Environment Top Stories

เกษตรออร์แกนิกไทย ดีจริงไหม? เมื่อมาตรฐานของไทยยังไกลจากสากล

ผู้บริโภคมักเชื่อว่า ป้าย #เกษตรอินทรีย์ หรือ #ออร์แกนิก รับรองว่าผลิตภัณฑ์นั้นปราศจากสารพิษ ปลอดภัยต่อร่างกาย แต่เราจะตรวจสอบได้อย่างไรว่า “ออร์แกนิก” คือความปลอดภัยที่ควรจ่ายในราคาแพงกว่าจริงๆ

เรื่อง : ภาวิตา แจ่มคล้าย และ ณภัทร เจริญกัลป์ ภาพ: Buenosia Carol และ เมธาวจี สาระคุณ

“เวลาอ่านคำโปรยสินค้าแล้วพบว่าเป็นผักออร์แกนิก ปลอดสารพิษ เราก็เชื่อจริงๆ ว่ากินแล้วจะปลอดภัย จะไม่เป็นอะไร” 

คำบอกเล่าจากผู้บริโภคผักออร์แกนิกผ่านการพูดคุยกันในเวลาไม่นาน สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในมาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของพืชผักที่ขึ้นชื่อว่า “ออร์แกนิก” 

แต่แท้จริงแล้วการแปะป้ายว่าเป็น “ออร์แกนิก” นั้นเท่ากับความปลอดภัยที่เราสมควรจ่ายในราคาที่แพงกว่า จริงหรือ?

การเติบโตของเกษตรอินทรีย์

“วิถีแห่งอนาคต” หนึ่งในคำนิยามของการผลิตและบริโภคเกษตรอินทรีย์ หรือที่รู้จักกันเป็นวงกว้างในนาม “ออร์แกนิก” จนกลายเป็นคำแปะป้ายของสินค้าที่พยายามสื่อสารว่ามีคุณภาพ ปราศจากสารพิษที่อันตรายต่อมนุษย์

กระบวนการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์นั้นเป็นเกษตรแบบองค์รวม พิจารณาความสัมพันธ์ของเกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อระบบนิเวศ ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือปุ๋ยเคมี เป็นเกษตรกรรมที่ตั้งอยู่บนหลักการอนุรักษ์ธรรมชาติทั้งระบบ

พลูเพ็ชร สีเหลืองอ่อน ผู้ประสานงานและกรรมการรับรองฟาร์ม ฝ่ายส่งเสริมของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า เกษตรอินทรีย์มีความครบถ้วนในแง่ของความยั่งยืน หนึ่งคือ ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค สองคือ ยั่งยืนมั่นคงต่อสิ่งแวดล้อม และสามคือ สามารถสร้างการต่อรองราคาได้ หากไม่มีกลไกราคาตลาดมาแทรกแซง ทำให้ราคาเกษตรอินทรีย์เป็นธรรมทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค 

พลูเพ็ชรและเพื่อนสมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา กำลังเก็บผักในพื้นที่เกษตรกรรมของกลุ่มเพื่อเตรียมนำไปจำหน่าย

ด้วยเหตุนี้ ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา สินค้าออร์แกนิกจึงกลายเป็นที่นิยมมาก รายงานการศึกษา The World of Organic Agriculture เมื่อปี 2561 โดยสถาบันวิจัยด้านการเกษตรอินทรีย์ (FiBL) และสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) พบว่าผู้บริโภคมีความต้องการบริโภคสินค้าออร์แกนิกเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์และพื้นที่ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ก็เพิ่มขึ้นตาม

ประเทศไทยเองก็มีความพยายามในการผลักดันสินค้าเกษตรรูปแบบดังกล่าว โดยในยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 ที่จัดทำโดยคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ระบุวิสัยทัศน์ว่า ประเทศไทยต้องเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคด้านการผลิต การบริโภค การค้า และการบริการเกษตรอินทรีย์ที่มีความยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

นอกจากนั้น การตรวจพบผลผลิตเกษตรกรรมที่มีสารพิษตกค้างในปริมาณที่เป็นอันตรายบ่อยครั้ง ส่งผลให้ความไว้วางใจต่อการบริโภคผักและผลไม้ที่ไม่ได้ถูกแปะป้ายว่าเป็นออร์แกนิกลดลง ผนวกกับทิศทางของพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อการเติบโตของเกษตรอินทรีย์ในปัจจุบัน

“ออร์แกนิก” ที่ไม่ปลอดสารเคมี

แม้ว่าพืชผักออร์แกนิกจะมีภาพลักษณ์ว่าไร้สารพิษ แต่บางครั้งก็ยังคงตรวจพบสารเคมีตกค้างในผลผลิตออร์แกนิกที่มีมาตรฐานรับรอง

“โดยภาพรวมแล้ว มีการตรวจพบสารเคมีตกค้างในผักผลไม้ที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้ามากกว่าในตลาด ผักในห้างนั้นตรวจพบสารเคมีทั้งที่รองรับด้วยมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices – GPA) และมาตรฐานออร์แกนิก” ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) กล่าว

ปรกชลให้ข้อมูลว่า ส่วนใหญ่จะมีการตรวจสารเคมีตกค้างในผักผลไม้ตามห้างสรรพสินค้าและตลาดปีละ 1-2 ครั้ง แต่ไม่ได้เข้าไปถึงฟาร์มผู้ผลิต เนื่องจากกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคจะบังคับใช้เมื่อผู้บริโภคซื้อสินค้าที่จุดจำหน่าย ถ้าสินค้าอาหารที่ผู้บริโภคซื้อมีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน พ.ร.บ. คุ้มครองอาหารจะมาคุ้มครองผู้บริโภคแทน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้บริโภคจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเงินที่จ่ายแพงกว่าไปนั้นจะได้สินค้ามาตรฐานที่รับประกันความปลอดภัยได้จริงๆ

“หากตรวจพบสารเคมี เขาก็จะไม่ทำการต่อใบอนุญาตให้แก่เกษตรกรเจ้านั้นๆ ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าเขาไม่ได้เข้าไปดูสาเหตุจริงๆ ว่าทำไมถึงเจอสารเคมี แล้วก็ทิ้งตัวเกษตรกรไป”

ปรกชล อู๋ทรัพย์

ความน่าเชื่อถือของมาตรฐานออร์แกนิกไทย

ในปัจจุบันมีการตรวจรับรองผลผลิตออร์แกนิกหลายมาตรฐาน ทั้งมาตรฐานการรับรองแบบมีส่วนร่วม ที่ให้กลุ่มทำหน้าที่ในการควบคุมผู้มีส่วนร่วมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือมาตรฐานการรับรองแบบสากลที่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาร่วมในกระบวนการตรวจรับรอง 

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า “มาตรฐานออร์แกนิกไทยแลนด์” นั้นก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

“ถ้าขอเป็นมาตรฐานออร์แกนิกไทยแลนด์ การส่งออกจะมีปัญหา เพราะว่าไม่ได้มาตรฐานสากล เวลาเขามาตรวจกี่ครั้งๆ ออร์แกนิกไทยแลนด์ก็เจอสารตกค้างในผลผลิต” พลูเพ็ชรกล่าว

สมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เก็บเมล็ดพันธุ์พืชสำหรับการเพาะปลูกเองและจำหน่ายให้ผู้สนใจ

พลูเพ็ชรในฐานะผู้ประสานงานของกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต กล่าวเสริมว่า กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขตเลือกที่จะขอมาตรฐานสากล เพราะเครื่องหมายเหล่านี้จะช่วยรับรองว่าสามารถส่งสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปขายที่ไหนได้บ้าง เช่น ตรามาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ (IFOAM) และตรามาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์แคนาดา ซึ่งถ้าผ่านมาตรฐานแคนาดาก็จะผ่านมาตรฐานสหรัฐอเมริกาด้วย 

“เราพบว่าตรารับรองของสากล มีการตรวจพบสารเคมีน้อยกว่า” ปรกชล ผู้ประสานงาน Thai-PAN กล่าว

ปรกชลอธิบายเพิ่มเติมว่า ในบรรดาตรามาตรฐานออร์แกนิกของประเทศไทย มาตรฐานที่พบสารเคมีตกค้างบ่อยที่สุด คือ มาตรฐานของออร์แกนิกไทยแลนด์ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) 

“หากตรวจพบสารเคมี เขาก็จะไม่ทำการต่อใบอนุญาตให้แก่เกษตรกรเจ้านั้นๆ ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าเขาไม่ได้เข้าไปดูสาเหตุจริงๆ ว่าทำไมถึงเจอสารเคมี แล้วก็ทิ้งตัวเกษตรกรไป” ปรกชลเสริม

การสวมสิทธิ์แอบอ้างเป็น “ออร์แกนิก”

นอกจากนี้ สาเหตุของการพบสารเคมีตกค้างในผลผลิตที่ได้มาตรฐานออร์แกนิก ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการสวมสิทธิ์ คือการแปะป้ายหน้าบรรจุภัณฑ์ว่าผักผลไม้ที่วางขายนั้นได้มาตรฐานออร์แกนิก แต่ผลผลิตด้านในนั้นไม่ใช่

ผู้ประสานงาน Thai-PAN เล่าว่า เคยพบปัญหาการสวมสิทธิ์จากทั้งพ่อค้าคนกลางและห้าง พร้อมยกตัวอย่างว่าเขาเคยตรวจพบผักออร์แกนิกที่มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน จึงส่งผลตรวจดังกล่าวให้ทางกรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นผู้ดูแลมาตรฐาน ทำให้เกษตรกรเจ้าของผลผลิตไม่สามารถต่อใบอนุญาตได้ หลังจากนั้นเขาจึงโทรศัพท์มาสอบถามว่าตรวจสารพิษจากผักชนิดใด ทาง Thai-PAN บอกว่าเป็นถั่วฝักยาว เขาตอบกลับว่าช่วงเวลานั้นผลผลิตของเขาไม่มีถั่วฝักยาวเลย จนเมื่อทำการตรวจสอบในภายหลังพบว่าพ่อค้าคนกลางได้นำผักจากประเทศจีนมาจัดใส่ถุง แล้วติดมาตรฐานออร์แกนิกของเขาเอง

การขาดการจัดการพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์

นอกจากปัญหาด้านมาตรฐานการรับรองแล้ว อีกหนึ่งความท้าทายที่ภาคเกษตรกำลังเผชิญ คือการจัดการพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ 

“ไม่มีเลย” พลูเพ็ชรยอมรับเมื่อถูกถามถึงการช่วยจัดสรรพื้นที่ที่เอื้อต่อการทำเกษตรอินทรีย์จากภาครัฐ พร้อมเล่าต่อว่า กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขตต้องต่อสู้ในการแย่งชิงพื้นที่ระหว่างภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมมาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่มีการต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะมาใช้พื้นที่ใกล้เคียงกับแหล่งผลิตสินค้าเกษตร ตลอดจนมีสถานการณ์ที่หนักข้อขึ้นกว่าทุกครั้ง

พลูเพ็ชรกล่าวถึงกรณีโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ นโยบายนี้ยกเว้นกฎหมายบางประการเพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการนี้ไม่ติดข้อจำกัด แต่กลับเอื้อต่อการนำที่ดินเพื่อการเกษตรไปใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรม ซึ่งกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขตเห็นว่าเสี่ยงต่อการทำเกษตรอินทรีย์ที่ต้องการสภาพแวดล้อมที่ปลอดสารเคมี

พื้นที่เพาะปลูกร่วมกันของสมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา

บทบาทเชิงรุกของผู้บริโภค

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จะมั่นใจได้อย่างไรว่าคนไทยจะได้ทานผักผลไม้ออร์แกนิกที่ไร้สารพิษตกค้างจริงๆ

“บางคนมีช่างตัดผมส่วนตัว เลือกร้าน เลือกช่าง แต่ไม่เคยรู้เลยว่าใครปลูกข้าวให้เรากิน ซื้อข้าวจากใครก็ได้อย่างนั้นหรือ?” ปรกชลตั้งคำถาม

ปรกชลมองว่าการเลือกซื้อผักผลไม้ให้ปลอดภัยกับตัวเองมากที่สุดนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะต้องปลูกกินเอง ทำกับข้าวเอง หรือกระทั่งรู้จักตัวเกษตรกร  รวมทั้งต้องคำนึงถึงบทบาทของตัวผู้บริโภคเองว่ามองตนเป็นแค่คนซื้อ หรือจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหานี้ ถ้ามองตัวเองเป็นผู้แก้ปัญหาก็ต้องหาข้อมูลในการคัดสรรผักผลไม้ เช่น การดูความเป็นไปได้ว่าผลผลิตนั้นๆ สามารถผลิตขึ้น และขายสู่ท้องตลาดในฤดูนี้หรือไม่ เป็นต้น 

“ถ้ามองตัวเองเป็นผู้แก้ปัญหา ต้องมองเลยว่าเงินทุกบาทเป็นการโหวต คุณซื้อสารเคมีอยู่หรือเปล่า หรือคุณกำลังซื้อสิ่งแวดล้อม ซื้ออนาคตที่ปลอดภัย หรือแค่ซื้อๆ ไป สุดท้ายเงินมันก็ออกไปสู่บริษัทเคมี” ปรกชลกล่าว

“ตอนนี้เกษตรอินทรีย์ คือความมั่นคงทางด้านอาหาร คือทางออกการปรับตัวรับมือกับสภาพอากาศที่มันเปลี่ยนแปลง รับมือกับสุขภาพของคน และการมีชีวิตอยู่อย่างยั่งยืนของภาคประชาชน ไม่ใช่แค่ผู้ผลิตต้องต่อสู้ แต่รวมทั้งผู้บริโภคและหุ้นส่วนของสังคมที่คิดว่าตนเองอยากมีชีวิตรอดจะต้องมาร่วมขับเคลื่อน มาร่วมต่อสู้ด้วยกันไปด้วยกัน” พลูเพ็ชรกล่าว

%d bloggers like this: