Art & Culture Lifestyle

Art Market พื้นที่ของศิลปินรุ่นใหม่

ตั้งแต่ต้นปี 2019 ที่ผ่านมา มีการจัดงานตลาดนัดศิลปะมากถึง 21 งาน ทั้งตลาดนัดสติกเกอร์ งานคราฟต์ หนังสืออาร์ต และงานภาพประกอบ ซึ่งแต่ละงานมีความยาวในการจัดแตกต่างกันไป ตั้งแต่ 1-4 วันเลยทีเดียว

เรื่องและภาพ: สาริศา เลิศวัฒนากิจกุล

ในยุคสมัยที่ใครๆ ก็ติดสติกเกอร์บนแล็ปท็อปส่วนตัว แถมบนโต๊ะทำงานก็ต้องมีโปสการ์ดที่ติดด้วยมาสกิ้งเทปลายเก๋ “ตลาดนัดศิลปะ” หรือ “Art Market” ที่จัดขึ้นแทบจะสัปดาห์เว้นสัปดาห์ จึงกลายเป็นขุมทรัพย์สำหรับนักสะสมของกุ๊กกิ๊กเหล่านี้

ตั้งแต่ต้นปี 2562 มีการจัดงานตลาดนัดศิลปะมากถึง 21 งาน ทั้งตลาดนัดสติกเกอร์ งานคราฟต์ หนังสืออาร์ต และงานภาพประกอบ แต่ละงานมีระยะเวลาแตกต่างกันไป ตั้งแต่ 1 วัน จนถึง 4 วันเลยทีเดียว 

“อาร์ตมาร์เก็ตมันเหมือนเป็นโชว์แกลเลอรีของศิลปิน นี่คือโมเดลที่เล็กที่สุดที่คนจะสามารถติดตามงานศิลปินได้” พฤทธิ์ สารถี ผู้ก่อตั้ง 10 Art Market หนึ่งในผู้จัดงานที่มาแรงที่สุดรายหนึ่งในปีนี้ เล่าถึงความพิเศษของตลาดนัดศิลปะต่อศิลปินที่ต้องการพื้นที่เล็กๆ ในการลองผิดลองถูก ที่นี่จึงเป็นพื้นที่ที่ตอบโจทย์มากกว่าการจัดนิทรรศการในแกลเลอรี

ในมุมมองของพฤทธิ์ อัตราการเติบโตชนิดก้าวกระโดดของตลาดนัดศิลปะมีปัจจัยสำคัญคือ ความต้องการทั้งฝ่ายศิลปินและตลาดผู้ชม “ผมคิดว่าเขาเริ่มอยากสะสมของกันนะ เพราะเขาอาจจะตามศิลปินอยู่บนโลกออนไลน์อยู่แล้ว” พฤทธิ์กล่าว

ปพิชญา ถนัดศีลธรรม ผู้จัดงานอีเวนต์วัย 23 ปี ซึ่งติดตามและเข้าร่วมตลาดนัดศิลปะเป็นประจำ คิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเธอเองก็เป็นคนหนึ่งที่ติดตามนักวาดบนโลกออนไลน์อยู่เสมอๆ “ส่วนมากจะได้รับข่าวสารเกี่ยวกับอาร์ตมาร์เก็ต จากทวิตเตอร์กับอินสตาแกรม ของศิลปินที่เราติดตามอยู่แล้ว พอเขามาโพสต์แจ้งว่าจะไป แล้วลงใบเมนูว่าจะขายอะไรบ้าง เราก็จะตามเข้าไปดูศิลปินคนอื่นๆ ที่จะไปงานเดียวกัน ว่ามันคุ้มที่จะไปไหม”

ตัวอย่าง “ใบเมนู” หรือลิสต์รายการสินค้าในงานอาร์ตมาร์เก็ต
ของ PAAMPOMAQ หรือ จิตกานต์ วงษาสนธิ์ จากงาน THE STICKER เมื่อวันที่ 29-30 มิถุนายน 2562

ดร.ให้แสง ชวนลิขิกร อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการโครงการ CU ART4C วิเคราะห์ว่า “มันคือการที่เขา (ศิลปิน) ใช้สื่อเป็น เพราะพวกอาร์ตมาร์เก็ตส่วนมากก็จะเป็นของเจ้าของกิจการรุ่นใหม่ ที่สามารถหยิบจับ และใช้เทคโนโลยีเป็นมากขึ้น”

แต่ก็ใช่ว่าทุกงานที่จะมีกระแสตอบรับล้นหลามเสมอไป ระยะหลังมานี้จึงเริ่มเกิดกระแสตีกลับบนโลกออนไลน์ เมื่อผู้คนออกมาแสดงความคิดเห็นว่าการจัดงานบ่อยเกินไปอาจส่งผลกระทบในหลายด้าน 

“การที่งานเยอะขึ้นมันทำให้เรารู้สึกว่า เราจะไปเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ได้รู้สึกพิเศษขนาดนั้น สมมติว่าถ้างานหนังสือจัดทุกเดือน เราก็คงรู้สึกกระหายการซื้อหนังสือน้อยลง เมื่อเทียบกับตอนที่งานหนังสือจัดปีละสองครั้ง” ปพิชญากล่าวเปรียบเทียบในมุมของผู้เข้าร่วมงาน 

ด้าน จิตกานต์ วงษาสนธิ์ นักวาดภาพประกอบผู้ออกบูธในตลาดนัดศิลปะเป็นประจำ ระบุว่า เวลาทำงานที่ลดลง จากการจัดงานถี่เกินไปนั้น ก็ส่งผลกระทบต่อศิลปินอยู่ไม่น้อย “ส่วนที่มันนานคือกระบวนการผลิตที่ต้องเข้าสู่โรงงานหรือโรงพิมพ์ ฐานผลิตบางอย่างอาจจะไม่ได้อยู่ในประเทศ และโรงงานที่ตอบโจทย์ผู้ผลิตรายย่อยแบบเรามันก็มีน้อย” 

“คนอาจจะมองว่ามันมีโรงงานที่ทำได้เยอะ แต่ส่วนมากมันเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ ทำให้คิวการสั่งผลิตงานมันก็ไปรวมกันอยู่ที่ผู้ผลิตไม่กี่แห่ง” จิตกานต์อธิบายสาเหตุที่เธอเองสามารถออกบูธได้เพียง 4-5 ครั้งเท่านั้นในปีที่ผ่านมา

บูธขายสินค้าของร้าน FLUFFY OMELET
จากงาน CARAWEENDAY Art Market เมื่อวันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2562

ยิ่งไปกว่านั้น ศิลปินยังต้องแบกรับต้นทุนและความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกด้วย เอื้อมบุญ ศรีดี ฟรีแลนซ์นักวาดภาพประกอบ ผู้มีประสบการณ์ผลิตสินค้าขายในงานต่างๆ มากว่าแปดปีสะท้อนว่า “เวลาเราพิมพ์ของไว้ เราไม่รู้หรอกว่าคนที่งานจะซื้อเยอะแค่ไหน ก็ต้องพิมพ์เผื่อไว้ ล่าสุดเราขายพวงกุญแจห้าลาย เราก็ไม่รู้ว่าที่งานคนจะซื้อลายไหนเท่าไหร่บ้าง บางลายอาจจะขายไม่หมดด้วยซ้ำ”

นอกเหนือจากความเสี่ยงดังกล่าว เอื้อมบุญยังเสริมอีกว่า ค่าเสื่อมของอุปกรณ์อย่างคอมพิวเตอร์และแท็บเล็ต รวมถึงค่าเสียเวลาในการประสานงานก็เป็นต้นทุนที่ศิลปินต้องรับผิดชอบเช่นกัน

“อาร์ตมาร์เก็ตมันเหมือนเป็นโชว์แกลเลอรีของศิลปิน นี่คือโมเดลที่เล็กที่สุดที่คนจะสามารถติดตามงานศิลปินได้”

พฤทธิ์ สารถี

คำถามสำคัญที่สังคมในวงกว้างอาจยังไม่เข้าใจนักคือ ผู้เข้าร่วมงานลักษณะนี้จะอุดหนุนผลงานไปเพื่ออะไร ในเมื่อสินค้าบางชิ้น ซื้อไปก็ไม่ได้นำมาใช้ด้วยซ้ำ แถมกว่าจะเข้าไปซื้อได้ก็ยังต้องเสียค่าเข้างานอีกต่างหาก

“นักสะสมเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศศิลปะ เมื่อมีงานศิลปะถูกผลิตออกมาแล้ว มันก็ต้องมีที่ไป ถ้ามันถูกเอาไปโชว์ในนิทรรศการต่างๆ แต่ไม่สามารถขายออกและนำเงินกลับมาให้ศิลปินผลิตงานต่อไปได้ มันก็จะทำให้วงจรการผลิตงานศิลปะมันไม่ครบ” วิภาช ภูริชานนท์ ภัณฑารักษ์ และอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทที่สำคัญของนักสะสมต่อวงการศิลปะ

“เราต้องอัปเลเวลเขา เราจำเป็นต้องพัฒนาสังคมของนักสะสม เพื่อให้เขามีประสบการณ์ที่เข้มแข็งและลึกซึ้งขึ้น เขาควรได้ดูงานดีๆ หรือได้อ่านงานวิจารณ์ที่ลึกซึ้งและมีประโยชน์” อาจารย์วิภาชเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาวงการศิลปะไทย

บรรยากาศงาน CARAWEENDAY Art Market เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2562

ในขณะที่ ดร.ให้แสงกล่าวว่า “การพัฒนาวงการศิลปะที่แท้จริงคือ ตัวคนก็ต้องขวนขวายหาความรู้ด้วย ต้องอ่านหนังสือ ต้องไปนิทรรศการ ไม่ใช่ว่าไปแต่ซื้อของในอาร์ตมาร์เก็ตอย่างเดียวแล้วมันจะเพิ่มพูนความรู้ด้านศิลปะ อันนั้นมันไม่ใช่” 

ในแง่การพัฒนาวงการศิลปะ สิงคโปร์นับว่าเป็นอีกหนึ่งในโมเดลที่น่าสนใจ ย้อนกลับไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 มีการก่อตั้ง สภาศิลปะแห่งชาติสิงคโปร์ (National Arts Council : NAC) ขึ้น พร้อมกับการวางแผนงบประมาณภาครัฐจำนวนมากเพื่อสร้างประเทศให้เป็น “เมืองแห่งศิลปะระดับโลก (Global City of the Arts)”

ผลจากนโยบายดังกล่าว มีตั้งแต่การสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ โครงการพัฒนาพื้นที่แกลเลอรี และการสร้าง School of the Arts, Singapore (SOTA) ที่ใช้งบประมาณมหาศาล ตลอดจนนโยบายการลดภาษี ในการนำเข้าและส่งออกงานศิลปะอีกด้วย

แคมปัสของ School of the Arts, Singapore (SOTA)
ที่มา : https://www.sota.edu.sg

สำหรับสังคมไทยนั้น ทั้งนักวิชาการและศิลปินมองว่า ในความเป็นจริง การสนับสนุนวงการศิลปะไทยสามารถทำได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่การสนับสนุนด้วยทุนทรัพย์ หรือการให้พื้นที่สำหรับจัดแสดงงานศิลปะ ซึ่งในประเด็นนี้ ดร.ให้แสงกล่าวว่า แม้จะมีอยู่บ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอ และจำเป็นจะต้องกระจายให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

“สิ่งหนึ่งที่สามารถช่วยได้เลยคือเรื่องภาษี เวลาศิลปินจะซื้อขายงาน ทุกวันนี้การที่เรายังให้ศิลปะเป็นของฟุ่มเฟือย ภาษี 30 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับรถยนต์ เรื่องนี้มันก็เป็นอะไรที่เขาน่าจะช่วยได้ รวมถึงนำเข้าหรือส่งออกงานศิลปะ” อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

เราจำเป็นต้องพัฒนาสังคมของนักสะสม เพื่อให้เขามีประสบการณ์ที่เข้มแข็งและลึกซึ้งขึ้น เขาควรได้ดูงานดีๆ หรือได้อ่านงานวิจารณ์ที่ลึกซึ้งและมีประโยชน์

วิภาช ภูริชานนท์

ในขณะที่ผู้จัดงานตลาดนัดศิลปะอย่างพฤทธิ์ แม้จะไม่หวังการสนับสนุนด้านงบประมาณจากทางภาครัฐ แต่เขามองว่ารัฐบาลก็สามารถช่วยเหลือเหล่าผู้จัดงานได้ด้วยวิธีอื่นๆ เช่นกัน

“เรามองว่า สิ่งที่เราอยากได้จากภาครัฐคือการโปรโมตเรามากกว่า นี่น่าจะเป็นสิ่งที่เราต้องการจากภาครัฐมากที่สุดแล้ว ส่วนในเรื่องของค่าใช้จ่ายถ้ามีมาได้มันก็น่าจะดี เพราะถ้ามีเราก็อยากจะลดค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่ให้กับศิลปิน” พฤทธิ์เสนอแนะ

ในอนาคต ไม่ว่าตลาดนัดศิลปะจะเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคงหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่มั่นใจได้คือ งานทุกงานล้วนมีส่วนช่วยสื่อสารคุณค่าของศิลปะออกสู่สังคมวงกว้าง และขยายขอบเขตของแวดวงศิลปะไทยให้ไกลออกไปขึ้นทีละนิด

“ศิลปะมันคือพื้นฐานของความศิวิไลซ์ของมนุษย์ เป็นสิ่งที่ควรจะอยู่ในอันดับต้นๆ ในขั้นตอนการฟูมฟักคนให้เป็นคนที่ดี เพราะถ้าเราเข้าใจว่าศิลปะชิ้นนี้มาจากไหน สะท้อนสังคมและวัฒนธรรมยังไง จิตใจเราก็จะถูกพัฒนาให้ดีขึ้น” ดร.ให้แสงกล่าว

นิสิตวารสารที่สนใจการออกแบบกราฟิกและงานดีไซน์

%d bloggers like this: