Travel

มาแลโคกเมือง: เบื้องหลังความสำเร็จและของดีของเด็ดประจำชุมชน

“นิสิตนักศึกษา” พาชมแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของบ้านโคกเมือง

แม้บ้านโคกเมืองไม่ได้อุดมไปด้วยจุดหมายที่นักท่องเที่ยวทั่วไปฝันหาอย่างหาดทรายสีขาว หรือเกาะแก่งกลางทะเล แต่ความพิเศษของหมู่บ้านแห่งนี้คือการดึงทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ หรือผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน มานำเสนอให้คนภายนอกได้เรียนรู้อย่างมีเอกลักษณ์

ชุมชนแห่งนี้มีกิจกรรมหลากหลายให้ผู้มาเยือนได้เลือกสัมผัส ทั้งศึกษาการทำเกษตรกรผสมผสาน แล่นเรือชมเขตอนุรักษ์ทะเล ปลูกป่าชายเลน รวมไปถึงเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น แต่การจะจัดทัวร์อย่างนี้ได้ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ระบบการบริหารจัดการหลังบ้านคือหัวใจสำคัญซึ่งอาศัยการร่วมแรงร่วมใจจากชาวบ้าน นอกจากผู้มาเยือนจะได้เรียนรู้จากกิจกรรมต่างๆ แล้ว ยังจะได้พบกับความเป็นชุมชนที่เข้มแข็งอีกด้วย

ชุมชนโคกเมืองเปิดรับกลุ่มผู้ศึกษาดูงานด้านการประกอบอาชีพเกษตรและการอนุรักษ์ทะเลสาบตั้งแต่ปี 2553 ต่อมาช่วงประมาณปี 2557 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้เข้ามาพัฒนาชุมชน และแนะนำว่าโคกเมืองน่าจะยกระดับจากการเปิดรับผู้ศึกษาดูงานมาเป็นการท่องเที่ยว ผนวกกับเมื่อชุมชนเล็งเห็นศักยภาพในตัวเอง จึงเริ่มขยับขยายเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ที่สนใจเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน อันเป็นที่มาของโครงการโฮมสเตย์และแผนการท่องเที่ยวชุมชนในหนึ่งวันที่จัดไว้เป็นทางเลือกให้นักท่องเที่ยว

พ่ออุดม ฮิ่นเซ่ง ผู้ใหญ่บ้านโคกเมือง วัย 57 ปี เล่าว่า แม้ปัจจุบันยังไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจริงจัง แต่ชาวบ้านก็คุ้นชินกับการรับรองกลุ่มคนที่เข้ามาดูงานซึ่งมีเฉลี่ยเดือนละ 3 ครั้ง โดยผู้มาเยือนจะติดต่อผ่านพ่ออุดมก่อนเป็นหลัก เมื่อทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการมาเยือน เช่น  วัตถุประสงค์ของการมาดูงาน จำนวนผู้มาเยือน กิจกรรมที่อยากศึกษา ความต้องการบริการขนส่ง ผู้ใหญ่บ้านก็จะประสานต่อไปยังกลุ่มงานที่มีส่วนรับผิดชอบ

“ส่วนใหญ่จะประสานงานผ่านกลุ่มไลน์ ในชุมชนจะมีอยู่หลายกลุ่ม เช่น กลุ่มคนเฝ้าเล กลุ่มแปรรูป (สัตว์น้ำ) กลุ่มมัคคุเทศก์อาสาท้องถิ่น กลุ่มกลองยาว กลุ่มจักสาน” พ่ออุดมกล่าว

งบประมาณในการดำเนินงานเป็นอีกสิ่งที่ขาดไม่ได้ พ่อผู้ใหญ่อธิบายว่า เงินส่วนนี้จะจัดสรรมาจาก ‘กองทุนกลาง’ หรือกองทุนสวัสดิการของหมู่บ้าน

“กองทุนสวัสดิการหมู่บ้าน เดิมทีมาจากการที่ในบ้านเรามีกองทุนเยอะ ถ้าจะเอาไปใช้เป็นเงินปันผลให้สมาชิกอย่างเดียว มันก็หมดโดยใช่เหตุ เราเลยประชุมกันขอตัดกองทุนละ 5% มาเข้ากองทุนใหญ่ เช่นจากกลุ่มออมทรัพย์ กองทุนเงินล้าน กลุ่มรับซื้อน้ำยาง กลุ่มกลองยาว ซึ่งกองทุนนี้ไม่ได้ไว้ใช้กับเรื่องท่องเที่ยวอย่างเดียวนะ ใช้ได้ทุกเรื่องอย่าง จัดการภัยพิบัติ หรือให้ทุนการศึกษาเด็กในหมู่บ้าน” ผู้ใหญ่บ้านกล่าว

 

IMG_7419g
พ่อประยูร ฮิ่นเซ่ง ขับรถซาเล้งพาผู้ดูงานศึกษาชุมชน

 

การบริหารจัดการที่เป็นระบบ คือปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้การท่องเที่ยวของบ้านโคกเมืองเป็นไปได้อย่างราบรื่น รศ. ดร. ปาริชาติ วิสุทธิสมาจารย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศพื้นที่ภาคใต้แบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งศึกษาศักยภาพของบ้านโคกเมืองในการเป็นแหล่งท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นที่ปรึกษาให้ชาวบ้าน วิเคราะห์ว่า ปัจจัยหลักที่เสริมให้การจัดการการท่องเที่ยวของบ้านโคกเมืองประสบความสำเร็จ มี 3 ประการ

อย่างแรกคือความเข้าใจในจุดเด่นของชุมชน เช่น ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ หรือกิจกรรมของหมู่บ้านซึ่งไม่เหมือนที่อื่น เช่น อาหารร้อยสาย ทำให้รูปแบบการท่องเที่ยวของที่นี่เน้นการเรียนรู้วิถีชีวิต มากกว่าการท่องเที่ยวเพื่อความสนุกสนาน หรือพักผ่อนหย่อนใจ การกำหนดภาพลักษณ์แบบนี้ส่งผลให้การท่องเที่ยวของบ้านโคกเมืองไม่เน้นเรื่องการห้ำหั่นราคากันเองระหว่างพ่อค้าแม่ขายภายในชุมชน การทำกำไร หรือการมุ่งเป้าให้ได้นักท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่สนใจเรื่องการเรียนรู้ระหว่างชุมชนกับผู้มาเยือนมากกว่า สอดคล้องกับที่พ่อผู้ใหญ่กล่าวว่า “การท่องเที่ยวที่นี่เราไม่ได้ทำเป็นธุรกิจ เราเน้นการขายบริบทชุมชน เป็นลักษณะการแลกเปลี่ยนเรียนรู้”

ปัจจัยถัดมา คือพันธมิตรที่คอยช่วยเหลือชุมชนจากภายนอก อย่างเช่นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ที่จัดตลาดเพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนนำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นไปวางขายเป็นการประชาสัมพันธ์ชุมชน

“มอ.เป็นตัวอย่างพันธมิตรทางการตลาดของชุมชน นอกจากการลงมาพัฒนาแล้วเรายังทำเรื่องตลาดไว้ด้วย เรามีตลาดซึ่งเป็นรูปธรรมในจังหวัดสงขลาอย่างหลาดสยาม ซึ่งจะนำเอาผลิตภัณฑ์จากชุมชนต่างๆ ทั้ง 16 อำเภอทั่วสงขลา มาวางจำหน่าย” รศ.ดร. ปาริชาติ กล่าว

ปัจจัยสุดท้ายที่นักวิชาการด้านการจัดการการท่องเที่ยวมองว่าสำคัญ คือความสามัคคีระหว่างสมาชิกในชุมชุนและภาวะความเป็นผู้นำ ปาริชาติกล่าวว่าผู้นำที่ดีจะต้องเป็นที่พึ่งได้และคิดเรื่องการพัฒนาอยู่เสมอ นับเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันหมู่บ้านให้ประสบความสำเร็จในหลายๆ ด้าน ทั้งการท่องเที่ยว สภาพแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์ หรือกองทุนชุมชนที่เข้มแข็ง  

อย่างไรก็ตาม บ้านโคกเมืองยังเผชิญความท้าทาย เพราะแม้ปัจจุบันการบริหารจัดการต่างๆ จะมีประสิทธิภาพ แต่ผู้ดำเนินการส่วนใหญ่เป็นสมาชิกช่วงวัย 40 – 60 ปีและมีคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานด้านนี้ไม่มากนัก

กฤษณวรรณ เสวีพงษ์ อาจารย์วิทยาลัยชุมชนสงขลา ซึ่งเป็นอีกผู้หนึ่งที่ให้คำปรึกษาแก่ชาวบ้านในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวชุมชนมองว่า บริบทของสังคมเปลี่ยนไป จึงเป็นธรรมดาที่เยาวชนรุ่นใหม่จะให้ความสำคัญกับชุมชนน้อยลง ดังนั้น ครอบครัวและโรงเรียนน่าจะมีบทบาทในการทำให้คนรุ่นใหม่มาช่วยกันใส่ใจชุมชนมากขึ้น “แนวทางการดึงเด็กรุ่นใหม่เข้ามาพัฒนาชุมชน อาจต้องเริ่มที่ครอบครัวก่อน พ่อแม่ต้องพาลูกหลานเรียนรู้เรื่องทรัพยากรในชุมชน ให้รู้ว่าชุมชนเรามีความโดดเด่นอะไร

 

IMG_7295k.jpg
พ่ออุดม ฮิ่นเซ็ง ให้ความรู้แก่ผู้เข้ามาศึกษาชุมชน

 

“และอีกเรื่องคือการบูรณาการระหว่างชุมชนกับโรงเรียนในท้องถิ่น การพัฒนาหลักสูตรให้เด็กมีจิตตระหนัก จิตที่จะให้บริการเพื่อส่วนรวม ถ้าโรงเรียนทำให้เยาวชนเห็นตรงนี้ มันอาจส่งเสริมให้เขารักชุมชนได้” กฤษณวรรณ กล่าวพร้อมเสริมว่าความรักที่เกิดขึ้นนี้จะช่วยชักนำให้เยาวชนหันมาทำงานเพื่อชุมชนได้

เอ่ยถึงการท่องเที่ยวทั้งที “นิสิตนักศึกษา” จึงขอพาผู้อ่านไปรู้จักกับเอกลักษณ์ของชุมชนโคกเมือง

อาหารร้อยสาย: บุฟเฟ่ต์ท้องถิ่น หลากหลาย อร่อย อิ่มใจ

หนึ่งในจุดเด่นที่ไม่ซ้ำใครของบ้านโคกเมือง คือ “อาหารร้อยสาย” หรือการที่แต่ละบ้านนำอาหารคาว-หวานใส่ปิ่นโตอย่างน้อยบ้านละ 1 สาย มาวางรวมกันที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเพื่อต้อนรับแขกผู้มาเยือน ให้ทุกคนได้เลือกตักเลือกชิมอาหารตามใจชอบ เรียกว่าเป็นอาหารบุฟเฟ่ต์มื้อกลางวันแบบท้องถิ่นก็ว่าได้

 

ร้อยสาย WP1
อาหารปิ่นโตจากสมาชิกชุมชน

 

        แม่อารีย์ ฮิ่นเซ่ง วัย 67 ปี หนึ่งในชาวชุมชนเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนคณะทำงานของหมู่บ้านมาคุยงานกันที่ศูนย์ฯ พอถึงเวลาเที่ยง ก็มักจะกลับไปกินข้าวที่บ้าน ทำให้เสียเวลา จึงคุยกันว่าให้แต่ละบ้านเอาปิ่นโตใส่อาหารมากินร่วมกันดีกว่า ผลปรากฏว่าชาวบ้านได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันผ่านกิจกรรมนี้กันอย่างสนิทสนม เกิดการแบ่งปันอาหารระหว่างบ้าน ได้รสชาติที่หลากหลาย อาหารร้อยสายจึงกลายเป็นพื้นที่พูดคุยของชุมชน เมื่อต้องเลี้ยงอาหารรับรองผู้มาศึกษาดูงาน ชาวบ้านจึงคิดกันว่าผู้มาเยือนน่าจะได้สัมผัสบรรยากาศเช่นเดียวกันนี้ จึงต่อยอดเป็นกิจกรรมมาตั้งแต่ปี 2555

        ในการจัดอาหารร้อยสาย ผู้ใหญ่บ้านจะแจ้งมายังลูกบ้านอย่างน้อย 1 วันล่วงหน้าผ่านทาง “กลุ่มไลน์บ้านโคกเมือง” ว่ามีผู้มาเยือนและต้องการปิ่นโตให้พอดีกับจำนวนคนที่มา พร้อมมีความต้องการพิศษหรือข้อจำกัดอย่างไร ชาวบ้านคนไหนที่สะดวกก็จะตอบกลับไปว่าบ้านของตนสามารถทำปิ่นโตไปร่วมได้กี่สาย

        ผู้มาเยือนจะไม่ทราบว่ามื้อเที่ยงวันนั้นจะมีเมนูใดบ้าง จะทราบเพียงเมนูอาหารมี ‘เยอะมาก’ และ ‘อร่อยมาก’ ครบเครื่องทั้งข้าว ของคาว แกงต่างๆ ของหวาน ผลไม้ เรียกว่าสามารถรับประทานได้อย่างจุใจ แม่อารีย์บอกว่า “เมนูจะแล้วแต่ว่าบ้านไหนอยากทำอะไร ไม่มีกำหนดตายตัว” หากพักที่หมู่บ้านหลายวัน ผู้มาเยือนจะได้ลุ้นและตื่นเต้นไปกับเมนูที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน

 

ร้อยสาย WP2
ผู้มาเยือนได้รับประสบการณ์รับประทานอาหารบุฟเฟ่ต์แบบพื้นบ้าน

 

แม่อารีย์ยังบอกอีกว่าเธอมีความสุขมากที่ได้ทำปิ่นโตให้ผู้มาเยือนทาน และอยากบอกผู้มาเยือนที่จะได้มีโอกาสรับประทานอาหารร้อยสายว่า “ลูกลองดูนะ อาหารหลากหลายมาก ลองทุกๆ ปิ่นโตเลย”

โฮมสเตย์ อบอุ่นด้วยรัก กับบ้านพักวิถีชุมชน

โฮมสเตย์คือบ้านพักที่เปิดให้นักท่องเที่ยวมาพักร่วมกับเจ้าของบ้าน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้มาเยือนได้เรียนรู้วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้าน โดยเจ้าของบ้านจะจัดที่พัก อาหาร และดูแลความปลอดภัยให้แขก

พ่อประยูร ฮิ่นเซ่ง อายุ 71 ปี อดีตข้าราชการตำรวจ ชาวบ้านที่ร่วมโครงการโฮมสเตย์บ้านโคกเมืองเล่าให้ฟังว่า โครงการนี้เริ่มต้นจากการที่ผู้ใหญ่อุดม ต้องการให้ชุมชนมีบ้านพักไว้รองรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่มาศึกษาดูงานภายในชุมชน “ตอนผู้ใหญ่เรียกประชุมเรื่องโฮมสเตย์น่าจะปี 59 นะ พอฟังแล้วก็อยากทำเลย เพราะเป็นพี่ชายแล้วก็เป็นลูกบ้านของผู้ใหญ่ เวลามีโครงการอะไรก็เต็มใจช่วย ส่วนเงินปรับปรุงบ้านก็ใช้เงินส่วนตัวนี่แหละ ยังไงก็บ้านเรา บ้านสวย สะอาด ปลอดภัย เวลาญาติพี่น้องมาก็พักได้ เวลามีนักท่องเที่ยวมาพักก็มีรายได้เสริม” พ่อประยูรกล่าว

ค่าที่พักพร้อมอาหารเช้าอยู่ที่ 250 บาทต่อคนต่อคืน ปัจจุบัน โฮมสเตย์บ้านโคกเมืองที่ผ่านการประเมินและได้รับการรับรอง “มาตรฐานโฮมสเตย์ไทย” ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีทั้งหมด 5 หลัง คือ บ้านปลากะพง ปลาแป้น ปลาดุก ปลาไหล และบ้านปลาขี้ตัง เหตุที่ตั้งชื่อเป็นปลาเพราะต้องการสื่อสารว่าทะเลสาบสงขลามีความอุดมสมบูรณ์ ในอนาคตชุมชนยังมีแผนจะส่งบ้านสมาชิกเข้าประเมินตามมาตรฐานโฮมสเตย์เพิ่มขึ้น

รศ.ดร. ปาริชาติ ผอ.สถาบันวิจัยการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศฯ กล่าวว่า การมีโฮมสเตย์ในชุมชน หากสามารถบริหารจัดการการสื่อสารเรื่องราว วัฒนธรรมการท่องเที่ยวชุมชนแบบสะท้อนวิถีดั้งเดิมไว้ จะช่วยกระจายปัญหาการท่องเที่ยวที่กระจุกตามตัวเมืองหรืออำเภอใหญ่ได้ สิ่งที่ต้องทำคือพัฒนาศักยภาพคนในชุมชนสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน  

ส่วนเจ้าของโฮมสเตย์บ้านโคกเมืองยังบอกว่า หากผู้มาพักโฮมสเตย์มีความต้องการพิเศษหรือติดขัดอะไร ก็บอกเจ้าของบ้านได้ “ถ้าบอกล่วงหน้าจะได้จัดเตรียมให้เหมาะสม บางคนไม่กินเนื้อ ไม่กินหมู ไม่เผ็ดไม่ผัก หรือแพ้อาหารก็บอกได้ เพราะที่นี่ดูแลเหมือนคนในครอบครัว” พ่อประยูรบอก

ครัวบ้านโคกเมือง : แปรรูปอาหารจากวัตถุดิบใกล้ตัว

นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จะเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของบ้านโคกเมืองแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับหมู่บ้านคือการแปรรูปอาหารจากวัตถุดิบที่ชาวบ้านนิยมเลี้ยงอย่างปลาดุกให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย ที่สามารถนำไปขายนอกหมู่บ้านเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนในอีกทางหนึ่ง

แม่อัมพร ช่วยพัฒน์ เหรัญญิกกลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำ วัย 61 ปี เล่าว่าการแปรรูปอาหารเริ่มต้นจากกลุ่มแม่บ้านที่มักมารวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยกันในชุมชน พอมาช่วงปี 2559-2560 หมู่บ้านได้งบประมาณเพื่อเปลี่ยนบ่อเลี้ยงปลาดุก จากเดิมที่เป็นบ่อพลาสติกให้เป็นบ่อซีเมนต์ขนา ดใหญ่ และเริ่มมีการเลี้ยงแพร่หลายในหมู่บ้าน กลุ่มแม่บ้านจึงขยายออกงานมาเป็นกลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำเพื่อให้ผลิตสินค้าได้มากขึ้น

ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำจึงมีหลากหลาย ทั้งปลาดุกร้าหรือปลาดุกแดดเดียว น้ำพริกนรก ปลาหยอง ข้าวเกรียบ และน้ำบูดูหวาน รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อย่างแกงไตปลาแห้งซึ่งเป็นแนวคิดของกลุ่มแม่บ้าน

 

111
กลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำสาธิตวิธีการทำแกงไตปลาแห้ง

 

กลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำจะรับซื้อปลาดุกพันธุ์รัสเซียและบิ๊กอุยจากชาวบ้านซึ่งตอนนี้มีมากถึง 30 บ่อ ในราคากิโลกรัมละ 50 บาท เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้าน จากนั้นสมาชิกกลุ่มจะมาทำอาหารร่วมกันเพื่อนำไปขายเมื่อมีกำหนดออกร้านตามงานเทศกาลต่างๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง หรือเมื่อมีผู้สนใจแวะเวียนมาเรียนรู้ในหมู่บ้าน ถ้าขายในงานไม่หมด ชาวบ้านจะนำไปฝากขายต่อในสหกรณ์ของอำเภอต่างๆ ในจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กลุ่มแปรรูปได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยในภูมิภาคในการศึกษาวิจัยเพื่อคิดค้นวิธีใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตและการจัดจำหน่าย เช่น มหาวิทยาลัยทักษิณช่วยสร้างเครื่องอบพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับตากแห้งปลา มหาวิทยาลัยทักษิณให้คำแนะนำเรื่องการออกแบบบรรจุภัณฑ์และสติ๊กเกอร์โลโก้เก๋ๆ ช่วยให้ผลิตภัณฑ์น่าสนใจมากขึ้นยามนำไปออกร้านตามที่ต่างๆ

อย่างไรก็ดี ปัญหาหลักที่ชาวบ้านกลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำกำลังประสบคือการหาวิธีถนอมอาหารสินค้าเหล่านี้ให้มีอายุนานขึ้นโดยไม่ต้องใช้สารกันบูดเพราะไม่อยากให้อาหารปนเปื้อนสารเคมี และตรงตามมาตรฐานขององค์การอาหารและยา ตอนนี้น้ำพริกนรกปลาดุกและแกงไตปลาแห้งจึงอยู่ได้เพียง 7 วันในอุัณหภูมิห้อง และ 2 สัปดาห์อาทิตย์ในตู้เย็น

 

DSCF6807 copy
ผลิตภัณฑ์น้ำพริกนรกปลาที่พร้อมสำหรับนำไปขาย

 

แม่อัมพรเล่าวิธีที่ชาวบ้านทดลองเพื่อยืดอายุอาหารรักษาอาหาร ทั้งการเก็บในช่องแช่แข็งหรือใส่ถังน้ำแข็งเย็นจัด ซึ่งทำให้อาหารอยู่ได้นานขึ้นก็จริง แต่ก็ไม่มั่นใจว่าคุณภาพและรสชาติอาหารจะเหมือนสินค้าที่ปรุงใหม่หรือไม่เมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้นโจทย์สำคัญคือการหาวิธีที่จะทำให้อาหารนั้นสามารถคงไว้ได้ทั้งคงคุณภาพและรสชาติอาหารได้เป็นเวลานาน หากมีวิธีการถนอมอาหารที่ดีขึ้น ชาวบ้านก็น่าจะอาจสามารถแปรรูปสินค้าได้บ่อยครั้งและจำนวนมากขึ้น ในหลายช่วงโดยไม่ต้องรอทำเฉพาะเวลามีลูกค้าสั่ง หรือนำไปออกร้านเท่านั้น เพียงออเดอร์จากลูกค้าหรืองานเทศกาลเพียงอย่างเดียว

%d bloggers like this: