Gender

อาหารและห้องครัว: ภาระที่แบกรับภายใต้ความเป็น “ผู้หญิง”

เมื่อการทำอาหารและดูแลห้องครัวกลายเป็นภาระที่กดดันหญิงสาว

เรื่อง: วรัญญา บูรณากาญจน์ ภาพ: สรรชัย ชัชรินทร์กุล

โดยปกติแล้ว เรามักนึกถึงเรามักนึกถึงห้องครัวในฐานะที่ในฐานะที่เป็นพื้นที่แสดงออกถึงความเป็นหญิง ไม่ว่าจะเป็นในบทบาทของแม่หรือเมียก็ตาม ในขณะเดียวกันบทบาททั้งสองก็ดูเหมือนจะเป็นบทบาทที่ผูกติดกับความเป็นบ้านเช่นกัน

ลินดา ซิวิเตลโล (Linda Civitello) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์อาหารได้กล่าวในหนังสือเรื่อง Cuisine and Culture: A History of Food and People (2007) ว่า “งานที่เกี่ยวข้องกับอาหารนั้นในระยะแรกแบ่งด้วยเพศ โดยผู้ชายเป็นคนออกจากบ้านไปล่าสัตว์ และผู้หญิงจะอยู่รอบสถานที่พักอาศัย คอยเก็บพืชผลไม้แทน เพราะพวกเธอต้องใช้ชีวิตวนเวียนกับการตั้งครรภ์ การคลอด และเลี้ยงลูก”

ด้วยวิถีชีวิตดังกล่าวจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้หญิงผูกติดกับสถานที่พักอาศัยและอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากหากผู้ชายต้องออกไปล่าสัตว์เป็นเวลานาน ผู้หญิงก็ต้องจัดการกับอาหารเพื่อจะประทังชีวิตของตัวเองและเลี้ยงลูกไปด้วย

ในประวัติศาสตร์สังคมไทย พบว่า บทบาทของผู้หญิงสามัญชนในสมัยอยุธยานั้นส่วนใหญ่คือภาระงานภายในบ้าน อย่างเช่น การปลูกผักและทำอาหาร แต่ก็ยังมีบทบาททางด้านเศรษฐกิจอยู่บ้าง ขณะที่ผู้หญิงชนชั้นสูงจะมีบทบาทได้แค่เพียงในบ้านเท่านั้น

เมื่อพื้นที่ของผู้หญิงมีแค่ในบ้าน อีกทั้งห้องครัวก็เป็นพื้นที่สำคัญของทุกคนภายในบ้าน ความเป็นหญิงจึงแสดงออกผ่านห้องครัว โดยเชื่อมโยงกับ “ภาระหน้าที่” ที่ผู้หญิงต้องรับผิดชอบ ซึ่งหากผู้หญิงคนไหนทำหน้าที่ในห้องครัวได้ดี มี “เสน่ห์ปลายจวัก” คนก็จะชื่นชม แต่ถ้าล้มเหลวก็จะโดนติเตียน จนบางคนอาจรู้สึกกดดันว่าตัวเองไม่ใช่ผู้หญิงที่ดี อาหารจึงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่ประกอบสร้างคุณค่า “ความเป็นหญิง”

การให้คุณค่าความเป็นหญิงมีปัญหาอย่างไร?

ในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ปี 2548 เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างเพศสภาพต่อการให้คุณค่าตนเองของสตรีในกรุงเทพมหานคร ของ กนิษฐา จันทรงาม ที่ศึกษากลุ่มผู้หญิงโสดทั้งเลือกเองและไม่ได้เลือกเอง กลุ่มผู้หญิงที่ถูกกระทำ แม่บ้านและแม่เลี้ยงเดี่ยว พบว่าผู้หญิงในกลุ่มทั้งหมด ยังให้ความสำคัญกับบทบาททางเพศที่ได้ถูกปลูกฝังมา อย่างเช่น การมีความสามารถในงานบ้านและการทำอาหาร ในขณะเดียวกัน ทั้งหมดยังมีความเชื่อว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ด้อยกว่าผู้ชาย นั่นทำให้ผู้หญิงต่างก็พยายามทำหน้าที่ที่รับผิดชอบให้ได้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็สามารถซื้ออาหารเข้ามาในบ้านได้เพื่อทำให้ตัวเองมี ‘คุณค่า’ และคุณสมบัติที่ดีอย่างที่ผู้หญิงควรจะเป็น 

ปรากฏการณ์ดังกล่าว ยังคงปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่อง อย่างที่เห็นได้ตามกระทู้พันทิปว่า “ผู้หญิงทำอาหารไม่เป็นนี่ดูแย่มากไหมคะ?” หรือ “คุณผู้ชายคิดอย่างไรกับผู้หญิงที่ทำอาหารไม่เป็น” ในทางกลับกันก็จะเห็นกระทู้อย่าง “ผู้ชายทำอาหารเป็นแปลกไหม? คุณผู้หญิงคิดว่าไง” หรือ “ผู้หญิงจะคิดยังไงถ้าผู้ชายทำอาหารเก่งกว่าตัวเอง” ทั้งหมดเป็นเสียงสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงอันเหนี่ยวแน่น ระหว่างคุณค่าของผู้หญิงและงานครัว

เป็นที่น่าสนใจว่า การผลิตซ้ำเรื่องบทบาททางเพศปรากฏอยู่ในระบบการศึกษาขั้นต้นของบ้านเรา จากงานวิจัยเรื่อง มิติหญิงชายในแบบเรียนของไทย: การวิเคราะห์เนื้อหา ปี 2562 ของ ตรีวิทย์ อัศวศิริศิลป์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยเซาท์อีสต์บางกอก ซึ่งเป็นการวิเคราะห์เนื้อหาแบบเรียนไทย โดยยกตัวอย่างจากหนังสือเสริมประสบการณ์เรื่อง ครอบครัวของฉัน ว่า ขณะที่ผู้ชายใส่เครื่องแบบทำงาน แต่ผู้หญิงจะใส่เสื้อผ้ากันเปื้อนในครัว และยังมีภาพจากบทเรียนที่แสดงภาพให้เห็น ‘แม่’ ขณะกำลังทำอาหารและ ‘พ่อ’ กำลังอ่านหนังสือพิมพ์ในห้องรับแขก 

ทั้งนี้ภาระดังกล่าวอาจนำไปสู่ปัญหาทางจิตใจได้ อย่างเช่น กรณีของหญิงชาวอเมริกันชื่อ ลิซ เลนซ์ (Lyz Lenz) ผู้เขียนบทความว่า I’m a Great Cook. Now That I’m Divorced, I’m Never Making Dinner for a Man Again ในเว็บไซต์ glamour.com เธอเล่าเหตุการณ์ตั้งแต่ช่วงที่มีความสุขกับการทำอาหารกระทั่งมันกลายเป็นความกดดันและเครียดเมื่อสามีมักจะถามว่า “คุณจะทำอาหารเย็นอะไร” อยู่เสมอๆ 

แม้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้จะดูหนักหน่วง แต่เราก็พบตัวอย่างของความพยายามขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงจากหลายๆ แห่ง เช่น โรงเรียนมอนเตกาสเตโล (Colegio Montecastelo) ในสเปนที่จัดสอนให้เด็กผู้ชายทำงานบ้านเพื่อลดความไม่เท่าเทียมทางเพศ พวกเขาเรียนทั้งการทำอาหาร การเย็บผ้าและการทำความสะอาดบ้าน นั่นทำให้นักเรียนชายเข้าใจว่าการรับผิดชอบบ้านนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ การเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาชนอย่างศูนย์ทรัพยากรผู้ชายของรวันดา (The Rwanda Men’s Resource Centre) ซึ่งจัดโครงการสอนให้ผู้ชายทำอาหารและงานบ้าน โดยเชื่อว่าจะทำให้ผู้ชายเข้าใจถึงความเหนื่อยของผู้หญิงในบ้าน และสร้างมุมมองที่เท่าเทียมต่อเพศตรงข้าม จากรายงานของ BBC World เรื่อง How Cooking and Cleaning Transformed a Violent Man ในปี 2560 เผยให้เห็นว่า สองปีหลังจากการจัดโครงการ คู่รักที่เข้าร่วมมีการใช้ความรุนแรงต่อกันน้อยลงเมื่อเทียบกับคู่ที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรม 

จากตัวอย่างของความพยายามดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า อย่างน้อยที่สุด การเปลี่ยนแปลงมุมมองต่อหน้าที่ภายในบ้านจากการแบ่งหน้าที่ตาม “บทบาททางเพศ” ไปเป็นการช่วยเหลือกันรับผิดชอบพื้นที่บ้านนั้น ทำให้มุมมองที่มีต่อเพศเองเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะช่วยแก้ไขปัญหาและลดภาระที่ต้องแบกรับของผู้หญิง ไม่ใช่ให้การทำอาหารและห้องครัวเป็น “ภาระที่ต้องแบกรับ”  ของคนที่เกิดมาเป็นผู้หญิงแต่เพียงฝ่ายเดียว

%d bloggers like this: