Social Issue

ร้านน้ำชาชายแดนใต้ พื้นที่สร้างความสัมพันธ์ในความขัดแย้ง

ร่วมสัมผัสบรรยากาศ “ร้านน้ำชา” สะพานเชื่อมความสัมพันธ์ของคนปัตตานี

เรื่อง : ภาวิตา แจ่มคล้าย สุชานันท์ เสมหิรัญ และทิฆัมพร บุญมี 

ภาพ : ทิฆัมพร บุญมี

หลังจากถอดหมวกแห่งหน้าที่เมื่อเสร็จภารกิจของชีวิต เหล่ามนุษย์กรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อยต่างมุ่งหน้าไปหาแสง สี เสียงดนตรี เคล้าบรรยากาศสังสรรค์กับเพื่อนฝูงตามร้านอาหารหรือร้านเหล้าเพื่อพูดคุยผ่อนทุกข์และเติมความสุขให้ชีวิต 

ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางใต้ราว 1,055 กิโลเมตร บนแผ่นดินปลายด้ามขวานที่มีประชากรชาวมลายูมุสลิมจำนวนมาก และมีความเชื่อว่าทุกสิ่งที่ดื่มแล้วมึนเมาเป็นของต้องห้าม (หะรอม) พื้นที่สร้างความสัมพันธ์ของผู้คนในปัตตานีจึงไม่ใช่ร้านอาหารหรือผับบาร์ แต่เป็น “ร้านน้ำชา” ที่กระจายตัวอยู่ทั่วจังหวัด

ร้านน้ำชา สิ่งที่ขาดไม่ได้ของทุกชุมชน

“ร้านน้ำชาที่นี่เป็นทุกอย่าง” นาซือเราะ เจะฮะ นักข่าวศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา เล่าให้ฟัง

ผู้คนในจังหวัดปัตตานีมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับร้านน้ำชาตั้งแต่วัยเยาว์จนกระทั่งแก่เฒ่า กล่าวได้ว่าร้านน้ำชาจึงไม่ใช่เพียงที่พบปะสังสรรค์ พูดคุยไถ่ถามสารทุกข์ หากหมายรวมถึงเป็นสัญลักษณ์ที่ผู้คนใช้สื่อสารถึงเหตุการณ์บ้านเมือง ร้านน้ำชาจึงตั้งอยู่ตามชุมชนต่างๆ ทำหน้าที่เป็นเหมือนร้านขายเครื่องดื่ม ร้านขายอาหาร และร้านขายของชำในร้านเดียวกัน

ลูกค้าขาประจำมาสนทนากันที่ร้านน้ำชาประจำชุมชนแห่งหนึ่งในตำบลปะกาฮะรัง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

ยามสายวันอาทิตย์ เราแวะไปเยือนร้านน้ำชาแบบดั้งเดิม ซึ่งตั้งเป็นเพิงเดี่ยวอยู่ริมถนนเข้าเมืองปัตตานี ขนาดร้านใกล้เคียงกับห้องแถว 1 คูหาและเป็นแบ่งออกเป็นสองโซน บริเวณที่ลูกค้านั่งเปิดโล่ง ส่วนโซนครัวมีผนังห้องกั้นเป็นสัดส่วน ในห้องมีเตาต้มน้ำร้อน หน้าร้านยังมีโต๊ะวางครกและเครื่องส้มตำ แถมมีเตาย่างไก่ควันโขมง มองเผินๆ เหมือนร้านส้มตำ

ลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายนั่งเป็นกลุ่มๆ บางคนสูบยาเส้นและคุยกับคนคุ้นเคย บ้างนำนกใส่กรงมาแขวนอวดโฉมอยู่หน้าร้าน แม้จะไม่รู้จักกันมาก่อน แต่แค่เอ่ยคำทักทาย ก็สามารถพูดคุยและนั่งร่วมโต๊ะกันได้เหมือนพี่น้อง

กรงนกของลูกค้าที่ถูกแขวนอวดโฉมไว้หน้าร้านน้ำชาริมถนนเข้าเมืองปัตตานี

ผู้คนจะเข้าออกร้านน้ำชากันเกือบทั้งวันโดยเฉพาะผู้ชาย แต่ในช่วงกลางวันคนจะน้อย ไม่คึกคัก ต่างจากช่วงเช้าราวตี 5 ถึง 9 โมงเช้า และช่วงหลังเลิกงาน ประมาณบ่าย 3 โมง ถึงทุ่มหรือสองทุ่มที่คนเริ่มจะเยอะขึ้น

“คนแถวนี้จะมีเวลาตามเวลาละหมาด ตื่นเช้ามาละหมาดแล้วมากินร้านน้ำชา ตอนเย็นละหมาดเสร็จก็ไปกินน้ำชาต่อ เป็นวิถีชีวิตวนเวียนอยู่แบบนี้” แบดอง เจ้าของร้านน้ำชาที่ให้บริการลูกค้าในชุมชนใกล้มัสยิดกรือเซะ ศาสนสถานเก่าแก่ประจำจังหวัด บอก แบดอง (คำว่า แบ เป็นภาษามลายูท้องถิ่น หมายถึงพี่ชาย) เปิดร้านตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงราวสี่โมงเย็นและอยู่คู่ชุมชนมากว่าสิบปี

ลูกค้านั่งผ่อนคลายยามบ่ายที่ร้านน้ำชาแบบดั้งเดิม พร้อมมี “แตออ” (เป็นภาษามลายูท้องถิ่น หมายถึง น้ำชาร้อนใส่น้ำตาลทราย) เมนูที่ร้านน้ำชาทุกแห่งในปัตตานีต้องมี ไว้รอจิบ

หากในโลกออนไลน์มีทวิตเตอร์เป็นพื้นที่ในการแพร่กระจายข่าวสารและความคิดเห็นได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังเข้าถึงคนจำนวนมาก ร้านน้ำชาในปัตตานีก็ที่ทำหน้าที่ได้ไม่ต่างกัน ทุกเรื่องราวในสังคมที่เกิดขึ้นไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ถูกหยิบยกมาพูดคุยกันได้ในพื้นที่ร้านน้ำชา

“เวลาอยากรู้เรื่องอะไรก็ให้ไปนั่งร้านน้ำชา จะปล่อยข่าวอะไรก็ไปร้านน้ำชา หรือถ้าจะสังเกตว่าพื้นที่บริเวณนี้จะเกิดเหตุ ก็ให้สังเกตว่าร้านน้ำชาคนมันจะหาย เราก็หาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมคนถึงหายก่อนที่จะมีเหตุเกิดตลอด 15 ปี มันเป็นเช่นนี้มาตลอด” นาซือเราะบอก

ร้านน้ำชาเป็นอีกสถานที่นัดพบของแฟนบอลในช่วงเทศกาลการแข่งขันฟุตบอล

“อย่างช่วงเลือกตั้งคนก็มาคุยการเมือง หรืออย่างถ้าเมื่อคืนมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก็จะพูดคุยกันไปว่า ทำไมถึงเกิด เราก็จะได้รู้ด้วย ได้ประเด็นใหม่ๆ พวกขบวนการก็จับจุดตรงนี้มาปล่อยข่าวด้วยเหมือนกัน” ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นเล่าต่อ ชี้ให้เห็นบทบาทที่เป็นมากกว่าร้านขายอาหารและเครื่องดื่มของร้านน้ำชา

การปรับตัวของร้านน้ำชาในวันที่บริบทสังคมเปลี่ยนไป

วัฒนธรรมประจำท้องถิ่นและสถานการณ์ความไม่สงบพื้นที่ชายแดนใต้ เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ร้านน้ำชาทั้งรูปแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่ต้องปรับตัว ทั้งวันและเวลาเปิด-ปิด รวมทั้งเมนูอาหาร และกลยุทธ์การตกแต่งร้านที่ดึงดูดคนให้เข้ามาแวะเวียนมากขึ้น

ร้านแบปา ข้าวยำริมน้ำ ซึ่งเป็นร้านน้ำชาราคาย่อมเยาริมแม่น้ำปัตตานีที่เปิดให้บริการมากว่า 17 ปี เลือกหยุดทุกวันศุกร์เพราะเป็นวันละหมาดใหญ่ อีกทั้งในช่วงแรกที่เกิดความไม่สงบ ยังเคยมีคนปล่อยข่าวในพื้นที่ว่าหากใครเปิดทำกิจการใดๆ ในวันศุกร์จะถูกตัดหู ส่งผลให้พ่อค้าแม่ค้าทั้งในและนอกตลาดไม่กล้าเปิดร้านให้บริการกันทั่ว แม้ว่าจะใจกล้าเปิดร้านเพราะรู้ว่านั่นเป็นข่าวลือ แต่ก็ลำบากในการหาซื้อข้าวของอยู่ดี ร้านแบปาจึงตัดสินใจหยุดในวันศุกร์มานับตั้งแต่นั้น

พนักงานร้านน้าชา ช็อคโกแลต กำลังเตรียมเมนูโรตีพร้อมน้ำชาบริการให้กับลูกค้าที่มาสังสรรค์กันในยามเย็น

ร้านน้ำชาบางร้านก็ปรับตัวตามฤดูกาล เช่น ในช่วงถือศีลอด หลายร้านก็หยุดขายช่วงกลางวัน หันไปขายแค่กลางคืนตามหลักศาสนาที่ว่าในช่วงนี้ชาวมุสลิมจะรับประทานอาหารได้ในช่วงเวลาหลังพระอาทิตย์ตกดิน

บรรยากาศลานกลางแจ้งของร้านน้ำชา บลูก้า บริเวณถนนหน้า ม.อ. เป็นที่สังสรรค์ยามค่ำของครอบครัวและคนหนุ่มสาว

ทุกวันนี้ในตัวเมืองจังหวัดปัตตานีมีร้านน้ำชาและร้านขายเครื่องดื่มจำนวนมากขึ้น รูปแบบก็ถูกปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย บ้างตกแต่งด้วยแสงสีสดใส บ้างก็มีพื้นที่กลางแจ้งที่ดูเผินๆ คล้ายสวนอาหารและลานเบียร์แถบชานเมืองกรุง พร้อมมีโปรเจคเตอร์ถ่ายทอดสดฟุตบอลให้ลูกค้าได้ชมบ้างมีเมนูแปลกใหม่ที่ทั้งคิดค้น ปรับแต่งด้วยความชอบของเจ้าของร้านหรือกระทั่งได้รับอิทธิพลมาจากเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ร้านน้ำชาขาดไม่ได้คือเมนูน้ำชา กาแฟ ที่มีรสชาติแตกต่างกันไป

มะตะบะ อีกหนึ่งอาหารยอดนิยมประจำร้านน้ำชา

ร้านน้ำชาในย่านจะบังติกอ ซึ่งเป็นเขตที่อยู่อาศัยเก่าแก่ อย่างร้านข้าวยำจริงใจของก๊ะ แมะกูเราะ ฮะอีสุหลง (คำว่า ก๊ะ เป็นภาษามลายูท้องถิ่น หมายถึง พี่สาว) ไม่ต้องปรับตัวมากนัก เพราะตอบโจทย์ลูกค้าขาประจำในชุมชนด้วยเมนูเครื่องดื่มและอาหารที่หลากหลายตลอดวัน

ด้านหน้าร้านเปิดโล่ง มีโต๊ะโรตีและข้าวหมกอยู่หน้าร้าน และมีซุ้มน้ำชาอยู่ด้านใน ในร้านมีโต๊ะม้าหินอ่อนและโต๊ะอาหารที่ถูกจับจองโดยลูกค้าขาประจำกันที่มานั่งจิบน้ำชา ดื่มกาแฟกันตั้งแต่เช้าตรู่

แม้ไม่ได้หรูหราหรือปรับบรรยากาศให้ดูทันสมัย แต่กลุ่มลูกค้าในชุมชนก็ยังแวะเวียนมาสม่ำเสมอ เพราะน้ำชาที่ละมุนลิ้นและรสชาติอาหารที่คุ้นเคยในราคาที่ย่อมเยา นอกจากเมนูประจำอย่างน้ำชาและโรตีเหมือนร้านน้ำชาอื่นๆ แล้ว ยังมีข้าวยำและข้าวหมกเนื้อสูตรอาหรับรสเด็ดอีกด้วย

แม่ค้าร้านน้ำชาย่านจะบังติกอกำลังเตรียมโรตีร้อนๆ ให้ลูกค้า

เช่นเดียวกับร้านบังหนูด ร้านน้ำชาเก่าแก่คู่จังหวัดปัตตานีที่ตั้งอยู่บนถนนเจริญประดิษฐ์ หรือถนนหน้า ม.อ. (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) มา 30 กว่าปี บรรยากาศหน้าร้านในยามเช้ามีโต๊ะเก้าอี้เรียงราย และต่างถูกจับจองด้วยลูกค้าหลากหลายช่วงวัยที่มาตั้งวงสนทนาพร้อมจิบน้ำชาและรับประทานอาหารเช้า ไม่ว่าจะเป็นโรตี มะตะบะ และไข่ลวก

โรตีร้านบังหนูด ร้านที่เป็นแหล่งนัดพบยามเช้า หน้า ม.อ. ปัตตานี โปรโมทว่าเป็นโรตีสูตรนครศรีธรรมราช

“ร้านน้ำชาดูมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเยอะ บ้างก็ประสบความสำเร็จแต่บ้างก็ไม่ อาจจะเป็นเพราะทั้งตัวอาหาร การบริการ และการประชาสัมพันธ์ด้วย บางคนอยู่ที่นี่มานานแต่ก็เพิ่งเคยมาร้านเรา หรือบางคนบอกว่าได้ยินชื่อร้านมานานแต่ว่าไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนก็เลยไม่ได้มาก็มี” กำพล พฤกษวัลต์ ชาวไทยพุทธเชื้อสายจีน เจ้าของร้าน ดูปัง ร้านน้ำชาที่มีขนมปังปิ้งหลากหลายรสชาติให้ลูกค้าเลือก

ร้านดูปังของกำพลถูกแปลงมาจากบ้านไม้สามชั้นริมถนนปรีดาในย่านเมืองเก่า เปิดให้บริการตั้งแต่บ่ายสามโมงเย็นไปจนถึงตีสาม ภายในร้านตกแต่งด้วยแสงไฟสีส้มสลัว ให้บรรยากาศคล้ายร้านนั่งชิลที่ชาวกรุงเคยคุ้น

บรรยากาศยามเย็น ณ ร้านดูปัง ร้านน้ำชาในย่านเมืองเก่าที่เป็นจุดนัดพบของวัยรุ่นและสมาชิกครอบครัว

ร้านน้ำชาแห่งนี้เปิดให้บริการมาราวสี่ปี และกลยุทธ์ในการประกอบธุรกิจของเจ้าของร้านชาวไทยพุทธคือการปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตของประชากรส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวมุสลิม โดย เมนูที่นำมาให้บริการก็มีให้เลือกมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย และมีเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ หรือ Malt Drink ให้บริการพ่วงด้วย

“ร้านของผม ที่คนมุสลิมมานั่งกันเยอะเพราะเราตัด (เมนู) เกี่ยวกับหมูไปแล้วทำเป็นฮาลาล ทำให้ถูกขั้นตอน คนทานสบายใจ เราก็สบายใจ หรือร้านเราก็มีน้ำบาร์บิกัน (เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ยี่ห้อหนึ่ง) รสชาติเหมือนเหล้า แต่เป็นฮาลาล” กำพลกล่าว

กำพล พฤกษวัลต์ เจ้าของร้านดูปัง กำลังคุยกับลูกค้า ในร้านที่ตกแต่งด้วยแสงไฟโทนอบอุ่นและเฟอร์นิเจอร์ย้อนยุค

“เมื่อก่อนเราเปิดร้านในรูปแบบง่ายๆได้ มีแต่ผู้ชายมา แต่ตอนนี้เราก็ต้องทำให้มันน่านั่งขึ้น ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ เพราะร้านเดี๋ยวนี้มันเกิดขึ้นเยอะ ต้องมีการทำเมนูให้หลากหลายเพราะเดี๋ยวนี้ลูกค้ามีหลากหลาย ชอบมานั่งยาวๆ มากินทุกวันถ้ามีแต่แบบเดิมๆเขาก็เริ่มเบื่อ เราก็ต้องเปลี่ยนเรื่อยๆ” อาฮามัด ดือราแม เจ้าของร้านน้ำชาช็อคโกแลต ร้านน้ำชาที่เป็นที่คุ้นเคยของวัยรุ่นปัตตานีกล่าวเสริม

วัยรุ่นมานั่งสังสรรค์กันยามค่ำหลังฝนซา ที่ร้านน้ำชาช็อคโกแลต บนถนนสายหน้าม.อ.ปัตตานี

แม้บริบทสังคม วิถีชีวิต และกลยุทธ์การทำธุรกิจกิน-ดื่ม-เที่ยวของคนในพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไป จะส่งผลให้รูปแบบของร้านน้ำชาให้ดูหลากหลายและทันสมัยขึ้น หากสิ่งที่ยังคงเป็นหัวใจของร้านน้ำชาคือการเป็นสถานแห่งการสร้างความสัมพันธ์ ทั้งพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนเรื่องราว และส่งต่อวัฒนธรรม

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความไม่สงบที่ยังดำเนินอยู่ การมีสถานที่ให้คนในพื้นที่ได้สังสรรค์และสนทนาในบรรยากาศที่รื่นรมย์ พร้อมลิ้มรสอาหารที่ราคาไม่สูงเกินเอื้อม จึงอาจเป็นดั่งสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชนบนพื้นที่แห่งความขัดแย้งแห่งนี้ 

ขอขอบคุณ

  • นาซือเราะ เจะฮะ และอับดุลเราะ หวังหนิ ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา
  • พ.ต.อ.ญาณพงศ์ อุบลบาน ผกก.สภ.เมืองปัตตานี
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์​ ดร.วลักษณ์กมล จ่างกระมล สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  • บุญญามีน สารีมิง (มิน) อารีนา ซะลอ (อัน) และนูรฟาติน มาลากะ (ฟาติน) นักศึกษา ชั้นปี 4 คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

%d bloggers like this: