อของออนไลน์ ก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้ยอดขาย โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัดลดน้อยลง
ทายาทร้านรุ่งเรืองพานิช เล่าว่า “สมัยก่อนไม่มีโซเชียล ใครจะซื้อสังฆภัณฑ์ก็ต้องนึกถึงเสาชิงช้าและมาที่นี่ พอยุคอินเทอร์เน็ตเข้ามา คนที่เคยทำงานกับโรงงานเรามั่ง โรงงานคนอื่นมั่ง เขาก็ออกไปทำเอง เปิดร้านเองที่บ้านและโฆษณาผ่านโซเชียล ลูกค้าจากต่างจังหวัดก็เลยมาเสาชิงช้าลดลง เพราะซื้อแถวบ้านมันถูกกว่าไม่มีค่าขนส่ง”
เช่นเดียวกับ สุจิตรา ฉอจิระพัณธิ์ หรือ จิ๋ม วัย 42 ปี ทายาทรุ่น 2 ของร้านเนตรทราย พานิช ย่านเสาชิงช้าบน ที่กล่าวว่า ธุรกิจค้าสังฆภัณฑ์ของครอบครัวเธอก็กำลังเจอปัญหาเช่นเดียวกัน โดยในสองปีที่ผ่านมามีจำนวนลูกค้าลดลงถึงประมาณร้อยละ 70 เนื่องจากมีร้านเปิดใหม่กระจายตามต่างจังหวัดมากขึ้น และร้านเหล่านั้นก็เริ่มหันมาขายผ่านออนไลน์ ทำให้ลูกค้าเลือกเดินทางไปจับจ่ายในร้านที่ใกล้บ้านกว่า
“ขนาดปิดร้านไหมเหรอ ถ้าตอนนี้ก็ยัง แต่อีกหน่อยไม่แน่ จริงๆ เราก็พยายามจะออนไลน์นะ แต่การคุยออนไลน์มันก็ไม่เหมือนต่อหน้า มันไม่มีต้นทุนที่ลูกค้าต้องเสีย ทำให้บางทีคุยๆ อยู่ก็หายไป พอมากเข้าก็ต้องมีแอดมินที่มาคอยตอบเฉพาะแบบไปยุ่งกับอย่างอื่นไม่ได้ บางคนเข้ามาถามห้ารอบหกรอบแล้วก็ไม่เอา เราก็เลยไม่ค่อยอยากคุย” สุจิตรากล่าว
เทคนิคทุจริต….ในธุรกิจสายบุญ
ไม่ว่าสินค้าประเภทไหนๆ ย่อมมีกลยุทธ์การขายที่ใช้ทั้งในเชิงการตลาดและใช้เพื่อเอาเปรียบลูกค้า แต่จะน้อยมากก็แล้วแต่สามัญสำนึก แต่ใครจะนึกว่าสินค้าเกี่ยวกับศาสนาก็ยังมีการใช้กลโกงชนิดที่ว่าไม่กลัวบาปกันเลยทีเดียว
พีรญาเอ่ยถึงอีกหนึ่งปัญหาที่พาให้บางกิจการในย่านนี้ปิดตัวลงไป นั่นก็คือการมีจรรยาบรรณและความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า “สินค้าทุกชนิดจะต้องเป็นตามพุทธบัญญัติ ซึ่งเป็นหลักที่ซีเรียสมาก” เจ้าของร้านสังฆภัณฑ์อธิบาย
ทายาทรุ่น 2 ของร้านรุ่งเรืองพานิชเล่าให้ฟังว่า เคยได้ยินเสียงบ่นจากลูกค้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ร้านค้ามีวิธีซิกแซกต่างๆ เพื่อลดต้นทุน ตั้งแต่ทริคธรรมดาอย่างถังสังฆทานที่บรรจุสิ่งของแค่ด้านบน แต่ด้านล่างว่างเปล่าเป็นอากาศธาตุ จนถึงบางกรณีที่ร้ายแรงยิ่งกว่า เพราะไม่เพียงผิดหลักศาสนา แต่ยังเป็นอันตรายต่อตัวผู้ใช้ซึ่งก็คือพระภิกษุสงฆ์ อาทิ สินค้าประเภทบาตรพระ ที่ตามหลักต้องทำจากสแตนเลสเพราะจะทนทานต่อความร้อน แต่ก็มีการนำบาตรที่เป็นโลหะผสมมาขาย ในต่างจังหวัดซึ่งผู้คนนิยมตักข้าวร้อนๆ ใส่บาตรโดยตรง เมื่อความร้อนสัมผัสก้นบาตรสารตะกั่วในโลหะผสมก็จะละลายออกมา ทำให้พระที่ฉันข้าวในบาตรเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง
ขณะที่สุเทพ จากร้านแสงธรรมประธีปก็เล่าให้ฟังเช่นกันว่าปัจจุบันสินค้าสังฆภัณฑ์หลายประเภทมีคุณภาพหย่อนยาน อาทิ องค์พระพุทธรูป “เดี๋ยวนี้มีการลดคุณภาพของสินค้าเพื่อแข่งในเรื่องราคา อย่างพระพุทธรูปทองเหลืองเดี๋ยวนี้มีการออกมาใหม่เป็นอะลูมิเนียม ขนาดเท่าเดิม งานสวยเหมือนเดิม แต่วัตถุดิบถูกลง เป็นการซื้ออย่างหนึ่งแต่ขายอีกอย่างหนึ่ง หมายถึงตอนลูกค้าสั่งซื้อ สั่งทองเหลือง แต่ตอนส่งส่งเป็นอะลูมิเนียม และลูกค้าก็แยกไม่ออก” สุเทพกล่าว
เช่นเดียวกับสุจิตรา จากร้านเนตรทราย พานิช ซึ่งเล่าให้ฟังว่า เคยมีลูกค้าที่ซื้อผ้าไตรจีวรแล้วขนาดความยาวไม่พอ ทำให้ต้องมาหาซื้อใหม่ เนื่องจากสินค้าถูกพับมาสำเร็จรูปในห่อ บวกกับลูกค้าไม่ทราบรายละเอียดว่าผ้าที่ใช้บวชพระควรจะมีความยาวเท่าไหร่จึงไม่ได้แกะออกมาเพื่อเช็คดู กว่าจะรู้อีกทีก็คือวันงานว่าผ้าที่ซื้อมานั้นไม่ผ่านมาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานรัฐยังไม่สามารถติดตามตรวจสอบคุณภาพของสังฆภัณฑ์ได้เหมือนสินค้าประเภทอื่นๆ เพราะสังฆภัณฑ์นั้นมีรายละเอียดอยู่มากที่ต้องอาศัยความรู้เฉพาะด้านในการตรวจสอบ “จะมีหน่วยงานที่ควบคุมได้ก็ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ เพราะถ้าไม่อยู่ในวงการ มันดูยาก ดูไม่ออก เพราะวิธีซอกแซกมันเยอะมากจริงๆ” พีรญากล่าว
แม้ศรัทธาต่อสถาบันและประเพณีทางศาสนาอาจคงอยู่ในสังคมไทย แต่รูปแบบของธุรกิจสังฆภัณฑ์ในย่านนี้อาจเปลี่ยนไปตามความผันแปรทางเศรษฐกิจและสังคม ถือเป็นความท้าทายใหม่ๆ ให้ผู้ค้าขายต้องเร่งปรับตัว
Share this:
Like this: