เรื่อง : ณภัทร เจริญกัลป์ และ อินทัช สัตยานุรักษ์
ช่วงกลางปี 2562 ที่ผ่านมา ค่ายแอนิเมชันและภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่อย่างดิสนีย์ ทำให้ชาวไทยตื่นเต้นกับแอนิเมชัน Our Floating Dreams ที่พาไปสนุกกับเรื่องราวความรักของมิคกี้และมินนี่ เมาส์ ในบรรยากาศตลาดน้ำสุดคลาสสิก และพาผู้ชมทั่วโลกไปทำความรู้จักกับเมนูอาหารไทยที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวอย่าง “ข้าวผัดสับปะรด”

(ภาพ : Disney Entertainment)
การ์ตูนเรื่องนี้มีส่วนทำให้ชาวโลกสนใจเมนูไทยๆ อย่างข้าวผัดสับปะรดมากขึ้น ข้อมูลจาก Google Trends ที่ใช้เช็กความนิยมของคีย์เวิร์ดต่างๆ บนเว็บไซต์ค้นหายอดนิยมอย่าง Google ระบุว่า สถิติการค้นหา “Pineapple fried rice” ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มียอดการค้นหาพุ่งสูงสุดในช่วงวันที่ 23-29 มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่แอนิเมชันเรื่องนี้ถูกอัปโหลดลงบนเว็บไซต์ YouTube
จากแอนิเมชัน Our Floating Dreams จะเห็นได้ว่าการ์ตูนเรื่องหนึ่งได้สร้างแรงกระเพื่อมเล็กๆ ในระดับนานาชาติได้โดยที่เราอาจมองข้ามไปอย่างง่ายดาย เมื่อเทียบกับมหาอำนาจด้านสื่ออย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งใช้สื่อและวัฒนธรรมป๊อปเป็นเครื่องมือจัดการอำนาจอ่อน (Soft Power) ในการทำให้ทั่วโลกได้รู้จักและให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นมากขึ้น
แล้ววงการสื่อไทยสามารถเรียนรู้อะไรจากอุตสาหกรรมการ์ตูนและแอนิเมชันในต่างประเทศได้บ้าง?
การ์ตูนไทย หม้อหลอมความเป็นไทยในรูปเล่ม
“สิ่งที่น่าพิศวงเกี่ยวกับการ์ตูน คือเมื่อเราอ่านการ์ตูนสักเรื่องหนึ่ง เราไม่ได้อ่านแค่เรื่องราวนั้น แต่เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมทั้งหมดที่แวดล้อมเรื่องราวเหล่านั้นไปโดยปริยาย” นิโคลัส เฟอร์สตาปเปิน (Nicolas Verstappen) อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาด้านการสื่อสารผ่านการ์ตูนและแอนิเมชันโดยตรงจากประเทศเบลเยียมกล่าว

นิโคลัสอธิบายว่า การ์ตูนเป็นสื่อที่รวมไว้หลายอย่างเข้าด้วยกัน ทั้งส่วนที่เรียกว่ากราฟิก คือการวาด การใช้สี องค์ประกอบศิลป์ต่างๆ และอีกส่วนที่เรียกว่าวัฒนธรรม คือสิ่งที่เป็นเเรงบันดาลใจให้กับงาน เช่น ศิลปะไทย อิทธิพลศิลปะยุคโมเดิร์น หรือแม้กระทั่งวิธีที่การ์ตูนถูกวาด รวมไปถึงตัวหนังสือ
หลายๆ ครั้ง เราจะพบว่าการ์ตูนไทยมักเป็นเรื่องของนิทานพื้นบ้าน เช่น ไกรทอง หรือแม้กระทั่งความเชื่อเเละเรื่องเล่าภูติผีปีศาจพื้นบ้านอันเป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ดังนั้นการจะเข้าใจการ์ตูนไทย บางครั้งต้องเข้าใจบริบททางสังคมของไทยด้วย
“คุณจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ในแง่มุมต่างๆ ของประเทศนั้นด้วย และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้ผมคิดว่า การ์ตูนเป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมที่สำคัญมาก”
นิโคลัส เฟอร์สตาปเปิน
“คุณจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ในแง่มุมต่างๆ ของประเทศนั้นด้วย และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้ผมคิดว่า การ์ตูนเป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมที่สำคัญมาก” ผู้ศึกษาการ์ตูนเสริม
ส่วนผสมเหล่านี้ทำให้วัฒนธรรมกลายเป็นส่วนหนึ่งที่แทบแยกไม่ออกจากการ์ตูนหรือแอนิเมชัน การ์ตูนช่วยแสดงมุมมองที่หลากหลายของวัฒนธรรม วิถีชีวิต และประวัติศาสตร์ของเราว่าเป็นอย่างไร นิโคลัสมองว่าการ์ตูนเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง เข้าถึงได้สะดวก และง่ายในการผลิตซ้ำ เพราะไม่จำเป็นต้องแปลตัวหนังสือมาก เนื่องจากมีกราฟิกที่สวยงามช่วยในการเล่าเรื่อง การ์ตูนจึงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการส่งออกวัฒนธรรม ช่วยให้เห็นเศษเสี้ยวของวัฒนธรรมที่ค่อยๆ หยอดมาทีละนิดในแต่ละหน้าของการ์ตูนหรือแต่ละเฟรมของแอนิเมชันเรื่องนั้น
“ส่วนตัวผมเองได้ทำการศึกษาการ์ตูนไทยมามากมาย เเล้วก็มีเรื่องที่สนุกและน่าสนใจอยู่หลายเรื่อง รวมไปถึงตัวตนของผู้สร้างสรรค์ผลงานที่น่าสนใจไม่เเพ้กัน แต่น่าเสียใจมากที่มีเพียงไม่กี่คนที่จะรู้จักพวกเขา เเละผลงานของพวกเขา ดังนั้นผมจึงคิดว่า พวกเขาควรถูกทำให้เป็นที่รู้จักมากกว่านี้”
นิโคลัสยกตัวอย่างศิลปินชาวไทย เช่น วิศุทธิ์ พรนิมิตร ที่ค่อนข้างเป็นที่รู้จักในญี่ปุ่น หรือ อาร์ตจีโน ผู้มีชื่อเสียงในฝรั่งเศส เป็นต้น และในตลาดประเทศเหล่านี้ ผู้บริโภคเองก็มีความสนใจวัฒนธรรมไทยและต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับสังคมไทยผ่านการ์ตูนเหล่านี้อยู่ไม่น้อย

(ภาพ : ThaiPBS)
สื่อและอิทธิพลในการส่งออกอาหาร
ตัวอย่างของสื่อที่ประสบความสำเร็จในการส่งออกวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมหนึ่งมีให้เห็นอยู่หลายครั้ง และในพรมแดนของอาหารเอง ภาพยนตร์ ละคร หรือแอนิเมชันต่างเคยถูกใช้เป็นเครื่องมือส่งออก ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียนผู้ผันตัวไปเป็นนักเคลื่อนไหวด้านอาหาร ให้ความเห็นในเรื่องนี้ไว้ว่า การที่สื่อประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ เป็นเพราะพวกเขามีกระบวนการเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารของตนอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ยกตัวอย่างเช่น สื่อเกาหลีใต้ใช้ละครโทรทัศน์อย่าง แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง ในการส่งออกวัฒนธรรมอาหารชาววังในราชสำนักโชซอน จนเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
ก่อนที่จะขยับเข้ามาส่งออกวัฒนธรรมอาหารของชาวบ้านทั่วไป อย่างในฉากหนึ่งของภาพยนตร์เรื่อง Parasite ที่ตัวละครเอกทานอาหารเกาหลีที่โด่งดังจากรายการโทรทัศน์และโลกออนไลน์อย่าง “จาพากูรี” ซึ่งอาหารจานนี้เองสะท้อนบริบทที่ซ่อนอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ยุคสมัย และวิถีชีวิตทุนนิยมของสังคมเกาหลีใต้ สารเหล่านี้ถูกแสดงออกผ่านเมนูกึ่งสำเร็จรูปได้อย่างแยบยล
ฉะนั้นหากมองในภาพใหญ่ อุตสาหกรรมสื่อทำงานด้านการเผยแพร่ความเป็นชาติแบบเป็นมวลรวม อาหารหนึ่งจานที่ปรากฏในภาพยนตร์ คือชิ้นส่วนที่จะทำให้ผู้รับสารเกิดภาพจำและการรับรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมนั้น
“คุณอาจจะไม่ชอบเรื่องนี้ แต่คุณอาจจะได้ประสบการณ์เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับมัน เรื่องถัดไปมันก็ช่วยต่อจิ๊กซอว์ที่คุณรู้สึกเกี่ยวกับอาหารญี่ปุ่น” นักเคลื่อนไหวด้านอาหารแสดงความเห็น
การ์ตูนญี่ปุ่นหรือมังงะเองก็เป็นรูปแบบสื่อที่มีความสำคัญและส่งผลในระดับโลก ในมังงะเรื่องหนึ่ง ผู้อ่านจะได้เห็นประเพณี ประวัติศาสตร์ หรือกระทั่งอาหารการกินของชาวญี่ปุ่น ทำให้เห็นถึงบทบาทของมังงะในฐานะเครื่องมืออำนาจอ่อน โดยอาจเปรียบเหมือนการใช้ไฟอ่อนๆ ทำให้อาหารสุกอย่างช้าๆ
“เราอ่านมังงะเรื่องนี้ เห็นตัวละครทำแบบนี้เเล้วเราอาจจะพูดว่า “โอ้ เราอยากลองทำแบบนั้น ชิมอาหารญี่ปุ่นเมนูนี้” หรือถ้ามังงะเรื่องนั้น เกิดเหตุการณ์ขึ้นในตำบลไหน เราก็รู้สึกว่าอยากจะไปเที่ยวที่นั่นดูสักครั้ง” นิโคลัส ผู้ศึกษาการ์ตูนกล่าว
รัฐบาลญี่ปุ่นเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงส่งเสริมและสนับสนุนวงการการ์ตูนญี่ปุ่น ในฐานะที่จะเป็นส่วนสำคัญในการโปรโมตวัฒนธรรม รวมไปถึงประวัติศาสตร์ชาติตนผ่านสิ่งเหล่านี้
ด้านประเทศเกาหลีใต้ หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมักจะจัดงานนิทรรศการเกี่ยวกับการ์ตูนเกาหลี หรือเว็บตูน (การ์ตูนออนไลน์) อยู่บ่อยครั้ง พวกเขาพานิทรรศการเหล่านั้นไปจัดแสดงทั่วโลกอยู่สม่ำเสมอ นิโคลัสมองว่าเป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาด และอุตสาหกรรมการ์ตูนไทยสามารถนำมาปรับใช้ได้

(ภาพ : Koreatimes)
ทางฝั่งมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกาเอง ก็ใช้ภาพยนตร์และการ์ตูนที่สอดแทรกวิถีอเมริกันชน อุดมการณ์ทางการเมือง และเศรษฐกิจทุนนิยมเช่นกัน บางครั้งอาจมาในรูปแบบโฆษณาชวนเชื่อผ่านเรื่องราวของซุเปอร์ฮีโร่ผู้กอบกู้โลกและส่งออกความเป็นอเมริกันไปทั่วโลก
ในขณะที่วงการสื่อไทยยังไม่ค่อยมีสิ่งเหล่านี้ให้เห็น อนุสรณ์เล่าว่าเขาเคยดูละครไทยที่มีความพยายามนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวกับอาหารไทย แต่ยังไม่ได้ลึกพอที่จะทำได้อย่างต่อเนื่องเหมือนอย่างกรณีญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เขายกตัวอย่างว่าแม้จะมีละครไทยที่มีตัวละครเป็นแม่ค้าขายอาหาร แต่ส่วนมากบทบาทหน้าที่ของตัวละครในเรื่องก็ไม่ได้เกี่ยวกับอาหารโดยสิ้นเชิง
แต่อนุสรณ์ก็ยังคาดหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะสามัญสำนึก หรือการรับรู้เกี่ยวกับอาชีพเชฟได้เปลี่ยนไปพอสมควรในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีรายการอาหารมากมายบนหน้าจอโทรทัศน์ และเมื่ออาชีพเชฟและสายอาชีพการทำอาหารเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้น อีกไม่นานคงมีภาพยนตร์ ละคร หรือการ์ตูนที่ดีเกี่ยวกับอาหารไทยมากขึ้นไปเรื่อยๆ
สื่อไทยทำอะไรได้บ้าง?
เมื่อกลับมาพูดถึงแอนิเมชันเรื่อง Our Floating Dreams นิโคลัสเห็นว่าแม้จะเป็นการผลิตซ้ำภาพจำของประเทศไทยในสายตาตะวันตกยุคสงครามเย็น แต่ก็สามารถเห็นถึงประสิทธิภาพของสื่อประเภทนี้ ที่ง่ายต่อการชม เเชร์ เเละโชว์ให้คนอื่นได้เห็น แอนิเมชันเรื่องนี้ก็ได้ทำหน้าที่ในการโปรโมตอาหารไทย และส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยอย่างประสบความสำเร็จ
“ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจในเเง่ที่ว่า นี่อาจจะเป็นก้าวเล็กๆ ก้าวเเรก ที่ช่วยเปิดประเด็นให้มีการพูดคุยเเละเเสดงความคิดเห็นถึงแอนิเมชันเกี่ยวกับวัฒนธรรมและอาหารไทย ซึ่งก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี” นิโคลัสกล่าว
นิโคลัสแนะว่า ยังมีเรื่องราววัฒนธรรมไทยอีกมากที่ยังไม่ได้ถูกแสดงออกไป สื่อไทยสามารถเล่าต่อโดยอาศัยประเด็นในครั้งนี้เป็นฐานได้ พร้อมเสนอให้สร้างเป็นซีรีส์ที่มีประเด็นเฉพาะเจาะจงและน่าสนใจขึ้น เช่น แนะนำอาหารไทยที่แตกต่างไปในแต่ละภูมิภาค หรือแม้กระทั่งประเพณีของท้องถิ่นเช่น งานบุญบั้งไฟในภาคอีสาน เป็นต้น

(ภาพ : soimilk.com)
ด้านอนุสรณ์แสดงความเห็นว่า คนทำสื่อปัจจุบันค่อนข้างละเลยสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรม เน้นเสนอความบันเทิงเป็นหลักแต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเนื้อหาสาระเชิงนามธรรมมากเท่าที่ควร ไม่มีนัยยะที่จะพูดเรื่องเกี่ยวกับรากความเป็นมาของวัฒนธรรมเหมือนอย่างที่สื่อในต่างประเทศมี
อนุสรณ์วิเคราะห์สาเหตุสำหรับประเด็นนี้ ว่าเป็นเพราะประเทศอื่นเคยประสบปัญหาอย่างหนักหน่วงมาก่อน เช่น ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลก หรือเกาหลีใต้ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้จึงต้องสร้างบางสิ่งที่จะสามารถส่งออกและนำรายได้เข้าประเทศทั้งสิ่งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ อุตสาหกรรมสื่อของประเทศเหล่านี้จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญทางเศรษฐกิจ
“เราไม่เคยหารายได้จากวัฒนธรรมเลย เราสนใจกับมันน้อยมาก อย่างว่า เราอาศัยรายได้จากการท่องเที่ยว เราก็เลยสบายใจกับการรอให้มีคนมาเที่ยวก็พอแล้ว เราไม่ต้องดิ้นรนเหมือนเขา” อนุสรณ์ให้ความเห็น
“เราไม่เคยหารายได้จากวัฒนธรรมเลย เราสนใจกับมันน้อยมาก อย่างว่า เราอาศัยรายได้จากการท่องเที่ยว เราก็เลยสบายใจกับการรอให้มีคนมาเที่ยวก็พอแล้ว เราไม่ต้องดิ้นรนเหมือนเขา”
อนุสรณ์ ติปยานนท์
ด้านนิโคลัสกล่าวว่า การให้ทุนสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนจะช่วยให้อุตสาหกรรมสื่อและการ์ตูนไทยพัฒนาไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ ปูทางให้ศิลปินการ์ตูนและแอนิเมชันไทยได้มีพื้นที่แสดงผลงาน และมีอิสระในการสร้างสรรค์มากขึ้น การสนับสนุนนี้ไม่จำเป็นต้องก่อตั้งองค์กรที่ใหญ่โต แต่ต้องอาศัยความมุ่งมั่นและตั้งใจ ผ่านการส่งออกด้วยวิธีต่างๆ เช่น การแปลการ์ตูนไทย หรือจัดงานนิทรรศการการ์ตูนไทยในต่างประเทศ เป็นต้น
แม้ว่าปัจจุบันจะยังมีข้อจำกัดอยู่หลายอย่าง แต่ทั้งนิโคลัสและอนุสรณ์ต่างมีความหวัง ว่าในอนาคตจะมีสื่อภาพยนตร์หรือการ์ตูนที่เผยแพร่วัฒนธรรมไทยมากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“การ์ตูนไม่ใช่ความบันเทิงสำหรับเด็กเท่านั้น แต่ว่าเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่ สามารถ เเบ่งปันแนวคิดที่มีความซับซ้อนลึกซึ้งได้ ประเทศไทย ก็ควรจะเห็นความสำคัญของสิ่งนี้เช่นเดียวกับที่ประเทศอื่นๆ กำลังให้ความสำคัญ มันคือสิ่งที่ประเทศไทยควรจะขยับตัวได้เเล้ว” นิโคลัสกล่าว
0 comments on “ส่งออกอาหารไทยผ่านการ์ตูน : มองสื่อในฐานะพาหนะเผยแพร่วัฒนธรรม”